Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 30 มี.ค. 50 ในเวทีสาธารณะเรื่อง "วิทยุโทรทัศน์สาธารณะ: แนวรบทางปัญญาของประชาชน" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ วิทยาลัยการจัดการสังคม และองค์กรภาคี มีเวทีเสวนาหัวข้อ "ปุจฉา-วิสัชนา: วิทยุโทรทัศน์สาธารณะเสริมสร้างปัญญาให้สังคมไทยได้อย่างไร?" โดยมี ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกดำเนินรายการ


  


จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตส.ว.กทม.กล่าวว่า สื่อวิทยุโทรทัศน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยผู้มีอำนาจทุกรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของรัฐบาล แต่ประโยชน์ของรัฐ อาจไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของประชาชน


 


"เราเป็นประเทศที่ไม่เปิดเสรีภาพในเรื่องสื่อวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลก ที่กองทัพเป็นเจ้าของสื่อถึงครึ่งหนึ่ง" จอนกล่าว


 


อดีตส.ว.กทม.กล่าวว่า สิ่งทีเราต้องการสร้างคือ สื่อสาธารณะที่สร้างประโยชน์ให้ประชาชน หมายความว่าเป็นสื่อที่มีส่วนร่วมของประชาชนในทุกด้าน ต้องเสนอข่าวสารรอบด้านทุกด้าน สามารถตรวจสอบผู้มีอำนาจได้โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจใดๆ ฉะนั้น วิทยุโทรทัศน์สาธาณะต้องไม่มีรัฐมนตรีคนไหนเข้ามาสั่งการได้ ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนมาขอออกอากาศได้ ไม่อยู่ในอาณัติของคนในรัฐบาล ไม่อยู่ในอาณัติของทุน อิทธิพลด้านการเงินไม่สามารถเข้ามามีอิทธิพล ไม่สามารถแบลคเมลด้วยโฆษณา นี่คือลักษณะที่เราต้องการ


 


สื่อสาธารณะต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล จากทุน แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแล ควบคุม กำกับของประชาชนโดยรวม ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ วิธีหนึ่งคือ ผ่านทางคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด


 


สื่อสาธารณะควรทำโดยมืออาชีพ แต่กรรมการควรมาจากทุกส่วน ซึ่งแน่นอน นักการเมืองก็มีสิทธิ คนทุกศาสนา นักวิชาการ สื่อที่ไม่ใช่ของบริษัทใดๆ แต่มาจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่สำคัญ ต้องมีตัวแทนองค์กรภาคประชาชนเข้าไป เช่น ตัวแทนคนพิการ ตัวแทนองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ผู้หญิง แรงงาน เกษตร ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องแทนคนจนได้ นั่นคือวิธีกำกับดูแลวิธีที่หนึ่ง


 


วิธีสอง คือ ในหลายประเทศสามารถมีสภาของคนดู เป็นระบบสะท้อนจากคนดู และกรรมการต้องรับฟังความเห็นจากคนดู


 


 


อะไรที่ไม่ใช่สื่อสาธารณะ


จอน อึ๊งภากรณ์กล่าวต่อว่า แล้วอะไร ที่ไม่ใช่สื่อสาธารณะ?


 


"หนึ่ง มันไม่ใช่สื่อคุณธรรม เพราะสื่อสาธารณะต้องเปิดให้ประชาชนตัดสินใจเองทุกด้าน ไม่สั่งสอน ไม่ยัดเยียดความคิด ไม่สอนประชาชน ไม่บอกว่าอะไรดี ร้าย เนื้อหาต้องเปิดประเด็น มีความหลากหลาย


 


สอง มันไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อของภาคประชาชน ผมได้ยินคนในภาคประชาชนบอกว่า ถ้ามีสื่อจะได้แถลงว่าเอฟทีเอมันแย่อย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือโฆษณาชวนเชื่อ สื่อสาธารณะต้องไม่บอกว่าเอฟทีเอดีหรือเลว แต่ต้องเปิดข้อมูลให้ประชาชนตัดสินใจเอง


 


สาม สื่อสาธารณะต้องไม่ใช่รายการน่าเบื่อ อย่างบีบีซีเขาให้ความสำคัญกับเรทติ้งด้วย ผลิตโดยมืออาชีพ ต้องทำให้น่าสนใจ มีบันเทิงได้แต่ต้องเป็นบันเทิงที่มีคุณภาพ ให้สาระไปในตัว"




เขากล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การเมืองเละ มีขั้วขัดแย้งเต็มไปหมด คุณภาพการศึกษาเละ ความคาดหวังที่จะให้ประชาชนเติบโตได้ อยู่ที่สื่อสาธารณะ และต้องมีหลายช่อง ฉะนั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดันวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ ที่ไม่อยู่ในอาณัติการเมืองและทุน เป็นวาระแห่งชาติที่ภาคประชาสังคมต้องขับเคลื่อนร่วมกัน


 


 


ความจริงหนึ่งในสี่ ภายใต้ยุคข้อมูลข่าวสาร


รสนา โตสิตระกูล มูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า เวลานี้เราอาจได้ยินคำว่ากลียุค แปลว่ายุคที่มีความจริงแค่หนึ่งในสี่ และน่าสนใจว่า กลียุค อยู่ในยุคเดียวกับยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Society)


 


ในการมองการเปลี่ยนผ่านยุคของคนอีกแนว มองการเปลี่ยนผ่านยุคโดยสัมพันธ์กับเรื่องสัจจะ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่การสื่อสารมวลชนต้องสื่อสารสัจจะให้สังคม ทำให้ตื่น ได้เรียนรู้ ฉลาด และสามารถมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง


 


รสนากล่าวว่า ถ้าสื่อถูกคุม ไม่ว่าโดยทุนหรือรัฐ สื่อเหล่านั้นอาสื่อสารเป็นสัจจะปลอมๆ แค่ครึ่งเดียว ดังนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจ ถ้าสังคมเกิดความรุนแรงขึ้น


 


"สื่อไม่ค่อยทำประเด็นยากๆ อย่างสถานีโทรทัศน์ไอทีวีอาจเคยจับพระสึกไปสองสามรูป แต่ไม่เคยจับนักการเมืองให้ปาราชิก ไม่กล้า "ย้อนรอย" อภิมหาคอรัปชั่นอันยิ่งใหญ่" รสนากล่าว


 


รสนาย้ำว่า การที่เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร (information Society) มันเกิดพันธะหน้าที่ (obligation) ที่สัญญากับสังคม แต่สื่อที่มองคนเป็นพลเมืองก็มีน้อยมาก แต่มักมองคนเป็นผู้บริโภค มองเงินในกระเป๋าเราเป็นกำไรของเขา


 


"สื่อก็ต้องมีพันธะผูกพัน ที่จะยกระดับสังคม ซึ่งการยกระดับสังคม คือการยกระดับด้วยสัจจะเท่านั้น เป็นการป้อนอาหารที่ดีให้สังคม"


 


 


หน้าต่างโอกาสเปิดแล้ว


นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพและกระจาย-เสียงสาธารณะ พ.ศ. .... ด้วยนั้น กล่าวว่า สื่อในสังคมไทย โดยเฉพาะโทรทัศน์ ไม่มีใครสามารถสื่อความจริงได้ เลยคิดถึงสื่อสาธารณะขึ้นมา เป็นสื่อที่พ้นจากทุนและรัฐ


 


เขากล่าวว่า กฎหมายหลายดีๆ ฉบับในอดีต เช่น กฎหมายบุหรี่ ก็ได้เกิดในสมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน (นายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้ง หลังรัฐประหารโดยรสช. - ประชาไท) และเวลานี้ หน้าต่างโอกาสเปิดอีกครั้ง


 


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผอ.วิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 40 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและกระจาย-เสียงสาธารณะ พ.ศ. .... แล้ว และรัฐมนตรีหลายกระทรวงก็เข้าใจความสำคัญของการมีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ และเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินด้วยนั้น ก็พบว่ากระทรวงการคลังก็เห็นชอบ โดยดร.สมเกียรติกล่าวว่า การมีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะนั้น ขั้นต่ำใช้เงิน 1,100 ล้านบาท และหากจะให้คุณภาพดีขึ้นหน่อยคือ ใช้เงิน 1,700 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังก็เห็นชอบ โดยอาจจะเอารายได้จากการเก็บภาษีบาปมาใช้


 


หลังจากผลักดันเรื่องกฎหมายแล้ว ก็ต้องหาสถานีโทรทัศน์ ดร.สมเกียรติกล่าวถึงทางเลือกสองทาง หนึ่งคือ หาสถานียูเอชเอฟ ซึ่งก็ต้องใช้เวลามาก สอง คือ ใช้สถานีที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ TITV ซึ่งน่าสนใจมากที่สุด และอยู่ที่รัฐบาลจะกำหนดอนาคตของ TITV อย่างไร


 


 


สมเกียรติเสนอ ดึง TITV เป็นทีวีสาธารณะ


นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงวิวาทะกรณี TITV ว่าควรจะเป็นทีวีสาธารณะ หรือทีวีเสรี โดยเขาเห็นว่า สื่อสาธารณะและสื่อเสรีมีความต่างกันมาก คือ สื่อสาธารณะเป็นอิสระทั้งจากรัฐและทุน แต่สื่อเสรีเป็นอิสระจากรัฐเท่านั้น


 


เขากล่าวว่า ถ้าสื่อไม่เป็นอิสระจากทุน จากธุรกิจ จะไม่สามารถตรวจสอบเรื่องในหลายๆ เรื่องได้ ทั้งนี้ ทุกวันนี้ ธุรกิจเกี่ยวกับการเมิองมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ ถ้าสื่อใดตั้งขึ้นมาเป็นอิสระจากรัฐแต่ไม่เป็นอิสระจากทุน ในที่สุดการแทรกแซงก็เกิดขึ้นได้ผ่านทางทุน


 


ดร.สมเกียรติกล่าวถึงสื่อที่เน้นรายได้จากโฆษณาว่า จะมองคนดูเป็นผู้บริโภค วงการโฆษณาจะใช้หลัก CPM - Cost Per Million คือ มองว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรถึงจะเข้าถึงประชาชนได้ล้านคน ก็จะต้องสำรวจเรทติ้ง โดยการสำรวจ ก็จะสำรวจเฉพาะคนที่มีกำลังซื้อ แม้ว่าคนที่ตลาดจัดกลุ่มว่าเป็นคนที่ไม่มีกำลังซื้อ ก็ต้องดูโทรทัศน์ด้วย


 


เขากล่าวว่า สื่อที่เป็นผู้เล่นรายหนึ่งในตลาด ก็รับเอาอุดมการณ์แบบตลาดเข้าไป มีทัศนะที่สะท้อนมุมมองการเงิน เช่น ถ้าบรรยากาศการประท้วงของรัฐบาลทำให้บรรยากาศการเงินไม่ดี สื่อจะเลือกเองโดยอัตโนมัติด้วยอุดมการณ์แบบตลาด ที่จะไม่เสนอข่าวประท้วงนั้น


 


ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ข้อถกเรื่อง TITV ที่ว่าให้เป็นทีวีเสรี เป็นอิสระจากรัฐ และพยายามออกแบบกลไก  คือออกแบบผังรายการให้คล้ายทีวีสาธารณะ แต่ก็จะเกิดปัญหาตามมาเหมือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้น การต้องอยู่รอดจากโฆษณา ต้องจ่ายค่าสัมทปทาน สุดท้ายแล้ว การแก้ปัญหาไม่เด็ดขาด ก็ต้องทำเป็นโทรทัศน์สาธารณะ


 


 


เอแบคโพลล์ชี้ คนกรุง 69% อยากได้ทีวีสาธารณะ


หลังจากนั้น นายนพดล กรรณิการ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม หาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนอายุ 18-60 ปี ในกรุงเทพฯ จำนวน 1,207 ตัวอย่าง พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57-64 ไม่มั่นใจว่าสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ในขณะนี้ "ไม่ถูกแทรกแซง" จากอิทธิพลผลประโยชน์ทางธุรกิจ อิทธิพลของนักการเมืองและระบบราชการ โดยร้อยละ 69 เห็นด้วยที่ไทยควรจะมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ซึ่งเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงโดยนักการเมืองและกลุ่มธุรกิจ เพื่อประชาชนจะได้รับข่าวสารที่เป็นจริง ตรงไปตรงมา


 



ส่วนรูปแบบหากมีการก่อตั้งขึ้น ก็ควรเป็นสถานีโทรทัศน์ที่รับชมได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิก (คล้ายฟรีทีวี) เน้นผลิตรายการที่มีคุณภาพสูง มีมาตรฐานการผลิตรายการโดยเน้นหลักจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมรับผิดชอบดูแลคุณภาพรายการ


 



นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.7 เห็นด้วยที่จะให้ปฏิรูปช่อง 11 ให้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ร้อยละ 57.9 ให้ปฏิรูปช่อง "ทีไอทีวี" เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ร้อยละ 35 ให้ลงทุนจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะขึ้นใหม่ สำหรับคณะผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สาธารณะ 5 อันดับแรก ได้แก่ นักวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจารย์ นักวิชาการ ผู้แทนเครือข่ายครอบครัว ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้แทนลูกจ้าง โดยหารายได้เพื่อนำมาใช้ดำเนินงาน ได้แก่ นำมาจากการเก็บภาษีสินค้าอบายมุข ภาษีสื่อบันเทิงอื่น ๆ รายได้จากการโฆษณาภาพลักษณ์องค์กรธุรกิจ รับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา และจัดสรรมาจากงบประมาณของรัฐ ตามลำดับ


ส่วนความเชื่อมั่นต่อบุคคลหรือสถาบันที่จะผลักดันให้มีสถานีโทรทัศน์สาธารณะอย่างจริงจัง พบว่า ร้อยละ 44 เชื่อมั่นในสื่อมวลชน ร้อยละ 32.9 ผู้นำความคิดในสังคม ร้อยละ 31 เชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรี ขณะที่ความเชื่อว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะสามารถจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะได้สำเร็จนั้น พบว่าร้อยละ 17.4 ระบุว่า เชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ ร้อยละ 32.5 เชื่อว่าไม่สำเร็จ ที่เหลือร้อยละ 50.1 ไม่มีความเห็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net