Skip to main content
sharethis

ดร. บุณยสฤษฎ์ อเนกสุข


คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


b-anek@la.ubu.ac.th


 


บทนำ


พลันที่มีข่าวการชุมนุมของพระสงฆ์และชาวพุทธกลุ่มใหญ่เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมข้อความลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ก่อให้เกิดความฉงนต่อผู้เขียนอย่างยิ่ง และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทความนี้ขึ้น


อย่างไรก็ดีผู้เขียนขอออกตัวว่าผู้เขียนเป็นเพียงชาวพุทธไกลวัดคนหนึ่งที่มีกำพืดซึ่งเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม ดังนั้นบทความนี้จึงมิได้ส่งเสริมหรือคัดค้านการบรรจุหรือไม่บรรจุพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำชาติ หากแต่ประสงค์จะตั้งคำถามถึงวิธีคิดต่อความพยายามเรียกร้องดังกล่าว ดังนั้นประเด็นที่ว่าเมื่อบรรจุให้มีศาสนาประจำชาติไปแล้วจะทำให้เกิดความแตกแยกคนในชาติ หรือหากไม่บรรจุศาสนาประจำชาติจะทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมโทรมลง หรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ในเรื่องนี้ ฯลฯ จึงไม่ใช่สาระสำคัญของบทความนี้ และคิดว่าสังคมไทยควรก้าวพ้นจากวังวน 2-3 ประเด็นนี้ได้แล้ว


 


พุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบัน


เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาผู้เขียนประสบเหตุการณ์อันชวนประหลาดใจประการหนึ่ง กล่าวคือผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นสามเณรหลายรูปยืนสูบบุหรี่และสาดน้ำสงกรานต์บนท้ายรถหกล้อที่เขียนว่าเป็นสมบัติของวัดหนึ่งในต่างจังหวัด แน่นอนที่สุด ภาพดังกล่าวอาจเป็นเพียงภาพหนึ่งในหลายๆ ภาพเช่น พระสงฆ์ร่วมวงเตะตะกร้อ พระสงฆ์ค้ายาบ้าและเสพยาเสพติด พระสงฆ์ร่วมคดีข่มขืน ฯลฯ ที่ปรากฏอย่างดาษดื่นในสังคมไทยปัจจุบัน พร้อมกับมีคำอธิบายจากนักวิชาการด้านศาสนาว่า ผู้ที่ถูกเรียกว่า "ทรงศีล" เหล่านี้มีวัตรปฏิบัติ "นอกรีต" และเป็นเพียงคนโกนหัวห่มผ้าเหลือเท่านั้น อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนให้สังคมไทยมองเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างยิ่ง


หากพิจารณาคำอธิบายของนักวัฒนธรรมศึกษาแบบคลาสสิก ที่พยายามอธิบายว่าสังคมไทยอยู่ยั้งยืนยงได้เพราะศีลธรรมของพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล ความนอกรีตดังกล่าวจึงนับเป็นการบั่นทอนคำอธิบายที่คลาสสิกเหล่านี้อย่างยิ่ง สิ่งที่ผู้เขียนนึกถึงต่อมาภายหลังการเห็นภาพสามเณรกลุ่มนี้ก็คือ สามเณรในฐานะเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง แม้จะสมควรโดนตำหนิอย่างยิ่งต่อการกระทำ "ไม่ละอายผ้าเหลือง" แต่ผู้ที่สมควรถูกตำหนิมากที่สุด น่าจะเป็นเจ้าอาวาส พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของวัด รวมถึงฆราวาส โดยเฉพาะคนขับรถหกล้อที่มิได้ว่ากล่าว ห้ามปราม แต่กลับสนับสนุนให้เกิดการกระทำเช่นนี้


โดยนัยนี้ความผิดพลาดของกลุ่มสามเณรดังกล่าวส่วนหนึ่งจึงเกิดจากความเพิกเฉยของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวสามเณรมากกว่าความบกพร่องของสังคมที่เรียกร้องให้สามเณรยินดีแอบไปเล่นน้ำสงกรานต์


สิ่งที่ผู้เขียนเห็น สามารถเทียบเคียงกับปรากฏการณ์การเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาลงในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร? ผู้เขียนใคร่แสดงทัศนะดังนี้


1. ในภาวะที่เรานับถือศาสนาพุทธ แท้ที่จริงแล้ว เราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในศาสนากันแน่ ระหว่างการนับถือผู้แทนหรือผู้สั่งสอนคุณธรรมตามหลักของศาสนากับการหวนกลับไปสู่อรรถะในศาสนาพุทธแบบบริสุทธิ์ ดังนั้นเหตุการณ์สามเณรเล่นน้ำสงกรานต์กับการชุมชุมเรียกร้องดังกล่าวจึงมีความคล้ายคลึงกันตรงที่เราพยายามเรียกร้องอะไรระหว่างแก่นของศาสนาพุทธซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามพึงปฏิบัติ เช่น พระสงฆ์ที่ควรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหน้าที่ในพระวินัย ฆราวาสที่พึงปฏิบัติต่อกันตามศีลธรรมของศาสนา หรือจะเป็นเพียงสัญญะที่พยายามบอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับความพยายามใช้ผ้าเหลืองห่มกายแล้วอุปโลกน์ว่าเป็นพระสงฆ์ หรือการประกาศว่าประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ


2. หากสังคมไทยพยายามอธิบายว่า เราควรมีศาสนาประจำชาติที่ส่วนหนึ่งเป็นคำอธิบายเชิงชาตินิยม เราจะอธิบายตนเองภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) อันเป็นจุดเด่นที่เราพยายามอธิบายตนเองมานานนับเกือบศตวรรษทั้งในมิติทางศาสนาที่นิยมกล่าวอ้างไปในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชย้อนขึ้นไปว่าทรงมีขันติธรรมอย่างยิ่ง มิติทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายถึงการหลั่งไหลเข้ามาของนานากลุ่มชาติพันธุ์ในประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือมิติทางสังคมที่อธิบายว่า สังคมไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การยอมรับและปรับตัวท่ามกลางความแตกต่างกัน ฯลฯ ได้อย่างไร


ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอรรถะสำคัญทางพุทธศาสนา เราจะพบว่าศาสนาพุทธเองให้ความสำคัญกับการไม่เบียดเบียนกันอันนับเป็นรากฐานหนึ่งของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายอย่างสันติ สอดคล้องกับคำสอนของศาสนาอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับ "ความรัก" และ "สันติภาพ" เช่นกัน ดังนั้นการระบุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจึงควรถูกอธิบายแก่นแท้ที่มาอันเป็นรากฐานของสังคมไทยมากกว่าฉลาก (brand) เท่านั้น แม้จะเป็นความหวังดีก็ตาม


3. ศาสนาพุทธมีคำกล่าวที่เด่นชัดในเรื่องของความไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งที่เป็นเปลือกนอก เพราะทุกสิ่ง (รวมถึงตัวตน) เป็นทุกข์ ดังนั้นคำพูดของคนไทยที่มักจะกล่าวติดปากอยู่เสมอ ว่า "ช่างมัน" "ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง" "ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน" "ให้อภัย" ฯลฯ จึงเป็นความพยายามที่จะบ่งชี้ว่าอย่าไปใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่มีจนเกินขอบเขตและความพอดี (ที่จริงแล้วความพอดีก็นับเป็นอีกหลักการหนึ่งของพุทธศาสนาเช่นกัน) และพร้อมที่จะปล่อยวางภาวะคับแค้นในใจ


ดังนั้นไม่ว่าจะเห็นสามเณรแอบหนีเจ้าอาวาสมาเล่นสงกรานต์หรือจะบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ จึงมิอาจเป็นสาระสำคัญมากไปกว่าการตั้งคำถามต่อใจของผู้เกี่ยวข้องว่า "แอบหนีแล้วอย่างไร ไม่แอบหนีแล้วอย่างไร" และ "บรรจุแล้วอย่างไร ไม่บรรจุแล้วอย่างไร"


4. สืบเนื่องจากข้างต้นนี้เอง หลักธรรม "กาลามสูตร" ของศาสนาพุทธซึ่งให้ความสำคัญกับการพิจารณาไตร่ตรองเหตุการณ์ต่างๆ อย่างถ้วนถี่ มีสติและปัญญาก่อนที่จะเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตลอดจนรู้เท่าทันอารมณ์ในขณะที่ตนเองกำลังประกอบกิจกรรมใดๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากไปกว่าการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้พระสงฆ์ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือต้องเรียกร้องให้มีหรือไม่ให้มีการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก่อนที่เรา (ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส) จะตกหลุมพรางของวาทกรรม (discourse) การเป็นคนดี คนชั่ว การเมือง อำนาจเก่า ฯลฯ ไปมากกว่านี้


 


พุทธศาสนากับวิธีการพ้นทุกข์ในรัฐธรรมนูญ


สิ่งหนึ่งของปรากฏการณ์การเรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ข้อเรียกร้องและการตอบโต้ของแต่ละฝ่ายล้วนเป็นการกระทำตามความยึดมั่น "ในความดีของตนเอง" ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันผู้เขียนยังมิเห็นข้อถกเถียงเชิงวิชาการใดๆ ที่กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการบรรจุหรือไม่บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แม้จะมีการกล่าวอ้างจากทั้งสองฝ่ายว่ามีการทำประชาพิจารณ์หรือมีการพูดคุยในวงสัมมนาจำนวนมาก หากแต่ข้อถกเถียงในประเด็นเหตุและผล "อย่างมีสติและปัญญา" อันเป็นวิธีการพ้นทุกข์หนึ่งตามหลักศาสนากลับถูกบดบังเพียงการท้าตีท้าต่อยระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาสเท่านั้น


ผู้เขียนคิดว่า บางครั้งการบรรจุพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำ (แห่ง) ชาติลงในรัฐธรรมนูญอาจจำเป็นต่อการพ้นทุกข์ของคนในชาติน้อยกว่าการให้หลักคำสอนของพุทธศาสนาปรากฏในธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งประเด็นต่างๆ นี้เรายังไม่เคยกล่าวถึงเลย เช่น


1. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการจัดทำแผนแม่บทการศึกษาของชาติอย่างไรโดยเฉพาะการทำให้คนในชาติมีกาลามสูตรมากกว่าจะเชื่อเพียงเพราะว่า เป็นอาจารย์ของเรา หรือเป็นนายเรา เชื่อเพราะเขาว่ามาอย่างนี้ หรือเชื่อเพราะเขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ฯลฯ


2. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างไร


3. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชาติอย่างไร เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความเป็นธรรมในสังคมให้คงอยู่ยาวนานที่สุด


4. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการสร้างการบริหารการปกครองประเทศอย่างไรเพื่อมิให้เกิดภาวะ "ยึดมั่นถือมั่นและความหลงโลภ" ในอำนาจ ความมั่งคั่ง และการมีอยู่ของตัวตน อันเป็นที่มาของความบ้าอำนาจและฉ้อราษฎร์บังหลวงของฝ่ายการเมืองและนักปกครอง


5. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างไร ไม่ให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบ การเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างของเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคในสังคม


6. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการสร้างความเข้าใจความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมในสังคมไทย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนชายขอบในสังคมไทยได้อย่างไร


7. เราจะใช้หลักการทางศาสนาพุทธในการลดความขัดแย้ง แตกแยก ในสังคมได้อย่างไร


ฯลฯ


โดยนัยนี้ การที่เรากำลังให้ความสำคัญกับการประกาศว่า พุทธศาสนาควรเป็นศาสนาประจำชาติจึงอาจเป็นเพียงการเรียกร้องให้ "รัฐธรรมนูญต้องห่มผ้าเหลือง" คล้ายกับการที่สามเณรแอบหนีเล่นสงกรานต์ ซึ่งผู้ที่ควรถูกตำหนิอันดับต้นหาใช่ความบกพร่องของสังคมที่นำไปสู่การเรียกร้องให้ต้องประกาศว่าประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเพียงอย่างเดียว หากแต่คือผู้ที่มีความสัมพันธ์กับหลักคำสอนทางศาสนาพุทธ (ซึ่งในกรณีสามเณรแอบหนีเล่นสงกรานต์ได้แก่พระสงฆ์และฆราวาสผู้เกี่ยวพันกับสามเณรนั้น) ที่ไม่ใช้หลักการดังกล่าวในสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างผู้เป็น "พุทธะ" แก่ประชาชนอันกอปรด้วยความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานในธรรมต่างหากที่สมควรถูกตำหนิ


ปิดท้ายด้วยพุทธวจนะที่ว่า


"...ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย) เมื่อรักษาผู้อื่นก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย)


เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่นนั้นอย่างไร ด้วยการหมั่นปฏิบัติ ด้วยการเจริญธรรม ด้วยการทำให้มาก อย่างนี้แล เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย)


เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตนนั้นอย่างไร ด้วยขันติ ด้วยอวิหิงสา ด้วยความมีเมตตาจิต ด้วยความเอ็นดูกรุณาอย่างนี้แล เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย)


ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคิดว่า "เราจะรักษาตน" ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อคิดว่า "เราจะรักษาผู้อื่น" ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อรักษาตนก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย) เมื่อรักษาผู้อื่นก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย)..."


 มหาวรรค สังคยุตตนิกาย


(อ้างในเสน่ห์ จามริก . 2543 . พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน, หน้า 33-34.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net