Skip to main content
sharethis

วันที่ 30 มี.ค.50 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ "รัฐกับเพศสภาพ" ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ภายใต้การประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 6 ในชื่อ "รัฐ จากมุมมองของชีวิตประจำวัน"


 


การอภิปรายโต๊ะกลมดังกล่าวประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนา3 คน ได้แก่ รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล, อ. วราภรณ์ แช่มสนิท, และรศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์


 


ผศ.ดร. สุชาดา เริ่มต้นการเสวนาด้วยการเกริ่นนำถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเพศสภาพ โดยการกล่าวว่าไม่ได้ต้องการผลิตซ้ำวาทกรรมชายเป็นใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่พยายามที่จะนำเสนอถึงการกำกับควบคุมของรัฐ ที่ส่งผลต่อสถานภาพของแต่ละเพศว่าแต่ละฝ่ายได้หรือเสียประโยชน์กันอย่างไรบ้าง


 


"รัฐชาติกับการเมืองเรื่องท้องไม่ท้อง"


มีการนำเสนอเรื่อง "รัฐชาติกับการเมืองเรื่องท้องไม่ท้อง" โดย รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล เนื้อหาโดยรวมนำเสนอถึงการจัดการของรัฐ ที่เข้ามาควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ของเพศหญิง จนถึงการตัดสินใจในการตั้งท้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านค่านิยม, จารีต, ประเพณี, และวัฒนธรรมในสังคม


 


รศ.ดร. กฤตยา เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงนโยบายควบคุมประชากรของรัฐไทย ที่ใช้นโยบายควบคุมประชากรให้ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าควรดำรงนโยบายดังกล่าวต่อไปหรือไม่ โดยมีแนวโน้มของการถกเถียงเป็นไปในทางที่จะยกเลิก


 


ความเชื่อที่ว่าประชากรจะล้นโลกนั้น มีมาแต่เดิมในโลกตะวันตก ในทางปฏิบัติ อิทธิพลดังกล่าวส่งผลให้เกิดการประชุมเรื่องนโยบายประชากรที่สำคัญด้วยกัน 3 ครั้ง โดยเรื่องนโยบายควบคุมจำนวนประชากร ในทัศนะของแนวคิดสตรีนิยมนั้นมีความเห็นด้วยในบางมิติ แต่ในแนวคิดสตรีนิยมเอง ก็มีการแบ่งแยกเป็นหลายสายด้วยกัน ซึ่งแต่ละสายก็มีความคิดในรายละเอียดที่ต่างกัน  


           


รศ.ดร.กฤตยากล่าวต่อว่า การประชุมระดับโลก เมื่อ พ.ศ. 2517 การประชุมเรื่องนโยบายประชากรครั้งแรกจัดขึ้น ณ กรุงบูคาเรส ได้ข้อสรุปค่อนข้างแน่ชัดโดยได้จำลองสถานการณ์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลกระทบทางลบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอวิธีการคุมกำเนิด ด้วยการดึงผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน


 


ในช่วงการประชุม ณ กรุงบูคาเรสนั้น เป็นการประชุมที่เกิดขึ้นหลังจากเทคโนโลยีการคุมกำเนิดก้าวหน้ามามากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด, ห่วงอนามัย, และวิธีการทำหมัน ซึ่งวิธีการคุมกำเนิดหลักๆ เหล่านี้ เป็นวิธีที่ใช้กับร่างกายผู้หญิง โดยผู้ซึ่งเห่ร้องดีใจไปกับเทคโนโลยีดังกล่าว คือ นักสตรีนิยมสายเสรีนิยม ที่กล่าวว่าสิ่งนี้คือการปลดปล่อยผู้หญิง สามารถทำให้ผู้หญิงมีเสรีภาพในการที่จะควบคุมจัดการกับร่างกายตนเอง


 


การประชุมครั้งที่สองเกิดขึ้น ณ ประเทศเม็กซิโก ใน พ.ศ. 2527 โดยมติที่ประชุมมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นที่ต้องการให้ทุกประเทศควบคุมอัตราการเกิดของประชากร ส่วนในเรื่องของผู้หญิงนั้นมีงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าผู้หญิงเรียนสูงๆ ก็จะมีลูกน้อยลง


 


ส่วนการประชุมครั้งสุดท้าย ณ กรุงไคโร พ.ศ. 2537 ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเรื่องการคุมกำเนิด โดยมติที่ประชุมได้เปลี่ยนมาพูดถึงสิทธิของผู้หญิง โดยเฉพาะสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์


 


รศ.ดร. กฤตยา นำเสนอต่อไปในประเด็นเรื่องของการที่รัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้หญิง โดยทำงานผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจใน 5 รูปแบบ ได้แก่


 


1. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชาย ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยา สำหรับประเทศไทยนั้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้ความคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อ "แอ็คชั่นในมุ้ง" อย่างมาก


 


2. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างพ่อแม่และลูก ในกรณีของประเทศไทยนั้นมีความชัดเจนมาก ซึ่งลูกมักจะถูกตัดสินใจแทน โดยเฉพาะลูกสาว รศ.ดร. กฤตยา ยกตัวอย่างว่า "ในสังคมไทย ถ้าลูกสาวยังไม่แต่งงาน ถึงแม้อายุจะมากแล้ว เช่น 48 ปี ไปไหนกลับบ้านดึกๆดื่นๆ พ่อแม่ก็ยังเป็นห่วงอยู่ แต่ว่าถ้าลูกอายุ 18 ปี แล้วมันแต่งงานไปเมื่อวานนี้ พ่อแม่คู่เดียวกันนั้นเขาก็ไม่ห่วง เพราะเป็นเรื่องของผัวเค้าที่ต้องดูแลกันเอง"


3.  ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ในที่นี้พูดถึงการให้บริการด้านสุขภาพ โดยผู้ให้บริการจะมีชุดความคิดหนึ่งที่จะมองเพศหญิง เช่น ถ้าผู้หญิงโสดมาขอยาคุมกำเนิดจะถูกมองในทางไม่ค่อยดีนัก แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากผู้หญิงท้องเกิดต้องการเข้ารับบริการทำแท้ง กลับถูกตั้งคำถามกลับไปว่า ในเมื่อมีวิธีคุมกำเนิดอยู่แล้ว ทำไมจึงปล่อยปะละเลยไม่สนใจที่จะทำ


 


4.ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐและประชาชน ซึ่งกระทำผ่านนโยบายคุมกำเนิด สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในประเทศอินเดีย ช่วงนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ที่บังคับให้ผู้หญิงเข้าทำหมัน ซึ่งเปรียบได้ดั่งสงครามระหว่างรัฐกับเพศหญิง


 


5. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศตะวันตกและตะวันออก ที่ประเทศตะวันตกเป็นผู้ขีดเส้นกำหนดกติกาในการคุมกำเนิด ผ่านการสร้างความเชื่อ ควบคู่ไปกับการสร้างความกลัว ขณะที่ประเทศตะวันออกเป็นเพียงผู้รับวิทยาการต่างๆ


 


ประเด็นต่อมา รศ.ดร. กฤตยาได้อธิบายถึงวาทกรรมที่ควบคุมเรื่องท้องไม่ท้องซึ่งแบ่งแยกได้ 3 ประเภท ได้แก่ วาทกรรมอนุรักษ์นิยมที่สนใจการเน้นเพียงตัวเลขในการคุมกำเนิดเป็นเป้าหมายเท่านั้น, วาทกรรมเน้นสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งไทยใช้กล่าวอ้าง แต่จริงๆแล้ว ช่วงหนึ่งไทยอยู่ในจำพวกแรกที่ใช้วาทกรรมอนุรักษ์นิยม, และสุดท้าย ได้แก่ แนวทางสตรีนิยมซึ่งเน้นสิทธิเสรีภาพของเพศหญิงผู้รับบริการคุมกำเนิด


 


ประเด็นสุดท้าย รศ.ดร. กฤตยาได้กล่าวถึงสิทธิในการควบคุมร่างกายของผู้หญิงในทางรูปธรรม โดยอธิบายถึงความตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ที่จะท้องหรือไม่ท้อง ในกรณีท้องที่ไม่ต้องการ หรือเรียกว่า "ท้องไม่พร้อม" ผู้หญิงส่วนหนึ่งจะสรรหาบริการทำแท้ง, ในกรณีหญิงที่ไม่ท้องแต่ต้องการจะท้องจะมีการสรรหาเทคโนโลยีที่ช่วยในการเจริญพันธุ์ เช่น การผสมเทียม, และกรณีที่ตั้งใจจะไม่ท้อง ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 3 ประเภท คือ พวกที่อยู่เป็นโสด, พวกที่แต่งงานแต่ตั้งใจจะไม่มีลูก, และพวกรักร่วมเพศ


 


จากกลุ่มตัวอย่างที่ยกมากล่าวข้างต้นนี้ ถือเป็นกลุ่มที่ถูกแรงบีบและแรงกดดันจากค่านิยมวัฒนธรรมทางสังคมที่เชิดชูการมีครอบครัว และการมีบุตรอยู่ตลอดเวลา โดยกระบวนการดังกล่าวก็ถูกปฏิบัติการผ่านนโยบายรัฐควบคู่ไปด้วย


 


"เพศ รัฐ กับการบวชของผู้หญิงในพุทธศาสนาไทย"


ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอของอาจารย์วราภรณ์ แช่มสนิท ในข้อ "พระ เพศ รัฐ กับนักบวชเพศหญิงในพุทธศาสนาไทย" โดยอธิบายว่าเหตุไฉนเพศหญิงจึงถูกกีดกันออกจากร่มกาสาวพัสตร์ ซึ่งผู้นำเสนอได้ขยายความว่าเป็นการอธิบายเฉพาะท่าทีของคณะสงฆ์ที่เป็นองค์กรทางการเท่านั้น ไม่ได้เป็นการอธิบายในระดับรายบุคคล ซึ่งจากการลงไปสำรวจพบว่าพระบางรูปก็ให้การสนับสนุนการบวชของผู้หญิง


 


อาจารย์วราภรณ์ได้ตั้งคำถามว่าการบวชนั้นเป็นเรื่องดีใช่หรือไม่ ในสมัยพุทธกาลก็มีการอนุญาตให้บวชภิกษุณี แต่ในปัจจุบัน เหตุใดการบวชของผู้หญิงจึงถูกมองโดยคณะสงฆ์ที่เป็นทางการว่าเป็นเสี้ยนหนามของพระพุทธศาสนา ทั้งที่จริงผู้หญิงที่ต้องการจะใช้ชีวิตนักบวชนั้นทำได้ และทำมานานแล้ว โดยการตั้งสำนักต่างๆ อยู่หลายแห่งด้วย การสวมบทบาทในการสอนธรรมะโดยผู้หญิงก็เป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่ในสังคม ฉะนั้น ในด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงในพุทธศาสนาที่มีอยู่จริง และก็มีความหลากหลายด้วย ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต และชื่อเรียก เช่น แม่ชี, อุบาสิกา, หรือสิกขมาตุของสันติอโศก


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้หญิงซึ่งเข้าไปใช้ชีวิตนักบวชมีหลักปฏิบัติร่วมกัน คือ การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผ้าจีวรที่มีสีเหลือง รวมทั้งไม่เข้าไปในพื้นที่ทางการของสถาบันสงฆ์ไทย ทำไมผ้าเหลืองจึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเข้าไปแตะต้องไม่ได้ การทำความเข้าใจกับความขัดข้องของเพศหญิงกับผ้าเหลือง จะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ, สถาบันสงฆ์, และเพศสภาพได้


 


"คำตอบอย่างสั้นๆที่ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากผ้าเหลือง คือ ผ้าเหลืองในพุทธศาสนาเถรวาทของไทยนั้น ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องนุ่งห่มของนักบวช แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะของคณะสงฆ์ แต่รวมถึงสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาไทยด้วย"


 


ในขณะเดียวกัน พุทธศาสนาเองก็ถูกโยงเข้ากับ "ความเป็นไทย" เข้ากับ "อัตลักษณ์ของชาติ" ในระดับที่เป็นทางการอย่างแน่นแฟ้น เพราะฉะนั้นเมื่อผู้หญิงที่ถูกโยงเข้ากับ "ความเป็นอื่น" ในสถาบันสงฆ์มาหยิบใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว มันจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ไม่ใช่เฉพาะกับคณะสงฆ์เท่านั้น แต่ในหลายจังหวะ หลายโอกาส รัฐเองในฐานะองค์กรทางการเมือง และหน่วยงานราชการก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย


 


เมื่อความหมายดังกล่าวมีอำนาจครอบครองพื้นที่ในจิตใจคน ยิ่งเมื่อสัญลักษณ์ถูกผูกโยงกับความเป็นชาติ ทำให้ได้รับความสำคัญ และมีความชอบธรรมในการที่จะปกป้อง อาจจะพูดได้ว่า คำสอนของพุทธศาสนานั้นมีความเป็นกลางทางเพศ หมายถึงว่า สอนได้ ปฏิบัติได้ เห็นผลได้ไม่ต่างกันระหว่างเพศ แต่ว่าสถาบันสงฆ์เถรวาทไทยกลับเป็นเป็นสถาบันที่แสดงความเป็นเพศอย่างชัดเจน คือ เป็นสถาบันสังคมซึ่งถือเอาเพศชายเป็นศูนย์กลาง


 


 "ความเป็นชายในสถาบันสงฆ์นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ตั้งมั่นตายตัว และไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกท้าทาย" อาจารย์วราภรณ์กล่าวและว่าความเป็นพื้นที่เฉพาะของเพศชาย เป็นฐานอำนาจที่สำคัญประการหนึ่งของสถาบันสงฆ์ไทย โดยเฉพาะส่วนที่สัมพันธ์กับสถาบันการเมือง


 


อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างเพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันสงฆ์นั้นมีทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ หากมองย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 4 จะพบถึงความพยายามที่จะควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างพระกับผู้หญิงในหลายประการด้วยกัน


 


นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งแยกคำสอนในพุทธศาสนาระหว่างเรื่องของเถรวาทและฆราวาส เช่น โลกุตรธรรมเป็นธรรมสำหรับภิกษุสงฆ์เท่านั้น การสอนเช่นนี้ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหนือไม่ ถือเป็นการยกระดับสถานภาพของสงฆ์ซึ่งมีแต่เพศชาย ให้อยู่เหนือฆราวาสซึ่งมีทั้งชายและหญิงปะปนกัน และนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ก็มีการสถาปนาสถาบันสงฆ์ให้มีความเป็นทางการมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการของภาครัฐในการรวมศูนย์อำนาจ


           


ผู้นำเสนอได้ตั้งข้อสังเกต 2 ประการด้วย คือ ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการเพิ่มพื้นที่เชิงสถาบันที่รองรับอำนาจของเพศชายให้เพิ่มขึ้นในสังคม และสุดท้าย แม้สถาบันสงฆ์จะถูกควบคุมโดยรัฐมากยิ่งขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่สถาบันดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจเรียกปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ว่า "Modern Buddhist Hegemony" คือเป็นสถาบันในแง่ที่มีอำนาจในการสร้างการยอมรับทางจิตใจ เมื่อบวกเข้ากับสภาวะการเมืองสมัยใหม่ซึ่งนำเสนอความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย จึงไม่น่าแปลกที่ผู้หญิงจะถูกดึงดูดให้อยากจะเข้าไปมีพื้นที่ในสถาบันดังกล่าวบ้าง


 


"เพศสภาพ พื้นที่ และการเมืองภาครัฐ"


ต่างจากวิทยากร 2 ท่านก่อนหน้านี้ รศ.ดร. ชลิดาภรณ์เกริ่นนำว่าเนื้อหาที่ตนเองกำลังจะนำเสนอนั้น ค่อนข้างที่จะเป็นนามธรรม โดยหัวข้อที่นำมาอภิปรายในวันนี้เกี่ยวข้องกับความลักลั่นในการแบ่งแยกพื้นที่ส่วนบุคคลกับพื้นที่สาธารณะ และการเข้ามาดำเนินการของรัฐ


           


การเมืองภาครัฐนั้น มีความเชื่อว่าสามารถแบ่งพื้นที่สาธารณะออกจากพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างชัดเจน แต่รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ได้ตั้งคำถามว่าคนและค่านิยมยอมอยู่ในพื้นที่ที่ถูกจัดไว้หรือไม่ หรือว่าแท้ที่จริงแล้วมีการข้ามพื้นที่กันไปมา


 


ประเด็นใหญ่ทางการเมืองภาครัฐอย่างหนึ่งในขณะนี้ คือ การตรวจสอบการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อรัฐในสมัยรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ที่ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ ในขณะที่ไปเอื้อประโยชน์กับคนกลุ่มน้อย


 


สิ่งหนึ่งที่คนในสังคมให้ความสนใจ คือ การขึ้นมามีบทบาททางการเมืองในพรรคไทยรักไทยของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยในเวทีปราศรัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ครั้งหนึ่งที่อ.ศุลักษณ์ขึ้นเวที ได้พูดถึงนายกทักษิณในทำนองว่าเป็นคนน่าสงสาร เพราะต้องคอยรับใช้ภรรยาตนเอง ถ้าพูดในภาษาอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็น "โคตรานุวัตร" หรือการเอื้อประโยชน์ต่อครอบครัว และมิตรสหายนั้นเอง


 


"เราได้เห็นการประณามว่าปรากฏการณ์อย่างโคตรานุวัตร หรือปรากฏการณ์การมีเมียผู้ยิ่งใหญ่นี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ก็พยายามที่จะป้องกันปรากฏการณ์ดังกล่าว" รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ชี้ให้เห็นความต้องการที่จะให้การเมืองภาครัฐนั้นปราศจากการแทรกแซงจากเรื่องครอบครัว


 


ค่านิยมหลักของครอบครัว คือ ความรักและความเอื้ออาทร ในขณะที่พื้นที่สาธารณะจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับค่านิยมในการแข่งขัน, เรื่องของอำนาจ, และยังถูกเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นกลาง คนที่เข้าไปใช้อำนาจรัฐควรจะเป็นกลาง


 


"แต่ถามว่าในเวลาที่ผ่านมา ค่านิยมของแต่ละพื้นที่ก็อยู่ในพื้นที่นั้น โดยไม่ถูกดึงไปใช้ในพื้นที่อื่นหรือเปล่า" ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เราได้เห็นผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ยอมถูกจัดแบ่งให้อยู่ในพื้นที่ แต่พยายามส่งอิทธิพลออกไปนอกครัวเรือนที่ไม่ได้ถูกจัดแบ่งเป็นพื้นที่ของผู้หญิงผ่านทางอำนาจของผู้ชาย ถ้าบังเอิญการใช้อำนาจของผู้หญิงผ่านผู้ชาย มันถูกเห็นได้ ความซวยก็จะบังเกิด ทั้งฝ่ายหญิงและชายจะถูกตั้งคำถามจากสังคมในพื้นที่สาธารณะ"


 


รศ.ดร. ชลิดาภรณ์กล่าวว่า เมื่อเราเข้าไปทำงานในพื้นที่สาธารณะ เราแบกเอาความโยงใยต่างๆ ไปด้วย เพราะฉะนั้นความคาดหมายว่าเมื่อคนเข้าสู่พื้นที่สาธารณะแล้วต้องเป็นกลาง เป็นไปไม่ได้ แนวอุดมการณ์หลักตามเสรีนิยมนั้นบอกว่าอะไรที่คิดว่าเราทำไม่ได้ อย่าไปคิดว่าคนอื่นจะทำได้ ฉะนั้นการพยายามจะป้องกันไม่ให้แบกเอาโยงใยส่วนตัวเข้ามาสู่พื้นที่สาธารณะนั้น เป็นการตั้งอยู่บนความคาดหวังที่ค่อนข้างเกินจริง โดยเฉพาะในสังคมไทยที่พยายามปลูกฝังเรื่องค่านิยมครอบครัว ไม่ว่าจะจากรัฐ และจากสื่อ ซึ่งนัยหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเอาครอบครัวเป็นตัวตั้ง โดยอาจละทิ้งสิ่งอื่นได้


 


อีกด้านหนึ่งในขณะที่เราคาดหมายให้แบ่งแยกพื้นที่ส่วนตัวออกจากพื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจน แต่เราก็จะเห็นการล้วงเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวออกมาเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น การใช้เรื่องส่วนตัวมาเป็นอาวุธทางการเมือง โดยรศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ยกตัวอย่างการเชื่อมโยงนายกฯ ทักษิณกับดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม และนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในทางโรแมนติก


 


รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ สรุปว่าในภาวะดังกล่าว สร้างความย้อนแย้งระหว่างการจัดแบ่งพื้นที่ทั้งสอง โดยจินตภาพที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางสังคม และเพศสภาพเป็นสิ่งที่หลอกหลอนเราอยู่มาก ในขณะเดียวกันจินตภาพเหล่านั้นก็ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความคาดหวังที่ไม่สมจริง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net