Skip to main content
sharethis





การเมือง


 


นายกฯ เผยเตรียมยกเลิก คปค.ฉบับที่ 15 และ 27


สยามรัฐ - วานนี้ (30 มี.ค.) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีระบุวันเลือกตั้งในวันที่ 16 ธ.ค. หรือ 23 ธ.ค.50 ซึ่งชัดเจนแล้วจะมีการยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 15และ27 ว่า คงจะรอร่างรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการปรึกษาหารือกันค่อนข้างจะชัดเจนว่าเวลาที่ทางพรรคการเมืองที่มีการเตรียมการต่างๆ นั้น ได้มีการคิดกันแล้ว คิดว่าเมื่อถึงเวลาก็จะได้มีการประกาศให้พรรคการเมืองสามารถที่จะดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่


 


เมื่อถามอีกว่า จะใช้เวลานานเท่าใด นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดในส่วนนี้ แต่คิดว่าสามารถที่จะดำเนินการได้ตั้งแต่ในช่วงที่มีการเตรียมการที่จะให้มีการลงประชามติซึ่งการลงประชามติที่ได้พูดกันเมื่อวานก็เป็นประมาณเดือนก.ย. เพราะฉะนั้นจะมีเวลาพอเพราะจากเดือนก.ย.ไปถึงเดือนธ.ค. พรรคการเมืองจะได้มีการเตรียมการต่างๆ ส่วนที่จะคลายประกาศในช่วงเดือนก.ย.หรือไม่ ยังไม่ได้พูดกัน แต่ก็คิดว่าได้มีการพูดกันถึงห้วงเวลาที่พรรคการเมืองควรจะมีเวลาที่เพียงพอในการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง การหาเสียงในส่วนต่างๆ


 


เมื่อถามว่า ก่อนถึงวันเลือกตั้งอาจจะมีปัญหาในส่วนของรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ได้มีการเตรียมรัฐธรรมนูญเก่าไว้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของตน แต่ห้วงเวลาที่ดีนั้นดีพอ แต่ในเรื่องการเตรียมที่จะดูในส่วนต่างๆ ไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่โดยส่วนตัว อยากให้พวกเราได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ อยากให้นำสิ่งที่ดีดีบรรจุไว้ในนั้นแล้วก็ช่วยกันร่างฯ เพราะบางส่วนมองว่าเป็นการร่างฯที่ไม่ได้มาจากประชาชนเราเปิดตรงนี้ให้กว้างขึ้น รับฟังความคิดเห็นให้กว้างขึ้น แล้วก็ช่วยกันติ ช่วยกันชม เมื่อไปถึงตรงจุดนั้นแล้วเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่น่าจะเป็นที่ยอมรับมากกว่าที่จะเราจะไปตั้งป้อมว่าที่ร่างมานี้ไม่ดีตั้งแต่ต้น


 


ด้านพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคการเมืองอยากจะให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 15 และ 27เนื่องจากมีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ว่า ต้องประชุมกันหลายฝ่ายและคงจะหารือกันในเร็วๆ นี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว ถ้าสถานการณ์เรียบร้อยสามารถยกเลิกได้


 


พม่าย้ำชัดในการประชุม TBC ไม่ปิดด่านท่าขี้เหล็ก-แม่สายแน่


ผู้จัดการรายวัน - ไทย-พม่าประชุมคณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-พม่า ส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 51 ฝ่ายไทยแสดงความขอบคุณที่ช่วยประชาสัมพันธ์งดการเผาทุกชนิด จนสถานการณ์ปัญหาหมอกควันเบาบางลง ขณะที่พม่ายืนยันไม่ปิดด่านชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เหมือนด้านแม่สอด-เมียวดี ชี้กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่


 






ผู้จัดการการเมือง


 


ตามคาด "สุริยะใส เจิมศักดิ์ ปานเทพ" ดาหน้าถล่มม็อบพีทีวี


สื่อในเครือผู้จัดการวันนี้มีปฏิกิริยากับม็อบพีทีวีตามคาด เริ่มต้นด้วยการรายงานความเห็นของสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ใน "ครป.เย้ยม็อบ "พีทีวี" อ่อนแรง - ย้อนถามวิธีทวงอำนาจคืน" แสดงความเห็นด้วยหลังนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณเลือกตั้ง เพื่อลดความหวาดระแวงในประเด็นเรื่องสืบทอดอำนาจ เพราะการกำหนดช่วงเวลาเลือกตั้งที่ชัดเจน ทำให้การเมืองเริ่มมีระเบียบ หากรัฐบาล และ คมช.สามารถจัดทำปฏิทินคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น วันลงประชามติรัฐธรรมนูญ ช่วงเวลาตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญ และกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน จะสามารถลดความอึมครึม และลดแรงกดดันของกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของบรรดานักการเมือง และพรรคการเมือง และถ้าเป็นไปได้ คมช.และรัฐบาลควรผ่อนปรนให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองที่ไม่กระทบกับการแก้ปัญหาของประเทศได้


 


ส่วนการชุมนุมของกลุ่ม PTV นั้น เชื่อว่า จะอ่อนกำลังลง เพราะเริ่มมีหลักฐานถูกนำไปเชื่อมโยงกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งพรรคไทยรักไทยก็เรียกร้อง ว่า ให้มีการจัดการเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน และเมื่อครั้งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ บรรดาแกนนำพรรคไทยรักไทย ต่างประสานเสียงว่า ให้การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสิน หรือคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง วันนี้ เมื่อรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งแล้ว ก็อยากถามแกนนำพรรคไทยรักไทยและแกนนำผู้ชุมนุม PTV ว่า จะทวงอำนาจคืนด้วยการเลือกตั้งหรือการเดินขบวน พร้อมระบุว่า หากผู้บริหาร PTV สุจริตใจจริงว่าไม่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทยก็ต้องกล้าประกาศว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้าในนามพรรคไทยรักไทย นายสุริยะใสกล่าว


 


นอกจากนี้ หัวข้อข่าว "เจิมศักดิ์"เย้ยม็อบพีวีทีไร้เครดิต - ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปราบ" ซึ่งนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวผ่านรายการ "รู้ทันประเทศไทย" ทาง ASTV เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์พีทีวีในขณะนี้ ว่า แตกต่างจากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2549 อย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะพยายามทำให้คล้ายกัน ขณะที่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วยแกนนำ 5 คน ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนแต่มีกลุ่มประชาชนในเครือข่ายจำนวนมาก ทำให้สามารถจัดการชุมนุมยืดเยื้อได้


 


ส่วนพีทีวีนั้น นายเจิมศักดิ์ให้ความเห็นว่า "มาดูม็อบตอนนี้สิ เริ่มจากอะไร ก็จะเห็นว่าเริ่มจาก "ไข่แม้วดำ" นายจักรภพ เพ็ญแข นายจตุพร พรหมพันธุ์ คนพวกนี้ ใครก็รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ไม่น่าจะดึงคนให้มาร่วมชุมนุมยืดเยื้อยาวนานได้"


 


นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากจะดูว่าการชุมนุมครั้งนี้จะสามารถขยายมวลชนออกไปได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่นั้น ต้องดูที่ 3 ปัจจัย คือ 1.ผู้นำมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ถ้าเทียบกับการชุมนุมของพันธมิตรฯเมื่อปีที่แล้ว 2.ต้องดูว่าค่าใช้จ่ายในการชุมนุมเอามาจากไหน ซึ่งการชุมนุมของพันธมิตรฯนั้น มีค่าใช้จ่ายจากการบริจาค ซึ่งประชาชนจำนวนมากบริจาคมาจนมีเงินเหลือ และแบ่งเงินเป็น 3 กอง กองที่ 1 ให้นายพิภพ ธงไชย และสายเอ็นจีโอดูแล กองที่ 2 ให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ดูแล และกองที่ 3 พล.ต.จำลอง ศรีเมืองดูแล แต่ละกองมีการจัดทำระบบบัญชีและเปิดเผย ขณะที่การชุมนุมของพีทีวีในปีนี้ ผู้คนสงสัยกันมากว่าค่าใช้จ่ายในการจัดชุมนุมเอามาจากไหน


 


ส่วนปัจจัยที่ 3 ต้องดูว่า การชุมนุมาจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ ซึ่งการชุมนุมของพันธมิตรฯเมื่อปีที่แล้ว ได้รับคำชมว่าเป็นการชุมนุมที่เรียบร้อยที่สุดในโลก แกนนำการจัดชุมนุมคอยกำชับอยู่ตลอดว่าให้ยึดหลักสันติวิธี ห้ามใช้ความรุนแรง แต่ม็อบพีทีวีในปีนี้ เริ่มชุมนุมวันแรกก็มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่จะร่วมชุมนุมก็ต้องดูว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการชุมนุมอย่างสันติ ดังนั้น ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ การชุมนุมของพีทีวีจึงไม่น่าจะลุกลามหรือขยายวงออกไป


 


อย่างไรก็ตาม นายเจิมศักดิ์กล่าวว่า มีประเด็นที่ควรระวัง เพราะเงินจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะนำมาใช้ เพราะถึงอย่างไรสังคมไทยก็ยังเห็นแก่เงิน เท่าที่ทราบจะมีการเกณฑ์คนจากต่างจังหวัดเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งหากดูตามความเป็นจริงแล้วคนต่างจังหวัดไม่เคยรู้จักพีทีวีเลย ดาราที่จะดึงดูดก็ไม่มี อยู่ๆ จะมาร่วมชุมนุมได้อย่างไรถ้าไม่ใช่เพราะเงิน เพราะฉะนั้นความชอบธรรมในการชุมนุมยืดเยื้อของพีทีวี จึงไม่มี มองในแง่นี้จึงเห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการชุมนุม นายเจิมศักดิ์กล่าว


 


ในขณะที่ "ปานเทพ"เย้ยม็อบ"พีทีวี"ห่างชั้นพันธมิตรฯ  นำเสนอความเห็นของนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผ่านรายการยามเฝ้าแผ่นดิน ออกอากาศทางเอเอสทีวี เมื่อวันที่ 30 มี.ค. กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มพีทีวี ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า หากสังเกตจะเห็นว่า ม็อบพีทีวีจะกล่าวโจมตี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี น้อยมาก แต่ถ้าในเชิงยุทธวิธีและภาพลักษณ์ของการชุมนุมนั้น พื้นที่ลานคนเมืองสู้พื้นที่สนามหลวงไม่ได้ ไม่สามารถรองรับประชาชนได้มากเท่ากับสนามหลวง เมื่อคนเข้าไปเพียงไม่กี่คนก็เต็มพื้นที่ แต่ด้วยความที่เป็นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งชุมชน เจ้าหน้าที่ต้องมีมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย อย่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น


 


นายปานเทพ กล่าวว่า ภาพการชุมนุมของกลุ่มพีทีวีนั้น แตกต่างจากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความพยายามยั่วยุเจ้าหน้าที่ทหารที่รักษาความปลอดภัยในบริเวณนั้น เป็นพฤติกรรมที่ตนดูแล้วรู้สึกเห็นใจเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก หากนำมาเปรียบเทียบกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ มันก็คนละชั้น ยิ่งวัตถุประสงค์ของการชุมนุมยังหวังที่จะให้เกิดการปะทะ พยายามสร้างความกดดันให้กับเจ้าหน้าที่ในทุกรูปแบบ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังตั้งอยู่ในความอดทน ไม่ทำอะไรที่เสี่ยงต่อการทำให้เลือดตกยางออก


 


"เจตนาของคนที่ชุมนุมนี่แตกต่างจากการชุมนุมของพันธมิตรฯ พันธมิตรฯ ก็คือต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกไป แต่ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คือการยั่วยุ หวังว่าจะเกิดเรื่อง คือถ้าทำให้เกิดแรงปะทะ และเกิดการเปลี่ยนแปลง คือ เพียงแค่ทหารคนที่ยืนอยู่นี้อดทนไม่ได้เพียงแค่นิดเดียว ผมว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลง อาจทำให้เกิดการรุม และพูดตรงๆ ในชั่วโมงนั้น ทหารเองก็อยู่ในพื้นที่ที่ถูกล้อมโดยประชาชนคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องอดทนมาก แม้จะมีปืนอยู่ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการสงบสติอารมณ์ ต้องอดทน ผมเชื่อว่าประชาชนก็ต้องรู้สึกในทำนองเดียวกันว่าการชุมนุมอย่างนี้มีเจตนาบริสุทธิ์จริงๆ หรือไม่ หรือต้องการใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทำให้เกิดการเลือดตกยางออก หรือมีการเสียเลือดเสียเนื้อเกิดขึ้น" นายปานเทพ กล่าว


 


นอกจากนี้ก็ยังมี รายงานพิเศษ : "สนธิ-ภูมิธรรม"...บทพิสูจน์ "สู้กับทักษิณ"ต้องมี"บาดเจ็บ"? เสมือนจะเป็นบทปลอบใจตัวเองหลังถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและแกนนำคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาทนายภูมิธรรม เวชยชัยแกนนำพรรคไทยรักไทย


 


เนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวว่า ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปแล้วว่า คำพูดที่สนธิพูดถึงภูมิธรรม เป็นการหมิ่นประมาท เพราะทำให้โจทก์ถูกมองว่าไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย และไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ข้อต่อสู้ของสนธิที่บอกว่า คำพูดของตนเป็นลักษณะ "การตั้งคำถาม" ไม่ใช่ "การกล่าวหา" แต่ศาลฯ มองว่า ไม่ใช่การตั้งคำถามตามปกติทั่วไป


 


รายงานพิเศษดังกล่าว เสนอคำพูดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่กล่าวว่ายอมรับในคำพิพากษาของศาล แต่ส่วนตัวแล้วมีความสงสัยในบางประเด็น เช่น การที่ผู้พิพากษานำคำพิพากษาศาลฎีกาบางคดีมาเทียบเคียงประกอบการใช้ดุลพินิจในคดีนี้ และการพิจารณาเฉพาะคำพูดของตนและนายภูมิธรรม โดยตัดพยานฝ่ายตนออก


 


ด้านประพันธ์ คูณมี ทนายความและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็แปลกใจเช่นกันที่คดีสนธิศาลลงโทษหนักโดยไม่รอลงอาญา เพราะปกติแล้วคดีหมิ่นประมาท อย่างเก่งก็ลงโทษ"ปรับ" หากจะสั่งจำคุก ก็มักจะรอลงอาญา จึงไม่แน่ใจว่า พฤติกรรมของคดีนี้มีเหตุร้ายแรงขนาดนั้นหรือไม่?


 


ซึ่งรายงานพิเศษดังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า คงต้องติดตามคดีสนธิ-ภูมิธรรมต่อไปว่าจะจบลงอย่างไร? สำหรับ "สนธิ" แล้ว นาทีนี้ เขารู้สึกว่า คดีนี้เป็นผลพวงจากการที่เขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบทักษิณ ดังนั้นเมื่อเป็น "นักรบ" ก็ต้องไม่กลัวการบาดเจ็บ เมื่อเลือกที่จะมายืนอยู่ตรงนี้แล้ว ตนต้องยอมรับการบาดเจ็บนั้น และยังมั่นใจว่า เมื่ออุทธรณ์คดีนี้แล้ว "ความเป็นธรรม" จะต้องกลับมาหาตนอย่างแน่นอน!!


 






สังคม-คุณภาพชีวิต


 


ตั้ง "สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์" แกนนำกู้ชาติ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิแก้ปัญหาเกษตรกร


เว็บไซต์แนวหน้า - นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินเกษตรกร ว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คณะจากเดิม 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีตนเป็นประธานที่ปรึกษา ทั้งนี้จะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายอำนาจ ธีรวณิช ตัวแทนจาก สตง. เป็นต้น เพื่อจัดการข้อมูลหนี้สินที่ไม่ได้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ไม่มีหน่วยงานใดทราบว่าหนี้สินเกษตรกรที่แท้จริงมีจำนวนเท่าใด ยิ่งตรวจสอบก็จะทำให้ข้อมูลขัดแข้งกัน



นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในวันอาทิตย์ที่ 1 เม.ย. นี้ตนจะลงพื้นที่ด้วยตัวเอง โดยเริ่มต้นพบกับกลุ่มของนายประภาส โงกสูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เพื่อหารือกับคณะอนุกรรมการชุดนี้ รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรทุกเครือข่าย โดยเป็นการเปิดเวทีพูดคุยกับเกษตรกรอย่างเปิดอกและฟังปัญหาอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ถือเป็นเวทีแรกที่จะเปิดในทุก ๆภาคเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างเป็นระบบ โดยจะนำประสบการณ์สมัยแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ที่ใช้เวลา 5 ปี แก้ได้ 6 หมื่นราย โดยใช้เงินจากธนาคารออมสินกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยไม่ใช่งบประมาณจากภาครัฐ



 "เชื่อว่าในรัฐบาลชุดนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง และใน 1-2 สัปดาห์นี้ รูปแบบของการไขปัญหาก็จะชัดเจน อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งระบบให้หมดไป ยอมรับว่า ต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 10 ปี"รองนายกฯกล่าว



นายไพบูลย์ กล่าวยอมรับว่า ข้อเรียกร้องหลักของเกษตรกรที่มาชุมนุม โดยเฉพาะการให้สถาบันการเงินชะลอการยึดทรัพย์สินตามมติคณะรัฐมนตรี 16 ม.ค.นั้น มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เกษตรกรก็จะต้องเห็นใจสถาบันการเงินที่ติดขัดในเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่เป็นนิติบุคคล เพราะมีข้อบังคับ ธนาคารเขาก็จะต้องดูแลทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้าเงินฝาก ผู้ถูกดำเนินคดีก็ต้องเห็นใจ เพราะบางกรณีก็สามารถชะลอได้ แต่บางกรณีก็ไม่สามารถชะลอได้


 






ต่างประเทศ


 


กลุ่มกบฏเหมาเตรียมร่วมรัฐบาลเนปาล


เว็บไซต์กรุงเทพ : สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เนปาลกำลังจะได้รัฐบาลผสมชุดใหม่ ซึ่งจะมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล หรือกลุ่มนิยมลัทธิเหมา ร่วมนั่งเป็นรัฐมนตรี ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์


 


นายราม จรัญ มหัต รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่า พรรคการเมือง 8 พรรคกำลังหารือกันเกี่ยวกับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุป นำไปสู่การตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ มีการมองกันว่าการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญของการเมืองเนปาล โดยมีความพยายามนำกลุ่มนิยมลัทธิเหมาที่เคยก่อเหตุรุนแรงในประเทศ เข้ามามีบทบาทการเมืองมากขึ้น


 


สื่อรายงานว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงคือ ควรตั้งรองนายกรัฐมนตรี 1 คน หรือ 3 คน โดยนายกรัฐมนตรีคอยราลา สนับสนุนให้มีรองนายกรัฐมนตรี 3 คนเพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจ นอกจากนั้น เขายังกล่าวว่าการมีกลุ่มเหมาเข้าร่วมรัฐบาล จะทำให้กลุ่มเหมาเข้าสู่กระบวนการรัฐธรรมนูญ


 


คณะมนตรีฯยูเอ็นออกแถลงการณ์วิตกสถานการณ์-ไม่กดดันอิหร่าน


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ : ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์แสดงความวิตกอย่างยิ่ง กรณีอิหร่านคุมตัวทหารเรืออังกฤษ พร้อมเรียกร้องให้ทางออกโดยเร็ว แถลงการณ์ดังกล่าวไม่แข็งกร้าวเหมือนที่อังกฤษหวังไว้ว่าจะมีการตำหนิการกระทำของอิหร่านพร้อมขอให้ปล่อยตัวทหารเรือทั้งหมด เพราะรัสเซียและแอฟริกาใต้คัดค้านการใช้คำตำหนิ นอกจากนั้น รัสเซียยังคัดค้านถ้อยคำที่ว่าทหารเรืออังกฤษกำลังอยู่ในน่านน้ำอิรักในช่วงที่ถูกจับกุม


 


ด้านอัล-อาลัม สถานีโทรทัศน์ภาษาอารบิคของทางการอิหร่าน กล่าวว่าจะแพร่ภาพคำสารภาพของทหารเรืออังกฤษ 1 ในจำนวน 15 คนที่ถูกคุมตัวไว้ การเคลื่อนไหวนี้ดูเหมือนเป็นความพยายามของอิหร่านในการเดินหน้าสงครามโฆษณาชวนเชื่อ ในประเด็นที่ว่าทหารเรือถูกคุมตัวขณะอยู่ใกล้ปากแม่น้ำชัตต์ อัล-อาหรับ และละเมิดน่านน้ำอิหร่านจริง



นอกจากนี้สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของอิหร่านยังตีพิมพ์จดหมายฉบับที่ 2 ซึ่งระบุว่าเขียนโดยทหารหญิงเฟย์ เทอร์นีย์ จ่าหน้าถึงสภาอังกฤษ เรียกร้องให้ถอนทหารออกจากอิรัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net