Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 เม.ย.2550 เมื่อวันที่ 22 เม.ย. มีการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 ณ ห้องประชุมครุมิตร คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ร่วมแถลง


 


ในงานดังกล่าว นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ชี้ให้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรม 35 คน ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นร่าง รธน.ที่ยังไม่มีประชาชนจัดตั้งกลุ่มไหนออกมาขานรับเลย ที่เห็นก็มีเพียงการวิพากษ์วิจารณ์โดยองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ รวมถึงกลุ่มนักวิชาการ ซึ่งประเด็นที่มีการคัดค้านและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ก็ได้แก่ เรื่องการลดจำนวน ส.ส. การแต่งตั้ง ส.ว. รวมถึงการตั้งคณะกรรมการชุด "พิเศษ" เพื่อแก้วิกฤตชาติ การบัญญัติเรื่องศาสนาประจำชาติ และบทบัญญัติเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน การคุ้มครองธุรกิจนายทุนชาติ และการศึกษา


 


ประเด็นใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นช่องโหว่ก็คือการลดจำนวน ส.ส.ซึ่งนายสมเกียรติกล่าวว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยเครือข่ายหัวคะแนน ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่การกำหนดให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งเปรียบเหมือนการดูถูกประชาชนว่าขาดดุลพินิจ ส.ว.ที่ได้จึงเป็นเพียง "ผู้แทนเทียม" ในขณะที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว.และคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อแก้วิกฤตชาติ ก็เป็นการออกแบบทางอำนาจที่น่าสะพรึงกลัวมาก เพราะเป็น "คณะบุคคลภาคพื้นสวรรค์" ที่อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยปวงชน หากไม่แก้ไข จะทำให้เกิดการแบ่งตุลาการออกเป็น 2 พวกในเวลาอีกไม่นาน คือการแบ่ง "ผู้พิพากษาอาชีพ" กับ "ผู้พิพากษาการเมือง" เฉกเช่น "ทหารอาชีพ" และ "ทหารการเมือง" ที่ตำรารัฐศาสตร์ไทยได้แบ่งมาแล้วหลายทศวรรษ และส่งผลให้ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานจวบจนทุกวันนี้


 


นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องศาสนาประจำชาติก็โดนคัดค้านจากเครือข่ายพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรและแกนนำครู 4 ภาค ได้ออกมาเคลื่อนไหวและประเมินการทำงาน แล้วสรุปว่าจะไม่ผ่านร่าง รธน.ฉบับนี้ให้ โดยแกนนำเกษตรกรหลายกลุ่มประชุมแกนนำแล้วประกาศไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานเรื่องปัญหาความยากจนและหนี้สินได้ โดยเฉพาะการละเลยเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนและมีสำนึกแบบคนรวย ไม่ยินยอมบรรจุเรื่องกลไกบังคับของรัฐ เกี่ยวกับการจัดการภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน และภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าลงไปในรัฐธรรมนูญ ขณะที่แกนนำครู 4 ภาคประกาศว่าอีกไม่นานจะมีการรณรงค์ไปยังครูและผู้ปกครองทั่วประเทศให้ค้านในขั้นลงประชามติเช่นเดียวกัน


 


นายสมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่าที่ควรจะร่างขึ้นตามสภาพปัญหาและความจริงของสังคมไทยกลับไม่เขียน แต่ชอบท้าทายว่านี่คือรัฐธรรมนูญดีที่สุดฉบับหนึ่ง ทว่าความจริงแล้ว ขณะนี้มีแนวร่วมต่อต้านเต็มพรึบทั่วประเทศ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ้าไม่แก้ไขจะกลายเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของคณะรัฐประหารคือ คมช.และรัฐบาลที่ราคาแพงที่สุด และเป็นการลงโทษที่ใช้งบประมาณแผ่นดินไปถึงกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ได้เพียงรัฐธรรมนูญอันไม่พึงปรารถนาของประชาชน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องหาญกล้า แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีกระบวนทัศน์ในการกู้ชาติอย่างแท้จริง โดยการผลักดันให้เกิดบทบัญญัติที่เอื้อต่อการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนคนยากจน-เกษตรกรผู้ยากไร้และคุ้มครองระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน-ผู้ประกอบการรายย่อย สร้างธรรมาภิบาล ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น และเพิ่มอำนาจให้ประชาชนในการคัดกรองนักการเมืองที่ดีเข้าสู่สภา         


 


กลุ่มต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จะร่วมประชุมหารือกันครั้งใหญ่ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อแสดงจุดยืนและประกาศท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกที่จังหวัดมหาสารคาม โดยเครือข่ายที่จะมาร่วมงาน ประกอบด้วย สมัชชาประชาชนภาคอีสาน, กลุ่มเกษตรกรภาคอีสาน, แนวร่วมองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย 4 ภูมิภาค, เครือข่ายสมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกต่างชาติ และกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


เรียบเรียงจาก: เวบไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net