Skip to main content
sharethis


บรรยากาศช่วงพักกลางวันของการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริเป็นประธาน ที่รัฐสภา วานนี้


 


ประชาไท - 4 เม.ย. 50 การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานนั้น วานนี้ (3 เม.ย.) ในช่วงเช้ามีการพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตราในหมวดที่ 10 แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


โดยที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางซึ่งในมาตรา 84 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะในวงเล็บ 5 ซึ่งกำหนดให้ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมืองโดยสนับสนุนให้มีกองทุนการพัฒนาพลเมืองเพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวในรูปแบบสภาชุมชนหรือรูปแบบอื่นที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่


 


"ชูชัย" ชี้คนเบื่อนักเลือกตั้ง ชูกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง


นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ ในฐานะผู้เสนอ กล่าวว่า นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศต้องการ เพราะพวกเขาเบื่อหน่ายนักเลือกตั้งอย่างมาก การมีกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองนี้จะสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ทำให้ประชาธิปไตยระดับชาติมั่นคงมากขึ้น ชุมชนจะลดการพึ่งพาลง จากความสัมพันธ์แนวดิ่งเปลี่ยนเป็นแนวราบ ซึ่งจะทำให้ศักดิ์ศรีและเสรีภาพของประชาชนเพิ่มมากขึ้น


 


ส่วนรูปแบบนั้น นพ.ชูชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามีกองทุนของ สกว. สสส. ซึ่งจะเห็นว่าการดำเนินการของ สสส. นั้นมีอิสระพอสมควรและมีการประเมินผลเข้มงวด จึงไม่น่าจะเกิดปัญหา


 


"กองทุนดีๆ หลายกองทุนเกิดในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถ้าครั้งนี้กองทุน (ตามที่เสนอ) นี้เกิดไม่ได้(ในรัฐบาลนี้) ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ย่อมเป็นไปได้ยาก" นพ.ชูชัย กล่าว


 


อภิปรายกว้างขวาง หลายฝ่ายกลัวไม่โปรงใส


นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กมธ. กล่าวว่า เกรงว่าการตั้งกองทุนจะเป็นจุดอ่อนทำให้เกิดปัญหาการควบคุมงบประมาณในอนาคต เนื่องจากต้องขึ้นกับนักการเมือง ถ้านักการเมืองดีก็ดีไป ถ้าเจอนักการเมืองฉ้อฉล การดูแลเรื่องการเงินจะหย่อนไป ยากต่อการตรวจสอบในอนาคต ทั้งยังกังวลว่า ถ้ามีคนมาม็อบอาจมีสิทธิใช้เงินสนับสนุนตรงนี้ได้ เนื่องจากถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง จึงเสนอว่า ควรทำในลักษณะของงบโดยเฉพาะ


 


ด้านนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กมธ. กล่าวว่า เสนอที่มาของเงินในกองทุนให้มาจากการบริจาคแล้วหักภาษีรวมทั้งกันบางส่วนจากเงินที่มีผู้บริจาคให้พรรคการเมืองมาตั้งเป็นกองทุนจะดีกว่า


 


นางสดศรี สัตยธรรม กมธ. กล่าวว่า ในฐานะ กกต. ซึ่งต้องจ่ายเงินให้เอ็นจีโอที่สนับสนุนการเลือกตั้ง พบปัญหาการเบิกจ่ายเงิน และถูกองค์กรที่ช่วยเหลือการเลือกตั้งเรียกร้องเงินเพิ่มตลอด และยังพบปัญหาในการตรวจสอบว่า องค์กรนั้นได้ทำงานตามที่เสนอมาหรือไม่ ดังนั้น จึงเสนอว่าเป็นไปได้ไหมที่จะให้เอ็นจีโออาจจะมาทำงานตรวจจับการกระทำผิดของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งแล้วให้สินบนนำจับกับเอ็นจีโอ เพื่อเป็นกองทุนภาคประชาชน


 


นายคมสัน โพธิ์คง กมธ. กล่าวว่า ในหลักการรัฐธรรมนูญควรกำหนดกรอบการมีกองทุนพัฒนาภาคพลเมืองเอาไว้ ส่วนรายละเอียดการพิจารณาต่างๆ เช่น จะมีเงินเท่าไหร่ ฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบพิจารณา ดำเนินการไม่ให้กองทุนหยุดชะงัก ในแง่ชุมชน ถือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งเสริมชุมชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาการเมืองได้  


 


ทั้งนี้ นายคมสัน เห็นว่าหากเกรงว่า จะมีการนำเงินไปใช้ในทางการเมืองซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาก็เสนอให้เขียนห้ามนำเงินไปดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเอื้อประโยชน์ให้ใคร แต่ให้ใช้เพื่อการศึกษาด้านการเมือง


 


 


"วิชา"หนุนกองทุนฯ ชี้ถ้าทำได้จะเป็นประวัติศาสตร์


นายวิชา มหาคุณ กมธ. กล่าวสนับสนุนการมีกองทุนนี้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นยาก เรากำลังพัฒนากระบวนการนี้ เขามีเครือข่ายประชาชนชุมชนที่ดูแลอยู่เยอะที่เรียกร้องให้มีกองทุนภาคพลเมือง จึงขอให้ระบุว่า จะสนับสนุนให้มีการตั้งกองทุน โดยจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบ เนื่องจากหากระบุว่าเป็นกฎหมายลูกจะทำให้ถูกกลืน ลืมหายไป หากทำได้นี่จะเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง


 


นายจรัญ ภักดีธนากุล กมธ. กล่าวว่า เสนอในแนวทางที่นายพิสิฐเสนอว่า รายรับของกองทุนไม่ใช่มาจากเงินงบประมาณ แต่เน้นที่ส่วนแบ่งทรัพย์สินที่รัฐได้มา หรือต้องสูญเสียไปจากการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นภาษีบาปเหมือน สสส. อาจได้มาจากการติดตามตรวจสอบทุจริตของภาคประชาชน จะแก้เรื่องงบประมาณแผ่นดินได้


 


"ประสงค์"เผยสัจธรรม ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญคนมีส่วนร่วมแค่ตัวหนังสือ


นายประสงค์ สุ่นศิริ ปธ. กมธ. กล่าวว่า เขาเคยอยู่ในวงการเมืองและเคยผ่าน รธน.มาหลายฉบับเขียนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย แต่เอาเข้าจริงเป็นไปตามนั้นไหม ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของประชาชนคือการไปนั่งรับฟังแล้วกลับบ้าน แม้กระทั่งรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ จะผ่านที่ไหน เคยถามประชาชนไหม ไม่เคย ที่ผ่านมา รธน.เขียนทุกวรรคมาเลย อ่านแล้ว ชอบครับ แต่ไม่มีอะไรจะคุ้มครองเขาจริงๆ


 


นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ถ้าพูดลอยๆ นักการเมืองนักเลือกตั้งจะไม่ใส่ใจ ถ้าได้นายทุนเข้ามา นายทุนจะมีอิทธิพลต่อความคิด การจัดสรรทรัพยากร โครงการต่างๆไม่ฟังเสียงจากชาวบ้าน โรงงานเข้าไปตั้ง ของเสียรบกวนเขา แก้ไขไม่ได้มีประสิทธิภาพ อย่างในเขตโรงไฟฟ้าแม่เมาะสภาพค่อยยังชั่ว แต่ชุมชนรอบๆ นี่แย่ หรือสระบุรีมีระเบิดหิน ทั้งเมืองเต็มไปด้วยฝุ่น เคยถามเขาไหม เวลาให้สัมปทานกับนายทุน แต่กลับเขียนว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วม


 


รธน.หมวดสิทธิชุมชนพลาดพิจารณาหวั่นช้า พิจารณาหมวดรัฐสภาแทน


ต่อมาในช่วงบ่าย น..ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจ จะนำหมวดสิทธิชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการฯ ตามที่ได้เจรจากับนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น..ประสงค์ ไม่ได้อนุญาตให้คณะอนุกรรมาธิการกรอบที่ 1 นำเสนอเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมให้เหตุผลว่า จะทำให้การทำงานของกรรมาธิการเป็นไปด้วยความล่าช้า ซึ่งจะไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา และได้ให้ที่ประชุมมีการพิจารณาในกรอบต่อไปว่าด้วยรัฐสภาแทน


 


ประเด็นนี้สร้างความงุนงงให้แก่ น..ชูชัยและคณะอนุกรรมาธิการกรอบ 1 เป็นอย่างมากโดย น..ชูชัย กล่าวท้วงติง ว่า ได้มีการแจ้งให้กับนายสมคิดแล้ว และนายสมคิดบอกว่าจะแจ้งให้ประธานทราบ แต่ไม่รู้ว่าได้แจ้งให้ประธานทราบทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งนักวิชาการที่เป็นคณะอนุกรรมาธิการกรอบที่1 ก็ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ หากประธานเห็นอย่างไร ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามนั้น อย่างไรก็ตาม ขอสงวนในทุกประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน


 


ขณะที่นายสมคิด กล่าวว่า มีบางประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติ แต่ก็เห็นว่า ควรดำเนินการ เป็นไปตามลำดับที่น.ต.ประสงค์พูด


 


"ประสงค์" อ้อนจะเปิดให้อภิปรายเรื่องนี้ 1 วันเต็มๆ ที่ "บางแสน"


ด้าน น..ประสงค์ กล่าวว่า เขาเองก็หนักใจ ซึ่งหากวนอยู่ที่เก่าก็จะเสียเวลา ดังนั้นในการประชุมที่บางแสน มีเวลาให้มีการอภิปราย 1 วันเต็ม ซึ่งน่าจะไปหารือในขณะนั้นได้ ตอนนี้ต้องขอโทษด้วย


 


ด้านแหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า เรื่องสิทธิชุมชนที่วันนี้ยังมีการเลื่อนการพิจารณาไปก่อนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเห็นต่างกันอย่างรุนแรง "[พวกเขา] เกรงว่าจะชักนำให้ประชาชนไปใช้สิทธิมาก และยังมีปัญหาว่า อย่างบ้านจัดสรรเป็นชุมชนหรือไม่ นิคมอุตสาหกรรมเป็นชุมชนหรือไม่ อย่างที่เคยมีปัญหาก่อนหน้านี้ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับเกษตร"


 


เขากล่าวต่อว่า "เป็นธรรมดาอยู่แล้วในต่างประเทศที่ยอมรับสิทธิให้การดำเนินการโครงการบางอย่างล่าช้า.... ซึ่งก็เป็นหลักที่ถูกต้อง ฝ่ายที่ค้านกลัวว่า ฝ่ายที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะเอาชุมชนไปเป็นเครื่องมือ อย่างเช่น กรณีแก๊สไปป์ไลน์ (ท่อแก๊ส ไทย-พม่า) บางพวกเชื่อว่ามีกลุ่มต่างชาติหนุนหลัง [เพื่อไม่ให้ปตท.ทำสำเร็จ]


 


สุดท้าย แหล่งข่าวผู้นี้ ซึ่งให้ความเห็นว่า กระบวนการร่าง รธน. ตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน เป็นไปแย่กว่าที่ตัวเองคาดคิด กล่าวว่า หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ยอมรับสิทธิชุมชน "เขาก็ต้องรับผลจากการกระทำของเขา"


 


ขณะที่ ผู้ทรงคุณวุฒิอีกราย กล่าวถึงกรณีที่ประธานไม่ยอมให้คณะอนุฯ เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้เชี่ยวชาญว่า "เราก็เซ็ง ความหวังของเราก็อยู่ที่นักข่าวแหละ"


 


เสนอเพิ่มข้อความ ม.81 ป้องกันแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


ต่อมานายคมสัน โพธิ์คง รองเลขาฯ กมธ. ได้เสนอเพิ่มข้อความในมาตรา 81 เพราะได้เสนอไว้เมื่อการประชุมครั้งที่แล้วเมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งนายคมสัน ให้เหตุผลในการเพิ่มข้อความว่า เพราะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในรัฐบาลชุดที่แล้วมีปัญหาในข้อกฎหมายและความเหมาะสมในการดำเนินการ เพราะได้มีการนำเอารัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนไปอยู่ในกระบวนการของการแปรรูป ซึ่งรัฐวิสาหกิจเช่นนี้โดยลักษณะแล้วผูกขาดเชิงการดำเนินการ เช่น ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น


 


โดยการแปรรูปที่ผ่านมามีปัญหาเพราะการดำเนินการแปรรูปตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ มีปัญหาในหลักกฎหมายที่สำคัญคือได้ยกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่เป็นพระราชบัญญัติโดยใช้พระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารในการยกเลิก ซึ่งมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่า ถือเป็นการทำลายลำดับศักดิ์ของกฎหมาย


 


และโครงสร้างของกฎหมาย พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจดังกล่าวได้เอื้อต่อฝ่ายการเมืองในการจัดสรรผลสาธารณูปโภค และแปรรูปให้เป็นของประชาชนโดยไม่มีหลักประกันในการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ, ทรัพย์สินของรัฐ และประชาชนในทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ศาลพิพากษาว่าการแปรรูปการไฟฟ้าจะกลายเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย


 


เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแปรรูปอีก ขอเสนอในที่ประชุมว่า ในกระบวนการการแปรรูป เขาไม่ติดใจในแง่ที่จะแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจต่างๆ แต่ว่าในกิจการที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชนขึ้นพื้นฐาน และมีลักษณะผูกขาด เขาคิดว่าไม่สามารถที่จะดำเนินการเพื่อทำให้เกิดการแปรรูปในลักษณะที่ส่วนหนึ่งส่วนใดตกเป็นของเอกชนได้ จึงขอเสนอเพิ่มมาตราที่ 81 ในวงเล็บ 1/1 ต่อจากวงเล็บ 1 เดิม ในข้อความว่า "จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐในทางเศรษฐกิจและต้องไม่กระทำใดอันทำให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนตกเป็นของเอกชน" นายคมสัน กล่าว


 


ที่ประชุมหวั่นกระทบลงทุน เสียเวลา "ประสงค์" เสนอ "ไปถกบางแสน"


นายพิสิฐ ลี้อาธรรม โฆษก กมธ.ฯ กล่าวว่าขณะนี้เราเข้าสู่วาระของการดูรายมาตรา จะดูในกรอบแรก หากเราใช้เวลาถกเถียงนานจะเป็นเรื่องใหญ่ มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนมาก จึงควรใช้เวลาที่บางแสน ไม่อยากให้เสียเวลาที่นี่


 


นายคมสัน กล่าวว่า อยากให้พิจารณาเลย เพราะที่ผ่านมาก็มีการค้างพิจารณาที่ชะอำ ที่ประชุมสงวนความเห็นตลอด ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางหลักการ ซึ่งคิดว่าประเด็นของสาธารณูปโภคที่มีลักษณะผูกขาด หากมีการแปรรูปจะส่งผลกระทบต่อประชาชน เขาขอเสนอว่าควรจะบรรจุเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่


 


โดยนายสุพจน์ ไข่มุกด์ กมธ.ฯ ได้กล่าวว่า ขอสนับสนุนอาจารย์คมสันเต็มที่ ขณะที่นายไพโรจน์ พรหมสาส์น กล่าวว่าเห็นด้วยกับนายพิสิฐ เพราะยังมีเรื่องพิจารณาอีกมาก เรื่องนี้ไปใช้เวลาที่บางแสนละเอียดลึกซึ้งกว่า ตอนนี้การพิจารณารัฐธรรมนูญยังมีอีก 3 กรอบ อีกตั้งเยอะ ไปที่โน่นอาจมีการคุยการโหวตจะทำถนัดกว่า


 


ทำให้ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ปธ.กมธ.กล่าวว่า "เอาอย่างนี้ครับ ผมว่าแม้เป็นเรื่องสำคัญควรถกแถลง แต่ระยะเวลามีจำกัด อยากให้พิจารณาไปทุกกรอบก่อน แล้วค่อยพิจารณาอีกทีที่บางแสน ซึ่งผมจะจัดให้ แต่ในขั้นต้นอยากให้เราเดินไปตามกรอบต่างๆ และเวลาเราจำกัดจริงๆ ต้องขออภัยท่านคมสันด้วย"


 


ถกเอา-ไม่เอา ส.ส.สัดส่วน ไม่ตก ไปต่อบางแสน


ต่อมามีการพิจารณารัฐธรรมนูญหมวดรัฐสภา ส่วนที่ 2 ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 89 โดยฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอเป็น 2 แนวทาง คือ 1.ให้มี ส.ส.มาจากการเลือกตั้งแบ่งเขตจำนวน 400 คน และ 2.สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คนโดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คนและสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน


 


ทั้งนี้ ในกรณีที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างให้ ส.ส.ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่


 


ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปโดยครั้งใดมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 400 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็น ส.ส.และต้องมีการเลือกตั้งจนครบจำนวน 400 คนภายใน 180 วัน และให้ ส.ส.ผู้ได้รับเลือกตั้งเข้ามานั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของ ส.ส.ที่เหลืออยู่


 


ส่วนมาตรา 90 ให้แบ่งพื้นที่เลือกตั้งเป็นเขตละ 3 คนจังหวัดใดมีการเลือกตั้ง ส.ส.ได้ไม่เกิน 3 คนให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ขณะที่ฝ่ายเลขาฯ เสนออีกแบบหนึ่งคือ ส.ส.ระบบสัดส่วนให้จัดกลุ่มจังหวัดเป็น 4 เขตเลือกตั้ง โดยแต่ละเขตเลือกตั้งให้มีจำนวนส.ส.แบบสัดส่วนได้ 20 คน


 


ขณะที่นายเกริกเกียรติ ได้เสนอรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส.ในเยอรมนีโดยได้นำบทความของ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาอธิบายต่อที่ประชุม ซึ่งมีส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 299 คน แยกไปตามมลรัฐต่างๆ และจะใช้คะแนนรวมของทุกพรรคมาจัดสรรเป็น ส.ส.ระบบสัดส่วน


 


น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนไปศึกษามาก่อนเพราะถือเป็นรูปแบบใหม่ วันนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ ขอให้ไปพิจารณากันที่บางแสน


 


นายประพันธ์ นัยโกวิท กมธ. กล่าวถึงระยะเวลาการสังกัดพรรคการเมืองที่ฝ่ายเลขาฯ เสนอให้สังกัดไม่น้อยกว่า 90 วันว่า ตามประกาศ คปค. 15 และ 27 กำหนดว่าไม่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมือง ซึ่งประกาศนี้มีลักษณะเป็นกฎหมายไม่ใช่ประกาศทั่วไป ดังนั้นการยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขต้องออกเป็นพ.ร.บ.เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจจะใช้เวลาหลายเดือนถ้าจะเลือกตั้งปีนี้อาจจะเป็นไปได้ว่า ถ้ายุบพรรคแล้วตั้งพรรคใหม่การสังกัดพรรคใน 90 วันอาจจะทำไม่ได้


 


เสนอจะสมัคร ส.ส.แจงทรัพย์สิน ถกหนักหวั่นทำกระบวนการวุ่น


ผู้สื่อข่าวรายงานอีกด้วยว่า การประชุมในช่วงบ่ายเริ่มดุเดือดขึ้นเมื่อเข้าสู่การประชุมรายมาตราในมาตรา 95 ซึ่งระบุว่า ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน ที่มีจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง และยื่นหลักฐานแสดงสถานะทางภาษีด้วย โดยวรรค 1 ระบุต่อว่า เมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วให้ติดประกาศบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรค 1 ของผู้นั้นให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป


 


ในประเด็นนี้มีกรรมาธิการยกร่างฯ ลุกขึ้นอภิปรายกันอย่างหลากหลาย โดยนายวุฒิสาร ตันไชย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับวรรคหนึ่งของมาตรานี้ เพราะการสมัคร ส.ส.ควรให้คนสมัครง่าย โดยอาจกำหนดว่าเมื่อได้เป็น ส.ส. แล้วต้องแสดงทรัพย์สินอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ซึ่งหากดำเนินการตามวรรคหนึ่ง อาจจะทำให้กระบวนการรับสมัคร ส.ส. วุ่นวาย


 


แต่นายวิชา มหาคุณ ได้แย้งว่า การแสดงบัญชีทรัพย์สินก่อนดำรงตำแหน่ง ทั่วยุโรปก็มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งการบัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบแทนอำนาจรัฐ ซึ่งหากเปรียบเทียบก็คือ ผู้ที่ต้องการสมัครเป็น ส.ส. จะต้องกล้าให้มีการตรวจสอบ โดยการเปลือยกายต่อสาธารณชน ไฝ ฝ้า จุด ด่าง ดำเล็ก ใหญ่ อย่างไรก็ต้องให้ทุกคนเห็นให้หมด เพราะที่ผ่านมา ระบบการตรวจสอบในเรื่องนี้ของเราล้มเหลวมาก โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เพราะการกำหนดให้ ส.ส. หรือรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่งแล้วค่อยประกาศบัญชีทรัพย์สิน จะทำให้ฝ่ายการเมืองใช้ช้องทางเพื่อหลบหลีกได้


 


"วุฒิสาร" เสนอให้เปลือยกายทีหลังได้หรือไม่ หวั่นปิดโอกาสเข้าสู่การเมือง


ด้านนายวุฒิสาร ได้กล่าวแย้งนายวิชาว่า การกำหนดกระบวนการแบบนี้ เป็นความรุงรังของวิธีการและขั้นตอน ซึ่งหากจะต้องให้เปลือยกาย ขอเปลือยภายหลังได้หรือไม่ ในประเด็นนี้เราควรเปิดโอกาสให้คนเข้าสู่การเมืองได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่มาปิดโอกาสกัน



นายประพันธ์ นัยโกวิธ กล่าวว่า ในร่างมาตรา 95 วรรคแรกเขาเห็นเจตนาดี แต่การกำหนดให้แสดงบัญชีทรัพย์สินจนถึงวันรับเลือกตั้งทำได้ค่อนข้างยากและสับสน เพราะมีบัญชีเป็นร้อยบัญชีและต้องนำบัญชีเหล่านั้นไปประมวลผลให้ได้ข้อมูลล่าสุด (อัพเดต) ซึ่งอาจจะทำให้ยากต่อการทำงานจึงขอเสนอให้ผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส. ต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินก่อนลงสมัคร 3 วัน


ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม หนึ่งใน กรรมาธิการยกร่างฯ ที่ดำรงตำแหน่ง กกต. กล่าวว่า มาตรา 95 ดูเหมือนจะเป็นภาระหนักของ กกต. ที่จะต้องตรวจสอบเพื่อความบริสุทธิ์ของผู้สมัคร ซึ่งในเรื่องนี้หากกำหนดผู้สมัคร ส.ส. ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้ว ก็ควรที่จะกำหนดให้ผู้สมัครท้องถิ่นก็ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยเหมือนกัน และน่าจะรวมถึงบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ที่จะสมัคร ส.ส. ด้วย


 


ลามตรวจสอบทรัพย์สินลูก-เมีย ส.ส. แต่สรุป "คุยต่อบางแสน"


ทั้งนี้ นายประพันธ์ได้เห็นด้วยกับนางสดศรีและเสนอว่า ควรจะไม่ใช่เฉพาะผู้สมัคร ส.ส. ที่จะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งการออกหลักเกณฑ์ให้มีการแสดงทรัพย์สินเพียงแค่คนเดียว จะทำให้เกิดการยื่นทรัพย์สินไม่ครบถ้วนหรือจงใจปกปิด ดังนั้น จึงควรกำหนด ให้ยื่นกับคู่สมรส รวมถึงบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย


นายวิชา กล่าวว่า เรื่องที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นกังวลในการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเรื่องพิธีกรรม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ในกระบวนการตรวจสอบเราไม่ได้ดูเลยว่าเขามีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร และมีสายใยโยงใยหุ้นส่วนบริษัทอะไรบ้าง ซึ่งในต่างประเทศ เขากำหนดชัดเจน โดยออกกฎหมายป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยให้ ส.ส. ส.ว. แสดงบัญชีทรัพย์สินเพื่อกันให้คนไม่ดีเข้ามาสู่ระบบ ซึ่งก็ได้ผล เพราะในอังกฤษ ส.ส. ที่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนน้อยมาก แต่ของประเทศไทยเดินแทบจะชนกันตาย ดังนั้น มาตรา 95 ของเราต้องเขียนให้สอดรับกับเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นนี้มีสมาชิกกรรมาธิการฯ จำนวนมาก ลุกขึ้นสนับสนุนความเห็นของนายวิชา จนนายสมคิด ต้องสรุปในมาตรานี้ว่า ให้แขวนไว้ก่อนแล้วให้นำไปโหวตที่บางแสน


 


"พิสิฐ"ถาม - ถ้ามี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนีไปบวชจะทำอย่างไร กมธ.ตอบ - ให้คุยกันที่บางแสน


อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาในมาตรา 96 ที่ระบุว่า พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่เกินจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น โดยในวรรคหนึ่งระบุต่อว่า เมื่อพรรคการเมืองใด ส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองนั้น หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นจะถอนการสมัครรับเลือกตั้งมิได้


 


โดยนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ได้แสดงความเป็นกังวลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สมัคร ส.ส. ในครั้งที่แล้วที่มีผู้สมัครของพรรคหนึ่ง ลาออกจากพรรคกลางคัน เพื่อที่จะไปบวช ทำให้บัญชีของ ส.ส. คนนั้นว่างลง หากเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้น กมธ.ฯ จะหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร จะปล่อยให้ว่างไปหรือจะหาคนเข้ามาแทนที่ โดยกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นรายละเอียดที่จะต้องไปคุยกันที่บางแสนอีกครั้ง


 


"พิสิฐ"เสนอล้อมคอกหวั่น ผู้สมัคร ส.ส.ชิงได้เปรียบหาเสียงด้วยดาวเทียม


ส่วนมาตรา 98 ที่ระบุว่า เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ให้รัฐสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องดังต่อไปนี้ 1) จัดที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐ 2) พิมพ์และจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 3) จัดหาสถานที่หาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4) จัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้แก่พรรคการเมือง 5) กิจการอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดการดำเนินการตาม 1) 4) 5) โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคการเมืองหรือบุคคลอื่นนอกจากรัฐ จะกระทำการมิได้


 


โดยนายพิสิฐ ได้แสดงความกังวลถึงมาตรานี้ว่า หากมีผู้สมัครรายหนึ่งรายใด ได้เปรียบคู่แข่งโดยการยิงดาวเทียมหาเสียง จะเข้าข่ายข้อไหนในมาตรานี้ ซึ่งหากจะกำหนดให้มีการหาเสียงต้องกำหนดในประเด็นนี้ให้เท่าเทียมกัน


 


เสนอต้องทำให้หาเสียงได้เท่าๆ กัน ไม่ว่าเงินจะมากขนาดไหน


นายสมคิดได้ชี้แจงว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ล็อคเรื่องเงิน แต่กิจกรรมทำได้หมด ถ้าต้องการล็อคให้เท่าเทียมกัน เดี๋ยวจะหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเขารับปากว่าจะนำไปพิจารณาใส่ไว้ในมาตราอื่นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อไป



นายวิจิตร สุรกุล กล่าวว่า เป็นเรื่องตลกขบขันของรัฐธรรมนูญไทย ที่กำหนดให้การเลือกตั้ง ดำเนินการได้เพียงคณะกรรมการการเลือกตั้ง เราไปหลงเอาอะไรมาไม่ทราบไปตั้ง กกต. ขึ้น และตั้งสมมติฐานว่าเมื่อมี กกต. ต้องเป็นอิสระและอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล ซึ่งผิดธรรมชาติของ กกต. ถ้าหากไทยยังยึดรูปแบบอย่างนี้อยู่ การเลือกตั้งก็จะไม่มีทางเรียบร้อย



นายเกริกเกียรติกล่าวว่า เราอยากใช้สื่อโฆษณาหาเสียงอะไรที่มันเป็นผลเสียเกิดขึ้นในรัฐธรรมฉบับที่แล้วเราต้องรีบแก้ไขตรงจุดนี้ โดยระบุว่าการหาเสียงทุกพรรคจะต้องเท่าเทียมกัน ทุกพรรคจะไปปิดป้ายแนะนำตัวมั่วซั่วไม่ได้ ถึงแม้จะมีเงินมากขนาดไหน เวลาหาเสียงต้องทำให้เท่าเทียมกันหมด


 


ชูภาษีมรดกใน รธน. แต่เก็บไปคุยที่ "บางแสน"


ทั้งนี้ ก่อนปิดการประชุม นายเกริกเกียรติ ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า เขาเป็นคนเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีมรดกซึ่งทางกรรมาธิการบอกว่าจะนำเรื่องนี้ไปบันทึกไว้ในเจตนารมณ์ ซึ่งเขาเห็นว่ามันไม่ชัด หากจะเขียนก็ต้องเขียนเป็นมาตราระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เลย เหมือนสินค้ามีจุดขาย ถ้าเรานำเรื่องการเก็บภาษีมรดกไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนเป็นจุดขายของรัฐธรรมนูญเรา ซึ่งเรื่องนี้น่าจะไปพูดคุยกันที่บางแสน เขาจึงขอสงวนไว้


 


รศ.ศรีราชา เจริญพานิช กล่าวว่าขอสงวนเรื่องเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้ใช้ประโยชน์และไม่ได้กระจายการถือครองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย โดยเสนอให้นำไปคุยกันที่บางแสน


 


เลขาฯ กมธฯ แจงประเด็นที่หาข้อสรุปไม่ได้ไปคุยที่ "บางแสน" 6-11 เม.ย. นี้


ทั้งนี้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการพิจารณาว่า ประเด็นที่คณะกรรมาธิการยกร่างยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในหมวดสถาบันการเมืองและจะต้องลงมติชี้ขาดในการประชุมที่บางแสน จ.ชลบุรี ประกอบด้วย จำนวน ส.ส.จะมีเท่าไร จะให้คง ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่ จะให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้สมัคร ส.ส. คู่สมรสและบุตร หรือไม่ การห้ามคู่สมรสและธิดา และ บุตรของ ส.ส.ลงสมัคร ส.ว. จะให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส. และ ส.ว.


 


นายสมคิด ยังได้กล่าวถึงตารางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า ในวันที่ 6-9 เม.ย. ประชุมรายมาตรา วันที่ 10 เม.ย.อภิปรายและลงมติ ในประเด็นที่สำคัญหรือมีการสงวนไว้ (บางแสน) วันที่ 11 เม.ย. สรุปร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่บางแสน วันที่ 17 เม.ย. ดูร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับครั้งสุดท้าย วันที่ 18 เม.ย.ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้หนังสือพิมพ์เพื่อพิมพ์เผยแพร่ 5 วัน ติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.เป็นต้นไป วันที่ 19 เม.ย.มอบร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 23-24 เม.ย.การประชุมนอกรอบกับสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณารายหมวด


 


เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า วันที่ 26 เม.ย.แจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญไปยังประชาชน และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ วันที่ 27 เม.ย. -26 พ.ค. ส.ส.ร.แปรญัตติ กรรมาธิการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนและองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งในกทม.และต่างจังหวัด วันที่ 27 พ.ค. -10 มิ.ย.กรรมาธิการพิจารณาประเด็นการแปรญัตติและความเห็นต่างๆ พร้อมแก้ร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 11 มิ.ย.ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 19 มิ.ย.เริ่มพิจารณาหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้ง ฉบับ วันที่ 20 มิ.ย.-11 ก.ค. พิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ วันที่ 16 ก.ค.ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 19 หรือ 26 ส.ค.ทำประชามติ วันที่ 16 ธ.ค.เลือกตั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net