Skip to main content
sharethis

มุทิตา   เชื้อชั่ง


 


 


 


ปี 2535 ในสมัยแห่งรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร - รสช. การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของศักยภาพการผลิตยาในประเทศไทย รวมถึงการเข้าถึงยาของประชาชนในเวลาต่อๆ มาจนปัจจุบัน นั่นคือ ไม่มีโอกาสลิ้มรสยาดีราคาถูกเหมือนกับอินเดีย


 


การแก้กฎหมายสิทธิบัตรของไทยในคราวนั้นเป็นไปโดยแรงกดดันของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้ไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญหาเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมยาซึ่งทำเงินมหาศาล การกดดันมีหลายช่องทางโดยเฉพาะการขู่ตัดสิทธิพิเศษทางการค้า หรือ GSP จนรัฐบาลไทยต้องยอมแก้กฎหมายสิทธิบัตรให้ขยายความคุ้มครองไปถึงผลิตภัณฑ์ยา จากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะกระบวนการผลิต และขยายอายุสิทธิบัตรออกไปจาก 15 ปี เป็น 20 ปี ซึ่งนับเป็นการคุ้มครองเข้มงวดแบบ "ล้ำหน้า" กรอบกติกาในองค์การการค้าโลกไปนับ 10 ปี


 


รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำวิจัยพบว่า หลังการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตรของไทยในขณะนั้น ทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยพัฒนาถอยหลัง เพราะไม่สามารถพัฒนาวิจัยยากลุ่มใหม่ ต้องไปผลิตยาที่ใช้ทั่วๆ ไป เช่น พาราเซตตามอลที่หมดสิทธิบัตรนานแล้ว อุตสาหกรรมยาบางส่วนก็ล้มหายตายจากไป ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องรับภาระค่ายาที่มีราคาแพงขึ้นถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี


 


ไม่เฉพาะประเทศไทย ยังมีอีกหลายประเทศที่เผชิญสถานการณ์เดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ไนจีเรีย เม็กซิโก โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งตีคู่มากับประเทศไทยใน พ.ศ.นั้นในแง่ที่มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมยามากอย่างน่าจับตามอง หากแต่อินเดียเลือกทางต่างออกไปโดยไม่ยอมปรับแก้กฎหมายตามใจสหรัฐฯ จึงทำให้โฉมหน้าปัจจุบันของเราและเขาต่างกันสุดกู่ อุตสาหกรรมยาของอินเดียก้าวหน้ากว่าไทยหลายขุม สามารถผลิตยาชื่อสามัญถ่วงดุลกับยาชื่อการค้าที่ติดสิทธิบัตรจนเป็นที่พึ่งพิงของคนยากจนทั่วโลก เช่น กรณีของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก พบว่าประมาณ 70% นั้นใช้ยาต้านไวรัสราคาถูกจากอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ถูกธรรมดา แต่ถูกกว่าอย่างน่าตกอกตกใจ


 


นั่นคือเรื่องเมื่อ 15 ปีที่แล้ว…


 


ปี 2550 พ.ร.บ.สิทธิบัตร กำลังจะได้รับการแก้ไขอีกครั้ง เรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่สมัยแห่งการปฏิรูปกฎหมาย 400 ฉบับในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่งร่างฉบับสมบูรณ์ของกระทรวงพาณิชย์มาอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเตรียมเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก่อนเข้าครม.และอาจจะผ่านครม.ในสมัยรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร (คมช.) อีกครั้งเร็วๆ นี้


 


การแก้คราวนี้ไม่ได้เป็นไปโดยแรงกดดันของใครโดยตรง แม้ช่วงการทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐ จะมีคนตั้งข้อสังเกตและหวาดเสียวกันอยู่ว่าเวอร์ชั่นใหม่นี้จะรองรับข้อเรียกร้องที่เอาเปรียบมากมายของสหรัฐก็ตาม


 


ร่างกฎหมายดังกล่าวปรากฏบนเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างชัดเจนมาสักพักใหญ่ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ตรวจสอบพิจารณา ทั้งเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายเกษตรกร กลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์เภสัชศาสตร์ที่ติดตามปัญหาเรื่องยาและต่อสู้กับบรรษัทข้ามชาติมานานนับสิบปี


 


โดยในเวทีสัมมนาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.มีการแลกเปลี่ยนและนำเสนอปัญหาหลักๆ ของร่างกฎหมายนี้กันในหลายประเด็น


 


บรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า เหตุที่แก้กฎหมายนี้ก็เพื่อทำให้ "ลูกค้า" หรือผู้จดสิทธิบัตรได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าซึ่งได้รับการท้วงติงมาโดยตลอด และในกระบวนการแก้ไขคราวนี้ก็ได้รับฟังความเห็นก่อนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ สมาคมการค้า อุตสาหกรรมต่างๆ  


 


สำหรับความห่วงกังวลว่าการแก้พ.ร.บ.นี้จะรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา PCT นั้น รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่า แม้จะมีมติครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2547 เห็นชอบให้เข้าเป็นภาคีได้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้นอกจากการร่างกฎกระทรวงเตรียมรองรับ ขณะที่ทางภาคประชาชนเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับเรื่องนี้อย่างยากจะปฏิเสธ


 


ทั้งนี้ อนุสัญญา PCT (Patent Cooperation Treaty) เป็นอนุสัญญาที่อำนวยความสะดวกในการจดสิทธิบัตรทั่วโลกให้ง่ายขึ้น แทนที่ผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรจะไปยื่นทีละประเทศ ก็เพียงยื่น ณ ประเทศใดก็ได้ โดยระบุประเทศสมาชิก PCT ซึ่งมี 100 กว่าประเทศตามจำนวนที่ต้องการ เมื่อหน่วยงานกลางตรวจสอบแล้วว่ามีเงื่อนไขในการจดสิทธิบัตรถูกต้องครบถ้วนก็สามารถส่งผลการตรวจสอบนั้นไปยังประเทศปลายทางได้เลย อย่างไรก็ตาม ตาม "หลักการ" แล้วประเทศปลายทางก็ยังมีสิทธิที่จะตรวจสอบซ้ำและปฏิเสธการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรได้



เรื่องนี้วงการกฎหมายยังถกเถียงกันมากว่าไทยมีความพร้อมหรือสมควรที่จะเข้าเป็นภาคีในระบบนี้หรือไม่ และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย แม้กระทั่งในภาคอุตสาหกรรมเองก็ตาม เพราะส่วนใหญ่แล้วสิทธิบัตรล้วนเป็นของบริษัทในประเทศอุตสาหกรรม


 


"PCT จะเป็นตัวเร่งให้กระบวนการต่างๆ ไปสู่การจดสิทธิบัตรเร็วขึ้น มันเหมือนแม่เหล็กดูดทรัพยากรของประเทศโลกที่สามไปจดสิทธิบัตรแล้วผลิตเป็นสินค้า" ความเห็นของเจริญ คัมภีรภาพ นักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศเคยให้สัมภาษณ์


ประเด็นที่มีความห่วงกังวลอีกอันหนึ่งคือ กฎหมายนี้เปลี่ยน "การคัดค้านสิทธิบัตร" จากการค้านก่อนได้สิทธิบัตร (Pre-granted Opposition) เป็นการค้านหลังจากได้รับสิทธิบัตรแล้ว (Post-granted Opposition) การค้านก่อนหรือค้านหลังได้สิทธิบัตรนั้นมีความสำคัญมากสำหรับวงการเภสัช เพราะจะทำให้มีอำนาจต่อรองต่างกันระหว่างผู้ค้านและบริษัท การคัดค้านทีหลังจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และอาจต้องมีการฟ้องร้องกันยาวนาน ทำให้กระทบต่อผู้ใช้ยาไม่มียารับประทานระหว่างการฟ้องร้องไม่สิ้นสุด


 


ทำไมระบบการคัดค้านสิทธิบัตรสำหรับวงการยาแล้วเป็นเรื่องจำเป็นมาก นั่นเพราะเป็นที่รู้กันดีว่าบรรษัทยามักมีการขอสิทธิบัตรยาประเภทไม่มีวันตาย "evergreening patent" หรือสิทธิบัตรยาต่อ-ท้าย "me-too drug" จำนวนไม่น้อย สิทธิบัตรเหล่านี้ไม่มีความใหม่อะไร เพียงเปลี่ยนปรับเปลี่ยนดัดแปลงของเดิมนิดหน่อย แล้วกลับมาจดสิทธิบัตรใหม่โดยมุ่งหวังอำนาจผูกขาดตลาดให้ยาวนานที่สุดเท่าที่ทำได้


ในรายละเอียดรายมาตรา ยังมีอีกหลายมาตราที่เครือข่ายประชาชน เอ็นจีโอ เห็นควรว่าน่าจะต้องปรับปรุง เช่น การตั้งคณะกรรมการพิจารณาสิทธิบัตรด้านยาโดยเฉพาะ เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะที่ซับซ้อน, บทการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิบัตรที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นโทษอาญา มีความเหมาะสมหรือไม่ ขณะเดียวกันกลับไม่มีโทษใดๆ กับผู้ที่แอบอ้างยื่นคำขอสิทธิบัตรจำพวกไม่มีวันตาย


 


อย่างไรก็ตาม ลำพังประเด็นของการรองรับ PCT และการเปลี่ยนแปลงระบบคัดค้านให้ไปคัดค้านหลังออกสิทธิบัตรเพื่อเน้นความรวดเร็วเท่านี้ก็น่าจะเป็นปัญหาใหญ่แล้วว่า สิทธิบัตรที่ได้รับอนุมัติเร็วขึ้นนั้นจะมีเป็นสิทธิบัตร "ประสิทธิภาพ" แค่ไหน


 


"ร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับนี้ มีการปกป้องคนประดิษฐ์เป็นอย่างดี แต่ยังขาดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน" ผศ.สำลี ใจดี ประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์กล่าวสรุป


 


ขณะที่สารี อ๋องสมหวัง จากมูลนิธิผู้บริโภคก็เรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐเปิดรับฟังความเห็นจาก "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" อื่นๆ ด้วย นอกเหนือจาก "ลูกค้า" ภาคอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งดูเหมือนว่ากระบวนการที่ไม่มีส่วนร่วมเพียงพอเช่นนี้เป็นปัญหาของทุกปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน


 


น่าจับตายิ่งว่า ร่างพ.ร.บ.สิทธิบัตร ฉบับนี้จะผ่านครม.รัฐประหาร เหมือน 15 ปีก่อนหรือไม่ ด้วยหน้าตาแบบไหน และสังคมไทยจะต้องเผชิญกับความผิดพลาดอีกครั้งหรือไม่ …


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net