Skip to main content
sharethis

การประชุมคณะกรรมธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาเรื่องการบรรจุเนื้อหาลงในบทเฉพาะกาล โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกมธ.ฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การทำปฎิวัติรัฐประหาร ถึงแม้รัฐธรรมนูญ2549 บอกว่าไม่มีความผิด แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการนิรโทษกรรมเอาไว้ อาจจะทำให้ผลของการนิรโทษกรรมไม่มีความหมายเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ


 


ทั้งนี้ การปฎิวัติรัฐประหารที่ผ่านมาจะมีการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมเอาไว้ใน พ.ร.บ.เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ก็ยังอยู่ แต่ครั้งนี้เขียนนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงกลัวว่าถ้ายกเลิกรัฐธรรมนูญไปแล้ว ถ้ากลุ่มอำนาจเก่าได้รับการเลือกตั้งกลับมาจะหาทางเล่นงาน คมช. เพราะไม่มีกฎหมายอะไรรองรับเอาไว้


 


"ผมเป็นห่วงพวกเขา เพราะปัจจุบันมีศรีธนญชัย และพวกหัวหมอ จะหาทางเอาคืน นี่เป็นครั้งแรกที่ปฎิวัติรัฐประหารแล้วไม่ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดีที่ผมเป็นคนช่างสังเกตจึงอยากให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะว่าดีไม่ดี ร่างรัฐธรรมนูญพอร่างเสร็จ คมช.ต้องขึ้นศาลทหาร หรือต้องเข้าคุกกันเป็นแถว มันไม่ยุติธรรมสำหรับเขา ที่น่าเห็นใจเพราะเขาเหนื่อยมามาก แต่สุดท้ายต้องมารับผล เพราะไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครอง" น.ต.ประสงค์ กล่าว


 


ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล กล่าวว่า การจะเขียนรองรับความถูกต้องของการปฎิวัติรัฐประหารนั้นอาจจะถูกวิจารณ์เหมือนที่รัฐธรรมนูญบางฉบับเคยทำไว้ ทั้งนี้ แม้กฎหมายนิรโทษกรรมจะถูกยกเลิกไปก็ไม่อาจทำให้ความผิดนั้นฟื้นขึ้นมาได้ แต่หากกลัวว่าจะไม่แน่นอน 100 เปอร์เซนต์ ก็อาจเขียนไว้ก็ได้


 


"ถ้าเมืองเปลี่ยนไปอาจจะเอามุมที่ว่าเมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว นิรโทษกรรมมาดำเนินการได้ ก็สามารถเขียนยืนยันหลักการเอาไว้ โดยไม่ระบุถึงตัวบุคคลทำนองว่า การกระทำทั้งหลายที่บุคคลกระทำไปตามรัฐธรรมนูญ 49 รวมทั้งผลทางกฎหมายดังกล่าว ให้มีผลชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การเขียนไว้เท่านี้ไม่ได้ถือว่าไปรองรับกลไกในการปฎิวัติรัฐประหารหรือรองรับประกาศ คปค." นายจรัญ กล่าว


 


อีกประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือจะมีบรรจุลงในบทเฉพาะกาลหรือไม่ว่า กมธ.ยกร่างฯไม่สามารถลงเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว.ได้อย่างน้อย 2 ปี


 


นายสุพจน์ ไข่มุกด์ กล่าวว่า การกำหนดเช่นนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ เมื่อห้าม กมธ.ยกร่างฯก็ต้องห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ด้วย เพราะในทางปฎิบัติอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯและส.ส.ร.แทบจะเหมือนกันทุกประการ ดังนั้นถ้าเห็นว่า กมธ.มีส่วนได้เสีย ส.ส.ร.ก็ต้องมีด้วย จึงอยากถามว่าส่วนได้เสียหมายถึงอะไร


 


"การเขียนแบบนี้ถือเป็นข้อบกพร่องโดยสุจริต ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ ไม่ทราบว่านักกฎหมายฟังแล้วสะดุดหรือไม่ แต่ผมรับไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 49 หรือไม่ ผมยืนยันว่าไม่ไปสมัคร ส.ส.หรือ ส.ว.แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่แน่ เพราะมีการเปิดให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ 2 ตำแหน่งแล้ว" นายสุพจน์ กล่าว


 


นางสดศรี สัตยธรรม กล่าวสนับสนุนว่า ในเมื่อ ส.ส.ร.ทั้งหมดมีอำนาจแปรญัตติได้ก็ควรจะห้ามทั้งหมด อย่างน้อยการประชุมที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในที่ประชุมก็มีประธานและรองประธาน ส.ส.ร.อีก 2 ท่านมาร่วมกับเรา ก็ต้องถูกตัดสิทธิด้วย เพราะถือว่ามีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่เหตุใดจึงตัดสิทธิเฉพาะ กมธ. 35 คน จึงขอเสนอว่าควรจะตัดสิทธิทั้ง 110 คนเพราะมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญทุกคน



น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ความเห็นของนางสดศรีน่าสนใจที่เกี่ยวกับส.ส.ร.
3 ท่าน ที่เข้าร่วมประชุมกับ กมธ.ยกร่างฯ แต่อย่าลืมว่า ส.ส.ร.ไม่ทราบมาก่อนว่า มาแล้วจะถูกตัดสิทธิ เพราะรัฐธรรมนูญ 49 กำหนดเฉพาะกมธ.ดังนั้น ควรทำตามรัฐธรรมนูญ 49 นอกจากเราจะมีเหตุผลเพียงพอให้บุคคลอื่น นอกจาก กมธ.ยกร่างฯที่ถือว่ามีส่วนได้เสีย ส่วนได้คือได้ยกร่าง ส่วนเสียคือลงเลือกตั้งไม่ได้


 


นายศรีราชา เจริญพานิช เสนอว่า ควรนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมใหญ่ของ ส.ส.ร.เพราะถ้า ส.ส.ร.ยินดีที่จะถูกตัดสิทธิเหมือน กมธ.ก็เป็นสมควร เพราะเป็นการสร้างแนวปฏิบัติที่ดี เพราะถือว่า ส.ส.ร.มีสิทธิแปรญัตติเพื่อผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย


 


นายเกริกเกียรติ กล่าวว่า ขอสนับสนุนความเห็นของนายศรีราชา ส.ส.ร.ควรจะเดินแนวทางเดียวกับพวกเรา เพราะนายธงทอง จันทรางศุ เคยเล่าให้ฟังว่า ส.ส.ร.เมื่อปี 40 จำนวน 99 คน ปรากฏว่าลงสมัครผู้แทนถึง 36 คน กลายเป็นว่าร่างกันไปเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง


 


ขณะที่นายอัชพร จารุจินดา กมธ.ยกร่างฯ ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 49 กำหนดชัดเจนว่า กมธ.ยกร่างฯลงการเมืองไม่ได้ เพื่อป้องกันการมีส่วนได้เสียเพราะเป็นคนเขียน ไม่รวมถึงหน่วยอื่นๆ ที่แม้มีสิทธิพิจารณาหรือให้ความเห็นแต่ไม่ได้ลงมือเขียนด้วยตัวเอง


 


"รัฐธรรมนูญ 49 ไม่ได้ห้ามคนที่เป็น ส.ส.ร.มาเป็น ซึ่งถ้าเราไปห้ามก็เท่ากับว่า ส.ส.ร.มารู้ทีหลัง เป็นการกระทบสิทธิของเขาโดยไม่ทราบล่วงหน้า" รองเลขานุการ กมธ. กล่าว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบทเฉพาะกาลที่ฝ่ายเลขานุการเสนอให้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญมี 12 ข้อด้วยกันคือ 1.การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2.การเลือกตั้งส.ส.และการสรรหา ส.ว.3.การรับรององคมนตรี 4.การให้สภานิติบัญญัติหน้าที่ต่อไป 5.การให้สภาร่างรัฐธรรมนูญปฎิบัติหน้าที่ต่อไป 6.การขจัดส่วนได้เสียการปฏิบัติหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ 7. การให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 8.การให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญปฏิบัติต่อไป 9.การให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 10.การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 11.การจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และ 12.กำหนดระยะเวลาการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ


 


ที่ประชุมยังได้พิจารณาประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 ม.313 แต่ให้แก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ 1.ให้ประชาชนมีสิทธิริเริ่มเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยกำหนดจำนวนไว้ที่ 5 หมื่นคน 2.ให้รัฐสภาตั้งองค์กรพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ 3.เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้มีการลงประชามติ


 


นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อสรุปที่น่าสนใจว่าป.ป.ช.จะยังคงมีวาระ 9 ปีเหมือนเดิม มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนหรือวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่ำรวยผิดปกติทั้งนักการเมืองและข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไป โดยการควบคุม ปปช. ประชานผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 2 หมื่นคน สามารถเข้าชื่อร้องต่อ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ได้ ในส่วนการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้น ให้สามีภรรยาและบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยให้ครอบคลุมถึงการถือทรัพย์สินแทนหรือนิติกรรมอำพรางทุกชนิด กรณีบุคคลใดไม่ยื่นบัญชีผู้นั้นต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มเติม


 


ส่วนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง การเขียนรายงานของ ปปช. ให้เป็นในลักษณะของการไต่สวนและต้องระบุมติให้ชัดเจนว่า กระบวนการจะดำเนินต่ออย่างไร โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่า "มีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า" การถอดถอนทั่วไปให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณา ส่วนการถอดถอนที่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา ซึ่งในการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้รวมถึงผู้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือให้ประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลดังกล่าวและให้ครอบคลุมถึง "ตัวการ" "ผู้ใช้" "ผู้สนับสนุน" ในเรื่องดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามได้เปิดช่องให้อุทธรณ์บางประการเช่น ต้องมีพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเติม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net