Skip to main content
sharethis

ภารุต เพ็ญพายัพ


 


 


หลังวันหยุดสงกรานต์ผ่านไปหมาดๆ ในบ่ายวันพุธที่ 18 เม.ย. เวลา 13.00 น. องค์กรต้านรัฐประหารทั้ง 12 องค์กร ออกมาแถลงข่าวในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ 2540 ยังไม่ตาย ประเทศชาติเสียหายเพราะรัฐประหาร เลือกตั้งโดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540"


 


องค์กรต้านรัฐประหาร 12 องค์กรนี้ ประกอบด้วย กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ, กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์, กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ, กลุ่มกรรมกรปฏิรูป, กลุ่มคนจนเมืองรักประชาธิปไตย, เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร, สมาพันธ์ประชาธิปไตย, มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย, พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย, สมาพันธ์แนวร่วมประชาธิปไตยอีสาน, สมาพันธ์คนรักประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า


 


การแถลงข่าวดังกล่าวมุ่งเน้นการโน้มน้าวภาคประชาชนไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้เหตุผลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยในหลายประการ เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลงานของคณะรัฐประหารที่ไร้ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ประธานและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ล้วนเป็นผู้รับใช้คณะรัฐประหารทั้งสิ้น ซึ่งร่างที่ออกมาก็แสดงให้เห็นการผูกขาดอำนาจไว้ในมือคนเพียงบางกลุ่มของประเทศเท่านั้น


 


นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นตัวแทนในการแถลงข่าวครั้งนี้ กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประสงค์ สุ่นศิรินี่แหละเป็นผลโดยตรง และเป็นสิ่งที่พวกรัฐประหารและผู้รับใช้รัฐประหารต้องการ ดังนั้นการเสแสร้งมาแสดงความเห็นในเชิงประชาธิปไตยนั้น เป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่าพวกนี้เป็นเพียงจิ้งจกเปลี่ยนสีเท่านั้น"


 


ส่วนประเด็นที่ถูกโจมตีว่าเป็น "พวกป่วนเมือง" นพ.เหวงได้แก้ไขข้อกล่าวหาว่า ทางกลุ่มไม่ได้มีเจตนาไปในแนวทางนั้น เพียงแต่ต้องการการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 โดยกล่าวว่า "ไม่ใช่ 12 องค์กรต้านรัฐประหารของเราที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง แต่พวกเราต้องการการเลือกตั้งภายใต้กฎกติการัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น!"


 


สืบเนื่องจากการประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ทาง 12 องค์กรต้านรัฐประหารได้ตีแผ่ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับประสงค์ สุ่นศิรินี้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังกว่าฉบับ 2540 อย่างชัดเจน โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับอภิชนาธิปไตย ฉบับปกป้องรัฐประหาร"


 


ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 299 ที่ระบุว่า "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำ
ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้" การระบุเช่นนี้ เป็นการจงใจปกป้องคุ้มครองการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยา ที่ผ่านมา


 


หรือการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการกำหนดให้มีสส. 400 คน โดย 80 คนในจำนวนดังกล่าวถูกแบ่งเป็นสี่ภาค ภาคละ 20 คนเท่าๆ กัน ทั้งๆ ที่ประชาชนในแต่ละภาคมีจำนวนไม่เท่ากัน ซึ่งถือเป็นการทำลายสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน เช่น อีสานมีประชากรเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศ แต่มีสัดส่วนส.ส.ได้เท่ากับภาคใต้ที่มีประชากร 1 ใน 6 ของประเทศเท่านั้น ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงให้สิทธิพลเมืองภาคใต้มากกว่าอีสาน เกิดความเหลื่อมล้ำ และเกิดพลเมืองชั้นสองขึ้นในสังคมไทย


 


รวมถึงการใช้อำนาจแบบอภิชนาธิปไตย โดยให้ส.ว. มาจากการคัดสรร ซึ่งถือเป็นการยึดเอาอำนาจอธิปไตยของพลเมือง 64 ล้านคนไปใช้


 


นอกจากนี้ทาง12 องค์กรยังแสดงทัศนะต่อไปว่า การยกเลิกส.ส.บัญชีรายชื่อถือเป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองที่จะพัฒนาทางด้านนโยบายในการเลือกตั้ง รวมทั้งการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี ก็เป็นการลอกเลียนแบบมาจากระบอบประธานาธิบดี


 


หลังจากการสับเละร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว นพ.เหวงยังยกปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถเข้ามาแก้ไขได้ รวมทั้งยังได้กล่าวถึงปัญหาคอร์รัปชั่น โดยข้อมูลจากสำนักสำรวจเพิรท์พบว่า การคอร์รัปชั่นของไทยในช่วงหกเดือนที่ผ่านมาเลวร้ายเป็นที่สองรองจากฟิลิปปินส์ ซ้ำร้ายการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลสุรยุทธ์นี้ ยังมากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วอีกด้วย!


 


เมื่อจบวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นพ.เหวงได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ออกมาชี้แจงถึงกำหนดการเคลื่อนไหวครั้งต่างๆ ที่ตนเป็นเจ้าภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้


 


1. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหารเตรียมจัดอภิปรายหน้ารัฐสภาในวันที่ 19 เม.ย. เวลา 10.30 น. และวันอาทิตย์ที่ 29 เม.ย. เตรียมเปิดเวทีปราศัยภายใต้หัวข้อการชุมนุม "ต่อต้านเผด็จการ-คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับลูกป๋า-คาบไปต์" ณ ท้องสนามหลวง โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. และในเวลา 18.30 น.จะเดินขบวนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


 


2. กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ในกรณีพฤติกรรมที่เข้าข่ายละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ยั่วยุให้เกิดการนองเลือดของพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 8 เม.ย. มีใจความสำคัญว่า "สพรั่งพร้อมจับดาบฟาดฟันศัตรูกอบกู้บ้านเมือง ขู่ก้าวล่วง จาบจ้วงเบื้องสูง อาจโดนตบปาก หากทนไม่ได้อาจจำเป็น ต้องใช้ปืนกลยิงหมา กลัวกลายเป็นหมาบ้าไปกัดคนอื่น"


 


และนายยอดธง ทับทิวไม้ ซึ่งเขียนบทความลงในผู้จัดการฉบับวันที่ 15 เม.ย. ภายใต้นามปากกา "ยอดรัก ตะวันรอน" ที่สนับสนุนบทสัมภาษณ์ของพลเอกสพรั่งในการจัดการขั้นเด็ดขาดต่อกลุ่มผู้ชุมนุม จนถึงขั้นการใช้อาวุธเข้าปราบปราม ซึ่งทางกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์เห็นว่า การนำเสนอข่าวของผู้จัดการดังกล่าว เปรียบได้ดั่งหนังสือพิมพ์ "ดาวสยาม" ที่ยั่วยุให้เกิดการนองเลือดในกรณี 6 ตุลา 19


นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังเตรียมล่ารายชื่อ 50,000 คนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ควบคู่ไปกับการสร้างกระแสรณรงค์ "ไม่เอา" หรือ "No" โดยให้ประชาชนติดสติ๊กเกอร์ที่มีสัญลักษณ์ "No" ซึ่งทางกลุ่มจัดทำขึ้น พร้อมทั้งเตรียมจัด "Flash Mob" ครั้งแรกในไทยบริเวณพื้นที่สยามแสควร์ ในวันที่ 19 พ.ค. โดยกิจกรรมเหล่านี้อยู่ภายใต้โครงการ "Thai Say No" ที่กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์เริ่มจัดขึ้นนับแต่หลังรัฐประหาร


 


3. สมาพันธ์คนรักประเทศไทย ร่วมกับสมาพันธ์แนวร่วมประชาธิปไตยอีสาน เตรียมจัดกิจกรรมที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อยื่นหนังสือต่อคมช.ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกใน 13 จังหวัดภาคอีสาน เนื่องด้วยพื้นที่อื่นได้ยกเลิกมาตรการดังกล่าวไปแล้ว


 


4. กลุ่มกรรมกรปฏิรูป, พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย, และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า นัดหมายให้ประชาชนสวมชุดดำเข้าร่วมงาน "กรรมกรสากล" ในวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งพลเอกสุรยุทธ์เป็นผู้เปิดงาน รวมทั้งเตรียมลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญภายในวันเดียวกัน


 


5. กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เตรียมจัดเสวนาทางวิชาการเพื่อชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ภายใต้หัวข้อ "เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญ 2540" ในวันที่ 22 เม.ย. ณ ห้อง 202 ตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 10.00-16.00 น.


 


สุดท้าย 12 องค์กรต้านรัฐประหารยังยืนยันอีกว่า การออกมาเคลื่อนไหวของทางกลุ่ม ไม่ได้ทำไปเพื่อหวังผลในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผลประโยชน์ต่างๆ ดังเช่นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนในการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร โดยทาง 12 องค์กรเห็นว่าควรเรียกพันธมิตรฯว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อรัฐประหาร" เสียมากกว่า


 


ทาง12 องค์กรต้านรัฐประหาร ยังกล่าวเสริมอีกว่ารูปแบบการจัดตั้งองค์กรของตนไม่ได้เป็นแบบรวมศูนย์ดังเช่นกลุ่มพันธมิตรฯ หรือการชุมนุมอื่นๆ ในอดีต ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สนามหลวงเท่านั้น แต่การเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ ดังกล่าว ได้แบ่งแยกงานกันตามความถนัด และปัญหาที่แต่ละกลุ่มต้องเผชิญ โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการเคลื่อนไหวครั้งต่างๆ


 


ซึ่งกิจกรรมการเคลื่อนไหวนั้น กระจายตัวไปทั่วตามพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหา โดยกลุ่มเคลื่อนไหวก็แตกต่างกันไปด้วยสาขาอาชีพที่หลากหลาย และดูราวกับว่าการต่อสู้จะดำเนินการไปทั่วทุกย่อมหญ้า


เมื่อระบอบประชาธิปไตยคือ "การปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน" เสียงการเรียกร้องจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป จึงเป็นสิ่งที่คณะรัฐประหารซึ่งกล่าวอ้างว่าต้องการจะดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย (อย่างน้อยในคณะรัฐประหารก็ใช้ชื่อว่า "คณะปฏิรูปการปกครองเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข") ควรรับมาพิจารณาอย่างจริงจังเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวหาว่ากลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นคลื่นใต้น้ำ หรือผู้ที่ต้องการจะก่อกวนความสงบเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net