Skip to main content
sharethis

24 เม.ย. 2550 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. เวลา 11.00 .ที่รัฐสภา คณะกรรมการร่วม 7 องค์กร เพื่อพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) 2. มหาวิทยาลัยมกุฎราชวิทยาลัย (มมร. ) 3. พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยองค์กรสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศ 4. สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยองค์กรสมาชิกเครือข่าย 5. องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พพล.) 6. ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ยพสท.) 7. คณะสงฆ์อนัมนิกาย ได้ยื่นหนังสือต่อนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)


 


โดยเรียกร้องให้มีการบรรจุถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ 2.ประการคือ 1. "ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ประชาชนชาวไทยมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา" และ 2. "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก"


 


นายพิเชียร กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น 1 ใน 100 ของ ส.ส.ร. ที่ตั้งใจเข้ามาทำงานรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ พร้อมที่จะดำเนินการตามความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะเขาเป็นสมาชิกยุวพุทธิกสมาคมและพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่เล็กว่าประเทศไทยเรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีการเรียนรู้เรื่องหน้าที่และศีลธรรมมาตั้งแต่เด็ก จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องบรรจุให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง


 


"ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องบัญญัติเอาไว้ให้ชัดเจน โดยต้องยอมรับความเป็นจริง แต่ควรจะระบุในทำนองว่าคนไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่ลิดรอนเสรีภาพของผู้ที่นับถือศาสนาอื่น บางท่านอ้างว่าถ้าบรรจุจะเกิดความแตกแยกหรือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งเราก็ตระหนักดี แต่วันนี้จำเป็นที่ต้องช่วยพุทธศาสนามีความมั่นคงยั่งยืนเจริญก้าวหน้า ให้มีการส่งเสริมศีลธรรมอย่างจริงจัง ส่วนที่บางฝ่ายยังมองว่าศาสนาเรามีปัญหาถึงพฤติกรรมของพระที่ไม่เหมาะสม ผมเชื่อว่าถ้าบรรจุเป็นกฎหมายจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ "


 


ทั้งนี้ เขาพร้อมที่จะเป็นตัวแทน ส.ส.ร. ในการเสนอคำแปรญัตติ ให้บรรจุเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าสู่ที่ประชุม ส.ส.ร.ในวาระ 2 ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 10 คนที่เห็นด้วย เช่น นายเศวต ทินกูล นายประดิษฐ์ เหลืองอร่าม นายอรรครัตน์ รัตนจันท์ นายสามขวัญ พนมขวัญ นางวีนัส ม่านมุงศิลป์ เป็นต้น ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของเขาไม่มีการเมืองใดๆ อยู่เบื้องหลัง เพราะโดยส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มอำนาจเก่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วหาก ส.ส.ร.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็พร้อมจะยอมรับมติ แต่ผลจะตามมาอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม


 


นายพิเชียร กล่าว ในวันพรุ่งนี้ (24) องค์กรพุทธศาสนาได้นัดประชุมกันที่โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ เพื่อกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหว ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยที่จะม็อบหรือคนหมู่มากใช้กำลังเข้ากดดัน แต่อยากพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ก้าวร้าว ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ถือเป็นแนวทางที่ประเสริฐ โดยในราวต้นเดือนพฤษภาคม จะจัดเวทีที่เป็นกลางเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงทัศนะกันอย่างกว้างขวาง โดยจะใช้เวทีในสถาบันการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ขณะที่พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมจร. กล่าวว่า ทั้ง 7 องค์กรที่มายื่นมาหนังสือในวันนี้มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศและทั่วโลก ยืนยันที่จะเสนอให้มีการแปรญัตติในชั้นส.ส.ร. ให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ ในรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่ามีความจำเป็น เพราะจะทำให้ศาสนาพุทธมีความมั่นคง ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีมีศีลธรรม ถ้ามีการลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญก็จะมีการออกกฎหมายลูกต่างๆ ตามออกมา จะทำให้มีการปฏิบัติกันแพร่หลายมากขึ้น 


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอนี้เป็นเหตุจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า อาจจะไม่เกี่ยวโดยตรง แต่ในจำนวนหลากหลายเหตุผลที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็อาจจะมีเรื่องนี้อยู่ด้วยซึ่งเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ตามที่ข้อเรียกร้อง จะมีการรณรงค์ให้คว่ำประชามติหรือไม่ พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ขอให้เป็นเรื่องของอนาคตแต่ถ้าไม่บัญญัติความจริงเอาไว้รัฐธรรมนูญ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่เราทั้งหมดต้องรับผิดชอบร่วมกัน


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวแทนองค์กรพุทธได้มีการประสานกับศาสนาอื่นหรือไม่ ว่าการกำหนดเรื่องนี้จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แตกแยกระหว่างศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างความเห็นของกรรมาธิการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของ สภาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 13 คน แบ่งเป็นพุทธ 7 และศาสนาอื่นๆ 6 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และยืนยันว่าข้อเสนอนี้ทำไปเพื่อส่วนร่วมไม่ใช่ประโยชน์ชาวพุทธเท่านั้น


 


"การมีหลายศาสนาในเมืองไทย เหมือนมีดอกไม้หลากสีไม่ใช่ความแตกแยก ทุกๆ ส่วนสามารถอยู่กันได้อย่างสันติ จะเหลื่อมล้ำหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะดูแลอย่างไร แต่ในความเสมอภาคนั้นจะต้องดูสถานะว่าผู้ใหญ่เป็นอย่างไรเด็กเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าเด็กกับผู้ใหญ่จะต้องตัวโตเท่ากัน เพราะเด็กกับผู้ใหญ่นั้นต้องทำหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น คำว่า เสมอภาค หรือความเหลื่อมล้ำนั้น คนที่เป็นผู้บริหารประเทศจะต้องทำให้ถูกต้อง"อธิการบดี มจร. กล่าว


 


กรรมการอิสลามติง อย่าบรรจุ พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ


แนะทำให้โลกรู้เองว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่ประชาชนมีศีลธรรมดีกว่า


ด้านนายไพศาล พรหมยงค์ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีองค์กรพุทธศาสนาหลายองค์กรเรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่า    ไม่ต้องการคัดค้านหรือเห็นด้วยกับประเด็นนี้แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่ออดีตที่ผ่านมาไม่เคยบัญญัติเอาไว้สังคมไทยก็อยู่กันมาได้อย่างไม่มีปัญหาแล้วการเริ่มต้นบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีหลักประกันอะไรว่าจะไม่เกิดปัญหาดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่าจะเสี่ยงไปเพราะเหตุใด


 


อย่างไรก็ตาม หากรัฐธรรมนูญจะประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ นั้นชาวมุสลิมก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าน้อยใจแต่อย่างใด สังเกตได้จากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นมุสลิม 2 คนในนั้นไม่เคยออกมาโวยวายคัดค้านหรือขัดขวางใดๆ เลย แม้แต่มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เชื่อว่ารู้สึกว่าถูกแบ่งแยกหรือกีดกัน  


 


นายไพศาล มองว่าที่ผ่านมารัฐธรรมนูญของไทยก็มีความเป็นศาสนาพุทธที่เด่นชัดอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มต้นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย "พุทธศักราช" เป็นการนับลำดับปีตามพุทธศาสนา หรือประเพณีต่างๆ ในสังคมไทยก็ยังยึดโยงกับวิถีของพุทธศาสนาชัดเจนอยู่แล้ว และพลเมืองที่นับถือศาสนาอื่นในสังคมไทยก็ยอมรับว่าประเทศไทยคือเมืองพุทธ ไม่เคยบอกว่าต้องการจะเป็นใหญ่กว่าศาสนาพุทธ พวกเรารู้ดีว่าที่อยู่ในสังคมไทยได้อย่างร่มเย็นก็เป็นเพราะความเอื้ออาทรของคนพุทธ ไม่จำเป็นต้องประกาศให้เป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด และขอให้อย่าอ้างว่าประเทศอื่นก็มีการประกาศไว้เช่นนี้ จะทำให้เถียงกันไม่จบเพราะในประเทศอินโดนีเซียมีประชากร 95 เปอร์เซนต์เป็นมุสลิมก็ไม่ได้ประกาศว่าอินโดนีเซียมีศาสนามุสลิมเป็นศาสนาประจำชาติ


 


"ผมไม่ได้พูดในฐานะตัวแทนของชาวมุสลิม แต่พูดในนามคนไทยที่มีคนรอบข้างกว่า 90 เปอร์เซนต์เป็นคนพุทธ ขอเสนอให้ชาวพุทธสร้างกระแสให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำใจของชาวพุทธ รณรงค์ให้รักษาศีลธรรม ให้ทั่วโลกประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่ประชาชนมีศีลธรรม มากกว่าพยายามบรรจุในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะแม้จะตราอยู่ในกฎหมายแต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่าสังคมไทยยังมีการเล่นการพนันอย่างครึกโครม ถกเถียงกันเรื่องหวยบนดินหรือหวยใต้ดินทั้งที่หวยแบบไหนก็เป็นการพนันที่ผิดศีลทั้งนั้น กิจการน้ำเมายังโกยรายได้มหาศาล มีการผิดประเวณีไม่เว้นวัน นักการเมืองยังคงโกหกหลอกลวงประชาชนโดยไม่รู้สึกอาย พฤติกรรมของคนในสังคมยังไม่สามารถรักษาศีล 5 ได้ แต่ไปประกาศในรัฐธรรมนูญว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติหรือเป็นศูนย์กลางศาสนาของโลกจะเป็นการประจานตัวเองหรือไม่" นายไพศาล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net