Skip to main content
sharethis


บทความ : ศาสนาประจำชาติ ศาสนาทลายชาติ? [1]


โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร


 


 


เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ว่า ในบรรยากาศที่ความแตกต่างทางลัทธิความเชื่อกำลังกลายเป็นเงื่อนไขแห่งความรุนแรง ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆและยังหาทางออกไม่ได้ ผู้มีอำนาจในสังคมที่อ้างว่าจะเข้ามาช่วยสร้างสันติสุขให้ประเทศชาติ กลับกำลังผลักดันเพื่อสร้างและเพิ่มพูนเงื่อนไขความขัดแย้ง ที่ถูกนำมาอ้างเป็นเชื้อมูลก่อความรุนแรงได้อย่างง่ายดายอยู่อีก[2]


 


เรื่องการบรรจุให้ระบุศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ (state religion) ในรัฐธรรมนูญฉบับรถถังทัดดอกกุหลาบอาจจะไม่ใช่ประเด็นร้อนแรง คอขาดบาดตายมากเท่ากับประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือการนิรโทษกรรมผู้ก่อการและผู้ร่วมสังฆกรรมเข็ญรถถังออกมา


 


แต่ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นบาดลึก ฝังใจ กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงได้อีกไม่สิ้นสุด ไม่วันนี้ (ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว) ก็วันหน้า (ซึ่งอาจจะขยายวงไปยังกลุ่มอื่นๆได้อีกมาก) เนื่องจากการไม่ตระหนักดีถึงความสัมพันธ์ของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และภูมิศาสตร์การเมืองของชาติพันธุ์และศาสนา


 


หากเหลียวมองประเทศรอบโลก มีงานศึกษาโดย รอเบิร์ด ราโน นักเศรษฐศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด และ ราเชล แมกเคลียรี่ นักศาสนาเปรียบเทียบแห่งสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2547 นี้เองว่า ในจำนวน 188 ประเทศทั่วโลก มี 72 ประเทศที่ไม่มีศาสนาประจำชาติในช่วงหนึ่งร้อยปีตั้งแต่ 2543 - 2443 แต่มี 58 ประเทศที่มีศาสนาประจำชาติตลอดร้อยปี และอีก 58 ประเทศเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา[3]


 


ตามรายงานนี้ หากดูเฉพาะประเทศใกล้บ้านเรา รวมทั้งประเทศเราเอง ประเทศที่ไม่เคยมีศาสนาประจำชาติเลยได้แก่ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ พม่า และเวียดนาม ส่วนประเทศที่เคยมีแล้วเลิกไปได้แก่ อินโดนีเชีย (เคยเป็นโปรเตสแตนต์) ลาว (เคยเป็นพุทธ) และไทย (เคยเป็นพุทธ) ขณะนี้จึงมีเพียงกัมพูชา (พุทธ) มาเลเชีย (มุสลิม) และบรูไน (มุสลิม) ที่ยังคงมีศาสนาประจำชาติ


 


ในรายงานเดียวกันมีข้อสรุปจากการศึกษานโยบายศาสนาทั่วโลกที่น่าสนใจ สามารถใช้อธิบายความแตกต่างของนโยบายศาสนาในประเทศเพื่อนบ้านเราได้บ้างว่า ประการแรก ประเทศคอมมิวนิสต์โดยมากมักไม่กำหนดศาสนาประจำชาติ นั่นอธิบายกรณีเวียดนามและการยกเลิกศาสนาประจำชาติในลาวได้อย่างชัดเจน[4]


 


ประการที่สอง หากจำนวนประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาใด มักมีส่วนทำให้ประเทศนั้นเลือกศาสนานั้นเป็นศาสนาประจำชาติ กรณีมาเลเชีย บรูไน กัมพูชา และไทยกับลาวในอดีต สอดคล้องกับข้อมูลทั่วโลก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและพุทธ แต่อินโดนีเชียเป็นกรณีพิเศษ อินโดนีเชียเคยประกาศให้โปรเตสแตนต์เป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งๆที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และปัจจุบันก็เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก


 


ประการที่สาม ประเทศที่มักจะมีการแข่งขันกันของนิกายย่อยในศาสนา มักไม่มีการกำหนดศาสนาประจำชาติ สำหรับข้อเท็จจริงประการนี้อาจใช้อธิบายกรณีต่างๆในเอเชียอาคเนย์ได้ไม่ชัดนัก แต่อย่างน้อยสิงคโปร์ พม่า และฟิลิปปินส์ต่างก็มีสัดส่วนคนนับถือศาสนาต่างๆค่อนข้างหลากหลายกว่าประเทศที่กำหนดหรือเคยกำหนดให้มีศาสนาประจำชาติในภูมิภาคนี้


 


ข้อสรุปที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ รายได้ประชาชาติ ขนาดประเทศ ความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพประชาชน ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เหล่านี้ไม่ได้มีส่วนใดๆกับการมีหรือไม่มีศาสนาประจำชาติของประเทศต่างๆ ข้อสรุปหลังสุดนี้อธิบายประเทศต่างๆข้างเคียงเราได้ทั้งสิ้น กล่าวคือชี้ให้เห็นว่า การกำหนดศาสนาประจำชาติไม่ได้มีผลใดๆหรือสะท้อนอะไรในทางเศรษฐกิจหรือระบอบการเมืองการปกครอง


 


แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เงื่อนไขสำคัญของการมีหรือไม่มีศาสนาประจำชาติเป็นเงื่อนไขของการเมืองของลัทธิความเชื่อทางศาสนา[5]


 


ในกรณีของประเทศอินโดนีเชีย เห็นได้ชัดว่าอำนาจการเมืองเกี่ยวข้องโดยตรงกับลัทธิความเชื่อ เมื่อเจ้าอาณานิคมต้องการผลักดันแกมบังคับให้ประชากรหันมานับถือศาสนาคริสต์ ก็กำหนดให้ประเทศเป็นประเทศคริสต์ตั้งแต่สองศตวรรษที่แล้ว จนกระทั่งเมื่อ 30 ปีมานี้เองที่เพิ่งจะยกเลิกการมีศาสนาประจำชาติ


 


ส่วนเวียดนาม การไม่ยกศาสนาใดขึ้นเป็นศาสนาประจำชาตินอกจากจะสอดคล้องกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งของคนหลากหลายลัทธิและศาสนาในท้องถิ่นต่างๆ ตลอดจนลดโอกาสที่องค์กรศาสนาที่มีคนจำนวนมากนับถือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พุทธ และ คาทอลิก) จะเข้มแข็งจนท้าทายอำนาจรัฐ


 


สำหรับกรณีสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และแม้แต่พม่า ความหลากหลายของศาสนาซึ่งเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในประเทศทั้งสาม ทำให้ต้องถ่วงดุลอำนาจของลัทธิความเชื่อต่างๆไว้ ไม่อาจให้อำนาจนำแก่ศาสนาใดอย่างชัดเจนได้


 


ในกรณีประเทศไทยขณะนี้  แม้จะอ้างว่านอกจากศาสนาพุทธแล้ว รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้รัฐรับรอง คุ้มครอง และสนับสนุนศาสนาอื่นอย่างเป็นทางการอีก แต่การยกศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติก็เป็นการให้ "อำนาจนำ" (hegemony) แก่ศาสนาหนึ่งศาสนาใดอย่างเป็นทางการโดยเฉพาะ


 


แน่นอนว่าเราสามารถอ้างแล้วอ้างเล่าว่า ประชากรประเทศไทย "ส่วนใหญ่" นับถือศาสนาพุทธ[6] แต่การยึดเอาจำนวนเป็นสรณะโดยไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของการเมืองของศาสนา ก็กลับจะกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ผลักภาระความรุนแรงไปยังประชาชนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้อย่างง่ายดาย


 


ทั้งนี้เพราะในประเทศไทย นอกจากการเมืองของศาสนาจะผูกพันอย่างยิ่งกับการเมืองของชาติพันธุ์แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการเมืองของภูมิภาค กลุ่มชาติพันธุ์ไทส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อาศัยอยู่ทั่วประเทศ นับถือศาสนาพุทธ แต่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า ในภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์มาเลย์ที่อาศัยใกล้ปลายสุดของประเทศ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม


 


การยกอำนาจนำให้ศาสนาพุทธจึงเป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้กลุ่มชาติพันธุ์ในบางภูมิภาคเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกถึงฐานะที่ด้อยกว่า และอาจได้รับทรัพยากรสนับสนุนทางศาสนาอย่างไม่ยุติธรรม


 


ยิ่งกว่านั้น สำหรับชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆ เช่นชาวม้ง ชาวเย้า ที่อาศัยกระจัดกระจายในภาคเหนือ ชาวขมุกลุ่มเล็กๆที่อาศัยกระจัดกระจายในภาคอีสาน ตลอดจนชาวมอแกนในทะเลอันดามัน และกลุ่มชนอื่นๆอีกมากมาย กลุ่มชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาใหญ่ๆอย่างพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม แต่นับถือวิญญาณบรรพบุรุษและเทพเจ้าต่างๆ เป็นหลัก ความเชื่อของกลุ่มชนเหล่านี้แม้ไม่เคยได้รับการรับรองจากรัฐ แต่ก็ยังเป็นหลักยึดให้กับชีวิตทางจิตวิญญาณของคนและสังคม[7]


 


ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่จะให้ศาสนาต่างๆ ต้องเป็นศาสนาที่ได้รับการรับรองจากรัฐ จึงเป็นการผลักไสให้กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศมีฐานะทางวิญญาณตกต่ำลง เสียศักดิ์ศรีลง จนในที่สุดอาจต้องถูกกลืนกลายให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาใหญ่อื่นๆ


 


ลัทธิ-ศาสนาเป็นเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องคุณภาพในการดูแลและเยียวยาจิตวิญญาณผู้คนและสังคม คุณค่าของลัทธิ-ศาสนา ความอยู่รอดปลอดภัยของลัทธิ-ศาสนา จึงเป็นสิ่งที่ผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนลัทธิ-ศาสนาต้องสร้างกันขึ้นมาเองในภาคประชาสังคม ไม่ใช่ไปชิงอำนาจรัฐมาช่วยสร้าง


 


ยิ่งรัฐที่กำลังตกอยู่ในภาวะเปราะบางของการอาศัยลัทธิ-ศาสนามาเป็นเครื่องมือในการก่อการร้ายบ่อนทำลายรัฐและประชาสังคม ยิ่งไม่ควรเร่งขุดหลุมฝังตนเองลงไปในอคติลำเอียงต่อลัทธิ-ศาสนา


 


 






[1] ปรับปรุงจากที่ลงในกรุงเทพธุรกิจวันที่ 28 มีนาคม 2550 น่าสังเกตว่า กอง บก.ได้เปลี่ยนชื่อบทความเป็น "ศาสนาประจำชาติ กับอำนาจนำ"  ซึ่งไม่ผิดจากสาระสำคัญของบทความแต่อย่างใด หากแต่ส่อให้เห็นว่า ประเด็นนี้ละเอียดอ่อนจริง แต่น้อยคนก็กล้าที่จะสื่อตรงไปตรงมาอย่างที่ผู้เขียนเห็นว่า มันละเอียดอ่อนขนาดกลายเป็น "ศาสนาทลายชาติ" ได้



 


[2] นอกจากคณะกรรมาธิการการศาสนา จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว กลุ่มคนที่ผลักดันให้มีการระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างสำคัญขณะนี้คือ "ผู้นำ 7 องค์กรเพื่อพระพุทธศาสนา" คนกลุ่มนี้ออกแถลงการณ์ "ร่วมรณรงค์ให้กำหนดข้อความสำคัญในรัฐธรรมนูญ" ด้วยเหตุผลตอนหนึ่งที่ว่า "พระพุทธศาสนา...กำลังถูกคุกคามทั้งจากภัยภายในสังคมของเราเอง และภัยที่มีมาจากภายนอก" แถลงการณ์ลงนามโดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เลขาธิการองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก นายกยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดูรายละเอียดได้ใน http://www.bpct.org/index.php?option=com_content&task=view&id=472&Itemid=1



 


[3] Robert Barro and Rachel McCleary "Which countries have state religions?"  (2004) อ่านรายงานนี้ได้ ณ http://www.nber.org/papers/W10438 รายงานนี้ถือว่า หากรัฐให้ความสนับสนุนต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยพฤตินัย ก็ถือว่าเป็นรัฐที่มีศาสนาประจำชาติ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐ เป็นบัญญัติต่างๆ  หรือจะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ (p.8) หากยึดตามกรอบนี้อย่างตายตัว ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศที่โดยพฤตินัยแล้วกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติโดยตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าโดยนิตินัยจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่



 


[4] กรณีเวียดนาม ประชาชนสามารถระบุอย่างเป็นทางการได้ว่า "ไม่มีศาสนา" แต่ทั้งนี้คนเหล่านั้นอาจ (และโดยมากมักจะ) นับถือลัทธิต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิบูชาบรรพบุรุษ



 


[5] หากเราไม่มองการเมืองเป็นเรื่องแคบๆเฉพาะแค่การแข่งกันกันครองอำนาจรัฐของนักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ตลอดจนข้าราชการ ทหาร สื่อมวลชน นักวิชาการ และกลุ่มอำนาจลึกลับที่ยากจะพาดพิงถึงอื่นๆ การช่วงชิงอำนาจนำของลัทธิความเชื่อก็เป็นการเมืองเช่นกัน



 


[6] ทั้งนี้โดยมองข้ามความแตกต่างของนิกาย แนวทางที่หลากหลาย ไปจนถึงศาสนาพุทธที่อาศัยการนับถือจิตวิญญาณ เทวดา ภูติผี ผสมกับหลักธรรมของพุทธศาสนา



 


[7] อันที่จริงในภาคกลางยังมีกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือศาสนาใหญ่ๆอื่นๆ เช่นชาวลาวโซ่ง ที่อาศัยในจังหวัดเพชรบุรี นับถือ แถน ขวัญ และบรรพบุรุษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net