Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 30 มี.ค. 50 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ส่งต่อบทความดังกล่าวมาให้ประชาไท ก่อนที่จะพบว่า บทความนี้ซึ่งเขียนและเผยแพร่ในสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หายไปในคืนวันเดียวกัน


 


กรรณิการ์เล่าว่า ได้อ่านบทความนี้ครั้งแรกในวันที่ 28 มี.ค. 50 และคัดลอกบทความดังกล่าว ส่งมาให้ประชาไท นอกจากนี้ ในการเข้าพบนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ของกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ กรรณิการ์ยังได้นำบทความนี้เข้าพบนายไพบูลย์ด้วย


 


สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระบุถึงผลกระทบของการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย ญี่ปุ่นว่า รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูล สร้างระบบรองรับผลกระทบจากการเจรจา และควรเปิดการประชาพิจารณ์อย่างโปร่งใส และยังวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากการเจรจาไว้ด้วย


 


ลิงก์ที่เคยเผยแพร่บทความนี้ คือhttp://www.nia.go.th/nia/content/showsubdetail.asp?fdcode=!!!!4116212139111211&ifmid=0010008201015003%2F500112-00001 ก่อนหน้าลิงก์ดังกล่าวจะกลายเป็นหน้าว่างในคืนวันเดียวกัน


ทั้งนี้ เมื่อลองค้นหาด้วยกูเกิ้ล พิมพ์คำว่า "ผลกระทบของการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย ญี่ปุ่น"  กูเกิ้นพบบทความดังกล่าว แต่ต้องกดอ่านผ่าน "หน้าที่ถูกเก็บไว้"


 


 


 


000


 


 


ผลกระทบของการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)


โดย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ





การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (Japan -Thailand Economic Partnership Agreement :JTEPA) อาจเป็นปัญหาท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
เนื่องจากความตกลงดังกล่าวมีทั้งผลดีและผลเสีย รวมทั้งมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมกำหนดมาตรการรองรับ และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการเจรจาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มต่อต้านการเปิดเสรีการค้า

ถึงแม้ว่าประเด็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การแข่งขันในเวทีการค้าโลก จะเป็นปัจจัยกดดันให้ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำความตกลงดังกล่าวได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งรัฐบาลต้องบริหารงานในสภาวะที่ไม่ปกติและมีอายุงานเพียงประมาณ 1 ปี การเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณารับรอง JTEPA จึงอาจเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองและถูกท้วงติงจากกลุ่มที่ต่อต้านการค้าเสรีได้ ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลจึงน่าจะมีการเปิดเผยข้อมูล ควบคู่ไปกับการสร้างระบบรองรับผลกระทบ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสียหายรุนแรงตามมา

ทั้งนี้ จากการประมวลถึงผลดีและผลเสียจากกลุ่มนักวิชาการทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน JTEPA (จนถึงกลาง ม.ค.50) พอจะสรุปในเบื้องต้นได้ ดังนี้

สินค้าที่ไทยจะได้รับผลด้านบวก


1. สินค้าเกษตร และประมง
การยกเลิกภาษีทันทีจะเป็นประโยชน์ต่อสินค้าผัก-ผลไม้เมืองร้อน กุ้งแปรรูปทั้งแช่เย็นแช่แข็ง ไวน์ที่ทำจากผลไม้ แต่ต้องมีใบรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ

และผลิตภัณฑ์จากไม้และป่าไม้ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ญี่ปุ่นให้โควตาพิเศษ เช่น กล้วย เนื้อหมูและแฮมแปรรูป แป้งมันสำปะหลังดัดแปลง กากน้ำตาล และสับปะรดสด รวมทั้งมีสินค้าเกษตรของไทยบางรายการได้รับสิทธิลดภาษีมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ญี่ปุ่นได้ตกลงไว้ เช่น ปลาทูน่า ซึ่งญี่ปุ่นยอมลดภาษีให้ไทย ขณะที่ประเทศอื่นไม่ได้รับการลดภาษี

2. สินค้าอุตสาหกรรม
การยกเลิกภาษีทันทีจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์พลาสติก สารเคมีและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนรองเท้าและเครื่องหนัง จะทยอยลดภาษีใน 7-10 ปี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มน่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มพยายามเร่งรัดให้รัฐบาลลงนาม JTEPA อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่อาจถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จะมีตลาดญี่ปุ่นรองรับแทน หากถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ในอนาคต

ผลกระทบด้านลบ


1. สินค้าเกษตร
การยกเลิกภาษีทันทีจะทำให้สินค้าผลไม้เมืองหนาวของญี่ปุ่นเข้ามาตีตลาดสินค้าผลไม้ไทย อาทิ แอปเปิ้ล พีช แพร์ พรุน ลูกเบอร์รี่ มะนาวฝรั่ง ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไทยที่เดิมก็ได้รับความเดือดร้อนจากการทำ FTA ไทย-จีน ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ อยู่แล้ว และปัจจุบันยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

2. สินค้าอุตสาหกรรม
การทยอยลดภาษีให้กับสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ยกเว้นเหล็กรีดร้อนที่ยกเลิกภาษีทันที) ชิ้นส่วนยานยนต์เฉพาะที่นำเข้ามาใช้ประกอบรถยนต์ ยานยนต์ขนาดเกิน 3,000 CC ขึ้นไป ซึ่งสินค้าไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าญี่ปุ่น และอาจส่งผลกระทบต่อ SMEs ของไทย เนื่องจากเงินทุนที่ต่ำกว่า รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าญี่ปุ่นมาก



3. การบริการทางการแพทย์
การเปิดเสรีทางการแพทย์อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ เนื่องจากการอนุญาตให้คนญี่ปุ

่นมารับการรักษาพยาบาลในไทยได้ โดยสามารถเบิกจ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐได้ (เท่ากับสิทธิตามกฎหมายญี่ปุ่นที่ให้เบิกจ่ายจากกองทุนสวัสดิการฯ ได้ในอัตราร้อยละ 70) จะเป็นการสนับสนุนให้มีชาวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การไหลของแพทย์จากภาครัฐเข้าสู่ภาคเอกชน ประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลลดลง ปัญหามาตรฐานในการรักษาพยาบาลแตกต่างกัน เป็นต้น

4. ข้อกำหนดเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin : RoO) ที่กำหนดให้ใช้วัตถุดิบจากในประเทศเท่านั้น จะเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการไทย เช่น เครื่องนุ่งห่มที่ยังต้องนำเข้าวัตถุดิบบางชนิดจากต่างประเทศ เป็นต้น

5. ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสูงกว่ามาตรฐานสากล (Sanitary and Phytosanitary Standard: SPS) ดังนั้น แม้ว่าจะมีการยกเลิกภาษีแล้วก็ตาม แต่หากญี่ปุ่นยังมีความเข้มงวดในมาตรการ SPS ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้สินค้าไทยไม่สามารถเข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่นได้



6. ประเด็นขยะพิษ หากมีการระบุในข้อตกลง JTEPA เกี่ยวกับการลดภาษีนำเข้าขยะจากญี่ปุ่นทุกประเภทลงเหลือร้อยละ 0 จริง จะเป็นการเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นนำขยะสารพิษมาทิ้งในไทย แม้ว่าทั้งไทยและญี่ปุ่นจะลงนามในอนุสัญญาบาเซิลแล้ว แต่เนื่องจากช่องโหว่ของอนุสัญญาบาเซิลที่อนุญาตให้ส่งออกขยะพิษเพื่อการรีไซเคิลได้ ประกอบกับเคยปรากฏกระแสข่าวว่าญี่ปุ่นพยายามผลักดันให้มีการตั้งศูนย์รีไซเคิลในไทย จึงอาจทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งมลพิษ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชนอย่างรุนแรง

แม้ว่าภาครัฐจะพยายามสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะด้วยการทำประชาพิจารณ์ เมื่อ 22 ธ.ค. 49 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะประเด็นหลักที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการทำ JTEPA คือ การที่ภาครัฐไม่เปิดเผยร่างความตกลงฉบับสมบูรณ์ (text) ต่อสาธารณะส่งผลให้ภาคเอกชนเกิดความหวาดระ

แวง/สงสัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ว่ามีข้อบทใดบ้างที่เป็นประโยชน์ หรืออาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยภายหลังการลงนาม โดยเฉพาะกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดเสรีการค้ามาโดยตลอด

ในระยะที่ผ่านมา ความพยายามจัดทำข้อตกลงดังกล่าวเผชิญการคัดอย่างรุนแรง เห็นได้จากการเจรจาเปิดเสรีการค้าไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 6 เมื่อต้น ม.ค.49 ที่ จ.เชียงใหม่ มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 10,000 คน จากกลุ่มเครือข่ายคัดค้าน 10 องค์กร เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สมัชชาคนจน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เครือข่ายป่าไม้ที่ดิน 4 ภาค เป็นต้น ดังนั้น หากภาครัฐพยายามผลักดัน JTEPA จึงอาจเผชิญการต่อต้านเช่นเดียวกัน ซึ่งคงจะไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้ ทั้งนี้ ช่องทางที่รัฐบาลน่าจะพิจารณาดำเนินการ คือ การเปิดเผยร่างข้อตกลงทั้งฉบับต่อสาธารณะ และการทำประชาพิจารณ์อย่างโปร่งใส รวมทั้งการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบก่อนที่จะมีการลงนามใน JTEPA

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net