Skip to main content
sharethis


ประชาไท -- 10 เม.ย. 2550 - วานนี้ (9 เม.ย. 2550) ในช่วงพักกลางวันของการสัมมนายกร่างรัฐธรรมนูญที่โรงแรมเดอะ ไทด์ รีสอร์ท หาดบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรีนั้น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการลงมติใน 5 ประเด็นของกรรมาธิการฯ ว่า ในส่วนของการหารือภายในกรรมาธิการยกร่างมีการสงวนไว้หลายประเด็น ซึ่งบางประเด็นก็มีการอภิปรายกันเยอะแล้วและเป็นประเด็นย่อย  


 


เช่น ภาษีมรดก ควรจะเขียนในรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งจำนวนกรรมการสิทธิมนุษยชนว่าควรจะเพิ่ม 10-11 คน และควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในฐานะเลขานุการฯได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าหากประเด็นที่ไม่สำคัญ และได้อภิปรายไปบ้างแล้วจะขอให้ที่ประชุมลงมติ โดยไม่ต้องอภิปราย


 


สำหรับ 5 ประเด็นหลักที่ต้องอภิปรายก่อนลงมติคือ 1.องค์กรที่จะมาแก้ไขวิกฤตทางการเมืองในมาตรา 67 ซึ่งมีความสำคัญต้องอภิปราย 2. ที่มาของส.ส. ว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่ สัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ยังคงอยู่หรือไม่ ถ้าเป็นปาร์ตี้ลิสต์ควรจะเป็นแบบไหน มีสัดส่วนอย่างไร 3.ที่มาของ ส.ว.จะมาจากระบบสรรหาหรือผสมกับระบบการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง 4.เรื่องนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้หรือไม่ ที่ประชุมได้ข้อยุติไปบ้างแล้ว แต่มีเสียงข้างน้อยอยากให้มีการหารือกันและลงมติในเรื่องนี้ และ 5.เรื่องรัฐมนตรีรักษาการ ว่าระหว่างที่รัฐมนตรีชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งจะมีการตั้งรัฐมนตรีรักษาการมาจากคนนอกหรือไม่ เพื่อจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งก็อาศัยอำนาจของฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน ไปทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ซึ่งทั้งหมดจะหารือกันในวันที่ 10 เม.ย.


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าในการอภิปรายของกรรมาธิการบางคนจะมีความกังวลหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า คิดว่าใน 4 ประเด็นแรกค่อนข้างก้ำกึ่ง แต่ประเด็นที่มาของนายกฯ น่าจะได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งนายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการฯ ก็ไม่ได้ติดใจเรื่องที่มานายกฯ แต่ต้องการรู้ว่ากรรมาธิการคนอื่นคิดอย่างไร เราคงเขียนว่านายกฯ คงจะมาจาก ส.ส.


 


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตความเห็นของนายสมคิดว่านายศรีราชา เจริญพานิช ไม่ติดใจเรื่องที่มาของนายกฯ นั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะวานนี้ (9 เม.ย. 50) นายศรีราชา ยังยืนยันเรื่องเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ดังจดหมายยืนยันการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ส่งให้กับผู้สื่อข่าวมติชน (อ่านข่าวประกอบ)


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการโหวตจะเสร็จในวันเดียวหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่ากรรมาธิการจะลงมติใน 21 ประเด็นโดยจะลงมติยกมือเปิดเผย เพื่อให้เห็นว่าใครลงมติอย่างไรบ้าง และคิดว่าจะทำให้เสร็จภายในวันเดียว


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าการลงมติจะเปิดเผยให้สาธารณะทราบด้วยหรือไม่ นายสมคิด ตอบว่าจะไม่มีการลงบันทึกว่าใครจะลงคะแนนอย่างไร เนื่องจากไม่มีการกดปุ่ม หรือนับคะแนน แต่จะใช้วิธีการยกมือ ถ้าสื่อไปสอบถามจากเจ้าตัวก็คงบอกว่าโหวตอย่างไร


 


เมื่อถามว่าในวันที่ 10 เม.ย.เป็นการประชุมลับหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ไม่ได้ประชุมลับ แต่เป็นการประชุมกึ่งลับกึ่งเปิดเผย เพราะมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย ซึ่งทางประธานกมธ.ยกร่างฯได้พูดแล้วว่าได้ขอประชุมเป็นการเฉพาะกรรมาธิการ 35 คน


 


เมื่อถามว่ากรรมาธิการบางคนอาจจะไปแปรญัตติเพิ่มในการประชุม ส.ส.ร. นายสมคิด กล่าวว่า กรรมาธิการทั้ง 35 คนสามารถทำได้ ทั้งนี้ จะแปรญัตติหรือไม่ กรรมาธิการคงดูจากเสียงการลงมติของกรรมาธิการ หากได้เสียงออกมาพอๆ กันก็คงจะนำไปแปรญัตติ


 


สำหรับเรื่องอำนาจของศาลในรัฐธรรมนูญ นายสมคิด กล่าวว่า เมื่อวานเริ่มมีกรรมาธิการถามถึงแล้วว่าเราให้อำนาจศาลมากเกินไปหรือไม่ แล้วเท่าที่รับฟังศาลฎีกาทั้งหลายก็บอกว่าไม่อยากได้อำนาจนั้นเพราะการมีอำนาจมากเกินไปอาจถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้ ก็ขอให้กรรมาธิการดูให้รอบคอบ ศาลไม่ได้บ่ายเบี่ยงว่าไม่อยากได้อำนาจแต่ต้องดูอย่าให้อำนาจศาลจนทำให้ดุลยภาพอธิปไตย 3 ฝ่ายเสียไป


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชุมไม่ลับ แล้วจะถ่ายทอดหรือไม่


"ไม่ลับ แต่ไม่ถ่ายทอด" นายสมคิดกล่าวทิ้งท้าย


นอกจากนี้ในช่วงบ่าย นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกคณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงประเด็นที่ที่จะลงมติโดยไม่ต้องอภิปรายในวันพรุ่งนี้มี ว่าทั้งสิ้น 21 ประเด็น ประกอบด้วย


 



1.มาตรา 47 เรื่องการศึกษาพื้นฐานควรเป็นเก้าปีไม่ใช่สิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (นายศรีราชา เจริญพานิช เสนอ)


2.มาตรา 47 ให้ย้ายการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายไปอยู่ในวรรคที่สอง (นายพิสิฐ ลี้อาธรรม เสนอ)


3.มาตรา 67 ควรให้ผู้บัญชาการทหารทั้งสามเหล่าทัพ อยู่ในองค์กรแก้วิกฤติของประเทศด้วย (นายสุพจน์ ไข่มุกด์และนางสดศรี สัตยธรรม เสนอ)


4.มาตรา 70 เรื่องการออกเสียงประชามติและการเลือกตั้งควรเป็นสิทธิ (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์เสนอ)


5.มาตรา 70 ให้การออกเสียงเป็นประชามติ (นางสดศรี สัตยธรรม เสนอ)


 


6.มาตรา 70 ให้ใช้คำว่า "บุคคลมีหน้าที่ไปเลือกตั้ง" แทนคำเดิมที่มีบัญญัติว่า "บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง" (นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เสนอ)


7.มาตรา 75 ให้ใช้คำว่า "เขตอำนาจรัฐ" แทนคำว่า "บูรณภาพแห่งอาณาเขต" (นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เสนอ)


8.มาตรา 81 ความเพิ่มในมาตรา 81 อีกสอง อนุมาตรา คือ (1)จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐในทางเศรษฐกิจและไม่กระทำการอันทำให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ตกเป็นของเอกชน (2) คุ้มครองและส่งเสริมการประกอบวิชาชีพของประชาชนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพ (นายคมสัน โพธิ์คง เสนอ)


9 .มาตรา 81 ให้บัญญัติภาษีมรดกไว้ในมาตรา 81 (3) (นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เสนอ)


 


10.มาตรา 81.ให้บัญญัติภาษีอสังหาริมทรัพย์ไว้ในมาตรา 81(3) (นายศรีราชา เจริญพานิช เสนอ)


11.มาตรา 93 ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค (นายคมสัน โพธิ์คงเสนอ)


12.มาตรา 94 (10) ให้เพิ่มบิดามารดาและบุตร ของสมาชิกวุฒิสภา ห้ามลงสมัคร ส.ส.(นายคมสัน โพธิ์คงเสนอ)


13.มาตรา 94 (10) ให้ตัดคู่สมรสของ ส.ว. ลงสมัคร ส.ส. ได้ (นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และประพันธ์ นัยโกวิท เสนอ


14.มาตรา 95 ให้ตัดมาตรา 95 ที่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้อแสดงบัญชีทรัพย์สิน ในการสมัครรับเลือกตั้งออกทั้งหมด (นายวุฒิสาร ตันไชยเสนอ)


15.มาตรา 200 ให้เพิ่มเติมในวรรคสามว่ารัฐต้องชี้แจงแนวทางแก้ไขหรือเยียวยา ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำพันธกรณีกับต่างประเทศ (นายคมสัน โพธิ์คงเสนอ)


 


16.มาตรา 229 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรผูกพันองค์กรอื่นของรัฐ (นางสดศรี สัตยธรรม เสนอ)


17.มาตรา 268 จำนวนของกรรมการสิทธิมนุษยชนควรลดลง (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ เสนอ)


18.มาตรา 268 จำนวนของกรรมการสิทธิมนุษยชนควรเพิ่มขึ้น โดยให้แยกจำนวนทำงนประจำและไม่ประจำออกจากกัน (น.พ. ชูชัย ศุภวงศ์ เสนอ)


19.มาตรา 269 ให้ตัดอำนาจการฟ้องร้องว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ฟ้องคดีแทนประชาชนออก (นายคมสัน โพธิ์คงเสนอ)


20.ขอให้ปรับชื่อหมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์เสนอ)


21.มาตรา 280 จะนำความในมาตรานี้มาบังคับใช้กับคู่สมรสและบุตรของรัฐมนตรีโดยอนุโลมหรือไม่ (ที่ประชุมให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง)


 


 


นายปกรณ์ กล่าวว่าสำหรับประเด็นที่ขอให้ลงมติโดยอภิปรายด้วย จำนวน 5 มาตราประกอบด้วย


1.มาตรา 67 ควรมีองค์กรแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศหรือไม่


2.มาตรา 89 จำนวน ส.ส. ที่มาของ ส.ส. โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน


3.มาตรา 106 จำนวน ส.ว. ที่มาของ ส.ว.


4.มาตรา 180 นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจาก ส.ส. หรือไม่


5.ครม.รักษาการจะให้คนนอกมารักษาการแทน ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งไป


 


นายปกรณ์กล่าวอีกว่าในวันพรุ่งนี้จะเป็นการประชุมเฉพาะกรรมาธิการเท่านั้น เพราะมีหลายเรื่องเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอาจจะมีการพาดพิงถึงผู้อื่น สำหรับประเด็นที่ต้องอภิปรายก่อนลงมตินั้น ตนคิดว่าบางเรื่องก็คงลงมติได้โดยง่าย เช่นเรื่องนายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจาก ส.ส. หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เหลือเพียงนายศรีราชา ค้านอยู่คนเดียว และการลงคะแนนบางครั้งก็อาจะเป็นการลงคะแนนลับด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่าแม้จะเป็นการประชุมเฉพาะกรรมาธิการแต่ก็จะมีการบันทึกการประชุมเอาไว้ด้วย และเผยแพร่ในภายหลัง ซึ่งรับปากไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ บอกได้แต่จะพยายามทำให้เผยแพร่ออกมาได้เร็วที่สุด


 


ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่เลือกนำมาประชุมลับโดยให้มีการอภิปรายก่อนลงมตินั้นเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจและการตั้งคำถามของสังคมทั้งสิ้น เช่นเรื่อง คณะบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขสถานการณ์วิกฤต ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจ หรือเรื่องจำนวนและที่มาของ ส.ว. หรือเรื่อง จำนวนและที่มา ของ ส.ส. โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการ ไม่เคยมีการอภิปรายประเด็นเหล่านี้อย่างเปิดเผยเลย และเมื่อมีการพิจารณาถึงมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ มักจะรวบรัด โดยระบุว่าจะนำมาประชุมที่บางแสน เพราะจะมีคนอภิปรายเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมาถึงที่ประชุมที่โรงแรมเดอะไทด์ กลับไม่มีการนำเรื่องเหล่านี้มาหารืออย่างเปิดเผย และท้ายที่สุดก็ระบุว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจึงต้องนำมาประชุมลับ


 


นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่ายังมีประเด็นการลงมติ โดยไม่ต้องอภิปรายอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสงสัยคือการที่ จะให้นำผู้นำทั้งสามเหล่าทัพ มาอยู่ในองค์กรแก้ไขวิกฤตที่เสนอโดยนางสดศรี เพราะก่อนหน้านี้นายสมคิดได้เคยระบุว่าอย่างไรก็ตาม คงจะเอาทหารมาไว้ในองค์กรนี้ไม่ได้เพราะทหารจะอยู่ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และระบุในครั้งนั้นว่าที่ประชุมเข้าใจตรงกัน และจบลงแล้วว่าไม่มีทหารอย่างแน่นอน แต่ในที่สุดก็ปรากฏประเด็นนี้เป็นประเด็นที่จะต้องโหวต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net