รายงานเวทีรับฟังความเห็นอนาคต "ทีไอทีวี" : การแย่งชิงพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์

มุทิตา เชื้อชั่ง   รายงาน

 

 

.....การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นว่าด้วยอนาคตทีไอทีวีว่าจะให้เป็น "ทีวีเสรี" หรือ "ทีวีสาธารณะ" ว่ากันให้ถึงที่สุดคือการแย่งชิงทีวีช่องนี้ว่าจะกลับไปเป็นช่องยอดนิยมโดยภาคธุรกิจที่สัญญาจะมีธรรมาภิบาล รับใช้ประชาชน หรือจะ "ทดลอง" มาเป็นช่องที่จะต้องล้มลุกคลุกคลานกันอีกไม่น้อยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ตามเจตนารมณ์ปี 35 ....

 

 

วานนี้ (5 เม.ย.) ที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตสถานีโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากกรณีปัญหาของไอทีวีที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไร ล่าสุด คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะมีวาระทำงาน 1 เดือน ได้จัดเวทีนี้ขึ้นในโค้งสุดท้าย โดยตั้งแนวทางหลักในการพลิกโฉมไอทีวีไว้ 2 อย่างคือ ทีวีสาธารณะ กับ ทีวีเสรี

 

การอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวางและยังคงไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทีไอทีวีจะเดินไปสู่ทิศทางไหน อย่างไรก็ตาม คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการรวบรวมความคิดเห็นทั้งในเวทีที่กรุงเทพฯ และการเปิดรับฟังความเห็นจากต่างจังหวัดผ่านไปรษณีย์ โดยสรุปความเห็นและนำเสนอรูปแบบใหม่ของทีไอทีวีในวันที่ 10 เม.ย.นี้ และจะเสนอต่อครม.เร็วที่สุด หลังจากนั้นจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือนในการร่างกฎหมายมารองรับและนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

 

ภายในเวที "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่องความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้ทีไอทีวีเป็น "ทีวีสาธารณะ" อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเคยแถลงเรื่องนี้และได้รับการตอบรับอย่างดีในภาคประชาชน ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม รวมไปถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติบางส่วน

 

ขณะที่ "เถกิง สมทรัพย์" นายกสมาคมผู้สื่อข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นด้วย ได้เป็นตัวแทนนักวิชาชีพ นักสื่อสารมวลชน ผู้ประกอบ ในการนำเสนอแนวทาง "ทีวีเสรี" ดังเดิมแต่รัดกุมกว่าเดิม

 

ทั้งผู้นำเสนอแนวทางทีวีสาธารณะและทีวีเสรีต่างยืนยันถึงทิศทางใหม่ที่การนำเสนอรายการต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและ "ปราศจากการครอบงำจากรัฐและทุน" แต่ความต่างประการสำคัญ คือ หลักการความเป็นเจ้าของและที่มาของรายได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะกลับไปตอบโจทย์สำคัญว่าทีวีแห่งนี้จะ "อิสระ" ได้แท้จริงเพียงใด

 

ดร.สมเกียรติ นำเสนอว่าทีวีสาธารณะที่จะเกิดขึ้น ต้องจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนซึ่งมีกฎหมายเฉพาะรองรับเพื่อให้เป็นองค์กรมหาชนที่เป็นอิสระจากรัฐ โดยทางทีดีอาร์ไอทีจัดทำร่างต้นแบบให้พิจารณาไว้แล้ว ส่วนเรื่องเงินสนับสนุนมีการนำเสนอว่าควรนำมาจากภาษีของประชาชนโดยตรง อาจจะรูปแบบเดียวกับ สสส. ซึ่งได้งบประมาณมาจากภาษีเหล้าและบุหรี่โดยตรงโดยไม่ผ่านกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ต้องหารายได้จากโฆษณา

 

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารซึ่งมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ โดยมีข้อกำหนดความโปร่งใส มีส่วนร่วมว่า ต้องรายงานการทำงานต่อรัฐสภาทุกปี, เปิดผังรายการอย่างน้อย 10% ให้กลุ่มประชาชนหรือผู้ประกอบการรายย่อยได้ผลิตรายการ โดยมีกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมศักยภาพการผลิต, มีสภารับฟังความคิดเห็น เรียกว่า "Citizen Board" ประจำภูมิภาครูปแบบคล้ายกับสถานี BBC ของอังกฤษ, การปรับผังรายการต้องมีการจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น ฯลฯ

 

ขณะที่เถกิง นำเสนอให้กลับไปเป็นทีวีเสรีอีกครั้ง เนื่องจากไอทีวีมีต้นทุนที่ดีที่เป็นที่นิยมของประชาชนทั้งประเทศอยู่แล้ว ควรมีการปรับปรุงความเข้มข้นของเนื้อหา และแก้ปัญหาการถูกครอบงำด้วยการจัดการที่มาของทุนให้รัดกุมขึ้น โดยการกำหนดให้ชัดเจนว่าเงินทุน 51% จะมาจากเอกชน มีเพดานสูงสุดรายละไม่เกิน 5% และอีก 49% จะมาจากองค์กรภาคประชาชน กองทุนต่างๆ กำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกินแห่งละ 10%

 

ส่วนแนวทางในการหลุดพ้นจากการครอบงำจากอำนาจรัฐนั้น เถกิงกล่าวว่า ขณะนี้ทางสภาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กำลังผลักดันเรื่องการห้ามนักการเมืองถือครองหุ้นธุรกิจสื่อ และหากการร่างรัฐธรรมนูญจะมีการบัญญัติมาตรา 39-41 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าด้วยหลักประกันเสรีภาพของสื่อก็จะยิ่งเป็นหลักประกันที่มั่นคงขึ้น นอกจากนี้ภายในองค์กรบริหารเองก็จะต้องวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น การตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาในการกำกับทิศทาง นโยบายของสถานี โดยมีที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ มีคณะกรรมการบริหารในการจัดการทรัพยากร และกองบรรณาธิการ ซึ่งที่ปรึกษาฝ่ายข่าวต้องรวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความชำนาญในวิชาชีพ โดยจะต้องมีการนำเสนอข่าวสารสาระไม่ต่ำกว่า 70% และบันเทิงไม่เกิน 30%

 

มีการตั้งคำถามมากว่า การกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นจะป้องกันการเข้ามาครอบงำของทุนได้อย่างไร โดยเฉพาะในรูปแบบของนอมินี เถกิงชี้แจงว่า จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาทำการประมูล ทีไอทีวี เสียใหม่เพื่อจัดทำทีโออาร์ในการประชมูล และมีการตรวจสอบการเป็นนอมินีอย่างเข้มงวด

 

การแสดงความคิดเห็นในเวทีมีความหลากหลายทั้งจากมุมของภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ประกอบการ นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป

 

จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตส.ว.และผู้ประสานงานเวทีประชาธิปไตย ฟันธงชัดเจนว่า ทีไอทีวีควรจะเป็นทีวีสาธารณะแห่งแรกในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา 10 กว่าปีสื่อธุรกิจได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถถูกครอบงำทั้งจากอำนาจรัฐและทุน การทำให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะทำให้มีหลักประกันว่าประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และนำเสนอเรื่องราวมากขึ้น มีการตรวจสอบรัฐบาล นำเสนอข้อมูลข่าวสารรอบด้านโดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันตัดสินใจ เช่นกรณีเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น นอกจากนี้สื่อสาธารณะยังจะมีบทบาทในการนำเสนอความจริงบางด้านซึ่งสื่อส่วนใหญ่ล้มเหลว ไม่ยอมนำเสนอ เช่น เหตุการณ์ในภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงในกรณีกรือเซะ สะบ้าย้อย หรือตากใบ

 

ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการหลายคนเห็นด้วยกับการกลับไปเป็นทีวีเสรีแบบเดิม หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรผลักดันสู่การเป็นทีวีสาธารณะโดยตัดภาคธุรกิจออกไป ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็น ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ประธานกรรมการ บริษัท บอร์น ออฟเปอเรชั่น จำกัด ที่ยืนยันว่าตอนนี้ผู้คนโดยเฉพาะภาคประชาสังคมเหมารวมและมองธุรกิจในแง่ร้ายเกินไป ขณะที่มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่คำนึงประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นด้วยว่าทีวีสาธารณะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ไม่ควรจะตั้งต้นด้วยทัศคติที่เป็นลบกับภาคธุรกิจเช่นนี้จนเหมือนการสร้างบ้านใหม่ที่ต้องเผาบ้านเก่า

 

"เรากำลังมองโลกในแง่ร้ายมากและไม่สร้างสรรค์ ทำให้ประชาชนสับสน ทีวีเสรีมันเลว มันผิดเพี้ยนไปหมด โดยที่ไม่มองแบบหาจุดแก้ไขกันเลย ส่วนเรื่องความห่วงใยว่ารัฐจะใช้ทีวีเป็นเครื่องมือโฆษณา ก็ถ้ารัฐทำในสิ่งที่ดีและถูกต้อง มันจะเสียหายตรงไหน" ไตรภพกล่าว

 

.........

 

 

ทีไอทีวียังคงอยู่ภายใต้การบริหารของกรมประชาสัมพันธ์มีการบริหารแบบหน่วยบริการพิเศษหรือ SDU  โดยยังไม่แน่ชัดว่าจุดหมายปลายทางจะจบลงที่ใด จากโจทย์ที่สังคมส่งเสียงเรียกร้องให้เป็นทีวีสาธารณะหลังมีปัญหาแพ้คดีกับสปน. เสียงเรียกร้องนี้สอดคล้องกับคำยืนยันของพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ย้ำว่ารัฐบาลต้องการผลักดันเรื่องทีวีสาธารณะ

 

มาถึงวันนี้โจทย์กำลังปรับสู่การมีทางเลือกว่าจะเป็นทีวีสาธารณะหรือทีวีเสรี และองค์กรภาคประชาชนกำลังยื้อยุดกับภาคธุรกิจอยู่อย่างสำคัญ

 

ในทางการเมือง เรื่องนี้อาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย เรื่องสุดท้ายที่รัฐบาลนี้จะมีทำให้ภาคประชาชนพอมีความหวังที่ดีกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารว่าจะสร้างคุณูปการ สร้างความแตกต่างจากรัฐบาลที่ตัวเองยึดอำนาจมาบ้างหรือไม่

 

ในทางสังคม นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าสังคมไทยจะมี "โอกาสทดลอง" มีทีวีที่มีความเป็นอิสระ และบริหารจัดการโดย "ประชาชน" หรือไม่ แล้วจะจัดสรรความเป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจอย่างไร พวกเขาถูกนับเป็น "ประชาชน" ไหม ควรมีส่วนร่วมเพียงใด หรือจะเป็นอย่างที่มีคนบอกว่า พื้นที่ช่องอื่นๆ มีมากมายเพียงพอแล้วสำหรับธุรกิจและรัฐ ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจในประเด็นที่มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาร่วมเสนอความเห็นท้วงติงการจัดเวทีนี้ ซึ่งจัดเพียงครั้งเดียวที่กรุงเทพฯ ถ่ายทอดสดผ่านช่อง 11 ในวันและเวลาทำงานของผู้คน....สั้นๆ แต่ทำให้เห็นชัดเจนว่างานนี้ยังคงขาดการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญจากประชาชน

 

ทั้งที่ทีวีเป็นการเมืองในชีวิตประจำวัน และใกล้ชิดกับผู้คนเสียยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ !!!

 

 

 

 

ข่าวประกอบ

"สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ : ข้อเสนอเต็มรูปแบบจาก ทีไอทีวี สู่ ทีวีสาธารณะ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท