Skip to main content
sharethis

โดย : องอาจ เดชา


 


 



 


ดูเหมือนว่าปัญหาการอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้านดั้งเดิม ยังคงเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรง หน่วงหนัก หมักหมมและซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเลือกปฏิบัติ ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายออกมากล่าวย้ำกันว่า ปัญหาดังกล่าวนั้น ล้วนเกิดจากความผิดพลาดจากนโยบายรัฐไทย ที่แฝงไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์ทั้งสิ้น...


 


ชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู "บ้านนาอ่อน" ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ก็เป็นอีก 1 หมู่บ้านที่กำลังจะถูกอพยพ...


 


 



 


 


ย้อนรอยกว่าจะมาเป็นหมู่บ้านนาอ่อน       


 


หมู่บ้านนาอ่อน เป็นชุมชนเล็กๆ ที่อยู่กันอย่างสงบมาช้านาน ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงไปประมาณ 17 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านเปียงหลวงกับหมู่บ้านแปกแซม ซึ่งอยู่ติดกับแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า


 


บ้านนาอ่อน ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมหมู่บ้านหนึ่ง เนื่องจากต้นตระกูลของชาวบ้านกลุ่มนี้ได้อาศัยพื้นที่ตรงนี้ทำกินมานานกว่า 30 ปี จากนั้นได้อพยพไปทำกินที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาลูกหลานได้กลับมาก่อตั้งหมู่บ้านนี้ และทำกินในพื้นที่เดิมอีกครั้ง เมื่อปี ..2537 จนถึงปัจจุบัน


 


ราษฎรส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านแปกแซม และเปียงหลวง สาเหตุที่อพยพมาจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ เพราะหมู่บ้านแปกแซม หมู่บ้านเปียงหลวงที่เคยอาศัย มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอสำหรับปลูกข้าว ข้าวไม่พอกิน สมาชิกภายในหมู่บ้านมักจะเกิดปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินเป็นประจำ เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินจึงได้อพยพมาจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ในหมู่บ้านนาอ่อน


 


ตอนเริ่มอพยพเข้ามาใหม่มีราษฎรเพียง 5 ครอบครัว ต่อมามีสมาชิกจากหมู่บ้านแปกแซม ตำบลเวียงแหง ที่ได้รับความเดือดร้อนจากไม่มีที่ดินทำกินเพียงพออพยพเข้ามาสมทบด้วยทำให้มีสมาชิกหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมาอีกรวม 13 ครอบครัว


 


ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ข้าว ข้าวโพด ปลูกถั่ว และเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงหมู ไก่ไว้บริโภคและใช้ทำพิธีกรรม ว่ากันว่า เนื่องจากที่ดินทำกินในหมู่บ้านนาอ่อนมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง สามารถปลูกข้าวได้จำนวนมาก เหลือกินทุกปี หมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงมักจะไปซื้อข้าวในหมู่บ้านไปกินกันทุกปี


 


ปัจจุบัน หมู่บ้านนาอ่อน เป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านแปกแซม(ป่าเกี๊ยะ) หมู่ที่ 1 ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหงจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีทั้งหมด 13 หลังคาเรือน ในจำนวนประชากร 52 คน มีสัญชาติไทยหรือบัตรประจำประชาชน 5 ครอบครัว 11 คน ที่เหลือถือบัตรสีเขียวขอบแดงและบัตรสีฟ้า และกำลังรอการพิสูจน์สถานะบุคคล ชาวบ้านทั้งหมดนับถือศาสนาดั้งเดิม นั่นคือนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ


 



 


 


 


เมื่อรัฐมองว่าชาวบ้านคือตัวปัญหา จำต้องอพยพด่วน ทั้งขู่ไม่ย้ายจะรื้อ-เผา


 


จู่ๆ ชาวบ้านนาอ่อนก็ต้องตระหนกตกใจ เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐนำโดยเจ้าหน้าที่โครงการหลวงแปะแซม ชุดทหาร จาก .7 พัน 2 ประจำแปกแซม พร้อมด้วยชุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ประมาณ 8 คน ได้ขึ้นไปที่หมู่บ้านนาอ่อน ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้านเปียงหลวงกับหมู่บ้านแปกแซม หมู่ที่ 1 .เปียงหลวง .เวียงแหงจ.เชียงใหม่ พร้อมกับแจ้งให้ชาวบ้านว่า ขอให้ชาวบ้านทั้งหมด 13 หลังคาเรือน จำนวน 52 คน ให้เตรียมตัวอพยพออกจากหมู่บ้านนาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 เวลา 9.00 .เป็นต้นไป หากขัดขืน ยังไม่อพยพออกจากหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำการรื้อถอนและเผาบ้านทั้งหมู่บ้าน พร้อมจะดำเนินคดีทั้งหมด


 


โดยเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว ได้กล่าวอ้างว่า ชาวบ้านหมู่บ้านนาอ่อน มีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้ป่าอุทยานแห่งชาติเชียงดาวถูกทำลายมากไปกว่านี้ จึงจำเป็นต้องอพยพหมู่บ้านนาอ่อนเป็นการเร่งด่วน ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทั้งที่หมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ เคยอยู่อาศัยทำกินมานานแล้ว


 


ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า เหตุการณ์การอพยพหมู่บ้านนาอ่อน ครั้งนั้น ซึ่งดำเนินการโดยโครงการหลวงบ้านแปกแซมร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ทหาร .7 พัน 2 อำเภอเวียงแหง การอพยพหมู่บ้านครั้งไม่ได้มีการเตรียมโครงการรองรับแต่อย่างใด เช่น ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภคอื่นๆ


 


"ตอนนั้นหลังทราบข่าว ชาวบ้านทุกคนต่างหวาดกลัว หวาดวิตก รู้สึกไม่มั่นคงต่อครอบครัวและวิถีชีวิต เนื่องจากจู่ๆ จะให้ชาวบ้านอพยพออกจากหมู่บ้านในชั่วข้ามคืน โดยยังไม่รู้ว่าจะไปอาศัยหลับนอนที่ไหน ทั้งลูกเล็กเด็กแดง ผู้หญิงและคนชราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ยิ่งช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูหนาวอีกด้วย อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการเตรียมพื้นที่รองรับสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ ใดๆ เลย" นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) ซึ่งเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน บอกเล่าให้ฟัง


 


"เหตุการณ์ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐพยายามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ ในขณะที่ภาคประชาชนยังไม่มีอำนาจการต่อรอง และเจ้าหน้าที่อาจเห็นว่าชาวบ้านไม่มีทางสู้ หรือไม่มีกลุ่มพวก จึงฉวยโอกาสรังแกคนไม่มีทางสู้" นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือ กล่าว


 


 


ร้อง คปส.- กรรมการสิทธิฯ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง


 


กระทั่ง ในวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้าน นำโดยนายแอะต๊ะเป สินโล่ และนายอาหวู่ โนรี ได้เดินทางเข้าร้องเรียนต่อเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย และศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกดดันและขีดเส้นตายให้ย้ายอพยพออกจากหมู่บ้านก่อนวันที่ 1 ธ.ค.


 


หลังจากนั้น ตัวแทนชาวบ้านและเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทยจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง ประธานอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยได้มีการร้องขอความเป็นธรรม 2 ข้อคือ 1. ขอให้ทำหนังสือเร่งด่วนไปยังนายอำเภอเวียงแหง ชะลอดำเนินการอพยพหมู่บ้านนาอ่อน หมู่ที่ 1 ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2549 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อน จนกว่าคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาข้อสรุปที่เป็นแนวทางออกที่ชัดเจน และ 2. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้อำนาจรัฐ ละเมิดสิทธิมนุษยชนราษฎรบ้านนาอ่อนครั้งนี้และคืนความยุติธรรมให้แก่ราษฎรทั้ง 13 หลังคาเรือน พร้อมยกเลิกคำสั่งอพยพหมู่บ้านนาอ่อนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง


 


30 พ.ย.2549 ทางกลุ่มชาวบ้านนาอ่อน ได้เข้าเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าว โดยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ โดยขอให้ระงับยับยั้งการอพยพหมู่บ้านนาอ่อนครั้งนี้ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบในปัญหาและข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนก่อน


อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังเสนอไว้ว่า หากจะทำการอพยพหมู่บ้านจริงๆ ทางโครงการหลวงแปกแซม อุทยานแห่งชาติเชียงดาวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องจัดหาพื้นที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินเพียงพอรองรับ พร้อมให้มีการสร้างบ้านกึ่งถาวรและสาธารณูปโภคพร้อมใช้ประโยชน์ได้ทันทีด้วย โดยในเบื้องต้นขอให้มีการเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก่อน ราษฎรทั้งหมดก็ยินดีที่จะอพยพออกจากพื้นที่ 


 


 


องค์กรสิทธิมนุษยชนด้านชนเผ่า-กสม.ท้วงสอบข้อเท็จจริงก่อนย้ายชาวบ้าน


 


ต่อมา เมื่อวันที่12 ธ.ค.2549 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 ได้จัดประชุมหารือกรณีการอพยพชาวบ้านนาอ่อน โดยที่ผ่านมานั้น กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 มีนโยบายอพยพชาวบ้านนาอ่อนออกจากพื้นที่โดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางป่า อีกทั้งตัวหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ และยังอยู่ในเขตพื้นที่ของสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซม ดังนั้นภายใต้นโยบายการจัดระเบียบชุมชนของสถานีฯ จำเป็นต้องอพยพชาวบ้านนาอ่อนทั้งหมดออก


 


กรณีที่เกิดขึ้น ได้รับการทักท้วงจากองค์กรสิทธิมนุษยชนด้านชนเผ่า เช่น ศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) เครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการอพยพ ดังนั้นจึงมีการหารือร่วมกันในครั้งนี้ โดยในที่ประชุมมีตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งอำเภอเวียงแหง สำนักบริหารจัดการและอนุรักษ์ที่ 16 ผกก.สภ.อ.เวียงแหง อุทยานฯเชียงดาว กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 รวมทั้งตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และชาวบ้านนาอ่อนที่จะถูกอพยพทั้ง 13 ครัวเรือนเข้าร่วมประชุม


 


 


 


 


โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 อ้างชาวบ้านบุกรุกป่า ย้ำเพื่อความมั่นคง มองชาติเป็นที่ตั้ง มีอำนาจจัดระเบียบชุมชน


 


พ.อ.เกษม วังสุนทร ผช.ผอ.โครงการฯ ทำการแทน ผอ.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 แจงว่า เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวมีแค่ 2 ชุมชนคือชุมชนแปกแซมกับชุมชนหินแตว ต่อมาชาวบ้านในชุมชนทั้งสองได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่บริเวณบ้านนาอ่อนเดิมทีไปกัน 7 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 12 หลังคาเรือน ขณะที่พื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านอยู่ในเขตสถานีฯ ซึ่งสถานีก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2543 ในเนื้อที่กว่า 19,000 ไร่ และมีกองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นตนวิตกว่าในอนาคตหากปล่อยไว้เช่นนี้โดยไม่จัดการใดๆแล้วชุมชนอาจมีการขยายตัวและมีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น


 


"ปัญหานี้มีการหารือมาหลายครั้งแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ครั้งนี้กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 ดำเนินการภายใต้ภาระกิจของสถานีฯที่ระบุถึงอำนาจที่สามารถจัดระเบียบชุมชนได้ เรื่องนี้ต้องมองชาติเป็นที่ตั้ง ต้องเอาพื้นที่นาอ่อนมาเป็นผืนป่าเหมือนเดิม ชาวบ้านต้องออกไป ต้องอยู่ในกรอบกติกา หากปล่อยไว้ก็จะมีปัญหาบุกรุกพื้นที่อื่นๆต่อไปอีก" พ.อ.เกษม กล่าว


 


 


ชาวบ้านครวญ ไม่ใช่ตัวการทำลายป่าทำลาย ย้ำหมู่บ้านตั้งอยู่ก่อนจะมีสถานีโครงการฯ นาย


 


ยาหวู่ นูลา ผู้เฒ่าอาวุโสวัย 74 ปีจากบ้านนาอ่อน กล่าวว่า ตนเป็นคนดั้งเดิมและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหมู่บ้านนาอ่อนเมื่อปี 2535 ช่วงนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีหน่วยงานราชการใดๆ ทั้งอุทยานฯ รวมทั้งสถานีฯเข้าไปจัดการ แต่เมื่อชุมชนตั้งถิ่นฐานไปได้ประมาณ 7 ปีสถานีฯก็เข้าไปดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านโดยไม่มีการกันพื้นที่หมู่บ้านออกจากแนวเขตแต่อย่างใด และต่อมาทางสถานีฯยังพยายามผลักดันอพยพชาวบ้านออกไปจากพื้นที่อีกโดยไม่มีพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ชัดเจน บอกเพียงแต่ว่าจะให้อพยพไปอยู่ที่บ้านแปกแซมแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นส่วนไหนของบ้านแปกแซม อีกทั้งยังไม่รู้ว่าพื้นที่ทำกินที่จะจัดสรรให้ชาวบ้านนั้นเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่ ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นชาวบ้านจะอยู่ที่นี่ต่อไปเพราะเชื่อว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการจัดตั้งสถานีฯ


 


นายแอะต๊ะเป สินโล่ แกนนำชาวบ้านนาอ่อน กล่าวว่า ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้นราชการหลายส่วน โดยเฉพาะอำเภอพยายามอพยพชาวบ้านนาอ่อนมาแล้วหลายครั้ง แต่ติดขัดที่หาสถานที่รองรับชาวบ้านไม่ได้ ดังนั้นทางอำเภอจึงให้ชาวบ้านอยู่ต่อจนกว่าจะหาสถานที่รองรับใหม่ให้ แต่เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กลับมีคำสั่งให้ชาวบ้านอพยพออก ทั้งยังกล่าวหาว่าชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริงสามารถตรวจสอบได้ เพราะเมื่อป่าบริเวณนี้ถูกทำลายเจ้าหน้าที่มักกล่าวหาว่าชาวบ้านนาอ่อนเป็นผู้กระทำอยู่เสมอ โดยที่ไม่เคยตรวจสอบและสาวให้ถึงตัวการที่แท้จริงว่าเป็นคนจากหมู่บ้านอื่นหรือเป็นคนเมืองจากพื้นราบเป็นคนทำ


 


 




 


เผยพื้นที่ใหม่ไม่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐาน และขัดกับความเชื่อชนเผ่า


ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ทาง คปส.และอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ ร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ระดับอำเภอ เพื่อดูพื้นที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ที่ทางภาครัฐจัดให้ ซึ่งจากการเข้าไปสำรวจพบว่า เป็นพื้นที่ป่าอยู่ห่างจากหมู่บ้านมะหินแตวไปประมาณ 500 เมตร โดยสภาพทำเลเป็นพื้นที่ลาดชันและรกร้าง ซึ่งชาวบ้านนาอ่อนต่างลงความเห็นว่า ไม่เหมาะกับการตั้งหมู่บ้าน


 


นายอาหวู่ โนรี ชาวบ้านบ้านนาอ่อน บอกว่า ชาวบ้านไม่อยากย้ายมาอยู่ตรงนี้ เพราะคนเฒ่าคนแก่บอกว่าขัดกับความเชื่อของชนเผ่า เพราะเคยอยู่ในหมู่บ้านมะหินแตวมาก่อน และเมื่อย้ายออกไปแล้ว จะกลับมายังที่เดิมไม่ได้ มิฉะนั้น จะเกิดเหตุอาเพศ เกิดความสูญเสียให้กับผู้คนได้


 


 


 




 


ทั้งนี้ ชาวบ้านนาอ่อนและคนในหมู่บ้านมะหินแตว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในวันนั้น(5 เม.ย.) ได้เกิดเพลิงไหม้หมู่บ้านมะหินแตววอดไป 2 หลังคาเรือน ซึ่งหลายคนต่างจับกลุ่มคุยกันว่า เป็นลางไม่ดี ซึ่งอาจเกิดอาเพศกับคนในหมู่บ้านอีกก็ได้ในอนาคต


 


"และที่ทางการบอกให้ย้ายอพยพนั้น ก็เป็นการย้ายเฉพาะที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้ให้ที่ทำกิน และดินแถวนี้ก็ไม่ดี เพาะปลูกไม่ได้ ยังไงชาวบ้านก็ต้องกลับมาทำกินในพื้นที่เดิมอยู่ดี"


 


นายชานนท์ ดวงมณี ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กล่าวภายหลังไปดูพื้นที่ โดยได้กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ตนไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ


 


ในขณะที่นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงาน คปส.ย้ำว่า หน่วยงานที่เสนอให้มีการอพยพชาวบ้าน คือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะว่าตกลงกันแล้วว่า หากจะย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ จะต้องหาพื้นที่ที่ดีกว่าเดิม


 


นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด บอกว่า จริงๆ แล้ว ชาวบ้านไม่ได้เรื่องมาก แต่เงื่อนไขที่ตกลงกันไว้แต่ต้น ก็คือหากจะย้าย ต้องมาดูพื้นที่ก่อน ว่าชาวบ้านรับได้ไหม และเหตุผลที่ชาวบ้านไม่ยอมย้ายไปอยู่บ้านมะหินแตว ก็เพราะ 1. ขัดกับความเชื่อของชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าลีซู ที่ถือกันว่าหากย้ายออกไปจากหมู่บ้านไปอยู่หมู่บ้านอื่น แล้วจะกลับมาอยู่ในพื้นที่เดิมอีกไม่ได้ 2.ชาวบ้านไม่อยากกลับไปเจอกับปัญหาความขัดแย้งเดิมๆ เช่น ปัญหายาเสพติด หรือการทะเลาะวิวาท ซึ่งเกรงจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิต และ 3.ทำเลที่ตั้งในพื้นที่ใหม่ไม่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากเป็นที่ลาดชันและอยู่ห่างไกลจากชุมชน


"ซึ่งล่าสุด ชาวบ้านได้เสนอให้เลือกพื้นที่ใหม่หากจะให้ย้ายหมู่บ้านจริงๆ โดยได้เสนอให้เลือกพื้นที่บ้านหัวนา อยู่ในเขตบ้านเปียงหลวง เพราะเห็นว่าเหมาะกับการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเปียงหลวงก็ยินยอมให้ย้ายมาอยู่ด้วย และหลังจากนี้ คงจะมีการสำรวจพื้นที่และมีการเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง" นายสุริยันต์ กล่าว


 


 


เผยข้ออ้างจนท.รัฐ สวนทางข้อเท็จจริง หวังยึดพื้นที่ทำผลงานหวังงบประมาณมากกว่า


"ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าอพยพเพื่อความมั่นคง บอกว่าพวกเรามีปัญหาเรื่องยาเสพติด ทั้งที่หมู่บ้านเราไม่มีปัญหายาเสพติดเลย และยังอ้างว่าพวกเราบุกรุกทำลายป่ากว่า 500 ไร่ ทั้งที่เราไม่ได้ทำลายป่าแต่อย่างใดเลย..." นายอาหวู่ โนรี ชาวบ้านนาอ่อนเล่าให้ฟัง


 


นายวิวัฒน์ ตามี่ กล่าวว่า มองกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ในครั้งนี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีวิธีคิดและมองว่าชาวบ้านชนเผ่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า มีปัญหายาเสพติด โดยอ้างว่าพื้นที่บ้านนาอ่อนเป็นทางผ่านของกองกำลังชนกลุ่มน้อย จึงอ้างเรื่องความมั่นคง และจะต้องมีการจัดระเบียบชุมชน


 


"แต่ข้อเท็จจริงนั้น การที่อ้างว่าชาวบ้านทำลายป่านั้นถือว่าไม่เป็นความจริง เพราะที่ดินที่ชาวบ้านใช้ทำกินมาเป็นสิบๆ ปี ก็ยังมีเท่าเดิม ซึ่งเมื่อวัดพิกัดดูจะพบว่า ชาวบ้านนาอ่อนได้ใช้พื้นที่ทำกินน้อยกว่า เมื่อเทียบกับกับการบุกรุกป่าในหลายชุมชนทั้งตำบลเปียงหลวง และกรณีที่อ้างเรื่องยาเสพติดนั้น ก็พิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านนาอ่อนไม่ได้มีการเสพหรือค้ายาแต่อย่างใดเลย อีกทั้งการอ้างเรื่องปัญหาความมั่นคง ว่าพื้นที่บ้านนาอ่อนเป็นทางผ่านของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ก็ไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด"


 


นายวิวัฒน์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ที่รัฐพยายามจะอพยพชาวบ้านนาอ่อนออกจากพื้นที่นั้น ก็เพื่อต้องการยึดพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเป็นพื้นที่ปลูกป่าเสียมากกว่า เพราะสังเกตเห็นว่าได้มีการทำแปลงเพาะชำกล้าไม้เอาไว้ใกล้ๆ บ้านนาอ่อน ซึ่งคงเกี่ยวข้องผูกพันกับงบประมาณที่จะได้รับมากกว่า นอกจากนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าการอพยพไปอยู่พื้นที่ใหม่ก็เพื่ออยากให้ความช่วยเหลือพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้นนั้น ก็เป็นเพียงการอ้างเพื่อต้องผลงานมากกว่า เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านนาอ่อนเขาก็สามารถจัดการดูแลเรื่องปากท้องของเขาได้อยู่แล้ว


 


"เมื่อมีการประชุมหารือกันเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐก็มิได้ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งทั้งหมด แต่ยังคงอ้างว่าชาวบ้านตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตป่า ทั้งที่พื้นที่ชาวบ้านในเขต อ.เวียงแหงส่วนใหญ่ก็ล้วนอยู่ในเขตป่า แต่กลับมุ่งจะอพยพชาวบ้านนาอ่อนเพียงชุมชนเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและมีอคติทางชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด"


 


 


อนุกก.สิทธิ ชี้นโยบายรัฐขัดแย้งชาวบ้าน


ฃขณะรัฐกลับสนับสนุน กฟผ.สร้างเหมืองถ่านหินเวียงแหง ทำลายผืนป่านับ 10,000 ไร่


 


นายโอฬาร อ่องฬะ อนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า เมื่อมองภาพรวมปัญหาความขัดแย้งระหว่างนโยบายรัฐกับชาวบ้านในเขต อ.เวียงแหงทั้งหมด จะพบว่า รัฐมักจะอ้างว่าชาวบ้านเข้าไปบุกรุกทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อหันไปมองในส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่ภาครัฐสนับสนุนและดำเนินการอยู่ อย่างเช่น โครงการขุดเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในเขต อ.เวียงแหง ที่ทาง กฟผ.ได้เข้ามาดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งตนเห็นว่าว่า โครงการเหล่านี้ได้สร้างปัญหาทำลายพื้นที่ป่ามากกว่าด้วยซ้ำ เพราะจะต้องมีการเปิดพื้นที่ป่าประมาณ 3-4 พันไร่ เพื่อทำการขุดเหมืองถ่านหิน รวมทั้งใช้พื้นที่ทำบ่อทิ้งกากอีกประมาณ 4-5 พันไร่


 


"ซึ่งจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วรัฐนั่นแหละที่เป็นฝ่ายส่งเสริมให้ กฟผ.เข้าไปสร้างปัญหาทำลายพื้นที่ป่าทำลายสิ่งแวดล้อมใน อ.เวียงแหง แต่ชาวบ้านในพื้นที่กลับถูกผลักให้ออกไป และรัฐยังคงมองชาวบ้านผิดตลอดเวลา ดังนั้น หากจะมองกรณีการอพยพชาวบ้านนาอ่อนออกจากพื้นที่ โดยอ้างชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า เราจำเป็นต้องมองมิติผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และเปรียบเทียบให้เห็นปัญหาการเข้าถึงฐานทรัพยากรที่มีความแตกต่างระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านด้วย"


 


นี่เป็นอีกกรณีหนึ่ง กับบทสะท้อนปัญหาการอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้านดั้งเดิม ซึ่งกระทั่งในขณะนี้ ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ยุติ โดยหลายฝ่ายมองว่า ปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดจากนโยบายรัฐและแนวคิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่บนพื้นฐานเดิมๆ ที่แฝงไปด้วยความมีอคติต่อทางกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยภูเขา คนบนพื้นที่สูง ชาวเลทางภาคใต้ ที่ต่างก็ตกอยู่ในวังวนของการถูกบีบคั้น กดดัน จากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมให้เราได้เห็นกันอยู่อย่างต่อเนื่อง.


 






 


ลำดับเหตุการณ์กรณีการอพยพหมู่บ้านนาอ่อน


 


ประมาณปี ..2543 โครงการหลวงบ้านแปกแซม ได้เข้าตั้งโครงการภายในหมู่บ้านแปกแซม เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวและพืชผักต่างๆ โดยมีหมู่บ้านเป้าหมาย 4-5 หย่อมบ้านซึ่งรวมหมู่บ้านนาอ่อนด้วย ช่วงเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านนั้น โครงการหลวงได้มีการอพยพหมู่บ้านหินแตว หมู่ที่1 รวมกับหมู่บ้านแปะแซม ด้วยเหตุเพื่อง่ายต่อการควบคุมและการพัฒนา


 


ปี ..2543-2544 อุทยานแห่งชาติเชียงดาวได้เข้าไปตั้งหน่วยภายในหมู่บ้าน เพื่อปลูกป่า โดยมีราษฎรภายในหมู่บ้านเป็นลูกจ้างสลับกันไปทำงานให้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ค่าตอบวันละ 80 บาทต่อคน งานที่ได้รับมอบหมาย เช่น ดินใส่ถุง เพาะกล้าไม้ ดายหญ้า กำจัดวัชพืช ฯลฯ การจ่ายเงินของป่าไม้ไม่ค่อยตรงเวลามากนักและบางครั้งก็ไม่ได้รับเงินเป็นเดือนก็ยังมี ในช่วงนี้ป่าไม้พยายามขยายพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น และเริ่มมีการพูดคุยกับโครงการหลงบ้านแปกแซม และอำเภอเวียงแหงว่า น่าจะอพยพหมู่บ้านนาอ่อนไปรวมกับหมู่บ้านแปกแซม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้หารือกันหลายครั้งเพื่ออพยพหมู่บ้านนาอ่อนโดยราษฎรภายในหมู่บ้านไม่เคยรับรู้มาก่อน


 


กระทั่งจนถึงเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เวลาประมาณ 16.00 . มีเจ้าหน้าที่รัฐนำโดยปลัดอำเภอเวียงแหงฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายทหาร จาก .7 พัน 2 กองกำลังผาเมือง โดย ..เกษม วังสุนทร (ไม่รู้สังกัด) เจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติเชียงดาว อส.อำเภอเวียงแหง ตำรวจภูธรจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเวียงแหง ผู้ใหญ่บ้าน .6 บ้านแปกแซมและผู้ใหญ่บ้านเปียงหลวง หมู่ 1 รวมประมาณ 20 คน ได้ขึ้นไปหมู่บ้านนาอ่อน และแจ้งให้ราษฎรทราบว่า นายอำเภอเวียงแหงมีคำสั่งให้ราษฎรทั้งหมด 13 หลังคาเรือน จำนวนราษฎร 52 คน ให้เตรียมตัวอพยพออกจากหมู่บ้านนาอ่อนก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2549 เมื่อถึงเวลาราษฎรยังไม่อพยพออกจากหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำการรื้อถอนเผาบ้านทั้งหมู่บ้าน พร้อมดำเนินคดีราษฎรในหมู่บ้านทั้งหมด ซึ่งขณะที่แจ้งให้ราษฎรทราบนั้น เจ้าหน้าที่รัฐชุดดังกล่าว ไม่ได้แสดงหลักฐานตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด


 


เหตุผลของการอพยพหมู่บ้านนาอ่อน เจ้าหน้าที่ป่าไม้และอำเภอเวียงแหง อ้างว่าแก่ราษฎรว่า ราษฎรหมู่บ้านนาอ่อนมีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้ป่าอุทยานแห่งชาติเชียงดาวถูกทำลายมากไปกว่านี้ จึงจำเป็นต้องอพยพหมู่บ้านนาอ่อนเป็นการเร่งด่วน


 


การอพยพหมู่บ้านนาอ่อนครั้งนี้ ทางอำเภอเวียงแหงและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เตรียมพื้นที่รองรับสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินแต่อย่างใด


 


และล่าสุด ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอให้ชาวบ้านนาอ่อนอพยพมาอยู่ในพื้นที่เขตบ้านมะหินแตว แต่ชาวบ้านคัดค้านไม่เห็นด้วยเนื่องพื้นที่ไม่เหมาะสมและขัดกับหลักความเชื่อ จึงเสนอให้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่บ้านหัวนา ในเขตพื้นที่ป่าบริเวณบ้านเปียงหลวง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า สุดท้าย ทางหน่วยงานรัฐจะอนุญาตและยินยอมให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวนั้นหรือไม่


 


 






 


"...จะทำอย่างไรถึงจะทำให้สังคม คนจำนวนหนึ่งที่มีอคติได้เข้าใจคนกลุ่มนี้เสียใหม่ ดังนั้น เราจึงพยายามเสนอให้แก้ปัญหาโดยให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันสร้างความเข้มแข็งทั้งในระดับปัจเจก ทั้งในระดับชุมชน ซึ่งที่เราเรียกกันว่าเราใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในการส่งเสริมในด้านสิทธิมนุษยชนก็ดี ซึ่งหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาเหล่านี้ แท้จริงแล้ว จะต้องให้ชุมชนกำหนดชะตาชีวิตของตน ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งมากำหนดชะตาชีวิตของตนเอง"


 


คุณหญิงอัมพร มีศุข


กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์


 


 


"...จากรายงานของฟรานซิส เอ็ม เด็ง ผู้แทนด้านผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ใช้ประกอบการดำเนินงานโครงการจัดทำข้อเสนอแนะเปรียบเทียบผ่านกระบวนการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการกำหนดชะตากรรมตนเองต่อสิทธิการพัฒนาของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ในพื้นที่เสี่ยงต่อการอพยพโยกย้ายอันเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ 2548-2549


 


...จากการสำรวจรายงานของสหประชาชาติ พบว่า ในปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนถึง 27 ล้านคน ที่เป็นผู้พลัดถิ่นถูกอพยพจากถิ่นฐานเดิมของตน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดสาเหตุทำให้ผู้คนพลัดพรากจากครอบครัว จากเครือญาติ ตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่เคยมีอยู่ ทำลายโอกาสทางการศึกษา มีการปิดกั้นการเข้าถึงปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย หรือยารักษาโรค ซึ่งเราได้พบทั้งในต่างประเทศและในประเทศเราเอง


 


ซึ่งผู้แทนด้านพลัดถิ่นภายในประเทศ ของเลขาฯสหาประชาชาติพยายามเสนอหลักการแนวคิดและการปฏิบัติต่อผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เช่น มาตราการคุ้มครองผู้ถูกอพยพ ผู้พลัดถิ่นจะต้องมีสิทธิ เสรีภาพ เท่ากับคนทั่วไป ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ในกรณีของประเทศไทย ก็ถือว่ามีก็ยังมีการเลือกปฏิบัติให้เห็นกันอยู่..."


ดร.ชูพินิจ เกษมณี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


 


 


"...การจะแก้ปัญหากรณีการถูกอพยพออกจากพื้นที่โดยรัฐนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาหาข้อบกพร่องหลังการดำเนินการอพยพ ว่ารัฐบกพร่องตรงไหน และรัฐควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ประเด็นการถูกอพยพนั้นนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ต่อไป"


 


"...จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะมีการจัดทำฐานข้อมูลตัวผู้ถูกอพยพ ว่าหลังถูกอพยพแล้ว คนกลุ่มนั้นมีผลกระทบอย่าไรบ้าง ซึ่งต้องมีการสร้างระบบติดตามผลศึกษาในระยะยาว ว่าผู้ถูกอพยพกลุ่มนั้นได้สูญเสียต้นทุนทางสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ ปัญหาการทำลายต้นทุนทางสังคมของผู้ถูกอพยพนั้น ล้วนเกิดจากการพัฒนาของภาครัฐทั้งสิ้น"


 


"...ข้อเสนอในทางกฎหมาย...ต้องสร้างเส้นแบ่งให้ชัดเจนมีมาตรการในการอพยพ มีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกอพยพ โดยเสนอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา เหมือนกรณีกฎหมายการเวนคืนที่ดินในเขตเมือง และหากรัฐเวนคืนที่ดินเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือมีการทุจริต ชาวบ้านก็สามารถกลับไปใช้ ไปอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นได้


 


"เพราะฉะนั้น รัฐจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า พื้นที่เดิมนั้น จะเอาไปใช้เพื่ออะไร หากกระทำผิดตามข้อบังคับ ชาวบ้าน ชุมชนที่ถูกอพยพก็สามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมได้โดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง มีการวางแผนร่วมกันกับชาวบ้าน นอกจากนั้น จะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบในการอพยพให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์"


 


"...จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างระบบในการติดตามผลในระยะยาว ว่าหลังถูกอพยพ แล้วพวกเขาเจอปัญหาอะไรอีกบ้าง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการรับรองสิทธิ ซึ่งเงื่อนไขทางสังคมเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ในปัญหาทั้งหมด"


 


"...เราต้องมีฐานข้อมูลเหล่านี้ เพราะรัฐมักมีวิชามาร ที่จะสร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งอาจเกิดการเลือกปฏิบัติได้ รวมไปถึง ควรมีการสร้างระบบประเมินความคุ้มค่าของการอพยพ ว่าคุ้มหรือไม่ เช่น การถูกอพยพเพื่อสร้างเขื่อน โดยการอพยพชาวบ้าน 300 ครอบครัว ซึ่งเมื่อดูต้นทุนทางสังคมแล้วมันคุ้มค่า คุ้มทุนหรือไม่ที่ต้องอพยพ"


 นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


ข้อมูลประกอบ สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net