บทความ : JTEPA กับตำราพิชัยสงคราม (3)

นันทน อินทนนท์

มหาวิทยาลัยสต๊อกโฮล์ม

 

            ซุนวูกล่าวในบทที่ 7 ของตำราพิชัยสงครามว่า "อันหลักแห่งการบัญชาทัพนั้น แม่ทัพรับโองการจากประมุข ระดมไพร่รวมพล ตั้งทัพเผชิญศึก ที่ยากคือการชิงชัย ความยากของการชิงชัย อยู่ที่แปลงอ้อมให้เป็นตรง แปลงภยันตรายให้เป็นประโยชน์"

            จากคำกล่าวนี้ มีปัญหาน่าคิดว่า "ประมุข" ในความหมายของซุนวูคือใคร ครั้งหนึ่งองค์กรเอกชนหลายองค์กรได้ร่วมกันเสนอให้แม่ทัพการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีนำประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจาเขตการค้าเสรีทั้งหมด แม่ทัพท่านนั้นตอบว่า ท่านเป็นเพียงผู้เจรจา ไม่มีหน้าที่กำหนดประเด็นในการเจรจา "ประชาชน" จึงไม่ใช่ประมุขในความหมายของแม่ทัพท่านนี้

            มาถึงปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืช ในความตกลงทริปส์กำหนดว่า ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืชภายใต้ระบบสิทธิบัตร หรือระบบกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะที่มีประสิทธิภาพ (effective sui generis) หรือทั้งสองระบบร่วมกัน

            ประเทศอุตสาหกรรมพยายามยืนยันมาเสมอว่า ระบบกฎหมายเฉพาะที่มีประสิทธิภาพนั้นคือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูปอฟ และพยายามผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญานี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมีแนวคิดเช่นเดียวกันกับประเทศอุตสาหกรรมและได้พยายามยกร่างกฎหมายตามแนวทางของอนุสัญญายูปอฟ แต่องค์กรเอกชนและนักวิชาการของไทยเห็นว่าอนุสัญญาฉบับนี้ให้ความคุ้มครองผู้ทรงสิทธิอย่างเข้มงวด โดยไม่มีหลักการในการให้ความคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรอย่างเพียงพอ ทั้งยังไม่ยอมรับให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์และหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ องค์กรเอกชน นักวิชาการเหล่านี้จึงได้ร่วมกรมวิชาการเกษตรร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฯ ขึ้น โดยไม่เพียงแต่ปฏิเสธระบบของอนุสัญญายูปอฟเท่านั้น แต่ได้กำหนดให้มีการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมพืชของไทย โดยคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองและพันธุ์พืชป่าด้วย

            ตามอนุสัญญายูปอฟฉบับปี 1978 ประเทศสมาชิกมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืช 5 ชนิดเมื่อเข้าเป็นภาคี และต้องให้ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่หลักการนี้ได้ถูกยกเลิกโดยอนุสัญญายูปอฟฉบับปี 1991 ซึ่งได้กำหนดให้มีการคุ้มครองพันธุ์พืชทุกชนิดโดยไม่จำเป็นต้องมีการประกาศก่อน หลักการเช่นนี้ต่างกับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย ที่จะให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชต่อเมื่อรัฐมนตรีได้ประกาศรายชื่อพันธุ์พืชที่จะได้รับความคุ้มครองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชก่อน ซึ่งหลักการเช่นนี้จะทำให้การประกาศคุ้มครองชนิดของพันธุ์พืชเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะพันธุ์พืชชนิดที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงในอาหารของประชาชน

            ข้อ 135 (1) ของความตกลง JTEPA กำหนดให้ประเทศไทยต้องให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิอย่างเพียงพอ มีข้อน่าสงสัยว่าการให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรฐานระหว่างประเทศนั้นหมายถึงอนุสัญญายูปอฟฉบับปี ๑๙๙๑ หรือไม่ หากใช่ ผู้แทนคณะเจรจาควรต้องทราบว่าหลักการให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามกฎหมายไทยแตกต่างจากอนุสัญญายูปอฟโดยสิ้นเชิง จึงไม่ควรกำหนดหลักการเช่นนี้ไว้ในความตกลงนอกจากคณะเจรจาสนับสนุนแนวทางให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟต่อไป

            ข้อ 135 (2) ยังกำหนดให้มีการประกาศรายชื่อชนิดของพันธุ์พืชที่จะได้รับความคุ้มครองมากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลักการเช่นนี้ไม่ได้มีผลแตกต่างไปจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูปอฟ 1991 ทั้งที่คณะเจรจาควรจะทราบว่าการประกาศรายชื่อพันธุ์พืชที่จะได้รับความคุ้มครองไม่ได้เป็นไปตามอำเภอใจของรัฐมนตรี คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมีองค์ประกอบที่หลากหลายและมีหน้าที่ให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีในการประกาศรายชื่อพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด หรือคณะเจรจายอมรับหลักการนี้อย่างขอไปทีโดยไม่คำนึงว่าจะปฏิบัติได้หรือไม่

            ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของหุ้นส่วนเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น แต่ดูเหมือนว่าผลประโยชน์ของฝ่ายไทยเองกลับถูกละเลยโดยคณะเจรจา ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นด้านการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ซึ่งควรจะเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของชาติ กลับมีข้อตกลงเพียงว่า ภาคีแต่ละฝ่ายต้องให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามกฎหมายของตนเอง และตามความตกลงที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ซึ่งเป็นข้อความที่เปลืองเนื้อที่กระดาษโดยใช่เหตุ

            ส่วนประเด็นด้านการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมนั้น ไม่ปรากฏอยู่ในความตกลงนี้แม้แต่น้อย อาจเป็นไปได้ว่าคณะเจรจาไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเลยก็ได้ ประเทศไทยคงไม่ต้องการนักเจรจาที่พูดได้เพียง "พวกเราไม่มีข้อเสนอใดครับ เชิญท่านเสนอได้เลย" "เราตกลงกับข้อเสนอของท่านครับ เชิญข้อต่อไป" "คำตอบของเราเหมือนข้อที่แล้วครับ"

            นักเศรษฐศาสตร์นามกระเดื่องแห่งสำนักท่าพระจันทร์เคยกล่าวว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องประกอบด้วยบุคคลากรสามส่วนด้วยกัน คือ นักเศรษฐศาสตร์ที่มีความชำนาญแต่ละเรื่องอย่างจริงจัง นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญในประเด็นข้อกฎหมายอย่างลึกซึ้ง และนักเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีประสบการณ์ในการเจรจามาอย่างยาวนาน ท่านสรุปว่ากระทรวงการต่างประเทศไม่ควรเป็นหน่วยงานกลางในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

            สอดคล้องกับที่ซุนวูกล่าวว่า "การศึกใช่ไพร่พลมากจะดี สำคัญอย่าสุ่มเสี่ยง มีกำลังพอรบ คาดคะเนข้าศึกแม่นยำ ก็ชนะได้ ผู้ไร้สติปัญญาซ้ำปรามาสข้าศึก จักตกเป็นเชลย"

 


บทความก่อนหน้า

บทความ: JTEPA กับตำราพิชัยสงคราม (1)

บทความ: JTEPA กับตำราพิชัยสงคราม (2)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท