Skip to main content
sharethis


ในนามขององค์กรภาคประชาชนที่หาช่องทางต่อสู้เพื่อปากท้องของประชาชนมายาวนาน ที่ผ่านมา สังคมไทยเห็นการขับเคลื่อนของ "สมัชชาคนจน" โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่มุ่งแก้ปัญหาไปที่รากฐาน ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ "การปฏิรูปการเมือง"



การผลักดันให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ของสมัชชาคนจน มิได้เกิดขึ้นปุบปับเฉพาะหน้าที่คุโชนขึ้นมาตามสถานการณ์ แต่สมัชชาคนจน มีกระบวนการแลกเปลี่ยน ถกเถียง ขบคิด และสรุปบทเรียนมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดการรัฐประหารแล้ว


 


ดังนั้น เมื่อการเมืองกระแสหลักฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วทำท่าร่างฉบับใหม่ องค์กรภาคประชาชนอย่างสมัชชาคนจน ซึ่งมีบทเรียนมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า รวมถึงอาจเห็นถึงปัญหาที่กำลังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป จึงมีข้อเสนอเพื่อประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน


 


โดยในวันที่ 20 เม.ย. 50 สมัชชาคนจน ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการสัมมนาเรื่อง ข้อเสนอสู่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน อันเป็นวาระที่เครือข่ายสมัชชาคนจน ได้นำเสนอสองประเด็นสำคัญที่ขบคิดในภาคประชาชน คือ การปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปองค์กร ซึ่งเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวพันกัน


 


 


ภาคประชาชนไร้น้ำยา?


รังสรรค์ แสนสองแคว ตัวแทนจากเครือข่ายภาคเหนือกล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จะถือว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ ไม่สามารถนำมาปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องของเรา


 


เขากล่าวว่า กระแสการเคลื่อนไหวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนั้น สร้างความสับสนให้สังคมว่าอันไหนร่างทรง อันไหนร่างจริง โดยเฉพาะร่างที่เกิดขึ้นของ คมช.ในขณะนี้ ยิ่งกว่าร่างทรงของเผด็จการ


 


"รัฐธรรมนูญนี้ที่กำลังจะส่งมอบ เราถือว่าเป็นร่างของเผด็จการ ดังนั้นเราขอปฏิเสธร่างนี้ เราขอใช้ร่างของเรา ร่างรัฐธรรมนูญที่กินได้และเห็นหัวคนจน"


 


ที่ผ่านมา เรามีอุปสรรคในขบวนการการจัดเวที เพราะแต่ละพื้นที่มีการจัดเวทีเรื่องนี้ค่อนข้างจะหลากหลาย สำนักนายกรัฐมนตรีเองก็ทิ้งงบประมาณไปไม่ใช่น้อย ซึ่งทำให้พี่น้องเราสับสนว่าอันไหนคือร่างทรง อันไหนคือร่างจริง ซึ่งเราขอยืนยันว่าร่างของเราเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่กินได้


 


รังสรรค์กล่าวถึงปัญหาในการขับเคลื่อนของเครือข่ายว่า เกิดปัญหาว่าผู้นำในองค์กรนำพาพี่น้องให้เคลื่อนไหวในประเด็นเฉพาะหน้า ขาดความเคลื่อนไหวในประเด็นระดับชาติ และไม่ได้ยกระดับไปถึงการต่อสู้ในระดับชาติ


 


นอกจากนี้ สมาชิกก็อ่อนล้าถดถอยจากการเคลื่อนไหวมายาวนาน รัฐซื้อเวลาและไม่จริงใจในการแก้ปัญหา


 


เขากล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่สามารถนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงได้ เพราะองค์กรอิสระถูกแทรกแซง


ทรัพยากรในการเคลื่อนไหวถูกแย่งชิงการจัดการ พี่เลี้ยง ซึ่งก็คือเอ็นจีโอแย่งการเคลื่อนไหวในหลายประเด็น และหลายกรณีใช้พี่เลี้ยงเป็นฐานในการเคลื่อนไหว จนขาดเอกภาพทางความคิดและอุดมกาณณ์ทางการเมือง


 


บุญ แซ่จุ้ง ตัวแทนเครือข่ายภาคใต้พูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า เนื้อหาบทบัญญัติในเชิงอุดมคตินั้นเขียนไม่ยาก แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรมันจึงจะเขียนมาจากสังคม หรือเขียนรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ซึ่งสำคัญกว่ารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร


 


ประเด็นสำคัญที่ตัวแทนเครือข่ายภาคใต้กล่าวคือ เน้นว่า "การพูดคุย" ในกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม เป็นขบวนการที่จะทำให้ผู้คนสนทนา แล้วผลักดันวาระของตนเอง


 


 


 


000


 


 


ข้อเสนอเพื่อประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน*


 


สมัชชาคนจน


 


จากการสรุปบทเรียน 10 ปีของสมัชชาคนจนในปี 2548 พวกเราพบว่า ปัญหาของพวกเรายังไม่ได้รับการแก้ไข และคนจนยังคงเผชิญกับปัญหากับการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากโครงการการพัฒนาและการดำเนินนโยบายของรัฐและการรุกรานของกลุ่มทุน การรวมตัวกันในนามสมัชชาคนจนเพื่อต้องการบรรเทาความเดือดร้อนในสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น เนื่องจากปัญหาความยากจนที่พวกเราประสบเป็นความยากจนที่มีรากฐานมาจากการจนอำนาจ จนโอกาส ไม่มีช่องทาง/กลไกในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ และ "ไม่มีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง"


 


การปฏิรูปการเมืองผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ได้พยายามสร้างช่องทาง กลไก และกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่ตลอดระยะเวลาราว 8 ปี หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คนจนก็ยังไม่สามารถนำบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้ปกป้องสิทธิของตน และสร้างทางเลือกในการกำหนดวิถีชีวิตของตนได้ ในขณะที่นักการเมือง กลุ่มทุน กลับอาศัยช่องทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแสวงหาผลประโยชน์เพื่อสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้แก่ตน และผลักพวกเราให้เป็นคนจน


 


จากบทเรียนดังกล่าวทำให้เราได้ข้อสรุปว่า คนจนจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจในความสัมพันธ์กับรัฐและคนกลุ่มอื่นในสังคมใหม่ ด้วยการสร้าง ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญให้หมดจดงดงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการสร้างอำนาจให้คนจนสามารถกำหนดวิถีชีวิตตนเองและมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐร่วมกับคนส่วนอื่นๆ ของสังคมได้อย่างเสมอหน้า จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปการเมืองเพื่อปฏิรูปองค์กรของสมัชชาคนจน โดยเริ่มต้นจากการสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวของ 40 กลุ่มศึกษา เพื่อทบทวนจุดอ่อนจุดแข็ง และปัญหาอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยภายในขององค์กร และจากแนวนโยบายของรัฐ ก่อนที่จะนำมาสังเคราะห์ร่วมกันในระดับภาค 4 ภาค และนำมาเสนอต่อพันธมิตรเพื่อรับฟังความเห็นในวันนี้


 


ผลการสังเคราะห์จากการจัดเวทีระดับภาค ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแนวนโยบายแห่งรัฐ กฎหมาย ระเบียบ วิธีปฏิบัติของรัฐที่เอื้อต่อการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน ควรจะอยู่บนหลักการ 5 ประการคือ


 


1. สิทธิในฐานทรัพยากร


ชุมชนท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิเหนือฐานทรัพยากรธรรมชาติ ต้องสามารถเข้าถึง ควบคุม และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ และทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งอยู่บนฐานของภูมิปัญญาและประเพณีของชุมชน ทั้งที่สืบทอดมาแต่เดิม หรือชุมชนสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ อันเป็นรากฐากสำคัญของการดำรงชีวิตและเป็นหลักประกันต่อคุณภาพชีวิตทั้งในปัจจุบันและในอนาคต บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การดำเนินนโยบายและการตรากฎหมายใดๆ ของรัฐ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรต้องเป็นการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ไม่ใช่เป็นการจำกัดสิทธิอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นโยบายการพัฒนาใดๆ ต้องเคารพสิทธิดังกล่าว และรัฐต้องดำเนินการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมเพื่อรับประกันการเข้าถึงทรัพยากรของคนจน เช่น การปฏิรูปที่ดิน การจัดการป่า การจัดการลุ่มน้ำ เป็นต้น


 


2. สิทธิในชีวิตบนฐานของจารีตประเพณี โดยยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง


จารีตประเพณีเป็นกติกาของการใช้วิถีชีวิตในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของชุมชน ที่นำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของชุมชน และสอดคล้องกับสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ จารีตประเพณีมีความหลากหลายตามสภาพพื้นที่และมีลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน รัฐต้องสนับสนุนให้ชุมชน เกิดการฟื้นฟูจารีตประเพณีในการจัดการชุมชนของตนเอง เพื่อธำรงไว้ซึ่งความหลากหลายของจารีตประเพณี


 


3. สิทธิทางการเมืองที่เป็นจริง


การเมืองต้องไม่จำกัดอยู่เพียงการเลือกตั้งและการแสวงอำนาจของชนชั้นนำในสังคม คนจนจะต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง รวมถึงเป็นผู้กำหนดแนวนโยบายรัฐ โดยไม่ต้องถูกจำกัดบทบาทอยู่เพียงการเป็นเพียงผู้ร่วมรับรู้นโยบายของรัฐอีกต่อไป


 


เพื่อให้คนจนสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้จริง รัฐจะต้องรับรองสิทธิทางการเมืองใดๆ เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของคนจน และต้องเสริมความเข้มแข็งของอำนาจประชาชนในการต่อรองเพื่อปกป้องผลประโยช์ของตน รวมถึงรัฐต้องเปิดโอกาสให้คนจนสามารถรวมตัวทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่มีกฎหมายรองรับ หรือไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม


 


การเปิดโอกาสให้คนจนมีสิทธิทางการเมืองที่เป็นจริง จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาความยากจน ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีความยากจนในสังคมที่เป็นธรรม"


 


4. สิทธิในสวัสดิการสังคม


มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการสวัสดิการสังคมที่ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตั้งแต่เกิดจนตาย ภายใต้พื้นฐานของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในสังคม รัฐต้องมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าและภาษีมรดก เพื่อเป็นฐานในการจัดสวัสดิการให้คนในสังคมสามารถได้รับบริการพื้นฐานจากรัฐอย่างเสมอหน้า ทั้งในด้านการศึกษา การบริการทางสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการรับประกันคุณภาพชีวิตต่างๆ เช่น การปลอดจากมลพิษ รัฐจะต้องจัดหาสวัสดิการสังคมเหล่านี้ให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และต้องไม่ดำเนินนโยบายใดๆ ที่กีดกันประชาชนจากการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การทำให้บริการขั้นพื้นฐานกลายเป็นสินค้า รวมทั้งต้องคุ้มครองการละเมิดสิทธิในการบริการขั้นพื้นฐานเหล่านี้ด้วย


 


นอกจากสวัสดิการในภาพรวมแล้ว การคุ้มครองสิทธิของคนจนกลุ่มต่างๆ เช่น การคุ้มครองสิทธิเกษตรกร สิทธิของผู้ใช้แรงงาน สิทธิของชุมชนแออัด และสิทธิของคนไร้บ้าน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เป็นของประชาชน และเป็นสิ่งที่รัฐต้องปฏิบัติ


 


5. สิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อ


ความยากจนที่เกิดจากการดำเนินนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเสรี และโครงการพัฒนาที่ตอบสนองการลงทุน เป็นสาเหตุสำคัญท่ำให้เกิดปัญหาความยากจน และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่รัฐยังคงผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรี ตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยม เหยื่อของการพัฒนาก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการสร้างประชาธิปไตยที่กินได้


 


หลักการสำคัญก็คือ รัฐต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายและโครงการพัฒนาใดๆ เป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจในการกำหนดและดำเนินนโยบายเหล่านั้น โดยการตัดสินใจดังกล่าวจะต้องได้รับข้อมูลที่เป็นจริงอย่างรอบด้าน ในกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดการฟื้นฟูวิถีชีวิต เช่น ร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับพื้นที่รองรับในกรณีที่มีการโยกย้ายถิ่นฐาน ร่วมกำหนดวิธีการชดเชยความเสียหายและการฟื้นฟูชีวิต การดำเนินนโยบายใดๆ ที่ก่อผลกระทบ จะต้องมีมาตรการการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบบที่เป็นธรรม และสามารถทำให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีต่อไปได้


 


 


 


หมายเหตุ* ข้อเสนอเพื่อประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน ที่จัดทำโดยสมัชชาคนจนนี้ เป็นเอกสารฉบับร่างที่เผยแพร่ในงานสัมมนาเรื่อง "ข้อเสนอสู่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่กินได้และการเมืองที่เห็นหัวคนจน" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net