Skip to main content
sharethis

ขัดขืนอารยะ : ใครๆ ก็ไม่เอาสงครามอิรัก


 


วิทยากร บุญเรือง


 



 


4 ปีแล้วนะครับทุกท่าน ที่อารยะประเทศได้ "ยาตราทัพ ไสรถถัง เล่นสงครามเกมกด" ถล่มดินแดนเมโสโปเตเมียเสียย่อยยับ ด้วยข้ออ้างตรรกะง่ายๆ ที่ชนชั้นนำชอบนำมาใช้กัน เช่น "เพื่อสันติภาพ, ประชาธิปไตย, ตรวจหาอาวุธร้ายแรง, ตรวจสอบจริยธรรมของผู้นำ, สายลม, แสงแดด และ blahๆๆๆๆ" ซึ่งไม่รู้ว่าชนชั้นนำและคณะรัฐประหารของไทย เลียนแบบมารึเปล่า ;-)


 


ตอนนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าข้ออ้างอาวุธร้ายแรงนั้นมันมีไหม? ซัดดัมที่เขาว่าเป็นปีศาจร้ายน่ะก็วายชนม์ไปแล้ว ... ที่สำคัญประชาชนอิรักที่ถึงแม้ถ้าพวกเขายังอยู่ภายใต้การนำของซัดดัม เขาก็จะไม่ต้องล้มตายเช่นผักปลามากมายถึงแบบนี้! [1]


 


คนอเมริกันเองก็ไม่เอาสงครามอิรักนะครับ ตอนนี้งบประมาณในการทำสงครามอิรักพุ่งสูงมากถึง 400000 ล้านกว่าดอลลาร์ [2] และว่ากันว่าถ้าคนอเมริกันเสียภาษี 1 ดอลลาร์ ประมาณ 28 เซนต์จะถูกหักไปใช่ในงบทางการทหาร [3] ซึ่งผลสำรวจล่าสุดคนอเมริกันมากกว่าครึ่งก็บอกว่า "พวกเขาไม่ต้องการสงครามอิรัก" !!!


 


สภาคองเกรสเองก็เริ่มจะขยับตัวเคลื่อนไหวตามคำเรียกร้องของมวลมหาชน ในการผ่านมติสนับสนุนเงินก้อนใหม่สำหรับสงครามในอิรัก ก็ได้กำหนดชัดเจนให้สิ้นสุดสงครามนี้ในเดือนสิงหาคมปีหน้า --- แต่อย่าพึ่งดีใจครับ เพราะท่านบุชก็เตรียมที่จะวีโต้ญัตตินี้ทิ้งไปเสียถ้ามันไปถึงมือท่าน!


 


คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้เลวร้ายนะครับ ตอนเริ่มสงครามใหม่ๆ เราอาจเห็นว่าคนอเมริกันไม่ได้กระตือรือร้นมากนัก นั่นเป็นเพราะสื่อกระแสหลักในประเทศเล่นข่าวแบบปิดหูปิดตา สร้างม่านบังความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่อิรัก แต่เดี๋ยวนี้เนื่องด้วยการทำงานอย่างขยันขันแข็งของสื่ออิสระต่างๆ คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เริ่มที่จะเห็นทาสแท้ของฝ่ายปกครองที่สมคบคิดกับบรรษัทของชนชั้นนำ ที่ทำให้ชื่อเสียงความเป็น "อเมริกันชน" ต้องด่างพร้อย


 


ตอนนี้พวกเขาได้เริ่มลุกมาบอกประธานาธิบดีของเขาว่า "พอเกินพอแล้ว" --- อย่าเอาชื่อเสียงประเทศแห่งเสรีภาพไปย่ำยีกว่านี้เลย พ่อทูนหัวบุช! (ส่วนที่อังกฤษและฝั่งยุโรปเขาไปไกลจนถึงขั้นกดดันให้รัฐบาลถอนทหารออกมาได้บ้างแล้ว)


 


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วสหรัฐอเมริกาจึงมีการยึดท้องถนน ชูป้ายไล่บุช ให้ยุติสงครามอิรักให้เห็นกันดาษดื่น (ในภาพข่าวของสื่อกระแสหลักต่างๆ ที่ต้องตื่นตัว เนื่องจากกระแสสันติภาพมาแรงซะเหลือเกิน ) เช่นเดียวกับทั่วโลกที่การเคลื่อนไหวนี้เข้มข้นยิ่งนัก, คนตัวเล็กๆ ทั่วโลกกำลังขัดขืนอำนาจอันเลวร้ายของชนชั้นนำอยู่


 


สงครามอิรักมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติศาสนาหรือการปะทะทางอารยะธรรมใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่มันเป็นสงครามชนชั้น ... ที่ชนชั้นนำเปิดฉากโจมตีชนชั้นไร้อำนาจก่อน เพื่อขูด-รีด-ไถ-บี้-ขยี้ เราทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่แค่คนอิรักเท่านั้น! ที่เป็นเหยื่อ สงครามครั้งนี้มันยังจะมีเหยื่อทางตรงและเหยื่อทางอ้อมเพิ่มมากขึ้นอีกโข --- หากเราไม่ร่วมกันต้านทานฝ่ายปกครองและชนชั้นนำเหล่านั้น


 


ถ้าอารยะมันหมายถึงความเจริญ  ... อารยะทางด้านยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจ (ซึ่งตั้งอยู่บนหลุมศพของคนร่วมแสน),  อารยะทางตัวเลขกำไรของบรรษัทน้ำมัน บรรษัทก่อสร้าง บรรษัทอาวุธ , อารยะที่เพิ่มสถานะความมั่งคั่งให้กับคนส่วนน้อย  --- อารยะห่าเหวแบบนี้มันต้องขัดขืนกันหน่อยสิครับ!


 


ที่ไทยอาจต้อนรับรถถังด้วยดอกไม้ แต่ที่อิรักเขาต้อนรับรถถังด้วยก้อนหินและระเบิดขวดครับ


 






 


[1] ตัวเลขการเสียชีวิตของชาวอิรักจากการนับข้อมูลของสื่อสารมวลชนประมาณการไว้ 60000 คน ที่มา : http://www.iraqbodycount.org แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ประมาณการตัวเลขของประชาชนอิรักที่ต้องเสียชีวิตเนื่องด้วยผลกระทบจากนโยบายความรุนแรงที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกานำไปใช้กับประเทศอิรักไว้สูงถึงระหว่าง 420,000 - 790,000 คน ที่มา: http://www.afsc.org/eyes/dreams-and-nightmares.htm


 


[2]  ที่มา : http://costofwar.com/index.html


 


[3]  ที่มา : http://nationalpriorities.org/auxiliary/interactivetaxchart/taxchart.html


 


 


*** บทความเกี่ยวกับสงครามอิรักภาคภาษาไทยที่ขอแนะนำคือของ อุทัยวรรณ เจริญวัย "ตะวันออกกลาง uncensored"  และรวมบทความของ วิทยาลัยวันศุกร์ ***


 


 


 


0 0 0


 



การต่อสู้รอบโลกประจำวันที่ 18 - 24 มีนาคม 2550


 


ทั่วโลกรณรงค์ต่อต้านสงครามอิรัก!


 




ทั่วโลกร่วมรณรงค์ต้านสงครามอิรัก / เนื่องด้วยวาระครบรอบ 4 ปีในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2007 ที่กองกำลังพันธมิตรนำโดยกองทัพสหรัฐ ทำสงครามกระทำย่ำยีประชาชนอิรัก!


[ที่มาภาพ : REUTERS/Joshua Lott]


 


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "ผู้รักสันติภาพ" ทั่วโลกได้แสดงพลังร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามอิรัก เนื่องด้วยวาระครบรอบ 4 ปีในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2007 ที่กองกำลังพันธมิตรนำโดยกองทัพสหรัฐ ทำสงครามกระทำย่ำยีประชาชนอิรัก!


 


เอเชีย -- ญี่ปุ่น ประชาชนญี่ปุ่นกว่า 2000 เดินขบวนรณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรัก ที่กรุงโตเกียว (Tokyo) พร้อมกับรณรงค์กดดันให้นายชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกญี่ปุ่น ยุติความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเสริมสร้างกองกำลังทหารอีกครั้ง หลายคนจึงพากันตะโกนว่า "โค่นการปกครองของอาเบะ" (Overthrow the Abe regime!)


 




ชาวญี่ปุ่นกว่า 2000 เดินขบวนรณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรัก ในกรุงโตเกียว


[ที่มาภาพ: AFP/Kazuhiro Nogi]


 


ส่วนที่เกาหลีใต้ 17 มีนาคม หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้จำนวนนับพันคนออกมารวมตัวกันที่ลานหน้าสถานีรถไฟในกรุงโซล (Seoul) ร้องรำทำเพลงและชูป้ายต่อต้านสงคราม สำหรับบรรยากาศการต่อต้านสงครามในเกาหลีใต้นั้นเป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันเสาร์ ที่ 17 มี.ค. กลุ่มนักเรียน นักศึกษาจำนวนหลายพันคนหลั่งไหลมารวมตัวกันที่ลานหน้าสถานีรถไฟโซล และคึกคักขึ้นเรื่อยๆ


 


ไม่เพียงคนหนุ่มสาววัยเรียนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของการชุมนุมครั้งนี้ แต่คนเฒ่าคนแก่ หรือคนพิการที่ต้องใช้รถเข็นก็มาร่วมต่อต้านสงครามด้วยเช่นกันกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ ชูป้ายสีเขียว มีใจความว่า "ปลดปล่อย อิหร่าน อิรักและอัฟกานิสถาน ต่อต้านสงคราม" สาวๆ นักศึกษาบางคนคลุมร่างกายตัวเองด้วยผ้าสีดำตั้งแต่หัวจรดเท้า พร้อมแขวนป้ายภาพของเด็กๆ และสตรีในอิหร่าน


 


ที่ประเทศมาเลเซียกลุ่มผู้รณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรักกว่า 200 คน รวมตัวกันหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) เพื่อแสดงการต่อต้านสงครามและมีการถือแผ่นป้ายเขียนอักษรประณามการตัดสินใจของสหรัฐฯที่บุกอิรัก


 


ที่ออสเตรเลียกลุ่มผู้รณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรักกว่า 500 คนออกมาเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้รณรงค์ประท้วงยังกดดันให้ทบทวนนโยบายสงครามในอัฟกานิสถานอีกด้วย


 




ที่สเปน มีมวลชนที่ร่วมออกมารณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรัก ถึง 400000 กว่าคน


[ที่มาภาพ: Andrea Comas, Reuters]


 


ยุโรป - ที่สเปน กรุงมาดริด (Madrid) ประชาชนกว่า 400000 คนออกมาร่วมรณรงค์ประท้วงที่จตุรัสอโทชา (Atocha Square) รวมถึงหัวเมืองใหญ่อย่าง  บาร์เซโลนา (Barcelona) , เซวิลล์ (Seville) , บาเลนเซีย (Valencia) ก็มีการรณรงค์ประท้วงด้วยเช่นกัน , ที่กรุงเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ มีผู้รณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรักกว่า 6000 คนออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน รวมถึงการประท้วง ณ หน้าสถานทูตอเมริกัน ,  ตุรกี ประชาชนราว 6,000 คน ร่วมรณรงค์ประท้วงในเมืองอิสตันบุล (Istanbul) เรียกร้องให้ยุติสงครามในอิรัก โดยตุรกีเป็นอีกชาติหนึ่งที่คัดค้านการทำสงคราม รวมทั้งเมื่อปี 2546 ตุรกีได้ปฏิเสธให้กองทัพสหรัฐเข้ามาใช้พื้นที่ของตุรกีเป็นแนวรบในการโจมตีอิรัก


 


ทั้งนี้ยังมีรายงานการเคลื่อนไหวในประเทศฝั่งยุโรป เช่น ฮังการี , สวีเดน , ไซปรัส , อังกฤษ , อิตาลี และที่อื่นๆ อีกด้วย


 




ที่สหรัฐอเมริกา การเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามก็เป็นไปอย่างคึกคักเช่นเดียวกัน


[ที่มาภาพ : AP Photo/Noah Berger]


 


อเมริกา ---  ในกรุงวอชิตันดีซี (Washington, DC) ใกล้ๆ กับตึกเพนตากอน (Pentagon) อันเป็นที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ และที่หน้าทำเนียบขาว (White House) มีผู้รณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรักรวมกันกว่า 10,000 คนเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีเพื่อแสดงความไม่พอใจกับนโยบายการทำสงครามในอิรักของรัฐบาลอเมริกัน โดยมีผู้ถูกจับกุมเป็นจำนวนกว่าร้อยคนข้างทางเดินหน้าทำเนียบขาว เนื่องจากกลุ่มผู้รณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรักปฏิเสธที่จะสลายการชุมนุม


 


ในนิวยอร์ค ผู้รณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรักร้อยกว่าคน ได้ปักหลักประท้วงที่หน้าอาคารทำการของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค พร้อมด้วยตะโกนคำว่า "หยุดการทำเงิน, หยุดการทำสงคราม" (Stop the money, stop the war) 


 


เป้าหมายของผู้รณรงค์ประท้วงต่อต้านสงครามอิรักในนิวยอร์ค คือการกดดันบรรษัทอาวุธทั้งหลายที่มีส่วนได้ในการทำสงครามครั้งนี้ เช่น ล๊อคฮีท มาตินส์ ( Lockheed Martin ) , โบอิ้ง ( Boeing) , ฮัลลิเบอร์ตัน ( Halliburton ) และ จียี ( General Electric ) --- ส่วนที่ลอสแอนเจลิส มีประชาชนราว 6,000 คน ออกมาชุมนุมกันในย่านฮอลลีวูด เพื่อร่วมรณรงค์ต้านสงครามด้วยเช่นกัน


 


สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนาธิปไตยในอเมริกา ก็เข้มข้นไม่แพ้นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพกระแสหลักเช่นเดียวกัน


 


  



กลุ่มอนาธิปไตยในมิลวอกกี้โจมตีสถานที่ของกองทัพสหรัฐ


[ที่มาภาพ: http://mke.indymedia.org]


 


มิลวอกกี้,วิสคอนซิน นักเคลื่อนไหวประมาณ 30 คน ถือป้ายประท้วงที่มีข้อความว่า "NO WAR BUT CLASS WAR"  และ "IT'S ON"  พร้อมด้วยบุกเข้าโจมตีศูนย์รับสมัครทหารของกองทัพบก ถนนโอ๊คแลนด์ ใกล้กับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน วิทยาเขตมิลวอกกี้ด้วยก้อนหิน ระเบิดควัน สีสเปรย์ --- แต่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้ก็ต้องแลกกับโดนซิวไปเข้าตะรางถึง 26 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมด้วยการกระทำอย่างอันหนักหน่วง โดยในกลุ่มผู้ก่อการมีเยาวชนอายุ 13 ปีรวมอยู่ด้วย.


 




สำนักงานของ ไมค์ โรเจอร์ (Mike Rogers)


ผู้แทนจากพรรค Republican ของรัฐมิชิแกน ( Michigan ) ถูกกลุ่มอนาธิปไตยโจมตี


[ที่มาภาพ : http://www.infoshop.org]


 


แลนซิ่ง, มิชิแกน สำนักงานของ ไมค์ โรเจอร์ (Mike Rogers) ผู้แทนจากพรรค Republican ของรัฐมิชิแกนก็ถูกกลุ่มอนาธิปไตยโจมตีด้วยเช่นกัน เนื่องจากโรเจอร์เป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีบุชและนโยบายบุกอิรักอย่างออกนอกหน้า  เลยถูกโจมตีด้วยการทำลายประตูสำนักงาน ใช่สีสเปรย์พ่น และแขวนป้ายประจาร "ROGERS THERE IS BLOOD ON YOUR HANDS."  --- ส่วนตำรวจก็กำลังควาญหาตัวผู้กล้าที่ก่อการอยู่ ;-)


 


เช่นเดียวกับที่หน้าบ้านของ เวิร์น เอลเลอร์ (Vern Ehlers) ผู้แทนอีกคนหนึ่งจากพรรค Republican ของรัฐมิชิแกน กลุ่มอนาธิปไตยได้ไปเยี่ยมเยียนประณามท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติคนนี้ถึงหน้าบ้าน พร้อมของขวัญ คือป้ายต่อต้านและคำอวยพรให้เล็กๆ น้อยๆ (ชมคลิปวีดีโอได้จาก: Anti War March At Congressman Vern Ehlers House)


 


ที่นิวบรุนส์วิค, นิวเจอร์ซี่ กลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรัทเจอร์ (Rutgers University) 400 กว่าคนได้ร่วมกันวอลค์เอาท์ออกจากมหาวิทยาลัย เดินไปสู่ย่านการค้าในเมือง พร้อมกับปิดล้อมศูนย์รับสมัครนาวิกโยธินร่วมหลายชั่วโมง เพื่อทำการประท้วงแสดงความไม่พอใจในนโยบายการทำสงครามอิรัก


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :  Anti-war demonstration in Japan , Worldwide protests mark Iraq war , Iraq war protesters to march on Pentagon after 100 arrested , Protesters against Iraq war rally worldwide , Worldwide protests against Iraq war , Protests mark the fourth anniversary of the invasion of Iraq , เก็บตกจากเกาหลีใต้ : ต้านสงครามของบุชและแบลร์ , ตำรวจอเมริกันจับกุมผู้ประท้วงต้านสงครามอิรัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net