ชาญวิทย์อาสาล่าชื่อ เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "ไทย" เป็น "สยาม"

ประชาไท - 3 เม.ย. 2550 วันนี้ (2 เม.ย.) นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งจดหมายอีเล็คทรอนิกส์ หัวข้อเรื่อง Siam not Thailand ระบุส่งถึง กัลยาณมิตร และสื่อมวลชน เรื่อง ขอให้ลงชื่อเรียกร้องให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2550 โดยใช้ชื่อประเทศว่า "สยาม" แทน "ไทย" (Siam not Thailand) เพื่อให้สอดคล้องกับ "ความเป็นจริง" ทางเชื้อชาติ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม และตรงตาม "ข้อมูล" ทางประวัติศาสตร์ เขาจึงเห็นเป็นการสมควรที่จะให้ใช้นามประเทศในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นี้ว่า "สยาม" และ Siam สืบไป ทั้งนี้เพื่อ "หลักการณ์ของความสมานฉันท์ การยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม และประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน"

 

โดยในตอนท้ายของจดหมาย นายชาญวิทย์ ระบุว่า หากผู้ใดเห็นชอบด้วยขอให้ส่งความเห็น หรือรวบรวมความเห็น รายชื่อ หมู่คณะเสนอโดยตรงต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ส.ส.ร. พรรคการเมืองและองค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือจะเสนอผ่านมายังเขาเพื่อรวมรวมส่งอีกครั้งหนึ่งก็แล้วแต่จะเห็นควร

 

 


เรื่อง ขอให้ลงชื่อเรียกร้องให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2550 โดยใช้นามประเทศว่า "สยาม" แทน "ไทย" (Siam not Thailand)

 

เรียน กัลยาณมิตร และสื่อมวลชน

 

(1) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" และจาก Siam เป็น Thailand

 

(2) รัฐบาลสมัยนั้นให้เหตุผลทาง "เชื้อชาตินิยม" ว่า "รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมให้ใช้ชื่อประเทศ ให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชน"

 

(3) เหตุผลที่รัฐบาลในสมัยนั้น ยกขึ้นมาอ้างว่าด้วยเชื้อชาตินั้น ไม่ถูกต้องตาม "ความเป็นจริง" และ "ข้อมูล" ทางประวัติศาสตร์

 

(4) ประชาชนที่ประกอบกันขึ้นเป็นพลเมืองของประเทศของเรานั้น มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม มีทั้งไทย ลาว มอญ เขมร กูย แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทใหญ่ ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่ง (ชาติต่างๆ) แขก (ชาติต่างๆ) ฯลฯ ฯลฯ

 

(5) รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ก็ใช้นามประเทศว่า "สยาม" และในการร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้ง ก็ได้มีการอภิปรายในประเด็นที่จะเปลี่ยนนามประเทศเป็น "สยาม" อีก เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และฉบับ 2511 เป็นต้น

 

(6) ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับ "ความเป็นจริง" ทางเชื้อชาติ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม และตรงตาม "ข้อมูล" ทางประวัติศาสตร์ จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะให้ใช้นามประเทศในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นี้ว่า "สยาม" และ Siam สืบไปทั้งนี้เพื่อ "หลักการณ์ของความสมานฉันท์ การยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษาและอัตลักษณ์วัฒนธรรม และประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน" เช่นเรา

 

(7) หากท่านเห็นชอบด้วยขอให้ส่งความเห็น หรือรวบรวมความเห็น รายชื่อ หมู่คณะของท่านเสนอโดยตรงต่อ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ส.ส.ร. พรรคการเมืองและองค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือจะเสนอผ่านมายังข้าพเจ้า เพื่อรวมรวมส่งอีกครั้งหนึ่งก็แล้วแต่จะเห็นควร

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

Charnvit Kasetsiri, Ph.D.

Senior Adviser and Lecturer

Southeast Asian Studies Program

Thammasat University

Bangkok 10200, Thailand

 

Secretary
Social Sciences and Humanities Textbook Foundation
413/38 Arun-Amarin Road
Bangkok 10700, Thailand
e-mail: charnvitkasetsiri@yahoo.com
h-pages: http://textbooksproject.com/HOME.html,

http://www.tu.ac.th/org/arts/seas;
662-424-5768, fax. 662-433-8713

 

ลงชื่อที่

http://www.petitiononline.com/siam2007/petition.html

 






Siam, not Thailand

 

คำชี้แจงและบรรยาย เรื่องนามประเทศ "สยาม" เพิ่มเติม
(1) การที่รัฐบาลเมื่อสมัย พ.ศ. 2482 หรือ 68 ปีมาแล้ว ใช้มติ ครม. ประกาศ "รัฐนิยม" เปลี่ยนนามประเทศ จาก "สยาม" เป็น "ไทย" และจาก Siam เป็น Thailand นั้น ไม่ถูกต้องตาม "ความเป็นจริง" ทาง "เชื้อชาติ" และ "ข้อมูล"ทางประวัติศาสตร์ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

(2) ดังที่ได้ชี้แจงไว้แล้วว่า ผู้คนที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชาชนของประเทศของเรานั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม มีทั้งไทย ลาวคนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ ม้งเย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่ง(ชาติต่างๆ) แขก (ชาติต่างๆ) ลูกครึ่ง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ


(3) ลองสำรวจดูซิ ในบรรดาผู้คนที่อยู่แวดล้อมเรา ณ บัดเดี๋ยวเวลานี้ วินาทีนี้ มีกี่ "เชื้อชาติ/ภาษา" มีกี่เชื้อสาย


(4) คำว่า "สยาม" เป็นคำเก่าแก่มากๆ เก่ากว่าคำว่ากรุงสุโขทัย คำว่า "สยาม" เป็นคำที่ใช้เรียกดินแดนประเทศของเรามากว่า 1 พันปี จีนออกเสียงว่า "เสียน" เขมรออกเสียงว่า "เสียม" มอญออกเสียงว่า "เซม"
ฝรั่งอังกฤษ/อเมริกันออกเสียงว่า "ไซแอม" ฯลฯ

(5) ส่วนคำว่า "ไทย" หรือ "ไท" ก็เป็นคำเก่าแก่เช่นกัน แต่มักจะใช้เรียก "ผู้คน" ที่พูดภาษาในตระกูล "ไทย-ไท" และคน "ไทย-ไท"ๆๆๆนี้ ก็อยู่รวมปะปนกับชนเชื้อชาติอื่นๆมาหลายร้อยหลายพันปีแล้ว

(6) สำหรับบรรดาอาณาจักรโบราณ กับกษัตริย์ในสมัยอดีต ก็มักเรียกชื่อดินแดนของพระองค์ ตามนามของเมืองหลวง เช่นเรียกว่า กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์หาได้นิยมใช้คำว่า "สยาม" เป็นนามอาณาจักรไม่

(7) แต่คำว่า "สยาม" ซึ่งแพร่หลายเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก จะถูกนำมาใช้เป็นนามประเทศของเราอย่างเป็นทางการ ก็สมัยรัชกาลที่ 4ถึงรัชกาลที่ 8 นี้เองครับ คือระหว่าง พ.ศ. 2394 (อันเป็นปีแรกของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของ ร. 4) จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2482อันเป็นปีที่ 5 ในรัชกาลที่ 8 รวมเป็นระยะเวลาที่ใช้นามว่า "สยาม"อย่างเป็นทางการ 88 ปี ครับ

(8) พอถึงปี 2482 รัฐบาลสมัยนั้น ก็เปลี่ยนนามเป็น "ประเทศไทย" และThailand โดยใช้มติ ครม. และประกาศเป็น "รัฐนิยม" แล้วก็ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา 68 ปี ครับ นับว่าสั้นมากๆๆ เมื่อเทียบกับการใช้ในสมัยโบราณกว่า 1 พันปี กับการใช้ในสมัย ร.4 ถึง ร. 8 (ประเทศไทยหรือ Thaialnd มีอายุแก่กว่าผมเพียง 2 เท่านั้น ไม่น่าเชื่อเลยว่าประเทศของเราด"เยาว์วัย" เหมือนกับ "เพิ่งเกิดใหม่" )

(9) รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีขึ้นภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ใช้นามประเทศว่า "สยาม" และในการร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้ง แม้ว่านาม "สยาม" จะถูกยกเลิกไป ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็เคยอภิปรายในประเด็นที่จะเปลี่ยนนามประเทศเป็น "สยาม" อีก เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และฉบับ 2511 เป็นต้น

(10) ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นี้ จะกลับไปใช้นามว่า "สยาม" ก็จะเป็นการกลับบ้านคืนรัง ที่ดูจะเป็นสิริมงคลยิ่ง

(11) และดังนั้นอีกเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับ "ความเป็นจริงและความถูกต้อง" ทางเชื้อชาติ ภาษา และอัตลักษณ์วัฒนธรรม และตรงตาม "ข้อมูล" ทางประวัติศาสตร์ จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะให้ใช้นามประเทศในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 นี้ว่า "สยาม" ในภาษาไทย และ Siam ในภาษาอังกฤษสืบไป

 

(12) ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ "หลักการณ์ของความสมานฉันท์ การยอมรับในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และอัตลักษณ์วัฒนธรรมและประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน"

 

จึงขอบรรยายมาเพียงเท่านี้ ครับ
และก็ขอให้ช่วยกันรณณรงค์ให้นามประเทศของเราเป็น "สยาม" และ Siam
ด้วยการเข้าไปในเว็บ http://www.petitiononline.com/siam2007/petition.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท