Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 


 


โดย เปเป เอสโกบาร์


ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก


Pepe Escobar, "Bush Down South," (March 8, 2007), Asia Times Online: http://www.atimes.com/atimes/Front_Page/IC08Aa01.html


 


0 0 0 


 


เซาเปาลู - ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา - ที่กำลังล้มลุกคลุกฝุ่นในอิรัก, ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบ้านตัวเอง และถูกรังเกียจเดียดฉันท์ไปทั่วโลก - ตอนนี้กำลังหยุดพักหายใจและล่องลงใต้เพื่อทัวร์นกขมิ้นในห้าประเทศ คือ บราซิล, อุรุกวัย, โคลอมเบีย, กัวเตมาลาและเม็กซิโก น่าเสียดายที่เขาไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านไร่ปศุสัตว์ขนาด 617,500 ไร่ ที่ บาร์บารา บุช ลูกสาวของเขาซื้อไว้ที่ทุ่งราบกรันชาโกในปารากวัยเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว เขาน่าจะอยากแวะพักที่นั่นบ้าง


 


การต้อนรับประธานาธิบดีบุชคงไม่ใช่แบบที่ต้อนรับวงโรลลิงสโตนส์แน่ ๆ การประท้วงของมวลชนมีกำหนดนัดหมายในทุกประเทศ แม้แต่ในประเทศที่เขาไม่ได้ไปโชว์ตัวด้วยซ้ำ ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา ศัตรูคู่แค้นประจำทวีปของบุช จะกล่าวปราศรัยท่ามกลางฝูงชนแออัดยัดเยียดในกรุงบัวโนไอเรส อาจจะในสนามฟุตบอล ในขณะที่หน่วยราชการลับสหรัฐฯ ที่ป่วยเป็นโรคหวาดระแวงก็พยายามเปลี่ยนเมืองเซาเปาลูให้กลายเป็น "เขตสีเขียว" ขนาดใหญ่ (1)


 


โดยพื้นฐานแล้ว การเดินทางครั้งนี้น่าจะเป็น "ทัวร์บุชต้านชาเวซ" แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือมันกลายเป็น "ทัวร์บุชต้านอาห์มาดิเนจาด" ด้วย เดือนที่แล้ว เพื่อเสริมสัมพันธ์กับละตินอเมริกาให้แน่นแฟ้นขึ้น ประธานาธิบดีอิหร่านจึงเดินทางไปเยือนเวเนซุเอลา, เอกวาดอร์และนิคารากัว ในสายตาของฝ่ายนีโอคอน (อนุรักษ์นิยมใหม่) สามประเทศนี้บวกกับโบลิเวียที่ร่ำรวยด้วยก๊าซธรรมชาติ มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับการขนานฉายาเป็น "อักษะแห่งความชั่วร้าย" ประจำอเมริกาใต้


 


สำหรับการไปเยือนของบุช กลยุทธ์ของทำเนียบขาวและกระทรวงต่างประเทศหนีไม่พ้น "การแบ่งแยกและปกครอง" ตามสไตล์จักรวรรดินิยมอีกครั้ง Mercosur ตลาดร่วมอเมริกาใต้ที่กำลังพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบการรวมกลุ่มในภูมิภาคที่แท้จริง คงจะถูกบุชถล่มโจมตีชุดใหญ่ โดยอาศัยยุทธศาสตร์หลากหลายที่มุ่งเป้าไปที่บราซิลกับอุรุกวัย เพราะเวเนซุเอลานั้นเข้าเป็นสมาชิก Mercosur เต็มตัวเมื่อปีที่แล้ว


 


บราซิลเป็นรางวัลชิ้นใหญ่ที่ต้องยื้อแย่งมาให้ได้ ความฝันของทำเนียบขาว/กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ คือการได้สวมมงกุฎอย่างกึ่งเป็นทางการให้แก่ประธานาธิบดีลูอิซ อีนาเซียว ลูลา ดา ซิลวา ในฐานะ "นักปฏิรูปสายกลาง" ที่สามารถเป็นตัวแทนของทางเลือกอื่นในทวีปนี้นอกเหนือจากวิถีทางปฏิวัติแบบชาเวซ เพียงแต่มวลชนทั่วทั้งอเมริกาใต้ไม่ยอมตกหลุมพรางของหมากตานี้เท่านั้นเอง


 


 


โอเปกเอธานอล


ข้อเสนอของชาเวซในการรวมภูมิภาคอเมริกาใต้เข้าด้วยกัน โดยอาศัยโครงการหลาย ๆ โครงการ หนึ่งในนั้นคือ อภิโครงการ Gasoducto del Sur (Gas Pipeline of the South--ท่อส่งน้ำมันแห่งอเมริกาใต้) บุชจะต้องชิงดักทางอภิโครงการนี้ด้วยการเสนอข้อตกลงด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าน้ำมันชีวภาพ บราซิลกับสหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งการผลิตเอธานอลในโลกรวมกันถึง 70% ภาคเกษตรกรรมในสหรัฐฯ กำลังเนื้อเต้นคึกคัก แม้กระทั่งบิล เกตส์ ยังอยากลงทุนในเอธานอล ท่ามกลางปัญหาโลกร้อนและกลุ่มอาการโรคน้ำมันกับสงคราม นี่เป็นหนทางในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการชาวอเมริกันที่เลือดรักชาติขึ้นหน้าและพร้อมที่จะกอบโกยกำไรสักหลายล้านดอลลาร์ ช่วยกันคิดคำขวัญขึ้นมาเสร็จสรรพแล้วว่า "พืชผลของเรา, น้ำมันของเรา, ประเทศของเรา"


 


สำหรับการผลิตน้ำมันชีวภาพ สหรัฐอเมริกาใช้ข้าวโพด บราซิลใช้อ้อย เนื่องจากภูมิอากาศที่อ่อนโยนกว่า อ้อยของบราซิลจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าถึง 50% บราซิลมีไร่เกษตรขนาดใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา ที่ดินหลายล้านไร่อยู่ในกำมือของอภิชนกลุ่มเล็ก ๆ ทรงอำนาจ ซึ่งอยากทำธุรกิจกับทุนระดับโลกใจจะขาด และตอนนี้กำลังฝันกลางวันว่าจะส่งน้ำมันชีวภาพเข้าไปท่วมตลาดสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ สินค้าประเภทแอลกอฮอล์จากบราซิลเจอกำแพงภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อย่างหนักหน่วงถึง 54 เซนต์ต่อแกลลอน (14.27 เซนต์ต่อลิตร)


 


แม้ต้องเจอกำแพงภาษีสูงลิบขนาดนี้ ใน ค.ศ. 2006 บราซิลยังส่งออกสินค้าประเภทแอลกอฮอล์เข้าไปในสหรัฐฯ มากกว่าใน ค.ศ. 2005 ถึง 10 เท่า ไม่น่าแปลกใจเลยว่า กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่และกองทุนเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่แตกต่างจากทุนโจรครองเมืองสักเท่าไร ตอนนี้กำลังวิ่งวุ่นหาที่ดินและหุ้นส่วนเพื่อลงทุนในบราซิลกันตัวเป็นเกลียว ในบางพื้นที่ เช่น ในรัฐเซาเปาลูอันอุดมสมบูรณ์ของบราซิล การปลูกอ้อยกำลังเข้ามาแทนที่การปลูกส้มและถั่วเหลืองอย่างรวดเร็ว


 


ภายใต้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศด้านกิจการการเมืองอย่าง นิโคลาส เบิร์นส์ (Nicholas Burns) ในการประชุมเมื่อต้นเดือนที่แล้วเพื่อเตรียมการให้การไปเยือนต่างประเทศของประธานาธิบดีบุช เขาพูดไว้ตรงประเด็นมาก เขากล่าวว่าบราซิลเป็น "ประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดในอเมริกาใต้" และเสริมว่า สหรัฐอเมริกาไม่ควรพึ่งพิงน้ำมันจาก "ประเทศอย่างอิหร่านกับเวเนซุเอลา" เบิร์นส์นิยมชมชอบในความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับสูงของบราซิลในการผลิตน้ำมันชีวภาพมาก และย้ำว่าในอนาคต น้ำมันชีวภาพจะเป็น "ห่วงโซ่สำคัญที่คล้องชาวอเมริกันกับชาวบราซิลเข้าด้วยกัน"


 


เบิร์นส์ทำเป็นลืมง่าย ๆ จนไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องที่ว่า กองกำลังกึ่งทหารในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโคลอมเบีย กำลังใช้ความรุนแรงขับไล่หรือถึงขั้นสังหารผลาญชีวิตชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟริกันและชุมชนชาวนาเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่ ๆ โดยที่กองกำลังกึ่งทหารเหล่านั้นเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเอาน้ำมันปาล์มไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันชีวภาพนั่นเอง


 


ในทางทฤษฎี ทำเนียบขาวและกระทรวงต่างประเทศย่อมต้องการตั้งระบบการผลิตน้ำมันชีวภาพข้ามชาติขึ้นมาในอเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริบเบียน แต่ไม่ต้องการให้มีการรวมกันฮั้วเพื่อผลิตและขายเอธานอลเหมือนอย่างองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เพราะไม่ว่าจะตีโวหารให้สุนทรเสนาะโสตสักแค่ไหน แต่กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดในสหรัฐฯ ที่มีอิทธิพลเปี่ยมล้นย่อมวิ่งเต้นทุกวิถีทางไม่ให้ประธานาธิบดีคนไหนกล้าเปิดตลาดสหรัฐฯ แก่เอธานอลจากบราซิล


 


ดังนั้น ลูลาจะตั้งคำถาม และบุชก็จะเสไปพูดเรื่องอื่น เกรก มานูเอล ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศด้านพลังงาน พูดไว้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ไม่ว่าอย่างไร กำแพงภาษีก็จะยังคงเดิม สิ่งที่รัฐบาลบุชตั้งเป้าหมายไว้ในระยะกลางก็คือ จะใช้น้ำมันชีวภาพมาทดแทนความต้องการพลังงานของสหรัฐอเมริกาแค่ 5% เท่านั้น ดังที่อดีตเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย เตอร์กี อัล-ไฟซาล พูดไว้ตรงจุดอย่างยิ่งว่า เรื่องที่สหรัฐอเมริกาจะหาทางเป็นอิสระจากน้ำมันนั้น เป็นแค่ "นิยายทางการเมือง"


 


 


แต่ตามท้องถนนลงคะแนนเสียงกันไปแล้ว


ยุทธศาสตร์ทางการเมืองของทำเนียบขาวที่รุกลงใต้มีความซับซ้อนกว่านั้น มันหมายถึงการเปลี่ยนแนวทางใหม่ในการต่อสู้กับ "ลัทธิประชานิยมราดิกัล" อันน่าหวาดหวั่น นี่คือสายตาที่วอชิงตันมองกระแสชาตินิยม-ปฏิวัติในละตินอเมริกาที่กำลังถั่งโถมอยู่ในปัจจุบัน กลุ่มมันสมองปีกขวาของสหรัฐฯ สังเกตเห็นแล้วว่า การตั้งป้อมเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากเสียงส่วนใหญ่ของชาวละตินอเมริกา รังแต่จะทำให้บุชและสหรัฐฯ เป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ยิ่งกว่าเดิม แน่นอน ความเป็นปฏิปักษ์จะยังมีอยู่ต่อไป แต่ทำเนียบขาว/กระทรวงต่างประเทศกำลังมองหาสูตรสำเร็จใหม่ที่ "นุ่มนวลกว่าเดิม"


 


ขณะที่บุชกำลังสูญเสียความน่าเชื่อถือและจนตรอกในประเทศบ้านเกิด ไม่มีอะไรสดชื่นยิ่งกว่าการหยุดพักผ่อนโดยไปเยือนรัฐบาลบริวารปีกขวาอย่างโคลอมเบีย, เม็กซิโกและกัวเตมาลา รวมทั้งรัฐบาลซ้ายกลางจอมปลอมที่เคยก้าวหน้าแต่กลายเป็นอนุรักษ์นิยมไปแล้ว อย่างบราซิลและอุรุกวัย ผลประโยชน์ในด้านการโฆษณาชวนเชื่อยิ่งไม่อาจประเมินต่ำเกินไป การพบปะสังสรรค์ทั้งหมดนี้ย่อมถูกทำเนียบขาวเอามาปั่นเป็นข่าวอย่างไม่ยั้งมือว่า นี่แหละคือหลักฐานว่าอเมริกาใต้ "สนับสนุน" โศกนาฏรรมอิรักที่รัฐบาลบุชวิศวกรรมขึ้นมา และอาจรวมไปถึงการโจมตีอิหร่านในอนาคตด้วย


 


การแบ่งแยกและปกครองคือชื่อของหมากตานี้ ประธานาธิบดีบุชต้องหาทางสร้างข้อตกลงตัวต่อตัวกับทีละประเทศ และพยายามทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการผูกพันธมิตร/รอมชอมระหว่างรัฐบาลของประเทศทั้งห้ากับชาเวซแห่งเวเนซุเอลา, เอโว โมราเลสแห่งโบลิเวีย และราฟาเอล คอร์เรอาแห่งเอกวาดอร์


 


ดังนั้น การถล่ม Mercosur ให้แหลกเละจึงเป็นกุญแจสำคัญในยุทธศาสตร์ของวอชิงตัน ลูลาจำต้องบินด่วนไปอุรุกวัยเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เพื่อพบปะกับประธานาธิบดีทาบาเร วาสเควซ และเหนี่ยวรั้งไม่ให้อุรุกวัยละทิ้ง Mercosur แล้วหันไปลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา Mercosur มีความไม่สมมาตรอย่างเห็นได้ชัด ตรงที่ยักษ์ใหญ่อย่างบราซิลและอาร์เจนตินาไม่ยอมเปิดตลาดให้สินค้าส่งออกของอุรุกวัย ลูลาสัญญาว่า ความไม่สมมาตรนี้จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว อุรุกวัยจะยอมลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ ทว่าไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรีแบบไม่สมมาตร, เอื้ออำนวยต่อบรรษัทสหรัฐฯ หรือครอบคลุมทุกภาคส่วนเป็นแน่


 


ไม่ว่าวอชิงตันจะมีจุดประสงค์อย่างไร วัลแตร์ โพมาร์ เลขาธิการฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพรรคแรงงานบราซิล (Partido dos Trabalhadores หรือ PT ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของลูลา) ก็กำหนดท่วงทำนองไว้ล่วงหน้าแล้วว่า "บราซิลอาจเป็นสื่อกลาง [ในกรณีที่มีการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ -เวเนซุเอลาเกิดขึ้น] แต่เราจะไม่ยอมเปิดช่องให้จักรวรรดินิยมมาฉวยโอกาส อย่าคิดจะใช้บราซิลไปกดดันคิวบา, เวเนซุเอลา, โบลิเวียหรือเอกวาดอร์"


 


ไม่ว่าสหรัฐฯ จะบรรลุข้อตกลงง่าย ๆ กับอัลวาโร อูริเบ ในโคลอมเบีย และเฟลีเป คัลเดโรน ในเม็กซิโก ได้รับการต้อนรับอย่างสุภาพจากลูลาในบราซิลและวาซเควซในอุรุกวัยสักแค่ไหน ความจริงก็คือ ทั่วทุกมุมถนนในอเมริกาใต้ ชาเวซคือราชา และบุชคือ...อย่างที่ผู้นำสหภาพแรงงานบราซิลกล่าวไว้ว่า...บุชคือ "ผู้ก่อการร้าย" หมายเลขหนึ่ง


 


ลูลาและประธานาธิบดีเนสเตอร์ เคียร์ชเนอร์ แห่งอาร์เจนตินา ไม่เคยนำการปฏิรูปทางการเงินหรือการคลังมาใช้ และยังคงส่งเสริมลัทธิเสรีนิยมใหม่ตามฉันทามติวอชิงตัน ในอีกด้านหนึ่ง ความนิยมที่ประชาชนมีต่อการปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์ก็ใหญ่หลวงใช่เล่น เพราะมันมีทั้งรัฐสวัสดิการที่คำนึงถึงด้านสังคม ระบบเศรษฐกิจผสมผสานที่ตั้งอยู่บนภาครัฐที่เข้มแข็ง และระบอบประชาธิปไตยทางตรงที่แท้จริงที่วางรากฐานบนสมัชชาชุมชน


 


มวลชนทั่วทั้งอเมริกาใต้คิดเปรียบเทียบความก้าวหน้าเหล่านี้กับความล้มเหลวอย่างน่าสมเพชของลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่ในใจแล้ว อาจมีการแบ่งขั้วเลือกข้างอย่างชัดเจนเกิดขึ้น แต่นั่นหมายถึงการแบ่งขั้วระหว่างประชากรที่เป็นคนส่วนใหญ่ที่จะผนึกกำลังกับรัฐบาลในหลายประเทศ เพื่อประจันหน้ากับรัฐบาลบริวารที่เคยเป็นฝ่ายก้าวหน้าแต่สูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว ซึ่งจะผนึกกำลังกับอภิชนกลุ่มเล็ก ๆ แต่มีอิทธิพลอำนาจ พูดอย่างรวบรัดตัดความก็คือ มันลิขิตไว้แล้วว่า ความพยายามของบุชที่จะสร้างพันธมิตรต่อต้านชาเวซต้องล้มเหลวไม่เป็นท่าแน่นอน


 


 


โลกนี้มิเคยไร้คนทราม


อย่างไรก็ตาม หนทางยังขรุขระวิบากนัก นับแต่เหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ในส่วนที่เป็นความสัมพันธ์กับอเมริกาใต้ วอชิงตันสูญสิ้นการควบคุมทางอุดมการณ์ สูญเสียอำนาจทางด้านความคิด รวมทั้งความน่าเชื่อถือที่เหลืออยู่ขององค์กรที่อ้างตัวเป็นกลางอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ, ธนาคารโลก, องค์การการค้าโลกและองค์การกลุ่มประเทศทวีปอเมริกา (Organization of American States) จะมอดมลายไปด้วยก็จริง ประธานาธิบดีอิหร่านและประธานาธิบดีจีนเข้า ๆ ออก ๆ อเมริกาใต้เป็นว่าเล่นเพื่อผูกสมัครเป็นพันธมิตรใหม่ วิกฤตการณ์ของการครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่เคยเข้าขั้นตรีทูตขนาดนี้มาก่อน แต่แนวโน้มที่น่าวิตกก็ยังคงมีอยู่


 


นโยบายต่างประเทศของสเปนในละตินอเมริกาตอนนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับสหรัฐอเมริกา ทั้งวอชิงตันกับมาดริดมุ่งเน้นแนวทางแบบลัทธิอาณานิคมใหม่อย่างไม่ลืมหูลืมตา และมองละตินอเมริกาเป็นเพียงอาณาบริเวณที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติอันมั่งคั่งและตลาดขนาดใหญ่ ประชาชนจำนวนมากในละตินอเมริกายังตกอยู่ภายใต้การบังคับขับไสในระดับต่าง ๆ ทั้งการกดขี่ทางเศรษฐกิจ, การควบคุมข่าวสาร, การครอบงำทางวัฒนธรรม, การสอดส่องตรวจสอบ และแม้กระทั่ง (ในกรณีของเวเนซุเอลา) การข่มขู่ทางการทหาร


 


สำหรับศูนย์ Southern Command ของเพนตากอน (2) ละตินอเมริกาเป็นแหล่งซ่องสุมอันตรายของคนต่างด้าวนอกกฎหมาย, ชาวนาไร้ที่ดิน, นักลักลอบขนของเถื่อน, พวกหัวรุนแรง (มีใครพูดคำว่า "คอมมิวนิสต์" บ้างไหม?), ขบวนการโลกาภิวัตน์ทางเลือกใหม่, พ่อค้ายาเสพย์ติด และพวกที่เข้าข้างฝ่ายอิสลาม ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะจัดการกับ "คนชั่ว" เหล่านี้ มีทางเดียวคือ "การสร้างอิทธิพลครอบงำอย่างเต็มพิกัด"


 


ดังนั้น ตอนนี้จึงมีการทุ่มเงินถึง 2 ล้านดอลลาร์ต่อวันเพื่อเข้าไปแทรกแซงในโคลอมเบีย (โคลอมเบียเป็นเสมือนม้าโทรจันที่ต้องมีไว้ เพราะเวเนซุเอลา, โบลิเวียและเอกวาดอร์ หลุดไปจากการควบคุมของสหรัฐฯ) การจารกรรมและพยายามบ่อนทำลายความมั่นคงของเวเนซุเอลา, ฐานทัพที่เมืองมันตาในเอกวาดอร์ (ซึ่งเป็นสถานีสอดแนมที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทคมูลค่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์ โดยมีชื่อเรียกไพเราะเพราะพริ้งว่า สถานีข่าวกรองลับเพื่อความมั่นคง [Sensitive Compartmentalized Information Facility])


 


นอกจากนั้น ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดตั้งหน่วยรบมรณะอันน่าพรั่นพรึงอย่าง จอห์น เนโกรปอนเต (John Negroponte) (3) ที่เป็นมืออันดับสองรองจากคอนโดลีซซา ไรซ์ ในกระทรวงต่างประเทศ ไรซ์ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับละตินอเมริกา ดังนั้น เนโกรปอนเตคงได้เข้ามาคุมภูมิภาคนี้ในอีกไม่ช้าไม่นาน นี่อาจหมายถึงการเปิดฉากสงครามอำมหิตขึ้นมาอีกครั้งในละตินอเมริกา โดยครั้งนี้มีเป้าหมายคือ ชาเวซ, โมราเลสและคอร์เรอา


 


ประชาชนหลายล้านในอเมริกาใต้ รวมทั้งอีกหลายล้านคนทั่วโลกตระหนักดีว่า ข่าวคราวอันน่าตื่นตะลึงไม่ได้มาจากคนอย่างลูลา, วาสเควซ หรือแม้แต่เคียร์ชเนอร์ แต่มาจากคนอย่างชาเวซ, โมราเลสและคอร์เรอาต่างหาก ในโลกการเมืองปัจจุบัน อเมริกาใต้กลายเป็นภูมิภาคที่ก้าวหน้าที่สุดและให้ความหวังมากที่สุด มากยิ่งกว่าเอเชียหรือแอฟริกา เพราะอเมริกาใต้กำลังบุกเบิกเส้นทางสายใหม่ ๆ ที่แท้จริงที่แยกจากทางสายพินาศของลัทธิเสรีนิยมใหม่ แม้ว่าเส้นทางเหล่านั้นอาจดูยุ่งเหยิงรุงรัง, ไม่สมบูรณ์แบบ หรือแม้กระทั่งอุดมคติเพ้อฝัน แต่มันก็ยังน่าตื่นตาตื่นใจอยู่ดี ในขณะที่วอชิงตันที่ยืนอยู่บนยอดสูงลิบของอิทธิพลอำนาจเต็มพิกัดไร้เทียมทาน ไม่มีอะไรจะมอบให้โลกนอกจากสงคราม, ความตายและความหายนะ


 


เปเป เอสโกบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมมากคือ Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War (Nimble Books, 2007). และเป็นคอลัมนิสต์ประจำใน Asia Times Online บทความแปลชิ้นนี้ได้รับอนุญาตจาก มร.เอสโกบาร์ ผู้แปลขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย


 


 


..........................................................................


เชิงอรรถ


(1) เขตสีเขียว หรือ Green Zone บางทีเรียกกันว่า Gringo Zone หรือ Emerald City คือบริเวณรัศมี 10 กิโลเมตรในใจกลางกรุงแบกแดดของอิรัก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกองบัญชาการชั่วคราวของกองทัพพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวโจก พื้นที่นี้ถือเป็นหน้าเป็นตาที่มีความปลอดภัยในอิรัก แตกต่างจากพื้นที่สีแดงที่อยู่นอกรัศมีนี้


(2) ชื่อเต็มคือ The United States Southern Command (เรียกย่อ ๆ ว่า USSOUTHCOM หรือบางทีเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า SOUTHCOM) เป็นหน่วยบัญชาการภายใต้เพนตากอนที่รับผิดชอบกิจกรรมทางการทหารในอเมริกากลาง, อเมริกาใต้ และหมู่เกาะแคริบเบียน ยกเว้นคิวบากับเปอร์โตริโก ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ Northern Command


(3) จอห์น เนโกรปอนเต เป็นนักการทูตขวาจัดของสหรัฐอเมริกา ช่วงที่อื้อฉาวที่สุดของเขาคือระหว่าง ค.ศ. 1981-1985 ที่เขาเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำฮอนดูรัส ในช่วงนั้น เงินสนับสนุนทางการทหารที่สหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลฮอนดูรัสเพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อม ๆ กับมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทั้งโดยกองทัพฮอนดูรัสและการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารออกปฏิบัติการภัยสยองกวาดล้างประชาชนที่ต้องสงสัยว่าจะเอียงซ้าย ใน ค.ศ. 2004-2005 เนโกรปอนเตเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอิรัก หลังจากนั้นจึงมารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ


 


 


 


 







 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net