บทความ : JTEPA กับตำราพิชัยสงคราม (1)

นันทน อินทนนท์

มหาวิทยาลัยสต๊อกโฮล์ม

           

 

ซุนวูกล่าวไว้ในตำราพิชัยสงครามบทที่ 3 ว่า "รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขาแต่รู้เรา ชนะหนึ่งแพ้หนึ่ง ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกรบจักพ่าย"

           

ผู้แทนคณะเจรจาฝ่ายไทยในความตกลง JTEPA กล่าวว่า ข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในความตกลง JTEPA มีความสอดคล้องกับความตกลงทริปส์ และนำรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาสนับสนุน โดยรายงานการวิจัยฉบับนี้วิเคราะห์ไว้ว่า "บทบัญญัติด้านทรัพย์สินทางปัญญาใน JTEPA ไม่ได้มีเนื้อหาที่มีความอ่อนไหวมากนัก เนื่องจากเป็นพันธกรณีที่ไทยมีอยู่แล้วตามความตกลงทริปส์"

           

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยทั้ง "เหตุ" และ "ผล" ของรายงานการวิจัยดังกล่าว การตั้งสมมติฐานของการวิจัยว่า ความตกลง JTEPA สอดคล้องกับความตกลงทริปส์หรือไม่ เป็นการตั้งสมมติฐานที่บกพร่องในเชิงวิชาการ ทั้งนี้เนื่องจากความตกลงทริปส์เป็นเพียงการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น การให้ความคุ้มครองแก่ผู้ทรงสิทธิที่เข้มงวดกว่าที่ความตกลงทริปส์กำหนดไว้ จึงไม่อาจเรียกได้ว่าขัดกับความตกลงทริปส์ ดังนั้นต่อให้ทำการวิจัยไปอย่างไร ความตกลง JTEPA ก็ย่อมสอดคล้องกับความตกลงทริปส์อยู่วันยังค่ำ

           

ปัญหาของความตกลงทริปส์ในสายตาของประเทศอุตสาหกรรมก็คือ ความตกลงฉบับนี้ไม่ได้กำหนดสาระของทรัพย์สินทางปัญญาไว้อย่างครบถ้วน ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาด้านใดที่มีความขัดแย้งมากเกินกว่าจะหาข้อสรุปได้ ความตกลงทริปส์ก็เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศไปกำหนดนโยบายในเรื่องนั้นเอง ความตกลงทริปส์จึงเอื้อประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนดนโยบายด้านกฎหมายในบางกรณีให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมของประเทศนั้น

           

ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศอุตสาหกรรมจึงได้เปลี่ยนเวทีของการเจรจาความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากความตกลงพหุภาคีไปสู่ความตกลงทวิภาคี เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีหรือความตกลงที่เรียกอย่างสวยหรูว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งหมายที่จะให้ประเทศกำลังพัฒนาให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ทรงสิทธิอย่างเข้มงวด ขยายขอบเขตของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาออกไป และจำกัดสิทธิของประเทศกำลังพัฒนาในการใช้ประโยชน์จากทางเลือกต่างๆ ที่กำหนดไว้ในความตกลงทริปส์

           

หากพิจารณาอย่างหยาบๆ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง แต่มิได้หมายความว่า ญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้าในทุกสาขาของเทคโนโลยี ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมในสาขาเครื่องกลและเทคโนโลยีชีวภาพ จึงให้ความสนใจแก่การคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ระบบสิทธิบัตร ญี่ปุ่นให้ความสนใจกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และมีการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นจะให้ความสนใจแก่การจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนอุตสาหกรรมบันเทิงและคอมพิวเตอร์นั้น ญี่ปุ่นยังมีความล้าหลังสหรัฐอเมริกามาก ความต้องการในการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดจึงมีไม่มากนัก แต่เนื่องจากญี่ปุ่นมีบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องเล่นเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้มีการนำมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยี (Technological Protection Measures) มาใช้เพื่อสร้างอำนาจผูกขาดในการจำหน่ายแผ่นเกมที่ใช้กับเครื่องเล่นเกมนั้น ญี่ปุ่นจึงต้องพยายามให้ประเทศอื่นให้ความคุ้มครองทางกฎหมายไม่ให้มีการหลีกเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีนั้น

             

สำหรับประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนแต่ยังอยู่ในระยะแห่งการพัฒนา แต่ประเทศไทยอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และได้สร้างสมภูมิปัญญาท้องถิ่นมาที่เกี่ยวกับทรัพยากรเหล่านี้มาเป็นเวลานาน ประเทศไทยจึงมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแตกต่างไปจากประเทศอุตสาหกรรม เช่น กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช กฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

           

ในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายต่างต้องการให้ข้อสรุปของการเจรจาสอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝ่ายตนเองมากที่สุด จึงไม่แน่แปลกใจที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องนำประเด็นด้านสิทธิบัตรการประดิษฐ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า การคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าสู่เวทีของการเจรจา

           

โดยปกติแล้ว ฝ่ายไทยจะต้องพยายามไม่ขยายความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เพิ่มขึ้นจากความตกลงทริปส์มากนัก เว้นแต่ในกรณีที่ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันได้ ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายไทยต้องนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของไทยเข้าสู่การเจรจาให้มากที่สุด เช่น พยายามให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเหมาะสมเมื่อมีการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมของไทยในการพัฒนาการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตร ฝ่ายไทยต้องยืนยันให้ญี่ปุ่นยอมรับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยไม่ยินยอมให้มีการนำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้อย่างไม่เหมาะสมหรือปราศจากการจ่ายค่าตอบแทน ตัวอย่างของเปล้าน้อยหรือฤาษีดัดตนคงเป็นตัวอย่างที่ดี

           

การเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ไม่แตกต่างจากการเจรจาการค้าทั่วไป ไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์ทั้งหมดหรือฝ่ายใดเสียประโยชน์ทั้งหมด ในกฎหมายเอกชน คู่สัญญาจะต้องมีอำนาจต่อรองเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน สัญญาจึงจะมีผลชอบด้วยกฎหมาย มิฉะนั้น รัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซงเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของฝ่ายที่มีอำนาจการต่อรองต่ำกว่า แต่หลักการเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศที่แต่ละรัฐมีสถานะทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน การเจรจาการค้าระหว่างประเทศของประเทศที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าจึงต้องฝากความหวังไว้กับความรู้ความสามารถของคณะเจรจาในระหว่างการเจรจานั้น แต่มิได้หมายความว่ากระบวนการก่อนการลงนามสัญญาจะไม่ต้องมีการหารือกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงก่อน

           

ในบทความต่อไป ผู้เขียนจะโต้แย้งในรายละเอียดว่า ความตกลง JTEPA เป็นความตกลงที่กำหนดพันธกรณีเกินเลยไปกว่าความตกลงทริปส์ในประเด็นใดบ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท