Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 3 เมษายน 2550 ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุมสมัชชาประมงพื้นบ้านภาคใต้เรื่อง "ปฏิรูปทะเลไทย คือ ปฏิรูปการเมือง" เพื่อผลักดันแนวการทางแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้าน ในประเด็นสิทธิและอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อรวบรวมข้อเสนอในระดับนโยบายพร้อมรูปธรรมของปัญหา นำเสนอต่อสังคม และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจาก 13 จังหวัดภาคใต้กว่า 500 คน เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้แบ่งการแระชุมออกเป็นกลุ่มย่อยรวม 6 กลุ่ม


 


นายสะมะแอ เจะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้  นำเสนอผลของกลุ่มสิทธิชุมชนชาวประมงพื้นบ้านว่า รัฐต้องเลิกใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการกำหนดชีวิตของประชาชน รัฐต้องยอมรับสิทธิและอำนาจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ โดยไม่อ้างเสียงข้างมากเพื่อบังคับ กดขี่ให้ชาวบ้านต้องเสียสละเพื่อประเทศ


 


นายสะมะแอ เสนอต่อไปว่า ทางกลุ่มเสนอให้ยุติและยกเลิกการพัฒนาใดๆ ที่ส่งผลกระทบหรือคุกคามต่อพื้นที่ ทรัพยากร และวิถีชีวิตของชุมชน ความเสมอภาคและความเท่าเทียม จะต้องได้รับการส่งเสริมและคุ้มครอง จะต้องยอมรับกระบวนการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชน ต้องรับรองสิทธิในการเข้าถึง การใช้ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่ต้องทำให้สิทธิชุมชนกินได้ การผลักดันสิทธิชุมชนเข้าไปในรัฐธรรมนูญ เป็นการสร้างเงื่อนไข ไม่ให้กฎหมาย เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองสิทธิชุมชน


 


นายเสรี ต้นวิชา กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง นำเสนอผลการของกลุ่มเครื่องมือประมงทำลายล้างว่า ต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งยังล้าหลังอยู่ แม้มีการปรับแก้มาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่เอื้อกับชาวประมงพื้นบ้าน กฎหมายฉบับนี้จะต้องรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร โดยต้องสนับสนุนทั้งงบประมาณและข้อมูลทางด้านวิชาการ ในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าชุมชน รัฐต้องไม่จัดการเองทั้งหมด แต่เสนอให้มีการจัดทำแผนการจัดการป่าไม้แบบใหม่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนด


                                            


นายเสรี เสนอต่อไปว่า กลุ่มเสนอให้กำหนดเขตพื้นที่ประมงชายฝั่งด้านฝั่งทะเลอันดามัน 3,000 เมตร โดยวัดจากเกาะที่อยู่ห่างชายฝั่งมากที่สุดออกไป ส่วนฝั่งอ่าวไทยกำหนดจากชายฝั่งออกไป 5,000 เมตร เสนอให้กำหนดโควตาการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงให้สอดคล้องกับปริมาณสัตว์น้ำ และเสนอให้สำรวจข้อมูลเครื่องมือทำลายสูง


 


นายเกษม บุญยา จากชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เสนอผลการประชุมกลุ่มกฎหมายและนโยบายว่า กลุ่มเสนอให้องค์กรภาคประชาชน ภาคเอกชน เป็นผู้ฟ้องร้องรัฐในคดีสิ่งแวดล้อม โดยตั้งศาลพิเศษเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมารองรับ พร้อมกับเสนอให้นำที่ดินที่มีผู้ครอบครองเกิดกว่า 200 ไร่ มาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และให้เพิกถอนเอกสารสิทธ์ที่ออกโดยมิชอบ ขอให้รับรองสิทธิชุมชนประมงพื้นบ้าน ที่ตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐ เช่น ที่ดินของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เพราะบางแห่งตั้งมาก่อนประกาศเป็นที่ดินของรัฐ


 


นางสุภาภรณ์ พรรณราย จากสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา นำเสนอผลการประชุมของกลุ่มโครงการพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ว่า ทางกลุ่มเห็นว่ารัฐธรรมนูญจะต้องปกป้องและรักษาชุมชน พร้อมกับเสนอให้นำเจ้าของโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมาลงโทษ เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลา เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบมาก แต่ไม่มีใครรับผิดชอบ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังเสนอให้ใช้มิติทางศาสนาในการจัดการทรัพยากร ขณะเดียวกันให้ชุมชนจัดทำธรรมนูญของชุมชน รวมกลุ่มดูแลตัวเองให้ชัดเจน ไม่ต้องหวังพึ่งคนอื่น


 


นางละม้าย มานะการ กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ นำเสนอผลการประชุมของกลุ่มธรรมชาติที่เปลี่ยนไปว่า ทางกลุ่มเสนอให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดำเนินโครงการต่างๆ รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการหาข้อมูลทางวิชาการด้วย โครงการใดที่ไม่ผ่านกระบวนการตัดสินใจของชุมชน แล้วส่งผลกระทบต่อพื้นที่ รัฐต้องรับผิดชอบ


ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่ดินป่าไม้ อุทยาน มีข้อเสนอให้มีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น บัญญัติให้มีการรับรองโฉนดชุมชน ให้มีการจัดการที่ดินอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย มีมาตรการปฏิรูปที่ดิน โดยเฉพาะการกระจายการถือครองที่ดินและการเก็บภาษี


 


นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอทางนโยบายด้วยว่า ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุกขั้นตอนและทุกระดับ เร่งรัดควรให้มีการรับรองออกเอกสารสิทธิ์ให้กับชุมชน ยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีตประเพณีศาสนาที่แตกต่าง


 


ส่วนข้อเสนอในระดับพื้นที่ได้แก่ กลุ่มชาวบ้านทับยาง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เสนอให้ในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของนายทุนที่ออกโดยมิชอบ ตามมติของคณะกรรมการชุดพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ชาวบ้านเกาะมุกด์ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เสนอให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการกันแนวเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยร่วมกับอุทยานแห่งชาติ ให้มีกฎระเบียบในการใช้พื้นที่โดยชุมชนมีส่วนร่วม, ชาวบ้านราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เสนอให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินและให้ยกเลิกคำสั่งการจำกัดเขตพื้นที่ทำกินของชาวเล, ชาวบ้านเกาะไผ่ จังหวัดกระบี่ เสนอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อพวกตนด้วยความเป็นธรรม และต้องการการรับรองสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ร่วมกัน


 


นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้ประมวลข้อเสนอทั้งหมดว่า ปัญหาของกลุ่มประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต และยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับมีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่รีบแก้ไขจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะใกล้จะถึงจุดเดือดแล้ว เมื่อชาวประมงพื้นบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก จนไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรตามมา ส่วนข้อเสนอมีหลายระดับ ตั้งแต่การผลักดันเรื่องสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย การกระจายอำนาจให้ชุมชน ชุมชนมีสิทธิกำหนดวิถีชีวิต การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนดำรงอยู่ได้


 


จากนั้น เวลา 15.30 น. ผุ้เข้าร่วมสัมมนาทั้งหมดได้ร่วมกันเดินรณรงค์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปยังหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ เพื่อร่วมฟังการอภิปรายประเด็นข้อเสนอต่างๆ สำหรับข้อเสนอทั้งหมด จะมีการรวบรวมนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อผลักดันให้มีการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net