แผนถอนทหารจากอิรัก?! รู้จัก "ลิเกเดโมแครต" (ตอน1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 แนนซี เพโลซี

 

 

???

 

 

ผู้นำคองเกรส : ชาร์ลส์ ชูเมอร์ (ชัค ชูเมอร์), แนนซี เพโลซี, ราห์ม เอ็มแมนูเอล, แฮรี รีด

 

 

 

ฮิลลารี คลินตัน และบิ๊กๆ ที่ DLC

 

 

 

บาร์บารา ลี

 

Iraq : The Real War

อุทัยวรรณ เจริญวัย

 

"ทำเนียบขาวเตรียมวีโต้แผนถอนทหาร" - เอพี 8 มีนาคม

"218-212 สส.โหวตกำหนดวันถอนทหารจากอิรัก" - นิวยอร์คไทมส์ 24 มีนาคม

"วุฒิสภาโหวตยอมรับวันถอนทหารอิรัก" - เอบีซี 30 มีนาคม

"บุชสัญญา วีโต้เดดไลน์ถอนทหารอิรักแน่" - เอ็นพีอาร์ 3 เมษายน

"บุชอัดเละ แผนกำหนดวันถอนทหารอิรัก" - เอพี 14 เมษายน

.................................................


            ถอน ถอน ถอน ถอน ถอน withdrawal-pullout-deadline-timeline........ฯลฯ ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่ออเมริกาโจมตีผู้อ่าน (ฟัง/ดู) ของมันซะยับเยินด้วยถ้อยคำในตระกูลที่ว่ามานี้  เอ๊ะ...หรือว่านี่จะเป็นการมาถึงของสันติภาพอันรำไร? หรือว่านี่จะเป็นสปิริตสุดยอดของคองเกรสชุดใหม่? ปล่อยให้ชาวอเมริกัน (95.25%) ผู้นิยมกินขนมปังโง่ๆ และตามนักการเมืองไม่ค่อยทัน-นั่งลุ้นระทึกซาบซึ้กันต่อไป แต่ที่นี่...ประชาไท เรามีเรื่องราว "อีกด้าน" ที่สนุกๆ คันๆ เกี่ยวกับ "แผนถอนทหาร" ของคณะลิเกคณะหนึ่งมาเล่าให้ฟัง

            เรื่องมันเริ่มจากบุชต้องการงบทำสงครามเพิ่มเติมฉุกเฉิน ทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน แต่สำหรับ "คองเกรสชุดใหม่-ภายใต้เดโมแครต" การจะปล่อยให้บุชได้รับเงินไปทำสงครามง่ายๆ ก็ดูจะทำร้ายจิตใจ "พลังแอนตี้วอร์" ผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งปลายปีที่แล้วมากเกินไป และออกนอกหน้าเกินไป อย่ากระนั้นเลย แผนถอนทหารอันแปลกประหลาด "ฆาตกรต่อเนื่องในชุดเสื้อคลุมแม่ชีเทเรซา" (sort of) จึงถูกคิดค้นขึ้น เพื่อเป็นข้อกำหนดอันเก๋ไก๋พ่วงมากับการไฟเขียวให้ทุนทำสงครามเพิ่มเติมครั้งนี้

            ลึกลงภายใต้เสื้อคลุมโนเบลสันติภาพ ร่างกฎหมาย "งบสงครามเพิ่มเติมฉุกเฉิน" ที่พ่วง "ข้อกำหนดถอนทหาร" มาด้วย (มี 2 เวอร์ชัน สส. กับ สว. - กำลังอยู่ในระหว่างปรับให้เป็นอันเดียวกัน) มีเนื้อหาสาระพอสรุปได้ว่า

            · บุชอยากได้งบไปทำสงครามเพิ่มแค่ 9.3 หมื่นล้านกว่าๆ แต่เราอยากเห็นสันติภาพและอยากเห็นการยุติสงครามมากๆ เราเลยขอเพิ่มงบให้บุชเป็นเกือบๆ 1 แสนล้านดอลลาร์

            · แต่ไหนๆ บุชก็ได้เงินไปตั้ง 1 แสนล้านแล้วนะ เราคิดว่าบุชควรจะช่วยเกษตรกรปลูก "ผักขม" สัก 25 ล้าน เกษตรกร "ถั่วลิสง" อีก 75 ล้าน และฐานเสียงอื่นๆ ในท้องถิ่นชุมชนของเราอีกประมาณ  2 หมื่นล้านพร้อมกันไปด้วย - สรุปแล้ว เราขอยัดเงินใส่มือบุช 1.2 แสนล้านไปเลยดีกว่า

            · ตาม "แผนการถอนทหาร" ของเรา เราไม่มีความรีบร้อนลุกลี้ลุกลนใดๆ เราแค่ต้องการให้บุช "ลดจำนวนทหารบางส่วน" ภายใน 31 สิงหาคมปีหน้า หรืออีก 16-17 เดือนถัดมา (ตามเวอร์ชันสส.) และหลังจากนั้น ก็จะยังมีทหารอีกส่วนซึ่งจำเป็นจะต้องรับบทหนัก "อยู่ต่อไปในอิรัก" เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเราและปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ในภูมิภาคนั้น และบางทีทหารของเราอาจจะต้องอยู่ต่อไป "ตราบชั่วฟ้าดินสลาย" เลยก็ได้ เพราะเราไม่เคยคิดจะปิด "ฐานทัพอมตะถาวร" ในอิรักอยู่แล้ว (ไม่เชื่อดูเยอรมันหรือญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง)

            · เอ่อ...ขอโทษนะ อันที่จริง เราไม่เคยใช้คำว่า ถอนทหารทั้งหมด "กลับบ้าน" อย่างที่นิยมตีความกันไปเองเลย แต่เราใช้คำว่า Redeployment อันคลุมเครือมาตลอดต่างหาก - ซึ่งแปลได้ว่า เป็นการย้ายทหารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง หรือการส่งทหารไปที่ใหม่ ไปรับภารกิจใหม่นั่นเอง - เพราะฉะนั้น การนำทหาร "ออกมาจากอิรัก" ของเราจึงไม่จำเป็นว่าเราจะต้องพาทหารถอยทัพกลับบ้านซะเมื่อไหร่ แต่มันอาจหมายถึง การย้ายทหารไปยังฐานทัพเพื่อนบ้านรอบๆ อิรักก็ได้ (เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้รีบบินมาทิ้งระเบิดใส่พลเมืองอิรักได้ทันเวลา เป็นต้น) ตลอดจนการย้ายทหารไปโน่น "ทำสงครามต่อในอัฟกานิสถาน" แนวรบที่กำลังลุกเป็นไฟมาแรงขึ้นทุกวัน

            อันที่จริง แอบกระซิบให้ฟังก็ได้ เราไม่เคยคิดจะยุติการยึดครองอะไรทั้งสิ้น เราแค่อยาก "จำกัดความเสียหาย" และ "จัดสรรทรัพยากรเพื่อการยึดครองซะใหม่" ให้มันฉลาดๆ และมีประสิทธิภาพต่างหาก (สิ่งที่บุชทำไม่เป็น)

            · เราจริงจังกับ "แผนถอนทหารที่ไม่ถอนทหาร" ครั้งนี้มาก แต่เนื่องจากว่า "เดดไลน์ถอนทหาร" ของเรามันคือฤดูร้อนปีหน้า ขณะที่งบซึ่งเราไฟเขียวให้บุชใช้มันสิ้นสุดใน 30 กันยายนปีนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าถึงกำหนดถอนทหารแล้วบุชยังไม่ถอนขึ้นมา เราก็คงจะทำอะไรไม่ได้ ก็บุชใช้งบนี้หมดไปตั้งนานแล้วนี่

            (อ้อ  แต่ไม่ว่าบุชจะทำตามหรือไม่ ตราบเท่าที่ปี 2007 ความสูญเสียยังดำเนินต่อไป ปี 2008 พรรครีพับลิกันก็คงจะมีปัญหาให้ต้องปวดหัวมากมาย และนั่นก็จะเป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่สุดประเสริฐ...สำหรับแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของเดโมแครต - ไม่ได้ตั้งใจเลยนะเนี่ย)

            · เราจะไม่ยอม "ช่วยเหลือ" รัฐบาลอิรักแบบใจดี-ไม่รู้จบอีกต่อไปแล้ว เราได้กำหนด "เกณฑ์วัดความก้าวหน้า" ในอิรักขึ้นมาชุดหนึ่ง แต่คนที่จะเป็นคนวัดว่าก้าวหน้าหรือไม่ก็คือประธานาธิบดีบุชนั่นเอง ไม่ใช่ใครที่ไหน ถ้าทำเนียบขาวออกรายงานมายืนยันว่า "อิรักสอบผ่าน" เราก็ไม่มีปัญหาอะไร - - แต่ที่สำคัญที่สุด บุชจะต้องกดดันให้รัฐบาลอิรักผ่าน "กฎหมายน้ำมัน" ออกมาบังคับใช้เร็วๆ ให้ได้ เพราะสิ่งนี้คือสุดยอดของ "ความก้าวหน้าในอิรัก"

            · ถึงแม้เราจะรักสันติภาพและแนวทางทางการทูตมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เรารักและเกรงใจมากกว่าก็คือ "ล็อบบี้ยิสต์อิสราเอล" ที่เคารพนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเอาข้อกำหนดที่ว่า...ถ้าบุชคิดจะทำสงครามกับอิหร่านเมื่อไหร่ ต้องมาขออนุมัติจาสภาคองเกรสก่อน...ออกไปจากร่างนี้ ก็ในเมื่ออิสราเอลอยากเห็นการโจมตีอิหร่าน...เราก็ไม่ควรจะทะเล่อทะล่าไปยืนขวางทาง

            · เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่าเราห่วงใยทหารรากหญ้า ไม่น้อยไปกว่าห่วงใยคะแนนเสียงจากแอนตี้วอร์ทุกท่าน เราจึงขอนำเสนอร่างกฎหมาย "ให้ทุนฆ่าคนเพิ่ม" ฉบับนี้ภายใต้ชื่อดูดีว่า "Troop Readiness, Veterans Health and Iraq Accountability Act" พร้อมมาตรการสร้างสรรค์แถมมาเพื่อความพอใจของทุกฝ่าย โดยเราไม่เพียงจะเพิ่มเงินช่วยเหลือดูแลสุขภาพให้กับทหารผ่านศึกผู้ต้องทุกข์ยากและเสียสละเพื่อบรรษัทข้ามชาติ เอ๊ย เพื่อชาติเท่านั้น แต่เรายังเรียกร้องให้ทหารที่จะถูกส่งไปรบ ต้องได้รับช่วงหยุดพักที่ครบถ้วน ได้รับการฝึกและปัจจัยสนับสนุนด้านอาวุธที่เพียงพออีกด้วย (เฮ้อ...ดูดีขึ้นจริงๆ ค่อยยังชั่ว)

            ด้วยเนื้อหาหลักๆ ที่วกวน-สับสน-ซ่อนเงื่อน-ผูกปม-และลื่นไหลไปมาประมาณนี้ ไม่น่าเชื่อว่า ในที่สุด คณะลิเกคณะหนึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างดี ในการสร้างภาพ "เป็นมิตรกับแอนตี้วอร์" แต่ก็ยัง "ให้การสนับสนุนกองทัพ" ไปด้วย และที่สำคัญ "กำลังต่อสู้เพื่อยุติสงครามอิรักอย่างแข็งขัน"

            ช่างเป็นพรสวรรค์ที่ยากจะเลียนแบบได้จริงๆ - - ว่าแต่ว่า มันเป็นพรสวรรค์ของอัจฉริยะบิ๊กๆ รายใด และเรื่องราวทั้งหมดมันไปไงมาไงกันล่ะ?

 

"ถอนทหาร" - แต่คิดจะอยู่ต่อจนถึงรุ่นหลาน?

            แรกเริ่มเดิมที สำหรับปีการเงิน 2007 (1 ตุลา 2006-30 กันยา 2007) เพนตากอนมีงบทั้งปีสำหรับอิรักและอัฟกานิสถานอยู่แล้ว 7 หมื่นล้าน มาต้นปีนี้ บุชต้องการงบฉุกเฉินไปทำสงครามเพิ่มอีก 9.3 หมื่นล้าน คองเกรสจึงมีการพิจารณาร่างกฎหมาย "งบสงครามเพิ่มเติมปี 2007" หรือ HR 1591 ที่เป็นสาเหตุศึกน้ำลายยืดเยื้อระหว่างเดโมแครต-ทำเนียบขาวตามมา

การแก้ไขประกอบการพิจารณาร่างนี้ มีที่มาจากข้อเสนอที่ยื่นโดยบิ๊กเดโมแครต เดวิด โอบีย์ (David Obey) ประธานคณะกรรมการจัดสรรงบประมาณของสภาคองเกรส นอกจากจะไม่ตัด-ไม่ลดแล้ว คองเกรสยังเพิ่มงบให้บุช ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสงครามเป็น 1 แสนล้าน ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องอีก 2 หมื่นล้าน พร้อมกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการใช้เงิน

            23 มีนาคม สภาผู้แทนราษฎร (435 : เดโมแครต 233 รีพับลิกัน 202) ได้โหวตรับร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนนเสียง 218-212 และ 29 มีนาคม วุฒิสภา (100 : เดโมแครต 49 อิสระแต่รวมกลุ่มเดโมแครต 2 รีพับลิกัน 49) ได้โหวตรับร่างตามมาด้วยคะแนน 51-47

ร่างของสส. เสนองบให้บุช 1.24 แสนล้าน และมีการระบุว่าให้บุชถอนทหารบางส่วนคือ "ทหารในส่วนที่ทำการสู้รบ" หรือ combat forces ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2008 - - ขณะที่ร่างของสว. เสนองบ 1.22 แสนล้าน ให้ถอนทหารในส่วนที่ทำการสู้รบแบบเป็นระยะๆ ถอนทีละขั้นตอน โดยเริ่มถอนครั้งแรก 120 วันหลังกฎหมายผ่าน และถอนไปเรื่อยๆ จนหมด (เฉพาะหน่วยที่ทำการรบ) ภายใน 31 มีนาคม 2008  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร่างสว. วันที่กำหนดไม่ใช่เดดไลน์ เป็นแค่ "เป้าหมาย" ที่วางไกด์ไว้คร่าวๆ โดยรวม-ร่างของสว. จะมีมาตรการหรือข้อกำหนดพ่วงมาที่อ่อนกว่าร่างของสส. ระหว่างนี้ (29 มีนาคมเป็นต้นมา) คณะทำงานร่วมของสองสภากำลังพิจารณาปรับสองร่างให้เป็นฉบับเดียวกัน ก่อนที่จะส่งไปให้บุช

ทั้งสองร่างระบุตรงกันว่า "ถอนเป็นบางส่วน" - ตกลงส่วนไหนที่ไม่ถอน?

ทหารส่วนที่จะเหลือไว้แบ่งได้ 3 กลุ่มคือ : ทหารที่ปกป้องคุ้มกันสถานทูต กรีนโซน ฐานทัพ และแหล่งผลประโยชน์ของอเมริกาในอิรัก, เทรนเนอร์ ทหารที่จะเป็นผู้ฝึกและคอยกำกับทหารอิรัก, ทหารที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ "ต่อต้านการก่อการร้าย" และรบกับ "อัล-ไคดา" ซึ่งกำลังหลักเลยได้แก่ หน่วยรบพิเศษหรือกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ (SOF - Special Operations Forces)

            ไม่มีการระบุตัวเลขที่จะถอนในร่างกฎหมาย รวมถึงไม่จำกัดจำนวนที่จะเหลือทิ้งไว้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาจากข้อมูลทั่วไปเท่าที่มีเกี่ยวกับกองทัพ พอจะประเมินคร่าวๆ ได้ว่า ทหารที่จัดอยู๋ในหน่วยรบ combat forces จะมีประมาณครึ่งหนึ่งของทหารทั้งหมด หลังจากบุชสั่งเพิ่มทหาร 30,000 ในอิรักไปแล้ว ทหารอเมริกาในอิรักที่มีอยู่เดิม 140,000 นาย จะพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 170,000 นาย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าตัวเลขที่ทิ้งไว้อาจจะอยู่ในราว 70,000 - 80,000 นาย

            ทหารที่จะยังอยู่ต่อไปในอิรัก สามารถแยกละเอียดได้เป็น (Phyllis Bennis, Opposing the Iraq Supplemental & Iran Threats, March 28, 2007)

1)      กองกำลังปกป้องคุ้มกัน น่าจะ 20,000 เป็นอย่างต่ำ

2)      เทรนเนอร์ อาจจะถึง 20,000

3)      กองกำลังเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย - เฉพาะที่จังหวัดอันบาร์ นาวิกโยธินบอกว่าต้องการ 20,000 เพราะฉะนั้นทั้งประเทศอาจต้องการถึง 40,000

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังไม่เรียกร้องให้มีการปิดอภิมหาฐานทัพชนิดคงทนถาวรหลายแห่งในอิรัก แถมยังให้เงินอีกหลายพันล้านสำหรับ "การก่อสร้างทางทหาร" ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมจะรวมฐานทัพที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเอาไว้ด้วย

ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของ "เอกชนผู้รับสัญญาว่าจ้างจากกองทัพ"  ซึ่งรวมไปถึง "ทหารรับจ้าง" จำนวนหลายหมื่น (บางคนให้ตัวเลขกว่า 100,000) กองทัพแฝงของอเมริกาขนาดมหึมามหัศจรรย์ที่สื่อส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบกล่าวถึง - ก็จะเป็นส่วนที่สามารถคงไว้ต่อไปได้ สบายมากๆ

ภายใต้ข้อกำหนด...ซะขนาดนี้ ชัดเจนว่า เดโมแครตไม่ได้ต้องการยุติการยึดครองในอิรักแต่ประการใด แถมยังพร้อมที่จะทิ้งกำลังทหารให้คงอยู่ที่นั่นต่อไปอีกหลายทศวรรษ จนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน หรืออาจจะรุ่น...ลูกของลูกของลูกของหลาน...ด้วยซ้ำ

และเช่นกัน ไม่มีการระบุในร่างด้วยว่า สำหรับทหารที่ถูก "ถอนออกไปบางส่วน" เหล่านั้น จะมีการ redeploy หรือถูกส่งไปที่ไหน แต่จากจุดยืนที่แสดงมาตลอดของบิ๊กๆ เดโมแครตทั้งหลาย พอจะคาดการณ์ได้ว่า พวกเขาเหล่านั้นจะถูกโยกย้ายส่งไป-ไม่ใกล้ไม่ไกลจากอิรักน่ะแหละ

เดวิด โอบีย์ ผู้สปอนเซอร์ร่างกฎหมายนี้ พูดชัดเจนว่า "โดยเนื้อหาสาระ จะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ให้มุ่งไปที่สงครามต่อต้านอัล-ไคดา และทาลีบานในอัฟกานิสถานมากขึ้น เราต้องต่อสู้ให้มันถูกสงคราม และทำให้มันถูกที่..."

ขณะที่ แฮรี รีด (Harry Reid) ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา ก็มาในแนวเดียวกัน รีดกล่าวว่าร่างกฎหมายนี้ "เพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในอิรักให้มากที่สุด และโยกย้ายทหารส่งไปที่ใหม่ เพื่อที่จะได้ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายให้มีประสิทธิภาพขึ้น"

นอกจากจะไม่คิดวางมือหรือถอนตัวจากอิรักแล้ว บิ๊กๆ น้าฉาก/หลังฉากของเดโมแครตยังมีนโยบายสนับสนุน "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" และสงครามในอัฟกานิสถาน...ในอารมณ์สุดบู๊ไม่แพ้รีพับลิกัน และงานนี้ก็ช่วยไม่ได้จริงๆ ที่บุชจะได้งบสงครามอัฟกานิสถานเกินกว่าที่ขออีก 1.2 พันล้าน

ในเว็บไซต์ของ แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) เดโมแครตประธานสภาผู้แทนฯ หรือ "เจ๊ดัน" ผู้รับบทเด่นสำหรับกฎหมายฉบับนี้ ก็พาดพิงถึงประเด็นนี้ไม่มีน้อยหน้ากันว่า "ร่างกฎหมายนี้ ให้ทุนเพิ่มมากขึ้นสำหรับเอาชนะอัล-ไคดา และผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน" เพโลซีได้เรียกร้องให้อเมริกาพุ่งความสนใจไปที่อัฟกานิสถาน "ที่ซึ่งสงครามต่อต้านการก่อการร้ายอยู่ที่นั่น"

เมื่อพิจารณาประกอบกับแผนอื่นๆ ที่ผู้นำเดโมแครตเคยให้การสนับสนุน ชัดยิ่งกว่าชัดว่า จำนวนทหารที่ถูกถอนไปจากอิรัก...คงจะหาทางกลับบ้านได้ยากมากๆ นอกจากจะต้องถูกส่งไปรบต่อในสงครามอัฟกานิสถานชัวร์ๆ แล้ว เป็นที่คาดการณ์กันว่า บางส่วนจะถูกส่งไปประจำอยู่ฐานทัพประเทศอาหรับรอบๆ อิรัก หรือประจำเรือรบที่ลอยอยู่บริเวณอ่าว หรือบางที...อาจจะมีรายการ "หวยออกที่อิหร่าน" รวมอยู่ในนั้นด้วย

พ้นไปจากพล็อต "โยกย้ายทหารที่ยังคงวนเวียนอยู่แถวๆ นั้น" แล้ว โดยภาพรวม สิ่งที่เป็นข้อกำหนดหลักๆ อีกอย่างในร่างนี้ก็คือ การเรียกร้องความก้าวหน้าในสถานการณ์อิรัก เพื่อที่จะประกาศว่า เดโมแครตไม่ได้ให้เงินไปใช้แบบไม่รับผิดชอบ หรือ "ช่วยเหลือสร้างประชาธิปไตย" กันไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้นนะ เพราะฉะนั้น ทั้งบุชและรัฐบาลอิรักต้องรู้จักทำสถานการณ์ให้มันดีขึ้นบ้าง

ภายใต้ร่างนี้ เกณฑ์ที่จะใช้ชี้วัดความก้าวหน้า (benchmark) ของอิรักมีหลายอย่าง เป็นต้นว่า การจำกัดควบคุมความขัดแย้งระหว่างนิกายให้ได้ การแก้ปัญหาเรื่องกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายให้เพลาๆ ลงบ้าง การปฏิรูปรัฐธรรมนูญอิรัก และที่พลาดไม่ได้เด็ดขาดก็คือ "การผ่านกฎหมายน้ำมัน" (ซึ่งใกล้คลอดเต็มที-อยู่ในช่วง "โค้งสุดท้าย" ขณะนี้)

การทำอิรักให้ดูดีมีความคืบหน้าอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่การให้ทำเนียบขาว (ด้วยความร่วมมือของบิ๊กเพนตากอน) เป็นฝ่าย "เขียนรายงาน-ประเมินสถานการณ์เอง" ก็สามารถทำให้เรื่องทั้งหมดง่ายขึ้นได้ ภายใต้มาตรการสบายๆ บุชมีพันธะหน้าที่ที่จะต้องออกรายงาน "ให้การรับรอง" ต่อคองเกรส 2 ครั้ง คือ 1 กรกฎาคม 2007 และ 1 ตุลาคม 2007 ว่ารัฐบาลอิรักได้บริหารประเทศเป็นไปตามเกณฑ์ที่วางไว้แล้ว

แต่ถ้าเมื่อไหร่ บุชไม่ให้การรับรองความก้าวหน้าในอิรัก อิรักก็จะถูกทำโทษ (!!) อเมริกาจะไม่อยู่ช่วยอิรักมากๆ อีกต่อไป และบุชจะต้องถอนทหารบางส่วนออกมาภายใน 180 วัน (ได้โปรดทำโทษเร็วๆ !! ประชาชนอิรัก want มาก แทบจะรอไม่ไหวอยู่แล้ว)

ในกรณีที่บุชผ่านด่านนี้มาได้ (ซึ่งก็แค่ออกรายงาน 2 ฉบับ) จนถึงกำหนดถอนทหารบางส่วน 31 สิงหาคม 2008 บุชก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำตามกำหนดเดดไลน์ที่ว่าได้อีก เพราะนอกจากร่างนี้จะไม่มีมาตรการลงโทษอะไร ยัง "เปิดช่อง" ให้มีการต่อรองยืดเวลาออกไปได้ ถ้าได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสภายหลัง

ยังไม่พอ ในส่วนข้อจำกัดที่มาจากการผลักดันของ จอห์น เมอร์ธา (John Murtha) ประธานคณะอนุกรรมาธิการฝ่ายงบประมาณเพนตากอน ว่าด้วยเรื่องห้ามส่งทหารที่ไม่ได้ช่วงหยุดพักมากพอ ไม่ได้เทรนเต็มที่ และไม่ได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีพอไปรบ - ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องทหาร และทำให้บุชมีอุปสรรคในการส่งทหารไปรบเพิ่มที่อิรัก (เพระทุกวันนี้ ทหารที่มีคุณสมบัติสอบผ่านหายาก) - สิ่งเหล่านี้พร้อมจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ไม่มีผลบังคับจริง เพราะร่างกฎหมายนี้ ก็ยังอุตส่าห์ "เปิดช่อง" ให้บุชยกเว้นหรือหลีกเลี่ยงได้อีกน่ะแหละ ในกรณีที่บุชยืนยันว่ามันเป็นเรื่องของ "ความมั่นคงแห่งชาติ"

แม้บุชและฝ่ายบริหารของบุชจะเรียงหน้ากันออกมาตำหนิและขู่ "วีโต้" ร่างกฎหมายนี้ก็ตาม (ตามสไตล์ของคาวบอยทำเนียบขาวซึ่งรับไม่ได้...แม้แต่การท้าทายเพียงปลายเล็บ) แต่เอาเข้าจริง หลังสำรวจชันสูตรพลิกร่างนี้ดูทุกซอกมุมแล้ว แอคทิวิสต์แอนตี้วอร์ผู้มีประสบการณ์โชกโชน-รู้ทันมารยาของคณะลิเกและนักเล่นกล ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า มาตรการสารพัดที่เดโมแครตดีไซน์ขึ้นมา...มันช่าง "ไร้เขี้ยวเล็บ" สิ้นดี

ลิน วูลซีย์ (Lynn Woolsey) หนึ่งในเดโมแครตแหกคอก-แกนนำกลุ่มรากหญ้าแอนตี้วอร์ ที่โหวตไม่รับร่างกฎหมายนี้ ให้สัมภาษณ์ Democracy Now วันที่ 22 มีนาคมว่า

"จริงๆ แล้วมันสามารถพูดได้ว่า ไม่มีมาตรการใดๆ ในกฎหมายฉบับนี้เลย ที่จะใช้บังคับประธานาธิบดีให้ทำในสิ่งที่เราบอกให้เขาทำ เมื่อเวลาล่วงถึงปลายเดือนสิงหาคม 2008 และสงครามยังดำเนินอยู่ เราก็คงจะได้แต่พูดว่า "เอาละ ตอนนี้คุณต้องถอนทหารกลับบ้านแล้วนะ" เพราะภายใต้กฎหมายฉบับนี้ วิธีเดียวที่เราจะบังคับให้เขาทำตามเราได้ ก็คือ...ต้องฟ้องดำเนินคดีเท่านั้น"

แปลวอชิงตันเป็นไทยได้ว่า "แผนถอนทหารของเดโมแครต" ที่ทำให้บุชหัวเสียมาเป็นเดือนนี้ จริงๆ แล้วก็คือ แผนถอนทหารแค่บางส่วน ถอนแบบมีเงื่อนไข ถอนแบบไม่รีบร้อน สบายๆ และอาจจะไม่นำไปสู่การถอน...ได้อีกแน่ะ (โอ้โห) - ก็แค่นั้นเอง...ราคาจริงของมัน

 

ทางเลือกที่ไม่ถูกเลือก ผู้เล่นที่ไม่มีเวทีให้เล่น

ด้วยเรื่องเน่าเรื่องฉาวที่เกิดขึ้นมากมายหลายระลอกของบุชและฝ่ายบริหาร ก่อนเลือกตั้ง โพลของคนอเมริกันส่วนใหญ่จึงต้องการให้สภาคองเกรสดำเนินการเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีบุชออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ผู้สมัครเดโมแครตหลายรายได้ให้สัญญาตอนหาเสียงว่า จะมีการถอดถอนตามมา อย่างไรก็ตาม แนนซี เพโลซี ผู้ซึ่งเป็นที่คาดหมายมานานว่าจะได้ตำแหน่งใหญ่หลังเลือกตั้ง กลับประกาศแสดงท่าทีต่อต้านมาตรการนี้มาตลอด ชัดเจนว่า จนถึงขณะนี้...การถอดถอนไม่ใช่ทางเลือกสำหรับประชาคมอีลิตในพรรค

เช่นกัน...การโหวตตัดงบสงครามก็ไม่ใช่ทางเลือก

ถ้าเดโมแครตต้องการ "ยุติสงคราม" จริง วิธีที่ได้ผลชะงัดก็คือ "หยุดให้เงินบุชทำสงครามได้แล้ว ถอนด่วน ถอนเดี๋ยวนี้" นี่คือวิธีการที่สามารถติดป้ายแอนตี้วอร์ได้อย่างสง่างามมั่นใจ 200% และตอบสนองความต้องการของประชาชน-โหวตเตอร์ส่วนใหญ่ แต่เดโมแครตระดับนำทั้งหลายก็ประกาศตัดทิ้งไปตั้งแต่ชาติปางก่อน

และถึงแม้ว่าเดโมแครตจะปฏิเสธวิธียุติสงครามที่ดีที่สุดและได้ผลรวดเร็วที่สุดไปแล้ว ก็ยังมีวิธีการ "ยุติสงคราม" แบบอื่นๆ ให้เลือกได้อีก ถ้าเพียงแต่บิ๊กๆ เดโมแครตจะพอมีความจริงใจให้กับประเด็นนี้อยู่บ้าง

หนึ่งในแผนถอนทหาร (ถอนหมดแต่ถอนช้า) ที่ไม่ถูกเลือก คือแผนของ บาร์บารา ลี (Barbara Lee)

            บาร์บารา ลี ได้ยื่นข้อเสนอประกอบการพิจารณากฎหมายนี้ ที่มีเนื้อหาไม่เพียงเรียกร้องการถอนทหารทั้งหมด แต่ยังรวมถึงการถอนผู้รับสัญญาว่าจ้างของกองทัพ (รวมทหารรับจ้าง) ทั้งหมดออกจากอิรัก ภายในสิ้นปี 31 ธันวาคม 2007 โดยให้มีการถอนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้การคุ้มกันพวกที่ยังอยู่ระหว่างถอน ห้ามการก่อสร้างฐานทัพถาวร และการขโมยน้ำมันอิรัก ยุติการยึดครองด้วยกำลังทหาร และให้กองทัพใช้งบเพื่อการถอนทหารเท่านั้น

ลีเป็น สส. หญิงแอนตี้วอร์รัฐแคลิฟอร์เนีย เช่นเดียวกับ ลิน วูลซีย์ และ แมกซีน วอเตอร์ส (Maxine Waters) ผู้ร่วมกันผลักดันข้อเสนอฉบับนี้ ทั้งหมดจัดเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่ม Out of Iraq Caucus และ Congressional Progressive Caucus (CPC) ซึ่งเป็นการรวมตัวของเดโมแครตในสภาคองเกรสกลุ่มที่พอจะมีสัดส่วนของ "ความก้าวหน้า" ผสมอยู่บ้าง (แม้จะเป็นหย่อมๆ ไม่ทั้งหมด) แตกต่างจากส่วนอื่นๆ ในพรรค - ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็มีสมาชิกเหลื่อมๆ กันอยู่ และมีขนาดไล่เลี่ยกัน

            Out of Iraq Caucus ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 ล่าสุด สมาชิกกลุ่มมีประมาณ 70 คน ส่วนใหญ่เป็นพวกสส.รากหญ้าในสภาผู้แทนฯ และข้อเสนอของลีก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในซีกนี้จำนวนมาก แต่กลับโดนอีลิตเดโมแครตสกัดทิ้ง ไม่เข้าสู่การโหวต และพากันผลักดันข้อเสนอ "แผนถอนทหารที่ไม่ถอนทหาร" ของตัวเองแทน

ท่ามกลางความไม่เป็นเอกภาพ หลากหลายกลุ่มก้อนฝักฝ่าย กลุ่มก้อนที่นับได้ว่ามีอิทธิพลสูงสุดในพรรคเดโมแครตก็คือ สภาผู้นำเดโมแครต หรือ Democratic Leadership Council (DLC) สมาชิกพรรคที่สังกัด DLC หรือยึดโยงกับแนวคิดของพวกนี้ เป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อกลุ่ม นิวเดโมแครต (New Democrat Coalition) สภาผู้นำ DLC ไม่ใช่องค์กรผู้บริหารที่เป็นทางการของพรรค แต่เป็นการจับกลุ่มอย่างอิสระ และเป็นฐานที่มั่นของอีลิตพรรคคนสำคัญหลายคนตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคบุกเบิกของ บิล คลินตัน จนมาถึงยุคโปรโมท ฮิลลารี คลินตัน

            ในส่วนของผู้นำเดโมแครตที่เป็นทางการ ผ่านการคัดเลือกจากสมาชิก มี 2 ส่วน คือ ฝ่ายบริหารกิจกรรมต่างๆ ของพรรค และฝ่ายบริหารในสภาคองเกรส - - ฝ่ายบริหารงานพรรคประกอบไปด้วยคณะกรรมาธิการหลายชุด และมีที่มาจากหลายสาย งานส่วนใหญ่โฟกัสไปที่แคมเปญเลือกตั้งระดับต่างๆ การระดมทุนและการช่วยเหลือผู้สมัคร คณะกรรมการชุดบนสุด ได้แก่ คณะกรรมาธิการแห่งชาติของเดโมแครต หรือ Democratic National Committee (DNC) ซึ่งตอนนี้มี ฮาเวิร์ด ดีน (Howard Dean) นั่งตำแหน่งประธานอยู่

สำหรับสภาคองเกรส ในวุฒิสภามี แฮรี รีด เป็นขาใหญ่นำทีม ด้วยตำแหน่งผู้นำเสียงข้างมากและประธานที่ประชุมพรรคของสว. โดยมี ชาร์ลส์ ชูเมอร์ (Charles Schumer) เป็นรองประธานที่ประชุม ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร นอกจาก แนนซี เพโลซี ที่นั่งตำแหน่งประธานสภาฯ เบอร์หนึ่งแล้ว ทีมผู้นำที่เด่นๆ ยังมี สเตนี ฮอยเยอร์ (Steny Hoyer) ผู้นำพรรคเสียงข้างมาก และราห์ม เอ็มแมนูเอล (Rahm Emanuel) ประธานที่ประชุมพรรค-ในส่วนของ สส.

            และทั้งหมดที่กล่าวมานี้...ก็คือ กลุ่มใหญ่ๆ ใน "ประชาคมอีลิต" ที่พากันหันหลังให้กับการตัดขาดงบสงคราม และพร้อมใจกันเอาแผนถอนทหารทุกฉบับที่ "ถอนจริง" ไปทิ้งถังขยะ

            เพื่อที่จะผลักดันแผนอิรักเวอร์ชันที่ตัวเองยอมรับได้ และกวาดต้อนเสียงสนับสนุนให้ครบ ผู้นำในสภาได้เปิดแคมเปญล็อบบี้พวกที่ "ไม่อยู่ในแถว" ขึ้นมาอย่างเข้มข้น ด้วยกรรมวิธีทั้งขู่ ทั้งปลอบ ทั้งประณาม ติดสินบน - ในกรณีของบาร์บารา ลี เธอถูกขู่ว่า จะถูกปลดออกจากตำแหน่งสมาชิกใน "คณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณ" ของสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการที่มีพาวเวอร์มาก (ลีเพิ่งได้รับเลือกเข้าไป) ถ้าเธอพยายามจะหาทางบล็อคไม่ให้ร่างกฎหมายนี้ผ่าน

และเพื่อเป็นการหลอกล่อจูงใจสส. รากหญ้า บรรดาอีลิตเดโมแครตทั้งหลายยังได้เพิ่มงบเข้าไปในร่างนี้ถึงกว่า 2 หมื่นล้าน สำหรับอุดหนุนโครงการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสงคราม อาทิ 400 ล้าน เพื่ออุดหนุนโรงเรียนในชนบท 120 ล้านสำหรับชาวประมงกุ้ง 75 ล้านสำหรับเกษตรกรถั่วลิสงในจอร์เจีย 15 ล้านสำหรับเกษตรกรปลูกข้าวในลุยส์เซียนา ฯลฯ

เว็บไซต์ Politico รายงานว่า สมาชิกเดโมแครตรายหนึ่งที่ยังลังเล ตัดสินใจไม่ได้ ถูกเตือนว่า เงินทุนอุดหนุนในเขตนั้นจะโดนบล็อค ถ้าขืนไม่โหวตสนับสนุนตามใบสั่ง - - และเบื้องหลังการโหวตผ่านร่างกฎหมายนี้ ยังมีรายงานอินไซด์จากคนในพรรคด้วยว่า ผู้ที่มีบทบาทล็อบบี้กดดันอย่างหนักสุดๆ ในสภาผู้แทนฯ ไม่ใช่ใครที่ไหน ราห์ม เอ็มแมนูเอล บิ๊กในสาย DLC หรือนิวเดโแครตนั่นเอง

            จนถึงวันโหวต 23 มีนาคม ขณะที่รีพับลิกันแทบทั้งหมดโหวต "ไม่รับร่างนี้" เพราะมีปัญหากับเงื่อนไขและกำหนดการถอนทหาร เดโมแครตที่โหวต "ไม่รับร่างนี้" มีอยู่ 14 คน แต่ด้วยเหตุผลแบบ "แอนตี้วอร์ตัวจริง" มีอยู่ 8 คน ซึ่งอยู่ในสังกัด Out of Iraq Caucus นอกจาก บาร์บารา ลี, ลิน วูลซีย์ และแมกซีน วอเตอร์สแล้ว เดโมแครตแตกแถวยังรวมถึงแอนตี้วอร์ฟอร์มเข้มและ high profile อย่าง เดนนิส คูซินิช (Dennis Kucinich) ไว้ด้วย

            หลังโหวตชนะหวุดหวิด 6 เสียง ร่างกฎหมายผ่าน แนนซี เพโลซี เจ้าแม่คองเกรสผู้รับบทหนัก กล่าวด้วยความตื้นตันว่า

"สภาใหม่ของเราได้โหวตเพื่อนำจุดจบมาให้สงครามอิรักอย่างน่าภาคภูมิใจ นี่คือก้าวใหญ่ที่มุ่งไปในทิศทางนั้น เราโหวตเพื่อไม่ให้เช็คเปล่าแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สำหรับพันธกิจที่ไม่รู้ตอนปลายและสงครามที่ไร้จุดจบ และเราโหวต "ใช่" สำหรับการเริ่มต้นเพื่อยุติสงครามและการโยกย้ายทหารไปสู่ที่ใหม่"

            "ยุติสงคราม"? ร่างกฎหมายที่ให้เงิน 1 แสนล้าน เพื่อทำสงครามต่อในอิรักและอัฟกานิสถาน แถมยังไม่ห้ามถ้าจะขยายสงครามไปอิหร่าน คือร่างกฎหมายเพื่อการ "ยุติสงคราม"? - มีคนไม่ค่อยเห็นด้วยกับเจ๊ดันเท่าไหร่

            เดนนิส คูซินิช เจ้าของข้อเสนอ "ถอนด่วน-ถอนเกลี้ยง" ที่ถูกมองข้าม ขอประณามร่างนี้ว่า "มันเป็นหายนะสำหรับประชาชนอเมริกัน" พร้อมกับอธิบายเหตุผลที่เขาต้องโหวต "โน" ว่า

            "คุณไม่สามารถที่จะพูดได้ว่าคุณส่งเสริมสันติภาพ ในเมื่อคุณโหวตที่จะทำให้สงครามเดินหน้า"

            และในซีกของแอคทิวิสต์ตัวจริง ไม่มีคำขอบคุณสำหรับวิธี "ยุติสงคราม" แบบนี้เช่นกัน - มีเดีย เบนจามิน (Medea Benjamin) ผู้นำกลุ่มแอนตี้วอร์-พลังหญิง Code Pink  บอกว่าเธอถูกแนนซี เพโลซี "หักหลัง" ต่างหาก

            "วันนี้ ต้องกาไว้เลยว่า เป็นวันที่เดโมแครตซื้อสงครามจอร์จ บุช"

            ถัดจากนั้นไม่กี่วัน วุฒิสภาก็โหวตรับร่างนี้ตามมา กลุ่มแอคทิวิสต์คนใกล้ชิดทหารอย่าง Military Families Speak Out ผู้เรียกร้องให้ตัดงบสงครามและถอนด่วน-ถอนเดี๋ยวนี้ ถึงกับประกาศตราหน้าคองเกรสชุดล่าสุด (110) ภายใต้เดโมแครตว่า

            "You Voted to Fund It, You Bought It, You Own It."

            ในเมื่อทางเลือกมีแต่ไม่ถูกเลือก ผู้เล่นมีแต่ไม่เคยได้เล่น สงครามอิรักจึงกลายเป็น "สงครามของเดโมแครต" ไปแล้วอย่างเป็นทางการ  - - เพียงแต่ว่า 90 กว่าเปอร์เซนต์ของอเมริกันชนทั้งประเทศ อาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองกำลัง "ดูลิเก" อยู่...ก็เท่านั้น o

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท