มีแวว ส.ว.สรรหา วาระ 6 ปี ครบ 3 ปีจับฉลากออก

ต้องโทษจำคุกถึงที่สุด พ้นเก้าอี้ ส.ส.

ที่รัฐสภา วันที่ 4 เม.ย. 50 มีการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน โดยเริ่มพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตราในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรต่อจากวานนี้ โดยในมาตรา 101 วงเล็บ 11 ที่ระบุว่า ในส่วนของการสิ้นสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจะสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ความผิดอันกระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท สมาชิกจำนวนมากได้อภิปรายในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง

 

โดยนายนุรักษ์ มาประณีต กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในวงเล็บ11 ของมาตรานี้ตนไม่เข้าใจในการบัญญัติว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกแต่มีการประกันตัวออกไปในทันทีและอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ในเรื่องนี้ต้องมีการตีความกันใหม่หรือไม่ เพราะในกรณีนี้ไม่มีการระบุหรือบัญญัติไว้ให้ชัดเจน

 

นายอัครวิทย์ สุมาวงษ์ กมธ.ยกร่างกล่าวว่า ตนเองก็ไม่สบายใจเพราะในวงเล็บ11 ตามหลักการเดิมต้องเป็นกรณีถูกที่จำคุก ซึ่งหากจะแก้ไขก็ต้องแก้ตรงส่วนที่นายนุรักษ์นำเสนอ เพราะหากการตัดสินคดีในที่สุดขึ้นไปถึงศาลอุธรณ์ปรากฏว่าศาลตัดสินว่าเขาไม่มีความผิดก็จะไม่เป็นธรรมกับเขา ตนไม่ข้องใจหากจะบัญญัติว่าการตัดสินดียังไม่ถึงที่สินสุดสำหรับรัฐมนตรีก็ต้องออกจากตำแหน่ง แต่ในกรณีของ ส.ส. น่าจะเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดจะดีกว่าหรือไม่ และหากมีข้อสรุปออกมาเช่นใดตนก็อยากบันทึกในเจตนารมณ์ให้ชัดเจนไม่ใช่เขียนไว้ลอย ๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหา

 

แต่นายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแย้งว่า หากเราจะฟอกนักการเมืองให้สะอาดและต้องการให้มีคนดีอยู่ในสภาไม่ว่าจะป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี เขาก็ไม่ควรมีมลทิน เพราะคนเหล่านั้นมักชอบเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ทรงเกียรติ ดังนั้นถ้าเขาถูกต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดก็แสดงว่าเขามีปัญหาเรื่องพฤติกรรม ซึ่งหากในอนาคตหากเขาไม่ผิดจริงเขาก็สามารถพิสูจน์ตนเองได้ เพราะหากเราไม่บรรจุให้ชัดเจนว่าสมาชิกภาพความเป็นส.ส.เขาสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก เขาก็สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่ประวิงและดำเนินการต่าง ๆ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อคดีได้ เราจึงควรไม่ให้เขามีช่วงเวลาที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม ถ้ากรรมาธิการยกร่างชุดนี้อยากพลิกประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องนี้ต้องเข้ม

 

นายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการฯกล่าวว่า ตนเห็นด้วยถ้าหากจะบัญญัติให้ความเข้มข้นในเรื่องนี้กับ ส.ส. ต้องเบาบางกว่ารัฐมนตรี แต่สาเหตุที่อนุกรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมืองเสนอวงเล็บ 11 ให้เข้มข้นนั้นก็เพราะอนุกรรมาธิการได้เพิ่มข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ เพราะลักษณะงานทางการเมืองต้องพูดและแถลงถึงบุคคลทั่วไป ถึงแม้จะเขียนเข้มก็จริงแต่เราได้ยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ ถ้ากรรมาธิการส่วนใหญ่อยากให้ตัดเรื่องความเข้มออกไปก็ต้องตัดบทเฉพาะกาลเรื่องการหมิ่นประมาทไปด้วย

 

ทั้งนี้นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมาธิการฯได้เสนอให้บัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับการผิดจริยธรรมว่า เรื่องจริยธรรมตนก็อยากให้บัญญัติให้ชัดเจนว่าความเป็นสมาชิกภาพของส.ส.จะสิ้นสุดเมื่อมีการฝ่าฝืนและมีความผิดในเรื่องจริยธรรมด้วย เพราะในต่างประเทศแม้แต่มีการสอบสวนเรื่องจริยธรรมเล็กน้อยโดยพฤตินัยเขาก็ต้องออกแล้ว แต่ของประเทศเรารอการลงโทษก็ไม่ออก จะสอบสวนแล้วก็ไม่ออกดังนั้นเรื่องนี้ต้องระบุให้ชัดด้วย

 

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการกรรมาธิการยกร่างกล่าวว่า ในเรื่องจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่โยงกับศาล ซึ่งในประเด็นนี้หาก ส.ส.คนใดทำผิดเรื่องจริยธรรมร้ายแรงก็สามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งในกรณีนี้ตนจะนำไปปรึกษาหารือที่บางแสนอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้อภิปรายเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าการบัญญัติความเข้มข้นเรื่องการพ้นตำแหน่งส.ส.หากต้องคำพิพากษาให้จำคุกนั้นเข้มเกินไป จึงขอให้มีการบัญญัติใหม่ว่าต้องมีคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุดเสียก่อนถึงจะพ้นจากการเป็น ส.ส.ได้

 

จรัญ เสนอรูปแบบคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไปสองแบบ ฝ่ายเลขาฯ ร่างมาแบบเดียว

ในมาตรา 106 ที่ระบุว่า "วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยหกสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหา ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

 

ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ และยังมิได้มีการแต่งตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่

 

ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การแต่งตั้งวุฒิสภาไม่อาจกระทำได้ครบจำนวนหนึ่งร้อยหกสิบคนในวันครบรอบกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 107 ถ้ามีจำนวนที่จะได้รับแต่งตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสมาชิกวุฒิสภา และต้องมีการสรรหาจบครบจำนวนหนึ่งร้อยหกสิบคนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และให้สมาชิกวุฒิสภาผู้ได้รับการสรรหาเข้ามานั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่"

 

ส่วนมาตรา107 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้พิพากษาศาลฏีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน ทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่สมควรเข้ามาเป็นวุฒิสภา

 

นายสมคิด กล่าวว่า ในประเด็นนี้ (มาตรา 106) จะมีการอภิปรายกันเยอะ จึงขอแขวนไว้ไปคุยกันที่บางแสน เพราะมีหลายประเด็น เช่น ควรมี ส.ว. ไหม มีกี่คน มาจากไหน จากการแต่งตั้งหรือสรรหา อย่างไรก็ตาม ขอให้นายจรัญอธิบายกระบวนการสรรหา ส.ว. ให้ที่ประชุมทราบ

           

นายจรัญ ภักดีธนากุล ประธานอนุกรรมาธิการกรอบที่สอง ว่าด้วยสถาบันการเมือง กล่าวว่า ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา อนุฯ กรอบสองมองว่า ใช้เลือกตั้งโดยตรงจากพื้นที่จะมีจุดอ่อน ข้อเสียมากมายหลายประการ แต่จะย้อนกลับไปใช้วิธีแต่งตั้ง จะให้นายกฯ แต่งตั้งก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 ก็มีข้อเสียไม่ต่างกัน จึงขอเสนอรูปแบบใหม่ที่อยู่ตรงกลาง โดยให้มาจากคณะกรรมการสรรหาที่เป็นกลาง เป็นอิสระทางการเมือง เข้ามาแทน และมุ่งเน้นตัวแทนสาขาวิชาชีพทั้งหลาย หรือสัดส่วนของคนที่เป็นผู้ทรงความรู้ความสามารถจากทุกจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งคนเข้ามาอยู่ในวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่เป็นสติให้กับสภาผู้แทนราษฎร

 

นายจรัญ กล่าวต่อว่า ความยากอยู่ที่การตั้งคณะกรรมการสรรหาที่เป็นอิสระเป็นกลาง ในการนำเสนอทีแรกเสนอให้มีทั้งคณะกรรมการสรรหาระดับชาติและระดับจังหวัด แต่ว่าในร่างที่ฝ่ายเลขาฯ เสนอมีคณะเดียว คือ คณะกรรมการสรรหาระดับชาติซึ่งตรงกับความเห็นส่วนตัว แต่หลายท่านในกรอบสองอยากให้มีในระดับจังหวัด คงต้องตัดสินใจในรายละเอียดอีกทีหนึ่ง

 

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า การพิจารณาเรื่องวุฒิสภาเป็นประเด็นใหญ่ในการพิจารณา ซึ่งก่อนที่จะมีการนำไปพิจารณาที่บางแสนให้เป็นที่ยุติ อยากให้ฝ่ายเลขาทำตารางในการสำรวจความเห็นของประชาชนว่าแต่ละภาคมีเห็นอย่างไร ซึ่งจะได้เห็นชัดเจนว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสุดท้ายแล้วเห็นอย่างไร ซึ่งเราต้องนำผลสำรวจตรงนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยฝ่ายเลขาจะรับเรื่องนี้ไปดำเนินการ

 

นายนุรักษ์ มาประนีต กรรมาธิการยกร่างกล่าวว่า มาตรา 107 ที่บอกว่ากรรมาการสรรหามี 7 คนนั้น ไม่ติดใจ แต่สิ่งที่ติดใจคือการกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย อยากเสนอให้ตัดองค์กรนี้ออกและใส่ตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแทนประธานกรรมการสิทธิ

 

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กล่าวว่า ในการสรรหาวุฒิสภาในหลักการเราอาจยอมรับแต่หากในกรณีที่มีความผิดพลาดจนเราไม่สามารถดำเนินการสรรหาได้ เราควรเขียนทางเลือกว่าควรเลือกตั้งได้ มีตารางเป็นกรอบไว้ว่าจะลงลึกอย่างไร และบัญญัติเรื่องของคุณสมบัติ ส.ว. ให้ชัดเช่นเรื่องการบัญญัติให้หาเสียงได้ และควรบัญญัติเรื่องสามีภรรยาให้ชัดเจนด้วย

 

นายสมคิดกล่าวว่าได้เตรียมของรัฐธรรมนูญปี 2540 ไว้ให้แล้ว ซึ่งหากเรากลับไปสู่ระบบเลือกตั้งก็จะนำของปี 2540 มาใช้และจะถามที่ประชุมว่าหากให้รัฐธรรมนูญปี 2540 มีส่วนใดที่ต้องแก้ไขบ้าง

 

อย่างไรก็ตาม นายพิสิฐ แสดงความเห็นว่า กรอบสองได้มีข้อเสนอมาแล้วจึงอยากให้หยิบตรงนั้นมา เพื่อประหยัดเวลาการทำงานด้วย

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 110 ที่ระบุว่าบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นวุฒิสภา โดยในวงเล็บ 7 ที่ระบุว่าต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และพ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภา มาแล้วยังไม่เกิน 2 ปีนับถึงวันสมัครหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

 

โดยนายสมคิดกล่าวว่า มาตรา 110 เป็นบทหลัก แต่จะมีการเขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ส. และ ส.ว.สมัยที่แล้วให้ลงสมัครได้ไม่ได้กีดกันใคร

 

แต่นายพิสิฐได้แย้งว่า หากจะยืนบทเฉพาะกาลตามที่นายสมคิดเสนอที่หมายรวมถึงการเขียนบทเฉพาะกาลให้คลุมทุกสมัยทั้งในอดีตหรือที่ผ่านมาหรือทุกรอบก็จะเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งเดิมเรามีเจตนาใหญ่ว่าในการกำหนดให้วุฒิสภาเป็นได้แค่สมัยเดียว แต่วุฒิสภารอบที่แล้วเขาเป็น ส.ว. แค่ไม่กี่เดือนก็ต้องออกจากตำแหน่งเพราะเหตุวิกฤตและเหตุจำเป็นตนเข้าใจและเห็นใจ หากจะออกบทเฉพาะกาลให้กลุ่มหลังตนเห็นด้วย แต่ส.ว. ก่อนหน้านั้นก็เป็นมาแล้วและมีเจตนาชัดเจนว่าจะเป็นแค่รอบเดียว หากมีการกำหนดบทเฉพาะกาลแบบที่นายสมคิดระบุก็เท่ากับว่าผิดเจตนารมณ์ที่อนุกรอบ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมืองกำหนด

 

นายสมคิดได้ชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดว่าห้ามให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน แต่ไม่ได้ห้ามว่าครบวาระแล้วห้ามลงสมัครอีก

 

นายนุรักษ์ มาประนีต กรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่า อยากให้ส.ว.ทุกรอบเป็นแค่สมัยเดียวก็พอไม่ต้องเว้นวรรค อยากให้เปิดโอกาสให้คนอื่นขึ้นมาทำงานบ้าง และควรเขียนไว้ให้ชัดว่าคนเป็น ส.ว. 2540 สมัยแรกก็ห้ามสมัครด้วย ส่วนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ส.ว. เหล่านั้นยังไม่ปฏิบัติหน้าที่แต่ควรห้ามส.ว.ปี 2540 ทั้งหมด และคนที่เข้ามาเป็น ส.ว.ปี 2550 ก็ให้เป็นได้แค่ครั้งเดียว

 

นายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่า วุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วที่เพิ่งเลือกตั้งไปและยังไม่ปฏิบัติหน้าที่ก็มาจากกระบวนการเดียวกันคือการเลือกตั้ง ดังนั้นหากจะมีการออกข้อกำหนดหรือข้อห้าม ที่มาต่างกันน่าจะเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มทุกชุด เพราะหากใช้กติกาของรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาเชื่อมโยงรัฐธรรมนูญฉบบใหม่นั้นตนไม่เห็นด้วยเพราะถ้านำเรื่องนี้ไปเข้า ส.ส.ร.ใหญ่จะฮอตและเป็นปัญหายืดเยื้อที่กว่าจะผ่านได้สาหัสสากรรจ์

 

นายวิทยา งานทวี กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ขณะที่มาของ ส.ว.ไม่เหมือนเดิมครั้งที่แล้วมาจาการเลือกตั้ง และครั้งนี้ก็ได้เปลี่ยนกระบวนการสรรหาเป็นคัดสรร ดังนั้นเรื่องนีน่าจะมีการเปิดกว้าง หากเขียนบทเฉพาะกาลไว้ก็ต้องเขียนทุกชุด ไม่ใช่ให้ชุดหนึ่งแต่ไม่ให้อีกชุดหนึ่ง เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของประชาชนเช่นกันว่าเจาจะคัดสรรใคร ซึ่งส.ว.เลือกตั้งครั้งที่แล้วก็มีศักยภาพไม่อยากให้เราไปปิดกั้นเขา

 

อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างหลากหลาย ซึ่งนายจรัญมองว่าการเขียนแบบนี้ไม่ได้มาจากกรอบ 2 เป็นการจงใจเขียนกีดกันเขาและไม่ทราบว่ามาจากไหนจึงอยากให้พิจารณาในเรื่องนี้ให้รอบคอบ ซึ่งนายสมคิดได้รับปากต่อที่ประชุมว่าจะนำเรื่องไปแก้ไขใหม่ 

 

 

เสนอ ส.ว.สรรหา ดำรงตำแหน่ง 6 ปี 3 ปีจับสลากออก

เมื่อเข้าสู่การหารือในมาตรา 114 ที่ระบุว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดวาระคราวละ 6 ปี นับแต่วันแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

 

ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปีนับแต่ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้วุฒิสภาประชุมกันเพื่อดำเนินการจับสลากให้สมาชิกวุฒิสภาประเภทละกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง และให้ถือว่าการพ้นจากตำแหน่งโดยการจับฉลากดังกล่าวเป็นการสิ้นสุดสมาชิกตามวาระ

 

ในวรรค 3 ระบุว่า ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งสิ้นสุดสมาชิกภาพตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกวาจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่

 

นายอัครวิทย์ สุมาวงษ์ กรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่า เรื่องของการดำรงตำแหน่งของส.ว. ที่จะกำหนดให้มีการดำรงตำแหน่งวาระเดียวหรือดำรงตำแหน่งได้ตลอดไปหรือไม่ให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน เขามองว่าหากจะห้ามน่าจะห้ามว่าไม่ให้ส.ว.ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระ ซึ่งหากเว้นไป 1วาระก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ จึงอยากให้แก้ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระไม่ได้จะดีกว่า

 

นายจรัญกล่าวว่า ส่วนตัวคล้อยตามนายอัครวิทย์เพราะวุฒิสมาชิกคล้ายกับเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นผู้อาวุโสในประเทศที่คอยกำกับอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฏรให้กลมกล่อมให้อยู่ในร่องในรอยและต้องเชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์และความเป็นมาของประเทศด้วย ดังนั้นหากเรากำหนดให้แต่ละคนเป็นได้แค่ครั้งเดียวเราก็จะได้คนใหม่มาเสมอ แทนที่วุฒิสภาจะเป็นหลักเกณฑ์ให้บ้านเมืองต่อเนื่องก็จะไม่สมประโยชน์กับบ้านเมืองเรา ดังนั้นในวรรค 2 ที่เรากำหนดให้ออกทีละครึ่งสมัยก็เพื่อต้องการให้ต่อเนื่องกระบวนการทำงานของวุฒิสภา ซึ่งเป็นความจำเป็นของการบริหารปกครองประเทศถ้าห้ามแค่ว่าดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันไม่ได้แข็งพออยู่แล้ว หากตัดได้แค่วาระเดียวก็จะหมดคนและคนก็จะเปลี่ยนทุกช่วงทุกสมัยกลไกอื่น ๆ ก็จะปรับตัวไม่ทันตามการเปลี่ยนแปลงของวุฒิสภา

 

นายคมสัน โพธิ์คง กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในมาตรา 114 หากให้ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวในวรรคที่ 2 ให้มีการจับสลากออกครึ่งหนึ่ง 3 ปีก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเพราะเขาเป็นได้แค่วาระเดียวจับออกครึ่งหนึ่ง 3 ปีก็ต้องมีการสรรหาเข้ามาใหม่ และคนที่เป็น 3 ปีถัดไปก็มีอีกวาระหนึ่งซึ่งสิทธิของคนตรงนี้แตกต่างกับสมาชิกคนอื่นอีกหลายคนที่อยู่ครบวาระ ถ้าเอาออกครึ่งหนึ่งน่าจะไม่ใช่สมัยที่ติดต่อกัน ส่วนคำถามที่อยากถามกรรมาธิการคือ ถ้าส.ว.ถูกจับออกครึ่งหนึ่ง 3 ปี และต้องเว้นไปอีกเราจะนับเป็นวาระสภาหรือไม่เพราะยังอยู่ในช่วงอายุสภาอยู่ อยากให้ตีความในเรื่องนี้ให้ชัดด้วย

 

เขาไม่เห็นด้วยให้วาระเดียวและห้ามเป็น เพราะส.ว.รอบนี้มีอำนาจแค่ให้คำปรึกษา 114 ในวรรค 2 เขาอ่านแล้วเหมือนจับสลากออกครึ่งหนึ่งออกหนหนึ่งมีกระบวนการสรรหามาใหม่พอครบ 6 ปี ชุดที่ 2 ก็ออก ข้อความอ่านแล้วไม่สื่อว่าสถานะของเขายังอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากมีการลงคะแนนเลือกตั้งไม่ควรเอาออก แต่ถ้าเป็นการสรรหาก็สามารถเอาออกได้ ซึ่งต้องดูที่การสรรหาในจังหวัดด้วย

 

นายสมคิดกล่าวว่า ตามมาตรา 114 ให้เว้นวรรคอย่างน้อย 1 สมัย ส่วนเรื่องการจับสลากออกครึ่งหนึ่งมีปัญหาอยู่นิดเดียว วุฒิสภา 3 ปี แรกคำถามมีว่าเขาสามารถมาต่อสมัยที่ 2 อีก 6 ปีได้หรือไม่ซึ่งก็มีอยู่ 2 ทางต่อได้เป็น 9 ปี หรือเว้นไปอีก 9 ปี คำถามคือเราจะใช้สูตรเดียวตามองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือไม่คืออยู่ได้ครึ่งสมัย และถ้ามีการสรรหาใหม่เขาสามารถมาลงสมัครได้เลย

 

นายจรัญ ภักดีธนากุล กล่าวว่า ให้ประโยชน์กับคนที่จับสลากออกครึ่งหนึ่งเราถือว่าถ้าเขาเป็นคนดีจริงได้รับการสรรหากลับเข้ามาอีกให้เขาอยู่ได้อีกวาระหนึ่งให้ประโยชน์เขาได้ 9 ปี แแต่กรรมการสรรหาก็คงไม่ง่ายที่จะเลือกคนเหล่านี้กลับเข้ามาอีก เว้นแต่โดดเด่นดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องเขียนให้ชัดว่าเราต้องสรรหามาให้ครบ คนเก่าอยู่ 6 ปีคนนี้ ส่วนคนที่ถูกจับสลากออกไปก็ต้องสรรหาเข้ามาแทน ก็เท่ากับว่าทุก ๆ 3 ปีจะมีการจับสลากออกและเวียนคัดเลือกกันเข้ามา เท่ากับกำหนด3 ปี ออกครึ่ง สรรหาเข้ามาครึ่งหนึ่งก็จะทำให้กลไกของวุฒิสภาต่อเนื่อง

 

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการมีวุฒิสภาก็เพื่อเป็นองค์กรอิสระที่ช่วยดูแลประเทศ เป็นตัวเช็คและบาลานซ์กับฝ่ายบริหาร ดังนั้นการที่ ส.ว.ชุดนี้มีโอกาสตั้งองค์กรอิสระจึงอาจจะทำให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์จากตัวแทนองค์กรอิสระทั้ง 7 ได้ จึงอยากเสนอว่า ส.ว.ที่มาจาการสรรหาควรอยู่ได้สมัยเดียว

 

ทั้งนี้นายจรัญได้เสนอให้บัญญัติเพิ่มเติมในมาตรา 112 ที่กำหนดว่าสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่นมิได้รวมทั้งห้ามดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมได้อภิปรายในประเด็นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งนายสมคิดได้สรุปข้อหารือว่า วุฒิสมาชิกในการสรรหาครั้งนี้ห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกัน แต่หากพ้นวาระไป 1 สมัยแล้วก็สามารถมาสมัครได้อีก ซึ่งชุดแรกที่ถูกจับสลากออกไป 3 ปีก็เว้นวรรคไป 9 ปีถึงจะลงสมัครในรอบ 2 ได้ ส่วนชุดที่ 2 ก็ดำรงตำแหน่งครบ 6 ปีเว้นวรรคไปอีก 6 ปีถึงจะลงสมัครรอบใหม่ได้

 

 

เสนอบัญญัติ ส.ส. ส.ว.ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อน

สำหรับการพิจารณาในส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นบทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง นายจรัญเสนอให้เพิ่มเติมในมาตรา 119 ให้ระบุว่า ส.ส. และ ส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย และปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนเร้น เพื่อจะได้ให้เป็นเหตุผลในการถอดถอนได้ อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ขอให้ตัดคำว่าซ่อนเร้นออกไป ขณะที่นายศรีราชากล่าวว่า อยากให้บัญญัติเรื่องอำนาจของ ส.ส. ส.ว. ให้ชัดเจน เพราะจะโยงให้ถึงการได้มาจากการสรรหา ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครเขียน และจะสื่อถึงบทบาท และส่งผลไปถึงการได้มาของ ส.ว. ด้วย

 

ขณะที่นายนุรักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่าในบทบัญญัติข้อดังกล่าว หากพรรคการเมืองบังคับให้ลงมติ แล้ว ส.ส.ไม่ทำตามอย่างนี้ จะถือว่าทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

นายสมคิดจึงชี้แจงว่า หากเป็นอย่างนี้ก็ต้องถือว่าไม่ผิด แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีบทบัญญัติอื่น ที่กำหนดความสัมพันธ์ ของ ส.ส. กับพรรคการเมืองไว้

 

ทั้งนี้นายวุฒิสาร กล่าวถึงเรื่อง มาตรา 120 ซึ่งเป็นการปฏิญาณตน ว่าควรจะระบุเลยว่าหากไม่ทำตามจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้มีผลบังคับด้านจิตใจ

 

ด้านนายสุพจน์ ไข่มุกด์ กล่าวว่า ควรให้ปฎิญาณต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิที่เขาเคารพอยู่เพื่อให้มีผลทางด้านจิตใจ

 

ขณะที่นายจรัญ กล่าวว่าขอให้แยกกันระหว่างสาบานกับปฏิญาณ หากเราใช้คำว่าสาบานต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิที่เชื่อถือให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลงโทษ ส่วนการปฏิญาณคือ เอาเกียรติยศและจริยธรรมเป็นตัวตั้ง ดังนั้นไม่ต้องอ้างอะไรสิ่งศักดิ์สิทธิอะไรก็ได้หากจะเพิ่มเติม ก็เพียงว่าปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

 

ให้ "สงวน" ได้เฉพาะประเด็นก้ำกึ่ง ส่วนเรื่องที่ไม่มีใครเห็นด้วยก็ขอให้ผ่านไป

ระหว่างการรับรองรายงานการประชุม นายวุฒิสาร ถามถึงกรณีที่มีการสงวน หรือมีความเห็นเป็นสองฝ่าย แล้วการพิจารณาไม่ได้แก้ไขว่า หากไม่ได้สงวนจะเลยไปเลยใช่หรือไม่ ไม่มีการหยิบมาพิจารณาแล้วใช่หรือไม่

 

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ท่านที่สงวนไว้ก็หยิบยกเรื่องนั้นขึ้นมาโดยสามารถอภิปรายได้ โดยเฉพาะในวันหนึ่งที่จะจัดไว้ให้พูดกันได้เต็มที่ ส่วนที่ประเด็นที่ยังไม่ได้สงวนนั้น ผมคิดว่าพูดได้ทุกอย่าง อยู่ที่เวลาเท่านั้นเอง ถ้าหมดเวลาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ผมเปิดโอกาสเต็มที่

 

ด้านนายสมคิด กล่าวว่า เรื่องที่จะสงวนขอให้เป็นเรื่องที่สองฝ่ายมีคะแนนใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องนำไปถกเถียงกันต่อ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนว่า อีกฝ่ายไม่เอาด้วยผมก็พยายามสรุปว่าขอให้ผ่านไป แต่เรื่องที่สงวนไว้บางเรื่อง จะขออนุญาตว่าจะไม่มีการถกเถียงขอให้ลงมติเลย แต่บางเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่จะให้อภิปรายกันก่อนการลงมติ อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับฝ่ายเลขาฯ ทั้งหมดหากมีใครต้องการอภิปรายก็ได้ เพราะเรื่องบางเรื่องคุยกันมาสองสามรอบแล้ว รู้กันแล้วว่าใครคิดอย่างไร

 

ทั้งนี้ นายสมคิดได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในช่วงเช้า นายนรนิติได้เรียกไปหารือ โดยให้ส่งร่างที่แก้ไขแล้วไปให้ในวันที่ 10 มิ.ย. จากนั้น 11 มิ.ย. ส.ส.ร. จะขอเรียกประชุม กมธ.

 

น.ต.ประสงค์ กล่าวถึงการประชุมลงรายมาตราที่บางแสนว่า ได้ตกลงแล้วว่าเป็นการประชุมเฉพาะ กมธ. 35 คนและเจ้าหน้าที่ของสภาที่เรียกให้ไปช่วยงานจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับบุคคลภายนอกคงไม่จำเป็นต้องไป ถ้าผู้ติดตามของใครไปและจะเข้าร่วมประชุมก็บอกมาเป็นรายๆ ไม่ได้รังเกียจ แต่เราก็อยากมีเวลาของเรา เพราะต้องทำงานในระยะเวลาที่จำกัด

 

อนึ่ง ที่ประชุมมีความเห็นให้ยกการพิจารณาหมวดที่ 8 ว่าด้วยเรื่องการเงิน การคลังและงบประมาณ ไปพิจารณาในการสัมมนารัฐธรรมนูญ ที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี เพราะเห็นว่าเป็นหมวดที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างละเอียด

 

"เสรี" ชี้สรรหาส.ว.แล้วยังถูกแทรกแซงได้ ควรกลับไปเลือกตั้ง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนที่ 1 กล่าวถึงแนวคิดของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ที่มาของส.ว.มาจาการสรรหาว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะพิจารณาจากปัญหาที่ผ่านมาว่าการทำหน้าที่ของส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งถูกแทรกแซงและไม่เป็นไปตามความหวังของประชาชนโดยกรรมาธิการยกร่างฯ คงพิจารณาจากสภาพปัญหาที่ผ่านมาแล้วจึงเสนอวิธีการใหม่ให้ส.ว.มาจากการสรรหาซึ่งเป็นวิธีที่จะได้มาซึ่งส.ว.ทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเพื่อให้เป็นอำนาจของประชาชนที่จะเข้ามาตรวจสอบพรรคการเมือง ,ส.ส.,คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ดังนั้น หากจะเปลี่ยนที่มาของ ส.ว.เป็นการสรรหาอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ก็ต้องลดลงไปด้วย การพิจารณาในเรื่องนี้จึงอยู่ความเห็นของกรรมาธิการยกร่างฯ จะมีวัตถุประสงค์ของการมีส.ว.มาทำหน้าที่อะไร เพราะหากลดอำนาจหน้าที่ของส.ว.ลงแล้วมีกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐที่เข้มแข็งได้ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ว่าส.ว.ควรมาจากการสรรหา  

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีให้มีกรรมการสรรหาส.ว.มีที่มาจากประธาน 3 ศาลและประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นแนวทางให้เกิดความโปร่งใสในการสรรหาส.ว.หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้ที่จะมาทำหน้าที่กรรมการสรรหาต้องไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจขององค์กรที่จะถูกตั้งขึ้นมา คือจะต้องแยกจากกันอย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมาการเลือกตัวแทนองค์กรอิสระมีตัวแทนของพรรคการเมืองเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาทำให้เกิดการล็อบบี้การนำคนเข้ามาในองค์กรอิสระ หากจะใช้วิธีการสรรหาส.ว.และให้มีกรรมการสรรหาจะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าเมื่อทำอย่างนี้แล้วผู้ที่มาเป็นส.ว.จะไม่ถูกแทรกแซงได้อย่างไร เพราะหากส.ว.มาจาการสรรหาแล้วยังถูกแทรกแซงอีก็แสดงว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผลร้ายที่จะตามมาคืออำนาจหน้าที่ของส.ว.ที่ลดลงจะทำให้ส.ว.ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายการเมืองได้ สุดท้ายจะกลายเป็นการหนีเสือปะจระเข้หนีไปแล้วหนีไม่รอดแต่กลับมีปัญหาใหม่ ดังนั้นกรรมาธิการต้องตอบคำถามว่าใช้วิธีการนี้แล้วจะแก้ปัญหาเดิมได้หรือไม่ หากแก้ไม่ได้ก็ควรใช้วิธีการเดิมคือการเลือกตั้ง แล้วนำปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงปัญหาน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า

   

เมื่อถามถึงวาระการดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมของ ส.ว. ที่มีผู้เสนอว่าเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี ให้จับสลากให้ส.ว.กึ่งหนึ่งพ้นจากตำแหน่ง นายเสรี กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ทำให้มีการสับเปลี่ยนส.ว.ทุก 3 ปี เพื่อให้การทำงานของส.ว.มีความต่อเนื่อง ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ให้ส.ว.เข้าและออกทั้งชุดทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในการทำงาน และเมื่อไม่มีความต่อเนื่องจึงทำให้ความโกลาหลเกิดขึ้นเหมือนที่เคยเกิด เช่น การเลือกประธานส.ว. ประธานกรรมาธิการใหม่จะทำอย่างไร การทำความเข้าใจหน้าที่การทำงานของส.ว.ชุดแรก เป็นต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท