พลเมืองเหนือ : "ธเนศวร์ เจริญเมือง" วิพากษ์ เชียงใหม่...เมืองในหมอกควัน

โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

วิกฤตอากาศที่เกิดขึ้นในจ.เชียงใหม่และทั่วภาคเหนือตอนบนช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ก็คือ ผลพวงของการกระทำ 2 ระดับบนโลกใบนี้

 

ระดับที่ 1 ภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านดินฟ้าอากาศมากมายในแทบทุกประเทศของโลก เช่น หิมะขั้วโลกที่ละลายเพิ่มขึ้น เกิดพายุรุนแรง ทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินในแถบอเมริกาตอนกลาง พายุหิมะรุนแรงแถบตะวันออกเฉียงเหนือและอากาศหนาวจัด หิมะตกหนักที่ภาคตะวันตกของสหรัฐ ภัยหนาวจัดในยุโรปตอนกลางและเอเชียตะวันออก อากาศอุ่นขึ้นเร็วมากจนกระทั่งดอกซากุระในญี่ปุ่นบานก่อนฤดูกาลถึง 1 เดือนเต็ม ฯลฯ

 

ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมใหญ่หลายครั้งในเชียงใหม่และแถบเพชรบุรี-ประจวบฯ ในห้วง 2 ปีมานี้ ก็คือส่วนหนึ่งของภาวะดินฟ้าอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป

 

ระดับที่ 2 ก็คือท้องถิ่นของเราเอง นักวิชาการขององค์กรประชาชนบางส่วนในเชียงใหม่ ได้ออกมาเตือนอย่างแข็งขันในห้วง 4-5 ปีมานี้ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งขึ้นทุกขณะ จึงขอให้งดเผาป่า งดเผาใบไม้ กิ่งไม้ และขยะทั้งหลาย อาหารประเภทปิ้งย่างทั้งหลายขอให้งด ส่วนงานบันเทิง ได้แก่การจุดประทัด ปล่อยโคมไฟ จุดพลุไฟหลากสี งานเผาศพที่เผากลางแจ้ง แถมเผาปราสาท การไม่ยอมดับเครื่องรถยนต์ที่จอดอยู่ การปล่อยให้ยวดยานควันดำวิ่งต่อไป โดยทั้งหมดนี้ไม่มีการรณรงค์ให้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง         

                                                                                     

ด้วยเหตุนี้ อากาศเสียในเมืองต่างๆ จึงทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ หลายปีมานี้ ปัญหามีแต่เพิ่มขึ้น ที่แย่กว่านั้น ก็คือ หน่วยราชการหลายหน่วยกระทำผิดเสียเอง และบอกแล้วก็ไม่ยอมแก้ไข

               

ที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ หลายปีมานี้ วัดวาอารามหลายแห่ง บางคณะในมหาวิทยาลัย หลังศาลากลางจังหวัด บางกรมกองทหารบนถนน ไปแม่ริม บางวัด บาง อบต. บ้านของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านบางคน บ้านของอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน โรงเรียนบางแห่ง ฯลฯ ล้วนทำเสียเอง โทรศัพท์ไปบอกอบต. หรือเทศบาล บางทีก็ไม่มีใครรับ โทร.ไปบอกตำรวจ หลายครั้งก็ไม่ได้ผล พอมีคนรับสาย ก็จะต้องคาดคั้นขอทราบชื่อ กระทั่งขอให้ไปทำบันทึกที่หน่วยงานฯ ทันที คนที่เดือดร้อน คนที่อยากจะรายงานปัญหาให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบ กลับต้องเหน็ดเหนื่อยมากกว่าเดิม

 

แล้วใครเล่าที่อยากจะช่วยแก้ไขปัญหาของส่วนรวม      

             

และนี่ก็คือ ผลพวงหรือวิบากกรรมที่คนเชียงใหม่และชาวเหนือทุกคนได้รับร่วมกัน เราทั้งหลายเป็นผู้ก่อ แล้วเราก็ได้รับผลกรรมเหล่านั้น

 

1. บ้านเมืองเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม ภูเขาถล่ม แผ่นดินไหว พายุชายฝั่ง หรือเกิดไฟไหม้รุนแรง ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงใด ความเสียหายก็เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ภัยร้ายที่กล่าวมานั้นไม่เคยเกิดขึ้นทั่วทั้งภาค แต่นี่คือ วิกฤตอากาศ ลมร้ายพัดไปทั่วทุกหนทุกแห่ง นอกบ้าน นอกอาคาร ในบ้าน ในอาคาร ไม่มีที่ไหนละเว้นหลีกหนีได้ นอกจากอพยพหนีไปอยู่ภาคอื่น หรือไปต่างประเทศ                                                  

นี่คือ วิกฤตล่าสุดที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ทั่วทั้งจังหวัดเชียงใหม่ และทั่วทั้งภาคเหนือตอนบน ไม่มีใครเลยแม้แต่คนเดียว ในดินแดนแห่งนี้ที่หลุดรอดจากภัยดังกล่าว ทุกคนสูดควันพิษ ฝุ่นละเอียดที่มองไม่เห็นเข้าไปแล้ว ในอัตราที่แตกต่างกันไม่มากนัก คนที่อยู่ในตัวอาคารตลอดเวลา และคนที่สวมหน้ากากอนามัยอาจจะรับควันพิษ ฝุ่นละเอียดเข้าไปน้อยกว่าหน่อย

 

2. นี่คือปัญหาสิ่งแวดล้อมวิกฤตที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากภัยน้ำท่วมอันเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ในช่วง 2 ปีมานี้ และครั้งนี้ คือ วิกฤตมลพิษทางอากาศ บอกเราว่า โลกต่อไปนี้จะเป็นโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากน้ำท่วม เป็นภัยแล้ง จากฝุ่นควันพิษ จะมีอะไรเป็นปัญหาต่อๆไป

 

ขณะที่เขียนบทความนี้ (บ่ายของวันที่ 14 มีนาคม) ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (1 ไมครอน เท่ากับ 1 ใน 1000 ของขนาดเส้นผม) มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 383 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ในตัวเมืองเชียงใหม่ ขณะที่ค่ามาตรฐานไม่ควรสูงกว่า 120 ไมโครกรัม

 

ทั่วเมืองเชียงใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีปริมาณมากเกินกว่ามาตรฐานมาแล้วเกิน 2 สัปดาห์ติดต่อกัน และยังไม่มีใคร ยังไม่มีหน่วยงานไหนเลยที่ตอบได้ว่า ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด  เมื่อไรที่ท้องฟ้าเหนือเมืองเชียงใหม่จะแจ่มใส มีอากาศสดชื่นให้พวกเราได้หายใจกันอย่างเต็มปอด
หรือวันนั้นจะไม่มีอีกแล้ว หรือเราจะต้องซุกตัวอยู่ในหุบเขานี้ หายใจเอาฝุ่นควันขนาดจิ๋วนี้เข้าไปมากขึ้นๆๆๆ แล้วเราก็อ่อนล้าลงไปเรื่อยๆ แล้วก็ล้มลงทีละคนๆ

 

3. ใครเลยจะคิดว่า นี่หรือเมืองเชียงใหม่ สวรรค์เวียงพิงค์ ในอ้อมกอดอันอบอุ่นของหุบเขาที่รายล้อมทุกทิศ จากฝนตกหนัก น้ำท่วม 4 ครั้งในปี 2548 มาเป็นน้ำท่วมใหญ่ 2 ครั้งในปี 2549 และบัดนี้ ต้นปี 2550 ทั่วทั้งเมือง ทั่วทั้งจังหวัด และทั่วทั้งล้านนา      

                                                                          

เราแทบจะต้องปิดจมูกคุยกัน หรือไม่อยากออกไปไหนนานๆ เห็นใจคนที่ต้องทำงานนอกอาคารตลอดวัน เห็นใจคนขี่จักรยานยนต์ โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านติดต่อ ส่งของ และเห็นใจพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่นอกตัวอาคาร มนุษย์เกิดมาต้องหายใจทุกขณะ ไม่มียามไหนที่ต้องหยุดหายใจได้ แล้วในยามนี้ เราจะเหลืออะไรอีก

 

4. ถ้าชีวิตนี้ยังมีความหวัง ขอได้ไหม ให้เราได้มาช่วยกันเปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส สรุปบทเรียนที่ผ่านมาว่า จะไม่ทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำกันอีก

 

เราจะไม่เผาใบไม้ กิ่งไม้ เผาขยะ เผาถุงพลาสติก เผาไร่ เผาป่า พบใครเผาก็จะรีบโทรไปบอกเจ้าหน้าที่ให้รีบมาดำเนินการ รีบหาน้ำไปช่วยกันดับไฟนั้น จะไม่ปล่อยให้รถของเราหรือของใครพ่นควันดำ ปล่อยควันพิษ จะไม่สร้างปราสาทมาเผาเพื่อแสดงความคารวะเพราะมีวิธีการมากมายในการแสดงความคารวะแด่ผู้วายชนม์โดยไม่ต้องเผาอะไรให้สิ้นเปลืองงบประมาณและสร้างปัญหาให้แก่ชุมชนของเรา จะเร่งปรับปรุงป่าช้าบ้านเราหากยังล้าหลังต้องเผาศพกลางแจ้ง งบฯ ที่มี อย่าเพิ่งสร้างอาคาร หรือทำป้ายขนาดใหญ่ ดูแลรักษาปอด และจมูกของเราและพี่น้องของเราให้ดีก่อน

 

จะไม่ปล่อยโคมไฟให้ลอยเต็มท้องฟ้า หรือจุดประทัด หรือจุดพลุไฟ ไม่ว่างานรุ่น งานวันเกิด งานกีฬา งานสมรส งานอำลา หรืองานไหนๆ

 

หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะสรุปบทเรียนอย่างไรบ้าง ว่าที่ผ่านมาได้ทำอะไรกัน คนเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าพบผู้ว่าฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว และได้บอกไปว่าปัญหามลพิษทางอากาศจะเป็นปัญหาใหญ่ ขอให้ดำเนินการ และคนที่อาสาไปเป็นนายก อบจ. นายก อบต. และนายกเทศมนตรีทั้งหลาย เราจะทำอย่างไรให้วิกฤตกลายเป็นโอกาส ให้วิกฤตนี้กลายเป็นโรงเรียนให้ทุกๆ คนในเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนได้เรียนรู้พิษภัยของฝุ่นควันและสาเหตุแต่ละด้าน แล้วเร่งลงมือหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วนที่สุด ไม่ใช่นั่งรอฝนเทียม หรือรอให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไต่ระดับไปจนถึง 300 ไมโครกรัม แล้วค่อยคิดจะลงมือทำงาน

 

ผู้นำทุกระดับ ควรเร่งทำงานตามความรับผิดชอบและบทบาทของตน ใครที่คิดว่าตนเองไม่มีความเหมาะสม หรือคิดว่าปัญหาขนาดนี้ยังไม่หนักหนาสาหัส ก็ควรรีบลาออก แล้วย้ายไปอยู่ภาคอื่นเสีย

สำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะคนที่คิดถึงแต่งาน งานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ถามจริงๆ เถอะ บ้านเมืองที่อยู่ในหมอกควัน ดอยสุเทพหายไปนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว อย่างนี้หรือครับ ที่จะมีใครคิดมาเยือนเมืองแบบนี้

เห็นหรือยังว่า การปล่อยให้ภาคการเมืองล้าหลัง ไม่เป็นผู้นำในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมือง ไม่เข้มแข็งเป็นกองหน้าในการป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ ปล่อยให้ภาคราชการทำงานเช้าชามเย็นชาม เกียร์หัก แล้วผลเป็นอย่างไร การเมืองลุแก่อำนาจ มัวแต่แย่งชิงอำนาจ การบริหารเย็นชามเช้าชาม ผลเป็นอย่างไร ได้ซึ้งกันหรือยัง

 

ส่วนประชาชน นี่คือเวลาแห่งการเรียนรู้ การทบทวนสติปัญญาความรู้ของเรา เรียนรู้ที่จะอยู่กับหุบเขาแห่งนี้ในสถานการณ์ใหม่ๆ โลกใหม่ ที่เต็มไปด้วยการโฆษณา มอมเมาให้บริโภค แข่งกันซื้อ แข่งกันใช้สอย แล้วผลเป็นอย่างไร เห็นกันหรือยังว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญมากขึ้นๆ ทุกขณะ และสามารถก่ออันตรายได้ทุกเมื่อ

 

หมดเวลาแล้วที่จะพูดถึงความรุ่งโรจน์และงดงามในอดีต โดยยึดติดอยู่กับการใช้ชีวิตแบบกิน-จ่าย-เมา-เผา ไปวันๆ โดยไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา

 

โลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เฉพาะหน้าในขณะนี้ เรากำลังเผชิญภาวะวิกฤตร่วมกัน ทุกนาทีที่เราสูดลมฝุ่นควันเข้าไป เขียนไว้ให้อ่านกันวันนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าค่ำวันนี้ คืนนี้ พรุ่งนี้ และมะรืน ชีวิตของเราทั้งหลายจะเป็นอย่างไร

 

 

 

ที่มา:  พลเมืองเหนือรายสัปดาห์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท