แอมเนสตี้ ฯ ห่วงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดกั้นการชุมนุม เตือน "ขี่ช้างจับตั๊กแตน

ประชาไท - 29 มี.ค. 50 องค์การแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ลงชื่อ นายบุญแทน  ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การ แสดงความห่วงใยกรณีรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อาจมีมาตรการคุมการชุมนุมด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพฯ มีเนื้อความว่า

 

ประการแรก แอมเนสตี้ฯ มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งสถานการณ์ความขัดแย้งที่ลุกลามขยายตัวรุนแรงใน จังหวัดชายแดนภาคใต้  ตลอดจนความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจนำพาบ้านเมืองมาสู่ภาวะวิกฤตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

ประการต่อมา แอมเนสตี้ ฯ ยังเห็นว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงของชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่มิอาจล่วงละเมิดได้ ถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดการ โดยมิให้มาตรการ หรือนโยบายดังกล่าวกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มอื่น ๆ

 

ประการที่สาม เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือความเชื่อของประชาชน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของหลักการสำคัญในสังคมประชาธิปไตย การปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นก็อาจนำมาสู่ปัญหาที่ตึงเครียด และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  รัฐบาล และ คมช. ต้องมีความเชื่อมั่นในความแตกต่าง หลากหลายทางความคิดเห็น แม้ว่าแต่ละส่วนจะมีปูมหลังทางสังคมการเมืองที่แตกต่างกัน ผลประโยชน์ทางการเมือง และธุรกิจที่แตกต่างกัน  รัฐบาลและ คมช. จะต้องใช้ความพยายาม และขันติธรรมระดับสูงในการแยกแยะ และจัดการกับปัญหาอย่างรอบคอบ

 

ประการที่สี่ แอมเนสตี้ฯ เห็นว่า การประกาศใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้ครอบคลุมพื้นที่ กรุงเทพมหานคร หรือพื้นที่อื่นใด  ย่อมไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะในเรื่องของความเชื่อมั่นของประชาชนไทยในประเทศ หรือต่อสายตาประชาคมโลก การประกาศใช้มาตรการดังกล่าวจะมีผลให้ภาพพจน์ของรัฐบาล คมช. และประเทศไทยถดถอยไปอีกมาก  ซึ่งจะส่งกระทบในทางลบ และเป็นเรื่อง ที่ไม่มีผู้ใดปรารถนา เว้นแต่ผู้ไม่หวังดีตอประเทศไทย

 

ประการที่ห้า มาตรการ "ขี่ช้างจับตั๊กแตน" ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในยามที่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตที่มีความจำเป็นยิ่งยวด ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ แต่น่าจะก่อให้เกิดปัญหา ผลกระทบติดตามมาอีกมากมาย ทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐ ฯลฯ  และที่สำคัญที่สุด ย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประชาคมโลกไม่สามารถยอมรับได้ 

 

ทั้งนี้ต้องยอมรับความเป็นจริงข้อหนึ่งว่า ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองโดยองค์กรระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งองค์การสหประชาชาติ และ รัฐภาคีสมาชิกของสหประชาชาติว่า เมื่อไรสถานการณ์ในประเทศไทยจะกลับคืนสู่ภาวะประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

 

ประการที่หก หากรัฐบาล และ คมช. เลือกใช้มาตรการประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมมีนัยว่ามาตรการปกติที่ยึดหลักการทางกฎหมาย หรือนิติธรรมนั้น ไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งจะยิ่งถูกตั้งคำถามจากสาธารณชนมากขึ้นถึงความล้มเหลว และอ่อนแอของหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านเมือง

 

ประการที่เจ็ด โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล และ คมช. เมื่อก้าวเข้ามามีภารกิจหลังการเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น ย่อมก่อให้เกิดความคาดหวังในหมู่ประชาชนไม่มากก็น้อย เป็นสิ่งที่รัฐบาล และ คมช. จะต้องพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ใจ และความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและหนักหน่วงอย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ที่กดดันในทุกทิศทาง ในสายตาของประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ระยะเวลา 6 เดือนหลังจากการเปลี่ยนแปลง อาจจะยาวนานเกินไปกว่าที่จะรอคอย ด้วยมีความคาดหวังอย่างสูงว่าปัญหาที่ประสบอยู่จะได้รับการแก้ไข  เช่น ปัญหาของประชาชนกลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ตลอดจนผู้ใช้แรงงาน คนจนเมือง กลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลภาวะ และนโยบายรัฐตลอดระยะเวลากว่า 5 - 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสมควรจะได้รับการแก้ไข ด้วยการจัดความสำคัญไว้ในอันดับต้น ๆ 

 

ประการสุดท้าย  แอมเนสตี้ฯ หวังที่จะเห็นการแก้ไขปัญหาด้วยมาตรการที่เป็นประชาธิปไตย บนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  มีความเป็นธรรม และใช้หลักการแห่งสันติวิธี  จึงขอให้รัฐบาล และ คมช. ได้โปรดทบทวนการประกาศใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการใช้กฎอัยการศึก อย่างมีสติ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง หรือทำลายหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท