กมธ.เสนอโยกย้าย "ทหาร" ผ่านมติ "สภากลาโหม"

ประชาไท - 30 มี.ค. 2550 ที่รัฐสภา วันที่ 29 มี.ค. มีการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน โดยมีวาระในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราต่อจากการประชุมวานนี้ โดยหมวดที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหยิบขึ้นมาพิจารณาในช่วงเช้าและมีความน่าสนใจประกอบด้วยส่วนที่ 2 แนวนโยบายด้านความมั่นคงแห่งรัฐในมาตรา 75 ฝ่ายเลขานุการจัดทำร่างระบุใจความสำคัญว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช ละบูรณภาพแห่งอาณาเขต และต้องจัดให้มีกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อรักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์ของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

 

นายนุรักษ์ มาประณีต กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เขาอยากให้มีให้เติมใน ตอนท้ายของมาตรานี้ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารให้เป็นไปตามมติของสภากลาโหม เนื่องจากที่ผ่านมา ฝ่ายทหารที่รักษาความมั่นคงของรัฐได้ถูกแทรกแซงอย่างมากในการแต่งตั้งผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านมาจะมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง

 

"ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ทำให้ระบบของทางทหารเรรวนไป โดยบางท่านที่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น ผบ.ทบ. หรือ ผบ.ทหารสูงสุดไม่ผ่านหน่วยรบมาเลย จะมาบัญชาการรบได้อย่างไร จากที่การแต่งตั้งโยกย้ายวิ่งเต้น ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ไปตามอาวุโส ทำให้ระบบความมั่นคงอ่อนแอ แทนที่ทหารจะไปมุ่งป้องกันประเทศชาติก็ไปมุ่งแต่วิ่งเข้าหานักการเมือง เพื่อจะได้ยศได้ตำแหน่ง สภากลาโหมมีอยู่แล้วแต่ไม่เข้มแข็ง จึงอยากให้บัญญัติไว้เพื่อให้เป็นมติของสภากลาโหมโดยที่นักการเมืองแทรกแซงไม่ได้ ระบบของสามเหล่าทัพก็จะเป็นไปตามครรลอง ตามอาวุโส สายบังคับบัญชาที่ถูกต้อง ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างที่ผ่านมา ไปรบกับประเทศข้างเคียงยังแพ้เลย ดังนั้นจึงเห็นว่าให้ทหารจัดของเขาเอง" กรรมาธิการยกร่างฯกล่าว

 

อย่างไรก็ตามมีสมาชิกจำนวนมากเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายนุรักษ์ โดยให้เหตุผลคล้ายกัน แต่ก็ยังมีสมาชิกบางส่วนเห็นว่าควรรวมเรื่ององค์กรตรวจสอบต่าง ๆ เช่นศาลและข้าราชการพลเรือนด้วย

ทั้งนี้นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในประเด็นนี้ต้องพิจารณาในหลักการให้ดี เพราะอำนาจอธิปไตยมีสามอำนาจ ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตุลาการก็ต้องดำรงตนเป็นอิสระ ทหารหรือข้าราชการพลเรือนขึ้นกับฝ่ายบริหารที่มีนายกรัฐมนตรีบริหาร ดังนั้นถ้าให้สภากลาโหมพิจารณาเสร็จแล้วเบ็ดเสร็จเด็ดขาดฝ่ายบริหารทำอะไรไม่ได้เลย จะเชื่อมโยงกับประชาชนกับอำนาจทั้งหลายอย่างไร

 

"เราไปมองว่านายกฯไม่ดีชอบแทรกแซง แต่ถ้านายกฯ ดี เขาต้องมีอำนาจกำหนดว่าใครจะเป็น ผบ.เหล่าทัพ และเราเขียนไม่ได้ว่า ให้สภากลาโหมอนุมัติเฉพาะทหารเท่านั้น แต่ถ้าเขียนโดยรวมว่าห้ามฝ่ายบริหารแทรกแซงฝ่ายประจำน่าจะหาที่เขียนได้ ในหมวดจริยธรรมก็เขียนอยู่แล้วว่าในการคัดเลือกคนเข้าสู่ฝ่ายบริหารต้องคำนึงถึงความเหมาสม" เลขานุการกมธ.ยกร่างฯกล่าว

 

นายธงทอง จันทรางศุ โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า จริงอยู่ว่าในอดีตเราพบสเป็คไม่น่าพึงพอใจที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองแทรกแซง ล้วงลูกระดับปฏิบัติการ เราจึงเหวี่ยงลูกตุ้มของเราไปข้างหนึ่ง พยายามออกแบบให้ให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายได้เลย แต่ประเด็นคือ สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งขึ้นมา ความเป็นข้าราชการประจำจะแข็งแกร่งมาก สุดท้ายแล้วอำนาจข้าราชการเมืองทำอะไรไม่ได้เลย แต่หาคำตอบไม่ได้ว่า ถ้าข้าราชการการเมืองสามารถจะไม่ดีได้ ในความโลกแห่งความเป็นจริงบางโอกาส ข้าราชการประจำก็อาจไม่ดีได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการออกแบบตรงนี้ต้องระมัดระวังและสร้างดุลยภาพที่เหมาะสม

 

ด้านนายอัชพร จารุจินดากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและเจ้ากรมพระธรรมนูญกล่าวว่า ยอมรับว่าการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทหารระดับชั้นนายพลในอดีตถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ก็เห็นด้วยว่าควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการนายพล ว่าให้เป็นไปตามมติของสภากลาโหมหรือเป็นแนวทางอื่นในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยน่าจะนำไปบรรจุไว้ในหมวดอื่นไม่ใช่หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่เป็นภาพรวมของประเทศ โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดของนายอัชพร

 

ขณะที่นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมาธิการยกร่างฯ เสนอว่า ควรแก้ไขข้อความที่เดิมใช้คำว่า "อาณาเขต" เป็น "ราชอาณาจักร" เพราะเป็นคำที่ยอมรับโดยสากล สำหรับประเทศไทยไปตราคำว่า ราชอาณาจักร ไว้ในประมวลรัษฎากรเพราะต้องการเก็บภาษีจากฐานเจาะน้ำมันทางทะเลห่างจากเขตประเทศไทย 200 ไมล์ทะเล เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติอำนาจการเดินเรือ อำนาจการควบคุม อำนาจทางทหาร จึงจำกัดอยู่เฉพาะแค่นั้น แต่หากเราแก้เป็นคำว่า ราชอาณาจักร ที่นอกจากหมายถึงอาณาเขตแล้ว ยังคลอบคลุมไปถึงความตกลงระหว่างประเทศ อาทิเช่น วงโคจรดาวเทียม เรื่องเขตเศรษฐกิจ รวมถึงไหล่ทวีป ที่เดิมจับตั้งไม่ได้ แต่เวลานี้จับต้องได้แล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามที่นายเดชอุดม เสนอ โดยให้เปลี่ยนคำว่า "อาณาเขต" เป็น "ราชอาณาจักร"

 

ต่อมาเป็นการพิจารณาในส่วนที่ 3 เรื่องแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยประเด็นที่สมาชิกพูดถกกันมากที่สุดคือมาตรา 76 วรรค (2) ที่ระบุว่า รัฐต้องจัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่นให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศ และการสนับสนุนให้จังหวัดเป็นหน่วยงานในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ(3)ที่ระบุว่ารัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลและการเงินการคลังและรัฐต้องพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น

 

โดยนายไพโรจน์ พรหมสาส์น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องการกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณและการเพิ่มอำนาจนั้น รัฐจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการกำกับดูแลและตรวจสอบ เพราะหากเราต้องการให้ท้องถิ่นเป็นส่วนที่เสริมให้การบริหาราชการแผ่นดินเราจะต้องกำหนดขอบเขตและโครงสร้างของการปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านว่าจะแบ่งหน้าที่กันให้ชัเจนอย่างไรให้ชัดเจนและตรวจสอบได้ เพราะเมื่อหน้าที่ชัดเจนการแบ่งงานและการจัดสรรงบประมาณก็จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ซึ่งความเห็นที่เขาได้นำเสนอในที่ประชุมเป็นการเสนอปรับโครงสร้างที่ยังไม่ได้ข้อยุติชัดเจนเช่น ยกฐานะอบต.ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีความพร้อมเป็นเทศบาล และให้ อบจ. กำหนดทิศทางการบริหารงานในระดับจังหวัด ซึงแผนงานก็ต้องนำไปปรึกษาให้เชื่อมต่อกันว่าจะทำอย่างไร ซึ่งก็เป็นเพียงความคิดเห็นของเขาที่ยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ถกเถียงกันใน(9) รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมืองและแผนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและจัดทำมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และพนักงานหรือลูกจ้างอื่นของรัฐ รวมทั้งติดตามสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามแผนและมาตรฐานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตุว่าการพิจารณาในส่วนที่ 4 เรื่องแนวนโยบายด้านศาสนาสังคมการศึกษาและวัฒนธรรมในมาตรา 77 ได้ระบุว่า รัฐต้องให้ความอุปถัมน์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นและต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนารวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงการบุจุศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติแต่อย่างใด โดยในมาตรานี้ผ่านไปได้อย่างง่ายดาย

 

ขณะที่การพิจารณาในส่วนที่ 5 ที่ว่าด้วยแนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรมโดยในมาตรา 79 (1) ระบุว่า รัฐต้องจัดให้มีองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฏหมายที่มีความเป็นอิสระเพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาทบทวนความเหมาะสมและจำเป็นของกฏหมายในความรับผิดชอบโดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย

 

โดยนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายที่ฝ่ายเลขานุการจัดทำขึ้น จะเป็นองค์กรวิชาชีพการช่วยรัฐจัดทำกฏหมายที่มีการบังคับอยู่ให้เป็นระบบ และหากหน่วยงานใดต้องการให้คณะกรรมการชุดนี้ผลักดันกฏหมายในเรื่องใดก็สามารถเสนอเรื่องเข้ามาที่กรรมาธิการชุดนี้ได้ และจะทำให้การแก้ไขกฏหมายที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

 

นายวิชากล่าวว่า เราไม่คุ้นเคยกับการปฏิรูปกฎหมายประเทศที่เป็นแม่บทมีมาเป็นระยะเวลานาน อย่างของสหรัฐเมริกามีหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยดูแลเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเราคือหน้าที่ของสำนักงานกฤษฏีกา แต่ต่างประเทศจะมีหน่วยงานที่เป็น Law Reform Committee ขึ้นมาช่วยพิจารณาในเรื่องกฎหมาย โดยใช้คนทำงานไม่มากและไม่มีที่ตั้งของหน่วยงานแบบชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้น่าจะได้ย้ายไปพิจารณาในหมวดรัฐสภา เนื่องจากจะสอดคล้องกับการนำเสนอชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมาย หรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้งองค์กรตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิรูปกฎหมาย แต่เขาห่วงเรื่องความเป็นกลางเป็นอิสระ หากต้องการให้หน่วยงานแบบนี้เกิดขึ้นจริงรัฐก็ต้องทำให้หน่วยงานที่จะเกิดขึ้นมีความเป็นอิสระ

 

ทั้งนี้ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการของคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย แต่เห็นควรให้ย้ายไปพิจารณาใส่ไว้ในหมวดรัฐสภา เพื่อวางรูปแบบของคณะกรรมการขึ้นมาให้ชัดว่าจะเป็นหน่วยงานรูปแบบไหนอย่างไร

 

ส่วนอีกประเด็นที่ได้มีการพูดถึงกันคือ(4) ที่ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายตามควรแก่กรณีและมิให้ปฏิเสธความยุติธรรมตามที่ประชาชนร้องขอ

 

นายวิชากล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมตลอดเพราะขนาดการยื่นเรื่องร้องเรียนประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องไปยื่นทีไหนอย่างไรรัฐจะต้องจัดให้ว่าจะไปร้องที่ไหนอย่างไร ได้บ้าง หลายกรณีที่รัฐไปยื่นเรืองกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และผู้ตรวจฯก็ปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจในการจัดการของ พอไปร้องกรรมการสิทธิมนุษยชน กรรมาการสิทธิมนุษยชนก็บอกว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตนเอง

 

"ดังนั้นกระบวนการจัดการก็ต้องให้ช่วยบุคคลที่ด้อยโอกาส ต้องมีคนจัดให้ทั่วถึง เรื่องการดูแลและปฏิบัติให้เป็นธรรมเช่นประชาชนจาดำ ๆ จะมาร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเอง ดังนั้นเรื่องนี้ต้องจัดทำให้ทั่วถึงให้ผู้ยากไร้ไม่ใช่ผู้อยากไร้" กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าว

นางสดศรีกล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายเห็นด้วยกับวิชาเช่นค่าทนาย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาล และค่าใช้จ่ายในกาประกันตัวของจำเลยที่ยากไร้และยากจน รัฐจึงน่าจะมีกองทุนที่นำเงินภาษีประชาชนมาจัดสรรให้เพื่อประชาชนเป็นการตั้งค่าใช้จ่ายของจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท