Skip to main content
sharethis

วรดุลย์ ตุลารักษ์ แปลและเรียบเรียง


 



 


ประเทศฟิจิและประเทศตองก้า เป็นสองเกาะในแปซิฟิคที่มีการค้าและการติดต่อกันอย่างญาติพี่น้องมายาวนานเป็นร้อยๆ ปี นับตั้งแต่อดีตเจ้าชายแห่งตองก้าหลายพระองค์ พายเรือแคนูล่องไปทางทิศตะวันตก เพื่อแสวงโชคในฟิจิ ในขณะที่ชาวฟิจิก็จัดเตรียมคู่สมรสให้แก่ชนชั้นสูงจากตองก้า


 


ในวันนี้ ประเทศทั้งสองกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติการเมือง ทว่าแต่ละประเทศจัดการปัญหาในวิถีทางที่แตกต่าง


 


ในประเทศฟิจิ Commondore Frank Bainimarama นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารที่ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจฟิจิเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เขากำลังต้านทานแรงกดดันจากนานาชาติที่ต้องการให้รัฐบาลทหารคืนประชาธิปไตยสู่ฟิจิโดยเร็ว


 


นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฟิจิ กล่าวว่า เขาต้องการเวลา เพื่อจัดการกับการคอรัปชั่นที่รัฐบาลก่อนซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ทำเอาไว้ ในทางตรงกันข้าม ประเทศตองก้า ประชาชนได้เดินถนนเรียกร้องให้มีการเร่งปฏิรูปประชาธิปไตย จนเกิดการจลาจลเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2006


 


Bainimarama นายกฯ คนใหม่ของฟิจิ ได้ปลดสมาชิกรัฐสภาออกจากตำแหน่ง และปรับปรุงการทำงานของข้าราชการระดับสูง มีการไล่ออกและพักราชการ ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฎหลักฐานการคอรัปชั่นที่มีน้ำหนัก


 


คณะทหารได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและร้องทุกข์จากประชาชน รวมทั้งดำเนินภารกิจสำคัญ โดยมุ่งการจัดการปัญหาต่างๆ นับตั้งแต่การทะเลาะกันในหมู่บ้าน ปัญหาของเจ้าที่ดินและผู้เช่า ไปจนถึงปัญหาความขัดแย้งระดับชาติ


 


รัฐบาลทหารได้กวาดจับคนต้มเหล้าเถื่อน คนค้ายาเสพติด โสเภณี ฯลฯ รวมทั้งจัดการกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล การมุ่งจัดการกับผู้ก่อปัญหารายย่อย หรือปลาตัวเล็กๆ ทำให้ดูเหมือนว่า รัฐบาลกำลังเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน ที่เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวในการพิสูจน์ข้ออ้างในการรัฐประหารว่า การคอรัปชั่นขยายตัวมากในรัฐบาลเก่า คณะรัฐประหารจึงต้องขับไล่รัฐบาลนั้นไป


 


ในขณะที่ประเทศตองก้าก็กำลังเดินไปในอีกทางหนึ่ง ภายหลังจากหนึ่งร้อยปีของการปกครองโดยระบอบกษัตริย์ ระบอบกษัตริย์ได้ป้องกันการสูญเสียอำนาจของตน จากการกล่าวอ้างของหลายฝ่ายว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะสามารถพิสูจน์การกระทำที่ทุจริตได้ดีกว่าระบอบที่เป็นอยู่ ผู้นำทางการเมืองหลายคนมองเห็นว่า การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะตรวจสอบการบริหารประเทศที่ผิดพลาด และพัฒนามาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนชาวตองก้า


 


เมื่อไม่นานมานี้ สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 30 คน ประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจำนวน 9 คน และตัวแทนจากชนชั้นสูง 9 คน และอีก 12 คนแต่งตั้งโดยกษัตริย์ จากแต่เดิมซึ่งสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภา เป็น "นอมีนี่" ของกษัตริย์


 


รัฐบาลของกษัตริย์ ใช้เงินไปมากมายกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงและเกิดความผิดพลาดมาก โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการการบิน และการเดินเรือขนส่งสินค้า


 


ครอบครัวและเชื้อพระวงศ์ก็ยังได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ นับตั้งแต่การเป็นเจ้าของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เคเบิลทีวี โรงเบียร์ และกิจการสาธารณูปโภคไฟฟ้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้เอง ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปขึ้น


 


ระบอบกษัตริย์ตอบสนองด้วยการเริ่มแผนการปฏิรูปก่อนการขึ้นสู่อำนาจของกษัตริย์ George Tupou ที่ 5 ในเดือนกันยายนปี 2006


 


ในการปฏิรูปดังกล่าว มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ และเป็นครั้งแรกในรอบร้อยปีที่สามัญชน เช่น Fred Sevele สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตองก้า


 


อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประชาชนนักปฏิรูป อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกว่านั้น พวกเขาจึงออกมาเดินถนนชุมนุมเรียกร้อง


 


การเดินถนนประท้วงกลายมาเป็นการจลาจล มีการทำลายธุรกิจในเขตเมืองหลวงลงเป็นจำนวนมาก และผู้ประท้วงเสียชีวิต 6 คน กษัตริย์ตองก้าได้ออกมาให้สัญญาว่าจะเดินหน้าการปฏิรูปต่อไป


 


แม้ว่าทั้งฟิจิและตองก้า มีวิกฤตการณ์การเมืองเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ตองก้าดูเหมือนว่าจะมีแนวคิดในการปฏิรูปที่ดีกว่า


 


Peter Larmour ผู้เชี่ยวชาญประเทศหมู่เกาะแปซิฟิค แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า การจัดการกับปัญหาคอรัปชั่น ควรเป็นการปฏิรูปเชิงสถาบัน เพื่อลดโอกาสในการคอรัปชั่น มากกว่าการใช้ระบอบทหารพร้อมกำลังอาวุธ เข้ามาปราบปราบความชั่วร้ายทางศีลธรรมโดยเผด็จการ พร้อมทั้งตั้งตนขึ้นเป็น พนักงานสืบสวน ผู้พิพากษา และคณะลูกขุน


 


……………………………………………………………


แปลจาก บทความ A tale of two island states

The Economist, 15 มีนาคม 2007 และ ภาพประกอบจากบทความเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net