Skip to main content
sharethis

บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ


โครงการบูรณาการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ


 


เหลียวหลัง ... รัฐบาลทักษิณ


           


นโยบายรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่แถลงต่อรัฐสภาทั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 และวันที่ 23 มีนาคม 2548 มีความชัดเจนว่า "จะขยายขอบเขตสวัสดิการด้านแรงงาน / การประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ"


           


สำนักงานประกันสังคมวางแผนเตรียมขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อปลายปี 2548 และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศว่าจะเริ่มดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนโดยสมัครใจ วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถ้าบัญญัติกฎหมายรองรับได้ทันเรียบร้อย แต่มีปัญหายุบสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 กระแสต่อต้านขับไล่ทักษิณอย่างต่อเนื่อง การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ไม่เรียบร้อยจนกระทั่งศาลสั่งให้เป็นโมฆะ แนวทางการดำเนินงานประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ จึงกลายเป็นหมันเพราะไม่มีโอกาสเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งเกิดรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลทักษิณ เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549


           


แรงงานนอกระบบ คือใคร ? ประสบปัญหาอะไร ?


           


คนจำนวนมากเข้าใจว่า แรงงานนอกระบบคือแรงงานเถื่อน เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือเป็นแรงงานที่ทำงานในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลไม่ยอมรับ ไม่รับรอง


           


สำนักงานประกันสังคม ได้กำหนดความหมายของแรงงานนอกระบบ เพื่อใช้เป็นแนวทางการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ หมายถึงผู้ที่มีการทำงาน มีรายได้ และไม่อยู่ในความคุ้มครองของพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ


 


1. กลุ่มที่มีการทำงานหรือรับจ้าง และมีรายได้ เช่นผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับจ้างทำงานบ้าน ลูกจ้างภาคเกษตรตามฤดูกาล ฯลฯ


           


2. ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีลูกจ้าง เช่น คนขับรถรับจ้างทั้งที่เป็นรถของตนเอง หรือรถเช่า หาบเร่แผงลอย ผู้ทำการเกษตรที่เป็นที่ดินของตนเองหรือเช่า ช่างตัดผม ช่างเสริมสวย เป็นต้น


           


ผลการสำรวจความต้องการประกันสังคม พ.ศ. 2546 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีแรงงานนอกระบบจำนวน 24.9 ล้านคน มีอายุระหว่าง 15-59 ปี จำนวน 23 ล้านคน และมีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.9 ล้านคน ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) พบว่า แรงงานนอกระบบที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจนมีจำนวน 7.5 ล้านคน


           


แรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิแรงงานพื้นฐานหลายประการ กล่าวคือ มีงานทำไม่มั่นคงไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมเป็นประจำ บางคนต้องประสบความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน โดยผู้ส่งงาน /ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดชอบไม่สามารถรวมตัวต่อรองได้เหมือนลูกจ้างในโรงงาน เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคม และบริการจำเป็นอื่นๆ ฯลฯ โดยได้รับบริการสาธารณสุขตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ไม่ครอบคลุมการป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานอย่างชัดเจน รวมทั้งหลักประกันเงินทดแทนการขาดรายได้ระหว่างเจ็บป่วย เป็นต้น


           


แรงงานในระบบเศรษฐกิจตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมี กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคมครอบคลุมในปัจจุบัน มีเฉพาะกลุ่มลูกจ้างประมาณ 8 ล้านคนเท่านั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์กระทรวงแรงงานหลายสมัย จึงเห็นความจำเป็นต้องขยายความคุ้มครองไปสู่กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีกว่า 20 ล้านคน มิเช่นนั้นกระทรวงแรงงานก็จะกลายเป็นกระทรวงเพื่อลูกจ้าง (ไม่ใช่เพื่อแรงงานส่วนใหญ่) และกฎหมายประกันสังคม ก็จะไม่ใช่กฎหมายหลักประกันเพื่อแรงงานทั้งสังคม แต่เป็นประกันเฉพาะแรงงานที่เป็นลูกจ้างบางส่วนเท่านั้น


 


แลหน้า... ประกันสังคมภายใต้รัฐบาลขิงแก่


           


การบริหารแรงงานยุคนายอภัย จันทนจุลกะ คงต้องแสดงฝีมือให้ประจักษ์ คือตรวจสอบโครงการจำนวนมากที่บอร์ดประกันสังคม เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนก่อนอนุมัติสั่งการให้ดำเนินงานโดยใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมเพื่อความโปร่งใส ประหยัด มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมตามหลักการ 4 ป. ที่ท่านนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้แนวทางไว้


           


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งดูแลกิจการประกันสังคม ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะดำเนินการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบต่อไปหรือไม่?อย่างไร? ในขณะที่คณะอนุกรรมการเตรียมการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคม ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 มีการทบทวนหลักการใหม่ โดยเสนอให้ดำเนินการในรูปแบบบังคับ เพื่อจะสามารถตรวจสอบจำนวนแรงงานนอกระบบ จัดทำฐานข้อมูล วางแผนดำเนินการระยะยาวได้อย่างต่อเนื่อง และป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากกองทุนได้


           


แนวทางที่อนุกรรมการฯมีการขยายการทบทวนใหม่ มีข้อสรุปเบื้องต้น คือ การขยายความคุ้มครองในระบบบังคับเป็นรายกลุ่มอาชีพตั้งแต่ปี 2551 โดยเริ่มต้นกับกลุ่มอาชีพที่มีความชัดเจนในเรื่องหลักแหล่ง รายได้ และความสนใจเข้าสู่ระบบ เน้นกลุ่มขับรถรับจ้าง มัคคุเทศก์ บริการในสถานบันเทิง นวดเพื่อสุขภาพ พนักงานขายตรง และผู้ขายสินค้าแผงลอยที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกองทุนต่างหากแยกออกจากกองทุนประกันสังคมปัจจุบัน อัตราเงินสมทบ เพื่อประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (ประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย) ไม่เกินร้อยละ 4.5 ของรายได้ โดยจะมีการศึกษากำหนดรายได้เฉลี่ยแต่ละกลุ่มอาชีพ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net