Skip to main content
sharethis

กระแสรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติกลายเป็นประเด็นใหญ่มาหลายสัปดาห์ มีทั้งการชุมนุมเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งโต๊ะรณรงค์ล่ารายชื่อทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ตลอดจนติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ริมถนน เชิญชวนพุทธศาสนิกชนให้สนับสนุนเรื่องนี้ ฯลฯ


 


ประเด็นดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันมากทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ "ศาสนา" ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกผู้คน และผูกโยงกับความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจนและน่าหวาดเสียวขึ้นทุกวัน


 


พระไพศาล วิลาโล ได้บรรยายถึงที่สถิตย์ของ "พุทธศาสนา" โดยอ้างถึงแนวสันติวิธีของ "ติช นัท ฮันห์" ซึ่งเป็นพระภิกษุนิกายเซนแห่งเวียดนามที่โด่งดังทั่วโลก ความเป็นพุทธที่แท้แล้วเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ใช่รัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงอันตรายของการยึดติดยี่ห้อ "พุทธ" และถึงที่สุดหากต้องเลือกระหว่างที่อยู่ที่ยืนของพุทธศาสนากับสันติภาพ .... ชาวพุทธควรเลือกอะไร ?  


 


 


00000


 


พระไพศาล วิศาโล


สัมมนา 3 ทศวรรษกับท่าน ติช นัท ฮันห์


จัดโดยมูลนิธิโกมล คีมทอง ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


เมื่อ 6 เมษายน 2550



 


 


ถ้าพูดถึงท่านติช นัท ฮันห์ คนที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นสะพานให้คนไทยได้รู้จักท่านก็คือ อาจารย์สุลักษณ์ (ศิวลักษณ์) โดยนำบทความของท่านมาตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2517 ในนิตยสารปาจารยสาร นอกจากนี้ท่านยังมีบทบาทในขบวนการของท่าน ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าขบวนการชาวพุทธในเวียดนาม ขณะนั้นเมืองไทยเพิ่งผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม (2516) มาใหม่ๆ มีการลอบสังหาร การฆ่ากันระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะนองเลือดกันเมื่อไร ขณะที่รอบบ้านคือ เวียดนาม ลาว เขมร สงครามกำลังรุนแรงถึงขั้นจะยึดบ้านยึดเมืองกัน และในที่สุดปี 2518 เดือนเมษายน เวียดนามก็กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์


 


ขณะที่โลกกำลังประหัตประหารกันด้วยสองแนวทาง งานของท่านทำให้เห็นว่าทางเลือกที่สามที่ไม่ใช่ซ้ายไม่ใช่ขวาเป็นไปได้ เพราะสิ่งที่ขบวนการชาวพุทธในเวียดนามได้ทำคือการอุทิศตัวเพื่อสันติภาพโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ขับเคลื่อนผ่านพลังภายในคือ เมตตา กรุณา ไม่ใช่เพราะความเกลียดหรือความโลภ ในการณ์นั้นหลายคนถูกฆ่า โดยเฉพาะคนที่ทำโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม หรือ SYSS ขบวนการชาวพุทธในเวียดนามถูกข่มเหงรังแกจากทั้งสองฝ่ายอย่างมาก เราได้เห็นการอุทิศตัวอย่างนั้นเพื่อความรักและสันติภาพโดยไม่ยอมให้ความเกลียด ความโกรธเข้าครอบงำ


 


นอกจากนี้ท่านยังได้แสดงให้เห็นว่าการทำงานเพื่อสันติภาพ จิตใจเราต้องสงบเป็นประการแรก และทำให้การทำงานเพื่อสังคมเป็นการปฏิบัติธรรม หรือพูดง่ายๆ ว่าการไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับชีวิตประจำวัน และไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับการทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นงานการเมืองหรืองานสร้างสรรค์ชุมชนก็ตาม


 


หนังสือของท่านมีพลังแบบเช่นที่ว่ามานี้ ถ้าเรามีสติแล้วพยายามสร้างพลังแห่งความเมตตา กรุณา สร้างพลังแห่งสติและปัญญาได้ จะทำให้เห็นว่าไม่มีคนพวกไหนเป็นศัตรูของเรา ในบทกวีของท่านติช เขียนไว้เลยว่า "ศัตรูของเราไม่ใช่มนุษย์ แต่คือความโกรธ ความเกลียด ความติดยึดในอุดมการณ์"  


 


อย่างไรก็ตาม 30 ปีผ่านมา ความรุนแรงในโลกไม่ได้ลดลง มันเพียงแต่เปลี่ยนจากการต่อสู้ของอุดมการณ์ทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์มาเป็นการต่อสู้โดยมีอิทธิพลความสุดโต่งรุนแรงเรื่องชาตินิยมและศาสนา ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า "วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง" เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา และทั้งสองฝ่ายต่างมองว่าอีกฝ่ายคือศัตรู


 


อีกอันหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นคือ วัฒนธรรมแห่งความละโมบ กระแสบริโภคนิยมในปัจจุบันรุนแรงกว่าเมื่อ 30 ปีก่อน และเป็นภัยบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมมาก เช่น เวียดนามซึ่งเคยเอาชนะอเมริกาได้ด้วยแนวทางสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ แต่พอเจอบริโภคนิยมก็เป๋ เวียดนามชนะสงคราม แต่แพ้สันติภาพ เพราะมันเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าและเปิดช่องให้กระแสบริโภคนิยมเข้าไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างตั้งตัวไม่ติด ชัยชนะที่ได้มาในที่สุดก็เสียไปกับทุนนิยม บริโภคนิยม และสิ่งนี้ก็ไปบั่นทอนแม้กระทั่งตัวศาสนาเอง อย่างจตุคามรามเทพที่เป็นกระแสโด่งดังในบ้านเรา ท่านติช นัท ฮันห์ ใช้คำว่า manifestation (การสำแดง) ของวัฒนธรรมความละโมบ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์มันยากขึ้น การต่อสู้ทางอุดมการณ์นั้นก็ยากอยู่แล้ว แต่พอมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องก็ยากยิ่งขึ้น เพราะการต่อสู้ทางอุดมการณ์เถียงกันด้วยเหตุผลได้ แต่พอเป็นเรื่องของศาสนาโดยเฉพาะแนวที่สุดโต่งเรื่องเหตุผลไม่ต้องพูดกัน มีศรัทธาโดยไม่ใช้เหตุผล


 


ดังนั้น ทุกวันนี้ คำสอนของติช ยังมีคุณค่าอยู่ ทั้งการใช้ขันติและการให้อภัยในการเผชิญกับความรุนแรงที่มาจากศาสนาที่สุดโต่ง หรือการทำให้เกิดความสงบภายในเพื่อสู้กับบริโภคนิยม ถ้ามีความสงบภายในแล้วก็จะสามารถเผชิญกับวัฒนธรรมแห่งความโกรธ เกลียด และวัฒนธรรมแห่งความละโมบได้


 


ในสถานการณ์เมืองไทย ตอนนี้มีกลุ่มชาวพุทธจำนวนมากที่เคลื่อนไหวในการที่จะปกป้องพิทักษ์พุทธศาสนาที่เชื่อว่าเกิดจากการคุกคามของศาสนาอื่น และบางครั้งก็กระตุ้นให้เกิดความโกรธ ความเกลียดต่อศาสนาอื่น หรือคนที่คิดแตกต่าง หลายคนห่วงว่าพุทธศาสนาจะอยู่รอดในอนาคตหรือเปล่า ศาสนาอื่นก็ห่วงแบบนี้เช่นเดียวกัน ศาสนาอิสลาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับทุนนิยมก็เพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกคุกคามจากบริโภคนิยม อาตมาประทับใจสิ่งที่ท่านติช นัท ฮันห์ได้พูดในการสนทนาระหว่างท่านกับ เดเนียล เบอริแกน ซึ่งเป็นนักบวชนิกายเยซูอิด ตอนนั้นสงครามกำลังรุนแรงในช่วงปี 2517 มีคนถามว่าท่านเลือกอะไรระหว่างพุทธศาสนากับสันติภาพ ถ้าเวียดนามมีสันติภาพแต่หมายถึงพุทธศาสนาจะไม่มีที่ยืน เพราะคอมมิวนิสต์เขาไม่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพทางศาสนา ท่านติชบอกเลือกสันติภาพ เพราะว่าพุทธศาสนายอมไม่ได้ถ้าหากจะเลือกพุทธศาสนาแล้วไม่มีสันติภาพ พุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ จีวร มันอยู่ในใจ ตราบใดที่มีสันติภาพก็แน่ใจได้ว่าพุทธศาสนาจะงอกงามในใจคน


 


สันติภาพที่เกิดขึ้นอาจจะหมายถึงการกดขี่บีฑาชาวพุทธและกิจกรรมทางศาสนา แต่มันไม่สามารถทำลายพุทธศาสนาในใจได้ ท่านจึงเลือกสันติภาพ ซึ่งก็ตรงกับกัลยาณธรรมข้อแรกที่ว่า "เธออย่าติดยึดกับอุดมการณ์ใดๆ แม้แต่พุทธศาสนา" ถ้าเราเลือกพุทธศาสนาแต่ทำให้เกิดสงคราม อันนั้นมันขัดแย้งกันในตัว พุทธศาสนาไม่สามารถยอมรับเช่นนี้ได้ คำพูดเช่นนี้ทำให้เราได้คิดว่า ถ้าจะเป็นชาวพุทธที่แท้ เราต้องไปให้พ้นจากยี่ห้อพุทธศาสนาด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้ชาวพุทธโดยทั่วไปทำใจยาก นี่คือเหตุว่าทำไมลังกาถึงลุกเป็นไฟ เพราะคนจำนวนมากเลือกพุทธมากกว่าสันติภาพ สนับสนุนให้รัฐบาลทำสงครามกับทมิฬโดยเชื่อว่าวิธีนั้นจะทำให้ศาสนาอยู่ได้ หารู้ไม่ว่ายิ่งฆ่าเท่าไร พุทธศาสนาก็ถูกกัดกร่อน มันเหลือแต่ยี่ห้อแต่พุทธในใจมันไปหมดแล้วเพราะความเกลียดชัง


 


ในยุคแห่งการโกรธเกลียด โดยมีศรัทธาแห่งศาสนาเป็นเชื้ออย่างดี อาตมาคิดว่าคำพูดของท่านติช นัท ฮันห์ ยังไม่ล้าสมัยและจะเป็นอมตะไปตลอดกาล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net