Skip to main content
sharethis


 


นายอุบล อยู่หว้า ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย- ญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงนามเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจอยู่แล้ว ตนเชื่อว่าต่อให้มีกระแสคัดค้านอย่างไรรัฐบาลก็ไม่ฟังแน่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามตนในนามเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานจะไม่ขอยอมรับข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับดังกล่าว เพราะถือว่าคณะรัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงแค่รัฐบาลชั่วคราวที่มาจากคณะปฏิวัติรัฐประหารจึงไม่มีความชอบธรรมในการลงนามหรือทำสัญญาระหว่างประเทศใดๆ ที่จะมีผลผูกพันยาวนานต่ออนาคตของประเทศชาติ


 


นายอุบล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้แล้ว กระบวนการในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีฉบับดังกล่าวก็ไม่ชอบธรรม กล่าวคือ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน การดำเนินเป็นไปแบบเป็นความลับ ปกปิดมิให้ประชาชนหรือแม้แต่หน่วยการราชการด้วยกันเองได้รับรู้และมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ แม้แต่ในการกำหนดประเด็นเจรจา และกระบวนการตัดสินใจพิจารณาลงนามไม่ได้ผ่านกระบวนการรัฐสภา


 


นายอุบล กล่าวอีกว่า ที่สำคัญการลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ภาคประชาชนมีขอบเขตในการแสดงออกทางความคิดเห็นและเคลื่อนไหวต่างๆได้อย่างจำกัด จึงถือว่าเป็นข้อตกลงที่เกิดจากการฉวยโอกาสในช่วงที่สถานการณ์การเมืองไม่ปกติ จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนไทยร่วมกันปฏิเสธข้อตกลงอัปยศดังกล่าว และผนึกกำลังติดตามตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสังคมไทย และร่วมกันคัดค้านให้ถึงที่สุด


 


"การเอาขยะจากสังคมหนึ่งไปทิ้งอีกสังคมหนึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มทุนในประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศของตน ในส่วนของประเทศไทยเองก็จะได้ไม่คุ้มเสีย ขยะพิษที่มาจากญี่ปุ่น เช่น แผงอิเล็คทรอนิกส์ ยางรถยนต์ตอนนี้ที่บ้านเราโดยเฉพาะที่อีสานก็มีการเผายางรถยนต์เพื่อเอาลวดทองแดงไปขาย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมมันมากมายมหาศาลนัก" นายอุบล กล่าวทิ้งท้าย


 


นายสุเมธ ปานจำลอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า สาระของข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นหลายประเด็นมีความเสี่ยงและน่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างผลกระทบต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนไปในระยะยาว เพราะข้อตกลงดังกล่าว เป็นความตกลงที่ส่งเสริมให้เกิดการค้าขยะอุตสาหกรรมและขยะพิษ เช่น กากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล อีกทั้งยังเปิดช่องให้มีการพัฒนาและจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเข้ามายึดครองทรัพยากรจุลชีพของไทย และเป็นความตกลงที่เปิดให้มีการลงทุนอย่างกว้างขวางส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศ ทำลายธุรกิจของคนไทยและยังเปิดทางให้เอกชนต่างชาติฟ้องร้องรัฐได้  


 


นอกจากนี้ ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวอีกว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะทำคนไข้คนต่างชาติมาแย่งการใช้บริการสาธารณสุข เพิ่มโอกาสโรงพยาบาลเอกชนในการหาลูกค้าส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์หลั่งไหลไปสู่ภาคเอกชน ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านนี้หนักขึ้นไปอีก หนำซ้ำการมีคนไข้ต่างประเทศมากขึ้นทำให้เกิดมาตรฐานสำหรับคนไข้เหล่านี้ซึ่งมีโอกาสในการได้รับบริการที่ดีกว่าเพราะมีกำลังทางเศรษฐกิจสูง ที่น่ากังวลอีกประการคือสิทธิพิเศษใดๆในข้อตกลงที่ไทยได้ให้กับญี่ปุ่น จะเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นทั้งหมดที่เป็นสมาชิกองค์การค้าโลกได้สิทธิพิเศษนั้นไปพร้อมๆกันด้วย


 


"ถึงวันนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่ารัฐบาลเขาไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มที่คัดค้าน ดังนั้นเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเราจะทำหน้าที่และมีบทบาทในการให้การศึกษา และให้ข้อมูลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคประชาชน รวมทั้งจะผนึกกำลังกับเครือข่ายเกษตรทางเลือกทั้ง 4 ภาคเพื่อเดินหน้ารณรงค์คัดค้านข้อตกลงอัปยศนี้อย่างถึงที่สุด" นายสุเมธ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net