บทความ: JTEPA สิทธิบัตรจุลชีพ กับม้าโทรจัน (ตอนที่ 2)

นันทน อินทนนท์

มหาวิทยาลัยสต๊อกโฮล์ม

 

 

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้เห็นว่า จุลชีพที่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาในการตีความว่าเข้าเงื่อนไขในการขอรับสิทธิบัตรหรือไม่ ไม่ใช่จุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือจุลชีพที่มีการพัฒนามาจากจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น จุลชีพที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically modified microorganism) ทั้งนี้ เพราะว่าจุลชีพประเภทแรกนั้นย่อมไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้อย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นแค่เพียงการค้นพบ (discovery) ไม่ใช่การประดิษฐ์ (invention) ส่วนจุลชีพประเภทหลังนั้น ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกย่อมผูกพันที่จะให้ความคุ้มครองจุลชีพนี้อยู่แล้ว จึงยากที่ประเทศไทยจะปฏิเสธไม่ให้ความคุ้มครองได้

 

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า จุลชีพที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ แต่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติทุกประการนั้น จะถือเป็นผลิตภัณฑ์ของธรรมชาติ (product of nature) ที่ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้หรือไม่ ในประเทศที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพรุ่งเรือง จุลชีพเช่นนี้สามารถนำมาขอรับสิทธิบัตรได้ เริ่มจากสหรัฐอเมริกาที่สำนักงานสิทธิบัตรถือตามหลักที่ศาลสูงของสหรัฐวางไว้มาโดยตลอดว่า สิ่งใดก็ตามที่มนุษย์สร้างขึ้นสามารถขอรับสิทธิบัตรได้ทั้งสิ้น (anything under the sun that is made by man is patentable) กฎหมายสหรัฐฯ จึงไม่ถือว่าจุลชีพเช่นนี้เป็นผลิตภัณฑ์ของธรรมชาติ แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ (product derived from nature) ซึ่งสามารถนำไปขอรับสิทธิบัตรได้

 

การยอมรับให้มีการขอรับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติของสหรัฐ ทำให้ประเทศในยุโรปถูกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพกดดันให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยยอมรับให้มีการขอรับสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตมากขึ้น ในปี ค.. 1998 สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า Biotech Directive กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องออกกฎหมายภายในยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตที่กว้างขวางยิ่งขึ้น หลักการที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ กฎหมายของประเทศสมาชิกต้องยอมรับให้มีการออกสิทธิบัตรในสารพันธุกรรมแม้ว่าจะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็ตาม และหลักการเช่นนี้ก็ได้ถูกนำไปใช้ในกฎหมายสิทธิบัตรของประเทศญี่ปุ่นด้วย

 

ในปัจจุบัน ไม่มีความตกลงระหว่างประเทศใดๆ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายไปในทิศทางเดียวกับประเทศเหล่านั้น การตีความกฎหมายสิทธิบัตรของไทยเพื่อปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรในจุลชีพที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเช่นเดียวกับที่มีอยู่ตามธรรมชาติสามารถทำได้โดยการปฏิเสธว่า จุลชีพเหล่านี้ไม่มีความใหม่ตามเงื่อนไขของการขอรับสิทธิบัตร ด้วยเหตุว่าจุลชีพเหล่านี้มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว (state of the art) นั่นเอง

 

ร่างความตกลง JTEPA ก่อให้เกิดกระแสแห่งความไม่ไว้วางใจว่า ประเทศไทยยังจะมีสิทธิปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรจุลชีพด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ เนื่องจากตามข้อ 130 (3) ของความตกลงนี้กำหนดว่า "ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าการขอรับสิทธิบัตรใดๆ จะไม่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลอย่างเดียวว่าสาระที่ขอถือสิทธิในคำขอนั้นเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่เกิดตามธรรมชาติ"

 

ฝ่ายคณะผู้แทนการเจรจาได้พยายามที่จะนำเสนอว่า บทบัญญัติดังกล่าวนั้นเป็นเพียงพันธกรณีที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงรับกันว่าจะไม่มีการปฏิเสธไม่รับ "คำขอ" เท่านั้น ส่วนการออกสิทธิบัตรหรือไม่ยังอยู่ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรของแต่ละประเทศ และอ้างต่อไปว่า ข้อตกลงเช่นนี้มิได้เกินเลยไปจากความตกลงทริปส์ โดยมีรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยสนับสนุน

 

ผู้เขียนเห็นแตกต่างทั้งสองประเด็น ในประเด็นแรก จริงอยู่ว่าในการตรวจคำขอรับสิทธิบัตรนั้นมีกระบวนพิจารณา 2 ชั้นด้วยกันคือ ชั้นตรวจสอบคำขอ ซึ่งเรียกว่า formality examination ในชั้นนี้ ผู้ตรวจสอบจะเพียงแต่ตรวจสอบว่าคำขอนั้นมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่เท่านั้น โดยไม่ได้ทำการตรวจสอบสาระสำคัญของการประดิษฐ์ว่าเข้าเงื่อนไขที่จะขอรับสิทธิบัตรหรือไม่ ซึ่งจะทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งหลังจากมีการตรวจสอบว่าคำขอนั้นมีรายการครบถ้วนแล้ว ในชั้นนี้เรียกว่า substantive examination ตามข้อ 130 (3) ของ JTEPA เป็นการห้ามมิให้มีการปฏิเสธคำขอในชั้นของการตรวจสอบเนื้อหาสาระของการประดิษฐ์อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นการตรวจสอบข้อถือสิทธิ (claim) ว่าเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือไม่ ไม่ใช่การตรวจสอบว่ามีการระบุรายการข้อถือสิทธิไว้ในคำขอหรือไม่ การชี้แจงของคณะผู้แทนการเจรจาประเด็นนี้จึงคลาดเคลื่อนอย่างจงใจ

 

ในประเด็นที่สอง ผู้แทนคณะเจรจาอ้างว่า ความตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญามีบทบัญญัติที่ไม่ได้เกินเลยไปจากความตกลงทริปส์ โดยอ้างว่าสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว เดิมผู้เขียนคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการศึกษารายงานการวิจัยดังกล่าว แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า ความตกลง JTEPA มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาถึง 23 ข้อ แต่ละข้อมีนัยยะสำคัญทั้งสิ้น และหลายข้อเกินเลยไปกว่าความตกลงทริปส์ เช่น การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต หรือการคุ้มครองมาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงเทคโนโลยี เป็นต้น แต่รายงานการวิจัยดังกล่าวมีเนื้อหาเพียง 6 หน้าเท่านั้น และกว่าค่อนได้นำความตกลงมาแปล ส่วนบทวิเคราะห์มีเพียง 2 หน้าเศษ ซึ่งมีความอ่อนด้อยทางวิชาการมาก และไม่ได้กล่าวถึงสิทธิบัตรจุลชีพแม้แต่น้อย จนไม่อาจคาดหมายได้ว่าจำเป็นต้องใช้สถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงเช่นนี้ทำการศึกษา

 

ผลกระทบสำคัญของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาก็คือ อำนาจในการตีความความตกลงนี้จะไม่ได้ตกอยู่กับภาครัฐหรือศาลไทยต่อไป ทรัพย์สินทางปัญญาถูกเชื่อมโยงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน นักลงทุนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐไทยได้โดยตรง การระงับข้อพิพาทจะต้องดำเนินการภายใต้อนุสัญญา ICSID หรืออนุสัญญาของ UNCITRAL ซึ่งไม่อาจอุทธรณ์ต่อศาลในประเทศได้อีก หลักการเช่นนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลงจัดตั้งองค์การการค้าโลก แต่บทวิเคราะห์เช่นนี้ไม่ปรากฏในรายงานดังกล่าวแม้แต่น้อย และคณะเจรจาก็ไม่เคยนำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อสาธารณะ

 

ผู้เขียนไม่ได้นำเสนอว่า หลักการต่างๆ เหล่านี้เหมาะสมหรือไม่ แต่ผู้เขียนไม่เชื่อว่าภาครัฐสามารถทำการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยไม่มีการหารือกับสาธารณะก่อน ข้อเขียนนี้เพียงชี้ให้เห็นว่า ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีส่วนช่วยให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความรอบคอบยิ่งขึ้น ไม่ว่ามันจะผิดหรือถูกก็ตาม

 

ท่านเจ้าของประเทศครับ ในเวลาอันจำกัด ไม่มีใครศึกษาความตกลงนี้ได้ทั้งหมดหรอกครับ แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อได้ก็คือ ยังมีม้าโทรจันอีกหลายตัวกำลังบุกดินแดนแห่งสุวรรณภูมิ

 

 

00000000

บทความ : JTEPA สิทธิบัตรจุลชีพ กับม้าโทรจัน (ตอนที่ 1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท