Skip to main content
sharethis

คณะรัฐประศาสนาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้จัดเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ "รัฐธรรมนูญใหม่ ! ปฏิรูปหรือถอยหลัง" โดยมีวิทยาการประกอบด้วย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย


 


ทั้งนี้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กล่าวว่า  รธน. ฉบับนี้ไม่ไว้ใจประชาชนและทำอะไรที่ทางตรรกะที่ขัดกันเอง การเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว.ที่มาใช้อำนาจนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญยอมให้ประชาชนเลือก ส.ส. แต่น่าแปลกว่า ทำไมไม่ไว้วางใจให้ประชาชนเลือก ส.ว แล้วถามว่าคุณเชื่อใครมากกว่า หรือเชื่อเจ็ดคนที่ประกอบด้วย ประธานศาล รธน. ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธาน ปปช. ประธาน คตง. ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเลือกกันเองเหลือหนึ่งคน และตุลาการศาลฎีกาเลือกกันเองเหลือหนึ่ง คน ซึ่งทั้งเจ็ด จะไปเลือก คนมา 160 คน ถามว่าเจ็ดคนจะมีความสามารถแค่ไหน ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือก


         


"ส.ว.ชุดแรกจะน่าเป็นห่วง ผมขอร้อง ให้กลับไปเชื่อถือประชาชนเถอะครับ อย่าหันไปใช้ระบอบอมาตยาธิปไตยเลย แล้วเราลองมาดูที่มาขององค์กรอิสระ คนที่ทำหน้าที่ในการสรรหากระจุกตัวมา ประธานสามศาล ประธานสภา ผู้นำฝายค้าน ต้องได้สี่เสียง เรามีระบบราชการเข้าไปอยู่แล้วถึงสามคน นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าหากทำไม่ได้ ก็ให้ที่ศาลฎีกาเลือกมาสามคน และศาลปกครองเลือกมาสองคน มาทำหน้าที่กรรมการสรรหา และให้ชุดนี้เสนอชื่อ ผมขอถามว่าท่านเหล่านี้มีจุดยึดโยงอะไรกับประชาชน แล้วอย่างนี้องค์กรอิสระจะไปตรวจสอบผู้ที่สรรหาท่านมาอย่างไร


 


" รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางมาตรฐานของนักการเมืองไว้สูง แต่คนที่จะมีอำนาจมากคือข้าราชการประจำ แต่มาตรฐานที่ใช้กลับไม่สูงเท่าการเมือง คนที่มีอาจมากต้องมีกรอบจริยธรรมกำกับสูง" นายพงศ์เทพกล่าว


 


เรากำหนดให้นักการเมืองแสดงทรัพย์สิน แต่คนที่จะไปเลือกองค์กรอิสระ แสดงแต่บัญชีแต่ไม่ต้องเปิดเผย เราเคยได้ยินว่าบางคนแสดงบัญชีถูกสอบว่าครบหรือไม่ แต่ข้าราชการเคยมีข่าวไหม ท่านมีอำนาจมากต้องโปร่งใสไม่น้อยกว่าการเมือง


 


นายพงศ์เทพ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐธรรมนูญพยายามที่จะคุ้มครองสื่อ แต่ทำไปทำมาจะเห็นข้อประหลาด เพราะว่าเขาห้ามนักการเมืองไปเกี่ยวข้องกับสื่อไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้น เป็นเจ้าของ หรือทำสัญญากับสื่อ แต่ขอให้ลองคิดดูว่าเขาห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าเป็นคู่สัญญา หรือห้างหุ้นส่วน ที่ดำเนินกิจากรสื่อสารมวลชน ต่อไปหากนักการเมืองหากญาติเสีย จะไปซื้อพื้นที่ในหนังสือพิมพ์เพื่อประกาศว่าจะเผาเมื่อไหร่ยังไม่ได้ เพราะเป็นการทำสัญญาที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน ส.ส. คนไหนมีภรรยาเป็นนักข่าว ก็ต้องลาออก คิดๆ ไปมันประหลาด ล้วนอกจากนักการเมือง ที่มีอำนาจคือข้าราชการประจำและองค์กรอิสระ บางหน่วยมีอำนาจเยอะ เขามีสื่อเขียนเชียร์ ดังนั้นต้องใช้ข้อห้ามนี้กับข้าราชการประจำกับองค์กรอิสระด้วย


 


นายพงศ์เทพกล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนอยากเห็นจากการมีส่วนร่วมคือ บุคลากรในองค์กรตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐจะเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ เอกชนเข้ามาไม่ถึง และตนเชื่อว่าหากปล่อยให้ใครมาเป็นองคก์กรอิสระ อาจจะเกิดการรวมหัวกันเงียบหรือไม่กระทำการตรวจสอบ ดังนั้นจึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม บางประเทศ จึงมีมีผู้พิพากษาเกียรติยศ เข้าไปฟังการประชุม โดยไม่มีอำนาจอะไร แต่มีหน้าที่เข้าไปสอดส่อง ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส


 


"ส่วน มาตรา 299 เป็นการก้าวลงเหว แต่มาตรานี้เป็นการรองรับว่าอะไรที่ รัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติไว้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขอให้กลับไปดูรัฐธรรมนูญชัวคราวก็มีการรองรับคณะปฏิรูป มาตรา 36 ไม่ว่าจะออกกอย่างไร ก็ถือว่าเป็นกฎหมายทั้งสิ้น หรือเรื่องการออก พรก. แต่เดิม หากจะแย้งว่าไม่ชอบก็ดูเรื่องเหตุผลการออก แต่ความรีบด่วนเป็นความเห็นของ ครม.แต่ฉบับใหม่หากไม่เห็นด้วยก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนวินิจฉัยเรื่องความเร่งด่วนต่อไปจะมีปัญหาว่ารัฐบาลไม่กล้าออก พ.ร.ก." นายพงศ์เทพกล่าว


 


นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า รัฐธรมนูญฉบับชั่วคราวเปิดโอกาสให้ลงประชามติเป็นครั้งแรก แต่หลักการลงประชามติ ต้องให้แสดงความเห็นของแต่ละฝ่ายย่างเท่าเทียม ท่านต้องให้โอกาสกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อย่าไปคิดว่าการลงประชามติ ต้องเป็นประชามติเห็นด้วย เสมอไป รธน.ฉบับนี้หากประชาชนไม่รับ หลายคนบอกว่าจะเจอกับฉบับคมช.ที่ หนักกว่านี้ การทำเช่นนี้ถือว่า ไม่ยุติธรรม รัฐบาลกับคมช. มีทางเลือกเดียว คือประกาศว่ามีสองฉบับให้เลือกคือ ฉบับสภาร่างและฉบับ2540 และเขียนให้ชัดว่าจะแก้ไขตรงไหน เพื่อให้ประชาชน ได้ตัดสินใจว่าจะเอาฉบับใด อย่าให้เขารู้สึกว่า ถูกหมัดมือชก


 


 


...............................................................


ที่มา : สำนักข่าวเนชั่น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net