Skip to main content
sharethis

เมื่อวันพุธที่ 28 มีนาคม การประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 6 เรื่อง "รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน" ณ ห้องประชุม 207 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เวลา 14.15-16.00 น. นำเสนอบทความวิชาการในหัวข้อ "นโยบายรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฝ้าระวังรัฐด้วยความอึดอัดใจ: ทัศนคติและความรู้สึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อนโยบายรัฐ" โดยมีอาจารย์ อับดุลรอยะ ปาแนมาแล จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้นำเสนอผลงาน และมี ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการและให้ความคิดเห็น


 


อาจารย์อับดุลรอยะนำเสนอรายงานจากการลงเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยในพื้นที่และมีโอกาสได้พูดคุยกับประชาชน โต๊ะครู เจ้าหน้าที่ทางศาสนา ซึ่งรู้สึกได้ถึงความไม่สบายใจ กระวนกระวายใจ และอึดอัดใจ โดยเฉพาะต่อนโยบายของรัฐ ซึ่งอาจารย์อับดุลรอยะโฟกัสไปที่ด้านวัฒนธรรมและศาสนา


 


อาจารย์อับดุลรอยะเริ่มต้นกล่าวถึงสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรหลักของชุมชนมุสลิมในจังหวัดต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตและสังคมชาวมุสลิม เช่น เรื่องการสมรส การจ่ายซะกาต เรื่องทรัพย์สินและมรดก อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่จัดการสัมมนาอบรมผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่น โครงการอบรมเยาวชนที่จะแต่งงาน โครงการครอบครัวสันติสุข และอีกหลายโครงการ


 


"ผมสังเกตดูว่า ระหว่างศาลากลางหรือที่ว่าการอำเภอ กับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คนมุสลิมไปธุระที่สำนักงานมากกว่า ผมนั่งอยู่ตั้งแต่เช้าจรดเย็น คนมาทำธุระกันเกือบไม่ขาดสาย แต่เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า ในฐานะคนไทย คุณก็ต้องไปทำธุระ ไปติดต่อกับศาลากลางหรือที่ว่าการอำเภอด้วย เช่นการทำบัตรประชาชน การจดทะเบียนธุรกิจต่างๆ"


 


อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าวต่อว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเขาลงไปเก็บข้อมูลนั้น มีเจ้าหน้าที่หรือโต๊ะครูอุซตาสราว 30 คน ต้องผลัดเปลี่ยนเวรกันมาทำงาน คนหนึ่งมาทำ 2 วัน อีกคนมาวันที่เหลือ เป็นเพราะการขาดแคลนทุนที่จะมาจ้างเจ้าหน้าที่ให้นั่งประจำ ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการนั้นไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ จึงไม่มีเงินเดือน ไม่มีเงินสนับสนุนมากมาย แม้จะได้รับเงินจากจังหวัด 70,000 บาทต่อปี แต่รายจ่ายก็สูงกว่า 300,000 บาทต่อปี  โดยก่อนเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น องค์กรนี้จะมีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศบ้าง เป็นเงินจากกองทุนเงินซะกาตของชาวมุสลิม เพื่อช่วยเหลือองค์กรมุสลิมทั่วโลก แต่เมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น รัฐไทยก็ตรวจสอบแหล่งเงินกันอย่างเข้มงวด ทำให้ส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน


 


"เจ้าหน้าที่เขาทำงานด้วยความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นมุสลิม ทำด้วยอามานะ เป็นเรื่องของพระเจ้าฝากให้ดูแล บางคนทำงานอื่นด้วย ไปสอนหนังสือ หรือบางคนตอนเช้าก็ต้องไปกรีดยางก่อน บางคนเงินที่ได้ก็ไม่พอเลี้ยงครอบครัวเขา สร้างความอึดอัดใจกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้"


 


อาจารย์อับดุลรอยะกล่าวต่อถึงประเด็นการใช้ภาษามลายูว่า คนที่ใช้ภาษามลายูไม่ได้ปฏิเสธภาษาไทยเลย เขายินดีและภูมิใจที่ได้รู้ภาษาไทยด้วย แต่ลึกๆ แล้วก็อยากจะใช้ภาษามลายูต่อไป เพราะเป็นภาษาแม่ของเขา เป็น Communication Language แต่ภาษาไทยนั้นเป็น Second Language ในชีวิตประจำวัน


 


"ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับภาษามลายูในตอนนี้คือ บางคนในพื้นที่มีความรู้สึกไม่สบายใจ เพราะลูกๆ ของเขาไม่สามารถพูดภาษามลายูได้แล้ว ภาษาไทยนั้นเขาได้เอง เรียนอนุบาล ป.1 ก็พูดกับเพื่อน กับอาจารย์ แต่ภาษามลายูท้องถิ่นหายไปทีละนิดทีละหน่อย สิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดคือ พ่อกับลูกพูดคนละภาษา เขาไม่ได้แอนตี้ภาษาไทย แต่เขาอยากจะอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีดั้งเดิมของเขาไว้ เขาไม่รู้จะทำอย่างไรให้ลูกเขาอยู่ในสถานภาพที่เก่งภาษาไทย ยอดภาษามลายู" อาจารย์อับดุลรอยะกล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น


 


ด้านอาจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล ตั้งคำถามขึ้นว่า นอกจากนโยบายชาตินิยมของรัฐที่ต้องการผสมกลมกลืนอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ แล้ว  Modernity หรือ Globalization มีบทบาทเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นหรือไม่? 


 


อาจารย์อับดุลรอยะให้ความเห็นว่า ก็มีส่วนทั้งสองอย่าง ทั้งนโยบายชาตินิยมตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำให้คนที่เป็น "ไทย" ต้องพูดภาษาไทย และผลของโลกาภิวัตน์ หรือ Modernity


 


"ในโทรทัศน์เวลาเราจะดูอะไรที่เป็นแบบมลายู ก็ต้องไปเปิดช่องมาเลเซีย ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบรายการโทรทัศน์เมืองไทย เพียงแต่ว่าบางช่วง เราอยากจะดูที่มันเป็นตัวเราเอง มันไม่มี เช่น วันฮารีรายอ ซึ่งถ้าเป็นจีนก็เป็นตรุษจีน ฝรั่งก็เป็นคริสต์มาส คนมุสลิมก็อยากจะดูบรรยากาศของวันฮารีรายอ มันก็ไม่มี เราก็น้อยใจว่า ทำไมคนอื่นๆ ตรุษจีน คริสต์มาส เขามีสีสันมากเลย ถามว่า คนคริสต์กับมุสลิมใครเยอะกว่ากันในประเทศไทย แต่นี่ไม่ใช่ชวนทะเลาะกับคริสต์นะครับ ผมเพียงแต่พยายามบอกว่า พอวันที่ 25 ธ.ค.จะมีจิงเกอร์เบล จิงเกอร์เบล แต่ทำไมวันฮารีรายอ มันไม่มีอะไรเลย"


 


"คนมุสลิมก็อยากดูอะไรที่มีสาระ ที่ให้แง่คิด คติธรรม ถ้าเราเปิดช่องทีวีอินโดนีเซีย ถึงแม้จะมีเพลง Hip-Hop แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีช่วงสำหรับโต๊ะครู สำหรับเชิญอาจารย์ นักวิชาการมาพูด ถามว่าในประเทศไทยมีไหม? นอกจากเดือนรอมฏอน ปีละหน แต่จะมีก็นู่น ตี 3 ตี 4 เด็กเยาวชนก็ไม่ค่อยได้ดู เยาวชนได้ดูแต่ละครน้ำเน่า ในฐานะคนเป็นพ่อ เราก็เป็นห่วงว่า ลูกเราต้องดูทีวีอย่างนี้เหรอ ไม่รู้จะเปิดช่องไหนนะครับ ทุกช่องมันก็เป็นอย่างนี้"


 


ในช่วงท้าย อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เข้าร่วมฟังด้วย ให้ความเห็นว่า ภาษากับชาติพันธุ์ ไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน อาจารย์อานันท์กล่าวถึงงานวิจัยที่ไปศึกษาคนไซบีเรียในประเทศรัสเซีย พบว่าคนไซบีเรียเวลานี้พูดแต่ภาษารัสเซีย ลืมภาษาของตนเองหมด งานวิจัยก็ตั้งคำถามว่า คนที่ลืมภาษาตัวเองแล้วจะรักษาชาติพันธุ์ได้อย่างไร ซึ่งปรากฏว่าคนไซบีเรียจำเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องผีของเขาได้หมดเลย โดยไม่มีภาษา


 


"ถามว่าทำไมคนในภาคใต้ถึงเอาเรื่องภาษาไปโยงกับความเป็นชาติพันธุ์ของเขา ผมคิดว่าการที่คนชาติพันธุ์ไหนจะดึงเอาเรื่องอะไรขึ้นมาเป็นประเด็นทางชาติพันธุ์ มันมีบริบทเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ถ้าจะให้ผมเดา มันเกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์ทางการเมือง เรื่องความไม่เป็นธรรม ไร้ความยุติธรรมมากกว่า อย่างคนฮินดูไม่ค่อยสนใจเขียนภาษาฮินดีแล้ว ก็เพราะว่าความเป็นฮินดูมันไม่ได้อยู่ในภาษานี้แล้ว เขาสามารถจะแสดงออกถึงความเป็นฮินดูในหลายรูปแบบได้  ถามว่าคนในภาคใต้จะแสดงความเป็นมลายูของเขาผ่านที่ไหนละ เพราะเรื่องอื่นมันถูกเอาไปหมดแล้ว"


 


อาจารย์อับดุลรอยะกล่าวตอบว่า ภาษามลายูมันจะเกี่ยวโยงกับศาสนาอิสลามโดยปริยาย ภาษามันได้ถูก Islamization ทำเป็นอิสลามไปแล้ว ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะบอกว่าเข้ามลายู เหมือนเข้าอิสลาม และมลายูกับอิสลามเป็นแทบจะเป็นคำที่เหมือนกันไปแล้ว


 


"ผมตั้งข้อสังเกตว่า สมมติว่ามีฝรั่ง เขาบอกว่ามาจากอังกฤษ แต่เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมของอังกฤษเลย ถามว่าเรายอมรับเขาเป็นฝรั่งไหม? เขาบอกผมเนี่ยเป็นฝรั่งนะ เป็น English man but I can"t speak English จะยอมรับเขาเป็นฝรั่งไหม?" อ.อับดุลรอยะลองตั้งคำถามถึงประเด็นอัตลักษณ์ให้ขบคิดกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net