มาแว้ว! ปาฐกถาร้อนฉ่า: วรเจตน์ ภาคีรัตน์ "หกเดือนรัฐประหาร: ก้าวต่อไปของประเทศไทย"

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปาฐกถาในหัวข้อ "หกเดือนรัฐประหาร: ก้าวต่อไปของประเทศไทย" โดยพิจารณาในด้านนิติธรรม นิติรัฐ และรัฐธรรมนูญ เนื่องในวาระครบรอบ 6 เดือนของการรัฐประหาร จัดโดยสมาพันธ์ประชาธิปไตยร่วมกับมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ "ประชาไท" ชวนให้อ่าน

 

00000

การยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญา เนื่องจากในมุมมองทางกฎหมายแล้วโดยทั่วไปการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายหลักการกฎหมายเป็นใหญ่หรือหลักนิติรัฐ หลายคนสงสัยว่า การทำลายหลักการกฎหมายเป็นใหญ่หรือหลักนิติรัฐลงไปนั้นส่งผลกระทบอย่างไร ผมเรียนว่า จริงๆ แล้ว การสถาปนาการปกครองโดยให้บุคคลอยู่ภายใต้กฎหมายและส่งผลในทางกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก มันเป็นผลสำเร็จอันสำคัญในทางกฎหมายของมนุษย์ก็ว่าได้ เพราะทำให้อำนาจเชื่อมโยงและอยู่ในกรอบของกฎหมาย 

 

การทำให้การปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่เกิดขึ้นได้ ความเป็นไปได้อย่างดีที่สุดคือในรัฐที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ในรัฐที่เคารพคน รัฐที่ให้ยอมให้คนมีอำนาจในการตัดสินใจ วินิจฉัย กำหนดวิถีชีวิตของตนและสังคมได้ด้วยตัวของเขาเอง การปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่โดยการเคารพหลักความเสมอภาค โดยความเป็นกลางและไม่มีอคตินั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในรัฐที่อำนาจปกครองเกิดจากรถถังและปากกระบอกปืน อันนี้เป็นบทสรุปในทางประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการยึดอำนาจแล้วและคณะรัฐประหารคณะใดก็ตาม กล่าวอ้างว่า จะเคารพกฎหมาย ปกครองโดยคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีของบุคคลในรัฐ ก็ให้เข้าใจได้เลยว่าคณะรัฐประหารคณะนั้นถ้าไม่ไร้เดียงสาที่สุดก็หลอกลวงที่สุด เพราะการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่นั้น ไม่มีทางเป็นไปตามความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งได้

 

ทีนี้มาดูเหตุแห่งการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน คณะรัฐประหารได้อ้างเหตุผลสำคัญๆ 4 ประการ ในการล้มล้างอำนาจการปกครองแผ่นดินก็คือ รัฐบาลก่อนการยึดอำนาจทุจริตคอร์รัปชั่น โดยนายกรัฐมนตรีมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แทรกแซงองค์กรอิสระ และการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดที่แล้วนั้นก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน ถ้าเราดูในอดีตเหตุผลที่คณะรัฐประหารใช้นั้น ก็ไม่พ้นเหตุผลว่า รัฐบาลเดิมมีการคอร์รัปชั่น แต่ในคราวนี้มีเหตุผลเพิ่มมาอีกสามข้อ

 

ถ้าจะลองให้ความเป็นธรรมกับคณะรัฐประหารแล้วลองดูเหตุผล 4 ข้อ แล้วเปรียบเทียบกับการถึงขนาดต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยล้มล้างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเหตุผลทั้ง 4 ประการยังไม่มีการพิสูจน์ชัดเจน คณะรัฐประหารเมื่อยึดอำนาจก็ไม่สามารถทำให้เหตุผลทั้ง 4 ประการนั้นกระจ่างชัด วันนี้ผ่านไป 6 เดือนแล้วเหตุผลก็ยังไม่เห็นเด่นชัด

 

กรณีของการแทรกแซงองค์กรอิสระนั้น แม้จะเป็นเหตุผลซึ่งเราก็รับรู้กันอยู่ แต่ว่ากระบวนการแก้ไขนั้นสามารถทำได้โดยระบบของมัน มันกำลังมีความพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่ หรือความแตกแยกของประชาชนนั้น มันก็ไม่สามารถแก้ได้โดยวิธีการรัฐประหาร ถ้าประชาชนมีความแตกแยกทางความคิด ความแตกแยกก็ยังจะมีอยู่ ไม่ว่ามีการทำรัฐประหารหรือไม่

 

หลังรัฐประหารก็มีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นพิจารณาข้อกล่าวหาที่ใช้อ้างในการทำรัฐประหาร คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าผลการสอบสวนปรากฎออกมาว่า ข้อกล่าวหาทั้งสี่ข้อไม่เป็นจริง หรือจริงบางส่วนแต่ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะให้คนกลุ่มหนึ่งใช้รถถังเข้ายึดอำนาจ คำถามก็คือ คณะรัฐประหารจะรับผิดชอบอย่างไร

 

การอ้างว่าจะเกิดการนองเลือด คำถามคือ ถ้าคณะรัฐประหารซึ่งกุมกำลังทหารทราบเช่นนั้น ทำไมไม่พยายามอย่างสุดกำลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น และในอดีตยังไม่เคยมีการปะทะกันในหมู่ของประชาชนในลักษณะซึ่งอำนาจรัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นจากเหตุผลแล้ว ก็คงทำให้เราสามารถเข้าใจการทำรัฐประหารได้ยาก 6 เดือนที่ผ่านมาผมพยายามทำความเข้าใจมาโดยตลอด จนถึงวันนี้ ก็ต้องบอกว่าไม่เข้าใจ สิบวันหลังรัฐประหารผมได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งว่าทำไมถึงมีการออกแถลงการณ์ประณามและคัดค้านการทำรัฐประหาร 6 เดือนผ่านไป ก็ยิ่งรู้สึกว่าที่ทำไปเจ็ดวันหลังรัฐประหารนั้นถูกต้องแล้ว 6เดือนผ่านไปก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 เดือนก่อนเปลี่ยนแปลงไปเลย 

 

คำอ้างที่บอกว่าเกิดกลุ่มผลประโยชน์ในทางการเมืองที่กัดกินถึงกระดูกของประเทศ ตามที่ประธาน คมช. กล่าวไว้ คำถามคือ คณะรัฐประหารแน่ใจแล้วหรือว่าตนเองบรรลุถึงสัจธรรมสูงสุดหรือระดับความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดในสังคมไทย แล้วการสรุปภาพว่าเกิดการคอร์รัปชั่นอย่างนั้นจริง การรัฐประหารได้คำนึงถึงพวกพ้องบริวารบริษัทตนเองมากน้อยเพียงใด ถ้าเราจะตั้งคำถามถามคนอื่นต้องถามกลับมาที่ตัวเองว่าตัวเองนั้นเป็นอย่างนั้นกับเขาด้วยหรือเปล่า

 

ผลของการรัฐประหารที่มีต่อระบบกฎหมายมีหลายประการ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ เรื่องที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ หลังรัฐประหารก็มีการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารทุกฉบับ ได้ค้นพบว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีความชำนาญในการจัดทำรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารมากขึ้น นี่เป็นผลจากการทำรัฐประหารหลายครั้งทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความชำนาญ เช่น การจัดให้มีการนิรโทษกรรมไว้เสร็จสรรพในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมี ความพยายามแต่งหน้าทาปากรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ดูดี โดยบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพไว้อย่างไม่แน่นอนหรือไม่ชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยก็พยายามทำให้ดูดีขึ้น นี่เป็นผลแรกสุดที่เกิดจากการทำรัฐประหาร

 

ผลประการที่สองคือ คณะรัฐประหารชุดนี้ได้ใช้กลไกทางกฎหมายที่สร้างขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารเพื่อวัตถุประสงค์บางประการซึ่งตนเองไม่แน่ใจว่าจะบรรลุได้โดยใช้อำนาจหรือกำลังทางทหาร แปลว่าการรัฐประหาร 19 กันยา ส่งผลกระทบต่อกฎหมายมากกว่าทุกครั้ง ทุกคราวที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ ก็ใช้อำนาจรัฐประหารดำเนินการต่างๆ ตามที่เขาต้องการ อำนาจแบบนั้นดูง่าย เพราะเกิดจากรถถังและปากกระบอกปืนอันสามารถจะประณามและคัดค้านได้อย่างชัดเจน

 

แต่หลังรัฐประหาร 19 กันยานั้น คณะรัฐประหารพยายามใช้อำนาจผ่านกลไกทางกฎหมายที่สร้างขึ้น อาจเพราะคณะรัฐประหารเองอาจไม่แน่ใจว่าถ้าใช้อำนาจแบบเดิมที่เคยทำมาในอดีต ประชาชนจะยอมคณะรัฐประหารหรือไม่ และยอมรับได้นานเพียงใด จึงมีการใช้กลไกทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการ กลไกที่ชัดเจนคือการกำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นซึ่งไม่เคยมีปรากฎมาก่อนในฉบับชั่วคราว โดยให้มีอำนาจยุบพรรคการเมือง ทั้งที่เหตุแห่งการกล่าวหาเรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกฉีกไปโดยคณะรัฐประหารนั่นเอง รวมทั้งที่มีการออกประกาศโดยคณะรัฐประหารกำหนดโทษทางการเมืองย้อนหลังกับกรรมการบริหารพรรคการเมือง

 

ผลกระทบประการที่สาม คือ การสร้างระบบการเมืองการปกครองที่ไม่สามารถอธิบายโดยหลักการใดๆได้ นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้มีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งแปลงร่างหรือแปลงสภาพมาจากคณะรัฐประหาร หรือ คปค. และให้ประธานคมช.นั้นมีอำนาจปลดนายกฯ แต่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใด หมายถึงมีอำนาจปลดนายกฯได้แต่ไม่มีใครมีอำนาจปลดประธาน คมช.ได้  กำหนดให้คมช.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคู่ขนานไปกับคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้ประเทศไทยมีองค์กรทางปฏิบัติคู่ขนานกันไปสององค์กร ในลักษณะที่เป็นหนึ่งประเทศสองรัฐบาล คือมีรัฐบาลที่เป็นทางการคือคณะรัฐมนตรีประการหนึ่งกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่เบื้องหลังรัฐบาลอีกชั้นหนึ่งก็คือ คมช. อันนี้พูดถึงที่ปรากฎในที่สว่างในรัฐธรรมนูญ ยังไม่ฉายลึกลงไปถึงสิ่งที่ไม่ปรากฎในรัฐธรรมนูญหรือที่สว่างอีก แต่ที่ปรากฎในที่สว่างนั้นทำให้การบริหารประเทศกลายเป็นหนึ่งประเทศสองรัฐบาล ทำให้การตำหนิ การติติงการบริหารประเทศไม่สามารถกระทำโดยมีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนในทางกฎหมายได้

 

นอกจากนี้ยังมีการปล่อยให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้อำนาจ สนช.ในการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี และทำให้ระบบการบริหารประเทศนั้นอยู่ในลักษณะที่พิลึกพิลั่น เพราะข้าราชการประจำนั้นเป็นผู้ใต้บังคับบัญชารัฐมนตรี แต่สามารถตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีได้ในสนช.ได้แต่ขณะเดียวกันก็ตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประธาน คมช.เป็นผู้บัญชาการทหารบก มีอำนาจปลดนายกฯได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกฯ เช่นกัน ระบบการเมืองการปกครองแบบนี้ จึงเป็นระบบซึ่งไม่สามารถหาตำรับตำราใดๆ มาอธิบายได้และสอนนักศึกษาได้เลย

 

ประเด็นถัดไปคือ แม้การทำรัฐประหารจะอ้างเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อนในรัฐบาลเดิม กลุ่มอำนาจเดิม แต่หลังรัฐประหารแล้ว ก็ไม่ปรากฎว่ามีหลักเกณฑ์ใดๆ ในการขจัดผลประโยชน์ที่ซ้ำซ้อนกัน บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในหลายองค์กรในรัฐบาลนี้กลับได้รับเงินประจำตอบแทนในทุกองค์กรที่ตัวเองดำรงตำแหน่ง ถ้าเป็น คตส. ปปช. ส.ส.ร. ก็มีเงินประจำตำแหน่งในแต่ละส่วน ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ที่จะขจัดผลประโยชน์อันซ้ำซ้อน ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมาย และไม่ปรากฎการตีความกฎหมายที่สามารถอธิบายให้เหตุผลได้ทั้งในแง่วินัยงบประมาณและการคลัง แง่ความเหมาะสม และหากจะกล่าวเลยไปถึงมโนสำนึกและจริยธรรมที่มีการกล่าวอ้างกันมากในเวลานี้ก็ไม่สามารถได้ด้วยเช่นกัน หมายความว่าข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนสามารถชี้นิ้วไปที่คนอื่นได้ แต่เมื่อชี้นิ้วมาที่คนอื่นก็ไม่สามารถอธิบายได้

 

ประการที่ห้า ผลของการรัฐประหารนี้ทำให้เกิดการอ้างคุณธรรมและจริยธรรมกันอย่างมากมาย จริงๆแล้วการอ้างคุณธรรมและจริยธรรมโดยตัวมันเองไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การอ้างคุณธรรมและจริธรรมหลังการรัฐประหารนั้นอาจมีปัญหาได้ และอาจมีปัญหากระทบกับการใช้กฎหมายด้วย หลังการรัฐประหารแล้วเกิดความพร่าเลือนกันของเส้นแบ่งทางกฎหมายกับศีลธรรม เพราะในสังคมมนุษย์กรอบกติกาการอยู่ร่วมกันมีหลายลักษณะ กฎหมายก็เป็นกฎเกณฑ์หนึ่ง จารีต ธรรมเนียม ประพณี ศีลธรรมก็เป็นกฎเกณฑ์หนึ่งที่ใช้อยู่ในสังคม กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วจึงทำให้สังคมอยู่ได้

 

กฎหมายอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำให้สังคมดำรงอยู่ได้ ต้องอาศัยเสาอื่นๆ ที่ค้ำจุนสังคมไว้ แต่คิดว่าภาระของกฎหมายประการหนึ่งคือการค้ำจุนจริยธรรมและศีลธรรมในสังคม อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันกฎหมายและศีลธรรมก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน กฎหมายนั้นใช้สภาพบังคับทางภายนอก มีระบบกฎเกณฑ์ชัดเจนแน่นอน กฎหมายมีผลกระทบกับสิทธิของบุคคลจึงต้องมีการกำหนดกติกา ซึ่งเมื่อกำหนดแล้วคนรู้ได้ว่าตัวเองทำถูกหรือผิดกฎหมาย ขณะที่ศีลธรรมเป็นผลบังคับภายใน ขึ้นอยู่กับพลังของสังคมที่จะบังคับศีลธรรมตรงนี้ได้มากน้อยเพียงใด

 

แต่ปัจจุบันมีการอ้างคุณธรรมขึ้นมามาก แต่การอ้างคุณธรรมเหล่านั้นบางทีทับซ้อนกับกฎหมาย จึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าการกระทำที่ผิดหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไรกันแน่ การอ้างคุณธรรมจริยธรรมนั้นอาจเป็นอันตราย เพราะในที่สุดแล้วอาจจะเกิดมาตรฐานที่ไม่เหมือนกันหรือเกิดสองมาตรฐานในการปฏิบัติ

 

ถ้าการอ้างคุณธรรมและจริยธรรมเป็นไปในเกณฑ์เดียวกัน ก็ต้องบอกว่า การตั้งพวกพ้องของตนให้ดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจนั้นถ้าคนอื่นทำไม่ได้พรรคพวกของตัวเองก็ทำไม่ได้ แต่แน่นอนการอ้างคุณธรรมนั้นไปไกลจนถึงขนาดให้ผู้ที่อ้างนั้นพ้นไปจากการถูกตรวจสอบ นี่คือจุดที่อันตรายที่สุด

 

ขออนุญาตกล่าวอ้างถึงบุคคลท่านหนึ่งที่ไม่ต้องเอ่ยนาม ท่านอ้างว่าท่านเป็นวีรบุรุษและเมื่อเป็นวีรบุรุษแล้วก็ไม่ใช่จำเลยของสังคมและไม่ต้องถูกตรวจสอบ ถ้าเราพยายามมองเรื่องนี้โดยสายตาที่เป็นกลางนิดหนึ่ง คิดว่าลึกๆ แล้วท่านรู้สึกว่าตัวเองทรงคุณธรรม และเมื่อครอบครองอำนาจคุณธรรรมแล้วจะถูกตรวจสอบไม่ได้ แต่คุณธรรมที่กล่าวอ้างนั้นมันขัดกันอย่างรุนแรงกับคุณธรรมประชาธิปไตย

 

เวลาเราพูดถึงคุณธรรมจริยธรรมนั้นไม่ควรพูดถึงคุณธรรมทั่วๆ ไป แต่ในการปกครองประเทศต้องกล่าวอ้างถึงคุณธรรมและจริยธรรมประชาธิปไตยด้วย ซึ่งจริยธรรมอันหนึ่งของประชาธิปไตยคือ การที่คนซึ่งอยู่ในอำนาจนั้นถูกตรวจสอบได้ ไม่ใช่ถูกตรวจสอบก็อ้างความเป็นวีรบุรุษ นายทหารที่เป็นวีรบุรุษในสายตาของผมมีหลายท่าน ท่านที่อยากเอ่ยนามมีอยู่ท่านหนึ่งก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่เป็นทหารนักประชาธิปไตย เป็นเชษฐบุรุษ เป็นอดีตนายกฯ ที่เมื่อถึงแก่อสัญกรรมแล้วมีเงินเพียงไม่กี่บาทที่บ้าน อย่างนี้แหละที่อาจอ้างความเป็นวีรบุรุษได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

ทีนี้โดยเหตุที่ผลพวงของคุณธรรมตามมาแบบนี้ เราจะพบการตีความในทางกฎหมายบางอย่างซึ่งหมิ่นเหม่อย่างยิ่งว่าใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์หรือใช้จริยธรรมศีลธรรมเป็นเกณฑ์วินิจฉัย เช่น การตีความเรื่องนโยบายหวยบนดิน หวยสองตัวสามตัวของรัฐบาลเดิม ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาต่อไปในทางกฎหมาย เพราะในทางกฎหมาย เราแยกความไม่ถูกต้องหรือความไม่เหมาะสมในทางนโยบาย ความไม่ชอบด้วยกฎหมายปกครองอันเป็นกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินกับความผิดในทางอาญาออกจากกันอย่างชัดเจน การกระทำบางอย่างอาจจะไม่เหมาะสมในทางนโยบาย

 

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายหวยสองตัวสามตัวว่ามีความจำเป็นต้องหาหนทางทางกฎหมายจัดการให้เป็นระบบระเบียบสอดคล้องกับวินัยทางงบประมาณและการคลัง แต่การจะกล่าวหาว่าบุคคลผิดกฎหมายอาญานั้นต้องครบองค์ประกอบความผิดในทางอาญา ต้องมีตัวกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดเอาไว้ กฏหมายตามมาตรา 157 นั้นเป็นกฎหมายไม่ใช่ศีลธรรม

 

การตีความกฎหมายนี้จึงต้องตีความตามหลักเกณฑ์กฎหมาย เพราะการตีความนี้ก็ใช้มาตรฐานเหมือนกัน แต่ว่า ถ้าจะตีความมาตรา 157 แบบนี้ใช้กับคนๆ นี้ ผู้ตีความก็ต้องระมัดระวังและพึงสังวรณ์ว่าบทกฎหมายมาตรานี้จะย้อนกลับมาที่ตัวเองเช่นเดียวกัน นี่อาจเป็นผลพวงจากการอ้างคุณธรรมและศีลธรรมเป็นหลักโดยลืมคุณธรรมและศีลธรรมในทางประชาธิปไตยทำให้เกิดลักษณะดังกล่าวขึ้นมา  นั่นคือผลพวงที่เกิดจากการรัฐประหารในรอบหกเดือนที่ผ่านมา

 

ทีนี้ถามว่ารัฐประหารนั้น มันมีผลอย่างไรต่อขบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ สิบวันหลังการรัฐประหารนั้น ผมยังไม่เห็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีคนถามว่าคิดอย่างไรกับนักกฎหมายที่เข้าไปมีส่วนในการทำรัฐธรรมนูญ ผมตอบว่าจะไปว่านักกฎหมายที่เข้าไปร่วมไม่ได้ เพราะอาจมีบางคนที่บริสุทธิ์ใจคิดว่าหลักนิติรัฐได้ถูกทำลายไปแล้วในการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยาและเมื่อมีโอกาสในการไปฟื้นฟูหลักนิติรัฐบางคนก็อยากจะทำ แต่นั่นเป็นการให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว แน่นอน ตอนนี้ มีการประกาศรัฐธรรมนูญแล้วและเป็นหกเดือนหลังรัฐประหาร คำตอบของผมอาจไม่เหมือนเดิม เพราะเห็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีการกำหนดกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ผมตอบคำถามตัวเองชัดเจนว่า  สำหรับผมไม่มีทางที่จะเข้าไปร่วมทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้สร้างกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรที่น่าจะมีมาตรฐานที่ทำให้บุคคลทั่วไปนั้นยอมรับได้ ถ้าเรานึกถึงกระบวนการทำรัฐธรรมนูญตอนที่มีสมัชชาแห่งชาติ นึกถึงกระบวนการเลือกตั้ง แล้วจะเห็นภาพว่าทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น

 

แน่นอนว่า จุดขายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่เกิดขึ้นนั้นจะมีการลงประชามติ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเลยในบริบทการเมืองและการปกครองของไทย เป็นจุดที่ผู้ทำรัฐธรรมนูญหรือบุคคลต่างๆ นั้นนำมาโฆษณาด้วยความภาคภูมิใจ แต่เมื่อพิจารณาแล้วอธิบายบางอย่างไม่ได้ เพราะเมื่อประชาชนต้องโหวตรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องมีทางเลือก หมายความว่าถ้าโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนจะได้อะไร จะเจอรัฐธรรมนูญฉบับไหน ที่จะมาเป็นทางเลือกให้เขา ที่เขาพร้อมจะเลือก แต่เมื่อดูกลไกจะพบว่าประชาชนไม่มีทางเลือก ถ้าประชาชนไม่โหวตรับรองรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างในวันนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องเจอคือรัฐธรรมนูญที่ คมช.เอามาใช้ ซึ่งไม่รู้ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญนั้นมันเป็นอย่างไร นี่คือผลของการรัฐประหารและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ไม่มีเกณฑ์ที่จะวางรางให้สังคมกลับสู่ภาวะที่ทุกคนจะยอมรับกันได้

 

แล้วเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้เริ่มมีการพูดกันแล้ว แม้แต่นักวิชาการเอง และนอกวงวิชาการ ท่านที่มีลักษณะเป็นสัมฤทธิ์ผลนิยมคือเอาผลในทางปฏิบัติ เริ่มพูดกันแล้วว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเอาไหมรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. นี่เป็นการบีบบังคับ ไม่มีทางเลือก ซึ่งไม่น่าเป็นสิ่งถูกต้อง บางทีการสร้างทางเลือกให้กับคนต้องเป็นทางเลือกที่ดี ประเสริฐทั้งสองทาง ไม่อย่างนั้นไม่ควรบีบบังคับให้บุคคลต้องเลือก 

 

สอง ตอนนี้เรายังไม่เห็นเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ก็มีความพยายามที่ปรากฎชัดเจนเป็นลำดับ คือความพยายามที่จะทำให้รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่นี้ผ่านไปให้ได้ เริ่มมีความพยายามเป็นระยะๆ และจะเข้มข้นขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จ ความพยายามนี้ถึงขนาดทำให้คนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านที่มีคนออกมากล่าวว่า ถ้าประชาชนโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดวิกฤตทางการเมือง และเริ่มมีการประทับตราให้กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเป็นคนไม่รักชาติ ไม่ต้องการสมานฉันท์ ไม่ต้องการเห็นชาติเจริญ เป็นคลื่นใต้น้ำ บอกกับบุคคลทั้งหลายว่า บุคคลที่ไม่รับรัฐธรรมนูญนั้นคือบุคคลที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นแค่ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วร่างนี้ก็ระบุในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า ประชาชนมีสิทธิโหวตว่าจะรับหรือไม่รับ

 

ถ้าต้องการให้ประชาชนโหวตรับโดยไม่สนใจการตัดสินใจของประชาชนจะทำประชามติให้เปลืองงบประมาณไปเพื่ออะไร มันไม่มีความจำเป็น เมื่อกำหนดให้มีการประชามติ ย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิจะพูด ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นปัญหาต่อไป จะเกิดการเผชิญหน้ากัน จะรุนแรงในภายภาคหน้า ไปสร้างความชอบธรรมเสียแล้วให้คนทำรัฐธรรมนูญหรือคนสนับสนุนแล้วก็ไปป้ายสีความไม่ชอบธรรมให้กับคนที่คัดค้าน

 

ผมเรียนว่าผมไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่ขอสงวนไว้ซึ่งสิทธิ และทุกท่านมีสิทธิเหมือนกับที่ผมมี คือถ้ารัฐธรรมนูญ ฉบับนี้รับไม่ได้ก็คือรับไม่ได้ โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมีคนกล่าวหาว่าเป็นคลื่นใต้น้ำไหม เพราะทุกคนทราบและรู้อยู่แก่ใจดีว่าที่ท่านไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะอะไร

 

ประการถัดไป กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เหมือนกับสภาพการณ์การเมืองการปกครองทุกวันนี้  คือถูกกำหนดขึ้นในลักษณะที่บุคคลที่เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตัดนักการเมืองออกไปจากการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีการกล่าวว่า นักการเมืองเป็นคนที่มีผลประโยชน์โดยตรงในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นคนที่ใช้กติกาในรัฐธรรมนูญต่อไป เพราะฉะนั้นจึงตัดนักการเมืองออกไปรวมถึงทุกวันนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคการเมืองก็ยังทำไม่ได้ด้วย แต่เรามาดูว่าใครทำรัฐธรรมนูญ เพราะ "ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น" นี่คงเป็นสัจธรรมเสมอ

 

คำถามคือแล้วรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร เราสามารถพยากรณ์ได้จากการดูบุคคลที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนทำรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้คาดหมายว่าจะมีบุคคลผู้มีจิตใจอันดีงามและประเสริฐเป็นคนทำ ดังนั้น คุณสมบัติข้อแรกคือต้องไม่ใช่นักการเมือง แต่ไม่ได้ตัดคนอื่นๆ ออกไป ถ้าดู ส.ส.ร. กมธ. จะพบว่ามี กมธ. หรือ ส.ส.ร.จำนวนหนึ่งมาจากองค์กรที่จะถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แปลว่าย่อมเป็นไปได้ว่าไม่ว่าเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรองค์กรที่ตนเองสังกัดจะมีส่วนได้หรือส่วนเสียจากรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเขียนขึ้น

 

เมื่อองค์กรที่ตัวเองสังกัดมีส่วนได้และส่วนเสียกับรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเขียนขึ้นนั้นจะหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะเกิดขึ้นโดยเป็นกลางหรือจะเกิดจากการต่อรองอย่างมีดุลยภาพได้อย่างไร เราอาจเห็นในเบื้องต้นว่าในแง่มุมนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ รับรองได้ว่าองค์กรใดเขียนรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นก็เพื่อประโยชน์ขององค์กรของตน ผมจึงคิดว่าถ้าการร่างรัฐธรรมนูญคือการต่อสู้กันเพื่อบัญญัติเป็นกติกาของการอยู่ร่วมกัน จะละกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ กลุ่มทุกกลุ่มต้องเข้าไปมีโอกาสต่อสู้กันอย่างเต็มที่ ถ้าจะเอาหลักว่าเกิดจากการประนีประนอมของการต่อสู้กัน

 

หรือถ้าบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องเกิดขึ้นจากคนที่เป็นกลาง ก็ต้องกันทุกคนที่จะมีประโยชน์ได้เสียจากรัฐธรรมนูญออกไป การห้าม กมธ. ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่แค่ห้ามเป็น ส.ส. ส.ว. ต้องห้ามเป็น กกต. ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เป็น ปปช. ไม่เป็น คตง. ไม่เป็นอะไรทั้งสิ้นอย่างน้อย 5 ปี อย่างนี้อาจจะพอมั่นใจว่า คนเขียนระลึกถึงกลไกตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง มากกว่าจะระลึกถึงประโยชน์ขององค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ 

 

ในทางเนื้อหามีกฎเกณฑ์บางอย่างเกิดขึ้นซึ่งผมไม่สบายใจ ด้วยความเคารพต่อสถาบันตุลาการ ต่อผู้พิพากษา เช่น มีการพูดถึงเรื่องการเกษียณอายุของผู้พิพากษา 70 ปีบริบูรณ์ ต้องแยกกันสักนิดว่ากฎเกณฑ์แบบไหน จะต้องถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ แบบไหนไม่ใช่ ถ้าไม่อย่างนั้นจะยาวมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะยาวกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่ว่ายาวแล้ว ดังนั้น บางเรื่องต้องกำหนดว่ากฎเกณฑ์บางอย่างอยู่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ แม้ยังไม่เห็นรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่มีการเสนอซึ่งคงเอาเป็นข้อยุติไม่ได้ แต่ไม่คิดว่าทิศทางจะเปลี่ยนไปมากนัก การวิจารณ์นี้จึงอาจเป็นการเตือนว่าพึงระมัดระวังเมื่อเอามาให้ประชาชนดูทางวิชาการต้องมีการชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ต้องชี้ว่าทำไมเขียนแบบนี้ ไอเดียแบบนี้มาจากไหน มีเหตุมีผลทางวิชาการรองรับมากน้อยเพียงใด จึงเตือนให้ระมัดระวังในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ และเมื่อถึงเวลาควรจะเปิดให้มีสิทธิอย่างเต็มที่ในการวิจารณ์ในทางเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

ผมมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า รัฐธรรมนูญ 40 ไม่ใช่มีข้อบกพร่อง อาจจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่เคยเรียกร้องให้การแก้ไขเป็นไปนอกระบบ หรือนอกกระบวนการ การดำเนินการในกระบวนการจะทำให้เกิดการต่อรองกันและการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ จะไม่เกิดการเผชิญหน้ากัน ไม่ขาดความชอบธรรม เรายุติไปในระดับหนึ่งแล้วก่อนรัฐประหารว่าหลังเลือกตั้งทุกฝ่ายจะมารีฟอร์มมาปฏิรูปรัฐธรรมนูญปี40 แต่เราไปไม่ถึงจุดนั้น ประเทศไทยถูดฉุดรั้งเอาไว้อีก กงล้อที่จะหมุนไปข้างหน้านั้น ถูกดึงกลับมา ณ จุดที่เราผ่านมาหลายครั้งหลายหนแล้ว และได้พิสูจน์มาตลอดเวลาว่า มันไม่ช่วยทำให้สังคมพัฒนาขึ้นเลย มันไม่ได้เกิดมาครั้งเดียวแต่เกิดมาหลายครั้งแล้ว

 

บทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายังไม่เพียงพออีกหรือที่จะพิสูจน์ว่าการรัฐประหารนั้นพ้นสมัยไปแล้ว การพ้นสมัยนี่ไม่ได้พูดเองแต่ดูจากปฏิกิริยาหรือการกระทำของคณะรัฐประหาร เขาไม่สามารถใช้อำนาจทหารได้เต็มที่ในโลกศตวรรษที่ 21 ถ้าใช้เราจะตกไปอยู่อันดับสุดท้ายของสารบัญบัญชีประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แค่นี้ก็อยู่ในลำดับท้ายๆ แล้ว มันไม่เข้ายุคเข้าสมัย มันต้องเลิก ผมเรียนว่าผมเคารพทหาร ทหารอาชีพที่ทำหน้าที่ของตน รัฐธรรมนูญบางประเทศอาจระบุว่า ทหารห้ามดำรงตำแหน่งรัฐวิสาหกิจ ถ้าจะทำควรทำกฎหมายอย่างนี้ ทำอย่างไรให้ทหารเป็นทหารอาชีพที่แท้จริง มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นทหารโดยแท้จริง

 

เมื่อดูเนื้อหาเท่าที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชน เพื่อทำนายสิ่งที่จะเกิดต่อไปในวันข้างหน้า ผมมีข้อสังเกตอยู่ 3-4 ประเด็น เนื่องจากขณะนี้ดูเหมือนมีบทสรุปหรือแนวโน้มในระดับหนึ่งที่พอจะวิพากษ์วิจารณ์ได้เพื่อคาดหมายถึงสิ่งที่จะเกิดในวันข้างหน้า ประเด็นแรกคือ การโยนหินถามทางที่กำหนดให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง อาจปรากฎอยู่ในหลายลักษณะ เมื่อดูในต่างประเทศ ในประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร เราจะไม่พบเลยว่ามีรัฐธรรมนูญประเทศใดในโลกกำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เนื่องจากเป็นจารีตประเพณีในการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่านายกฯ มาจากสภาผู้แทนราษฎรหรือหัวหน้าพรรคการเมืองที่รับการเลือกตั้งโดยคะแนนมากที่สุด เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือรวมกันกับพรรคการเมืองจัดตั้งอื่นเข้ามา ไม่มีที่ไหนที่เลือกตั้งกันมาแล้วเอาคนอื่นที่ไม่ได้เป็น ส.ส. นั้นมาเป็นนายกฯ ความพยายามที่จะบอกว่าที่อื่นไม่มี เป็นเพียงการดูลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ ต้องดูจารีตประเพณีทางปฏิบัติด้วย เขาไม่เกิดปัญหาแบบนั้น แต่มาดูบ้านเรา บ้านเราเกิดปัญหา

 

ถ้าจำได้ เรามีอดีตนายกฯท่านหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นาน 8-9 ปี (พ.ศ.2523-2531--ประชาไท) เป็นนายกฯ คนกลาง ไม่เคยลงรับเลือกตั้งเลย และเมื่อย้อนไปในประวัติศาสตร์จะพบว่าการตรวจสอบนายกฯ ในทางการเมืองทำได้ยากลำบากอย่างยิ่ง พอๆ กับการตรวจสอบคุณทักษิณ เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นความยากลำบากนั้นมีนัยยะที่แตกต่างกัน ความยากลำบากในการตรวจสอบคุณทักษิณเป็นเพราะพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่สูงมากจนการตรวจสอบโดยใช้คะแนนเสียงตามที่กำหนดนั้นทำไม่ได้ ซึ่งมีการพูดกันว่าต่อไปจะปรับลดคะแนนเสียงลง จะมีการปฏิรูปกัน แต่การตรวจสอบอดีตนายกฯ คนกลางที่ทำไม่ได้นั้น เป็นเพราะการรวมคะแนนเสียงจากพรรคต่างๆ ในสภาทำไม่ได้ ครั้งหนึ่งมีการยื่นญัตติเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจกลับมีการถอนชื่อออกจากบัญชีคนที่มีการยื่นอภิปราย เท่าที่จำได้มีบุคคลจำนวนหนึ่งไปตะโกนหน้าสภา ให้ "กล้วย" หน้าสภา เพราะมีการถอนชื่อทำให้อภิปรายไม่ได้ และก็มีการยุบสภา ครั้งแล้วครั้งเล่าแบบนี้ กระบวนการตรวจสอบในวิถีทางของประชาธิปไตยที่ควรตรวจสอบเลยไม่สามารถตรวจสอบได้

 

ผลพวงต่อมาคือผลที่เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังการยึดอำนาจ มีการตั้งนายกฯ คนนอกขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป จะเกิดการลุกฮือของประชาชนบอกว่าไม่เอา นี่จึงเป็นประสบการณ์เฉพาะของสังคมไทยที่เราแลกมาด้วยราคาที่สูงมากๆ ผมจึงบอกว่าถ้าเราจะเอาจารีตธรรมเนียมปฏิบัติที่เขายอมรับกันแล้วมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรแบบรัฐธรรมนูญปี 40 จะเสียหายตรงไหน คนที่เป็น ส.ส. ร้อยๆ คน ไม่มีใครสามารถเป็นนายกฯ ได้แล้วหรือ

 

นอกจากนี้ มีการเสนอแก้ไขปรับปรุงมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ปี 40 คงจำกันได้ว่า ตอนที่มีการเรียกร้องมาตรา 7 ในเวลาต่อมา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าการขอนายกฯ ที่เป็นนายกฯ พระราชทานนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย พระราชวินิจฉัยนี้คิดว่าเพียงพอแล้วที่เราจะเห็นนัยยะของบทบัญญัติมาตรา 7 และนี่คือการพระราชวินิจฉัยของบุคคลซึ่งเป็นแหล่งแห่งอำนาจของมาตรา7ด้วย

 

แล้ววันนี้ยังมีความพยายามกำหนดมาตรา 7 อีกบอกว่าเผื่อเอาไว้ในยามวิกฤต ผมเรียนว่า วิกฤตยังไม่เกิด ถ้าเราอยู่ไปตามระบบ ผมกลับมองว่า ถ้าบัญญัติอย่างนั้นคือการเปิดทาง มันมีความพยายามที่จะไม่ใช้ระบบของรัฐธรรมนูญอย่างสุดกำลังความสามารถที่จะแก้ปัญหากันไป ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมซึ่งมักง่ายตลอดเวลาในการดึงเอาอำนาจอื่นๆ เข้ามาจัดการ ทำให้สังคมเราไม่โต ในอดีต สังคมเราไม่โต ดึงอำนาจอื่นเข้ามา ณ วันนี้ โดยผลพวงของการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเหล่านี้ เรากำลังทำให้สิ่งที่เป็นความมักง่ายกลายเป็นกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ

 

ถัดมา เนื้อหาที่ปรากฎคือการเพิ่มอำนาจให้สถาบันที่ขาดความเชื่อมโยงหรือยึดโยงกับประชาชน นี่เป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดจากรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่ การเพิ่มอำนาจให้กับสถาบันที่ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน ในอนาคตข้างหน้าอาจเป็นอันตรายได้กับสถาบันนั้น การเพิ่มอำนาจให้กับสถาบันที่ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนนั้น ถ้าจะทำ ต้องนึกถึงอำนาจควบคุมและตรวจสอบคู่กันเสมอ ถ้าจะให้อำนาจ ต้องคิดว่าเขารับผิดชอบกับใคร เขาถูกตรวจสอบการใช้อำนาจกับใคร ต้องอธิบายตรงนี้ให้ได้ แต่ถ้าเพิ่มอำนาจไปแล้วอธิบายไม่ได้ การเพิ่มอำนาจนั้นขาดการตรวจสอบ ขาดความรับผิดชอบ ถ้าอย่างนั้น อย่าเพิ่มอำนาจนั้นดีกว่า

 

อีกประเด็นหนึ่งคือ การไม่เชื่อในระบบการเลือกตั้ง สำหรับผมมีข้อสรุปง่ายๆ ว่าถ้าไม่เชื่อว่าองค์กรไหนจะมีได้ในระบบเลือกตั้งก็เลิกองค์กรนั้นไป ถ้าไม่เชื่อว่าวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งแล้วจะดี ซึ่งดีนี้หมายถึงคำนึงถึงประชาธิปไตยด้วย ก็เลิกไม่จำเป็นต้องตั้งวุฒิสภาขึ้น โดยระบบก็อาจจะเหลือสภาเดียว มันอาจจะช่วยอธิบายอะไรหลายๆ อย่างที่อธิบายไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งวุฒิสภา ที่มีลักษณะเป็นสภาขุนนางที่ตรวจสอบอะไรไม่ได้ ล่องลอยมาจากไหนไม่รู้แล้วก็มาใช้อำนาจในทางปกครอง

 

ก้าวต่อไปของเราจะเป็นอย่างไร เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เฝ้าดูการเคลื่อนไหวที่มีการเดินขบวนไปบ้านสี่เสา นี่อาจเป็นครั้งแรกในปวศก็ได้ ที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่เป็นการตั้งคำถามกับบทบาทขององคมนตรีในระดับสูง วันนี้มีประเด็นเกิดขึ้นแล้วว่า การเคลื่อนไหวตั้งคำถามกับบทบาทขององคมนตรีนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

 

ผมเรียนว่าองคมนตรีนั้นอยู่ในฐานะเป็นที่ปรึกษาในพระมหากษัตริย์ ที่เราเริ่มต้นมีเมื่อหลังรัฐประหารในปี 2490 ในช่วง 15 ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเราไม่มีสถาบันนี้ แน่นอนว่าองคมนตรีก็จะบทบาทอันจำกัดอยู่ เนื่องจากในระบบของเรานั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง คนซึ่งมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาก็ควรมีลักษณะทางการเมืองในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามถ้าองคมนตรีให้ความเห็นในเรื่องราวการปกครองประเทศที่มีนัยยะทางการเมือง เมื่อไหร่ก็ตามที่องคมนตรีมีบทบาททางการเมือง การปกป้องคุ้มครององคมนตรีในฐานะที่ปรึกษาราชการของพระมหากษัตริย์ก็เป็นอันไม่มี ในแง่มุมที่องคมนตรีให้ความเห็นในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญ แต่ให้ความเห็นที่ไม่เกี่ยวพันหรือไม่เกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่มุมนี้องคมนตรีก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง และในทางกฎหมายองคมนตรีก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว สถาบันที่ได้รับการคุ้มครองคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะพ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากพระองค์นั้นทรงอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง

 

ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี เพราะก้าวนี้เป็นก้าวซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า ถ้าประชาชนไม่เข้าใจตรงนี้ และมีการหยิบหรือเบี่ยงประเด็นไปอันตรายอาจจะเกิดต่อคนที่เคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจได้ ในทางกฎหมายองคมนตรีไม่ได้รับความคุ้มกันเป็นพิเศษกว่าตำแหน่งอื่น เมื่อใดก็ตามที่ท่านให้ความเห็นทางการเมืองหรือมีบทบาททางการเมือง ท่านย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น เหมือนกับนายกฯ รัฐมนตรี ผู้พิพากษาที่ให้ความเห็นกระบวนพิจารณา

 

ข้างหน้า ผ่านไป 6 เดือนแล้ว ประเมินว่า คณะรัฐประหารบริหารประเทศด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้นทุกวันจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่อง ปัญหาคือ การลงจากอำนาจของคณะรัฐประหารจะลงอย่างไร ตอนนี้มองว่าคณะรัฐประหารก็คงพยายามหาทางลงจากอำนาจอยู่ พยายามผลักให้รัฐธรรมนูญผ่านไปได้ แต่แน่นอนว่าถ้าจะลงจากอำนาจ ลงจากหลังเสือโดยไม่ถูกเสือกัด ต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญที่จะทำขึ้นตอนนี้ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับของคนให้ได้ ถ้ารัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นยอมรับไม่ได้ การลงจากอำนาจจะมีปัญหาแน่นอน

 

 

0000

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หกเดือนหลังรัฐประหาร ชี้วีรบุรุษกลายพันธุ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท