คุ้มครองเสรีภาพ "แสดงความเห็นผ่านเนต" "การรวมตัวของบุคคลทุกอาชีพ"

ประชาไท - 22 มี.ค. 2550 วานนี้ (21 มี.ค.) เวลา 13.00น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ โดยมีนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธานการประชุม โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรกำหนดเรื่องการทำบุคคลสูญหาย โดยการกระทำหรือการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำมิได้ และบุคคลที่ต้องคำพิพากษาประหารชีวิตเกินกว่าเหตุย่อมมีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษ ขอลดหย่อนผ่อนโทษ หรือการนิรโทษกรรมได้ในทุกกรณี

    

คณะอนุกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดดังกล่าว ยังเห็นควรเพิ่มการคุ้มครองเสรีภาพของบุคคล โดยเพิ่มเสรีภาพของบุคคลในการแสดง และการสื่อสารทางสื่ออิเล็คทรอนิคส์ ห้ามมิให้สั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ ห้ามทำการพิมพ์ การสั่งปิดสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ รวมถึงการสั่งห้ามการสื่อสารด้วยวิธีอื่นโดยการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ  อีกทั้งห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการ หรือครอบงำการดำเนินงานของสื่อมวลชน ทั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครอบคลุมไปถึงผู้ช่วยรัฐมนตรีและบุคคลในคณะทำงานที่รัฐตั้งขึ้น

    

นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลไม่ว่าสาขาอาชีพใดในการรวมตัวกันเพื่อมุ่งรักษาและส่งเสริมสวัสดิภาพหรือเงื่อนไขในการทำงาน โดยการกำหนดหรือใช้มาตรการใดๆ ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่มุ่งจำกัดเสรีภาพดังกล่าวนั้นถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้กำลังเพื่อระงับหรือหน่วงเหนี่ยวการนัดหยุดงานไม่ได้ เว้นแต่เป็นการคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มมาตราใหม่ เรื่องการคุ้มครองแรงงาน โดยระบุว่า "บุคคลที่ทำงานย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งมีหลักประกันในการดำรงชีพเพื่อพ้นภาวการณ์ทำงานที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" โดยคณะอนุฯ ให้เหตุผลการเพิ่มมาตราดังกล่าวว่า เพื่อคุ้มครองแรงงานที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายให้มีสิทธิเสมอกัน อาทิ คนทำงานในบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานต่างด้าว

 

ทั้งนี้ ยังมีการคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยเห็นควรให้เด็กที่เกิดมาได้รับเอกสารบันทึกการเกิด เพื่อให้มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ให้มีตัวตนและได้รับการดูแล

 

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานอนุฯ กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กโดยให้เอกสารบันทึกการเกิดว่า เอกสารนี้ไม่เกี่ยวกับการได้สัญชาติ แต่เป็นเอกสารยืนยันตัวตน เนื่องจากหากไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน เด็กจะมีปัญหาเรื่องการเข้าเรียน และการรับการรักษาพยาบาล แม้ทุกวันนี้ จะมีการแก้ปัญหาโดยให้เด็กได้รับบริการฟรีจากโรงพยาบาล แต่จะมีปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลที่จะต้องคำนวณรายหัว ดังนั้น เมื่อมีเอกสารเพื่อแสดงตน เด็กก็จะได้สิทธิอย่างสมบูรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท