รายงาน : คนเชียงดาวถกขอสิทธิฟื้นฟูป่าต้นน้ำ หลังอ.อ.ป.โค่นสักกว่า 4,000 ต้น


 

ตามที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.) โดยหน่วยงานสวนป่าเชียงดาวเป็นผู้ดำเนินการตัดไม้สักจำนวนกว่า 4,000 ต้น ในเขตพื้นที่หมู่บ้านปางโม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา จนทำให้ชาวบ้านบ้านออกมาคัดค้าน เพราะเกรงว่าอาจนำมาซึ่งปัญหาความแห้งแล้ง น้ำท่วมในอนาคต และได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้ยุติและดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทำผิดหรือไม่นั้น

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านปางโม่และหมู่บ้านใกล้เคียง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ปิงโค้ง โครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน และส่วนราชการในพื้นที่ ได้ร่วมกันจัดประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในเขตลุ่มน้ำป๋ามที่ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีปัญหาป่าไม้และแหล่งน้ำ ซึ่งปัจจุบันองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ได้เข้าไปตัดไม้ในสวนป่าบริเวณบ้านปางโม่ ในเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งชาวบ้านปางโม่และหมู่บ้านใกล้เคียงวิตกกันว่าจะสร้างปัญหาเรื่องความแห้งแล้งอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงปี 2523 ซึ่งครั้งนั้นชาวบ้านละแวกดังกล่าวประสบปัญหาความเดือดร้อนกันมาก และที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตลุ่มน้ำป๋าม มีลำห้วยแม่ป๋าม ลำห้วยแม่ป๋อย และลำห้วยแม่มาด ลำห้วยเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของชุมชน และยังเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงด้วย

 

 

นายวิม ผ่องแผ้ว กำนันตำบลปิงโค้ง กล่าวว่า ในเขตพื้นที่ ต.ปิงโค้ง นอกจากชาวบ้านได้มีการร่วมกันดูแลป่าแล้ว ชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์จากป่าด้วย ดังนั้น จึงต้องมาหาแนวทางกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน

 

โวย อ.อ.ป.ตัดไม้ข้ามหัวองค์กรปกครองท้องถิ่น

นายตุ่มคำ เรืองวิไล ผู้ใหญ่บ้านปางเฟือง ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว กล่าวถึงกรณีที่ ออป.เข้าไปตัดไม้สักในพื้นที่บ้านปางโม่ว่า การที่ ออป.อ้างตามหลักการมันก็ถูก แต่ว่าในความจริงการที่ตัดไม้ไป 4-5 พันต้นนั้น มันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างหนัก ถ้าเข้าไปดูในพื้นที่จะพบว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก และที่ทาง ออป.บอกว่าหลังจากทำการตัดแล้ว จะเข้าไปฟื้นฟูสภาพป่า แต่เมื่อไม้โตขึ้น ออป.ก็เข้ามาตัดอีก ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดปัญหาเกิดขึ้นอีกในอนาคต และจริง ๆ แล้ว ก่อนจะเข้าไปตัดไม้ ทาง ออป. น่าจะมีการเปิดเวทีประชาคมระดับตำบลเสียก่อน

 

นายพิพัฒน์พงษ์ เดชา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปิงโค้งกล่าวว่า ที่ผ่านมา ออป.ไม่ได้แจ้งให้กับทาง อบต. รับทราบเลย ซึ่งตนก็รู้สึกแปลกใจที่ก่อนจะมีการสัมปทานตัดไม้ ทำไมไม่ใช้กระบวนผ่านมติสภา

 

"ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงโม่หิน การตั้งรีสอร์ท หรือแม้กระทั่งการจะติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ตำบลใด จะต้องขอมติจากสภาฯ เสียก่อน แต่นี่ทาง อบต.ไม่ได้รับรู้มาก่อน ซึ่งอยากให้ทุกฝ่ายได้มีแนวคิดแบบมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ใช่ใช้อำนาจคำสั่งจากเบื้องบน"

 

ชาวบ้านชี้ระบบนิเวศเสียหาย กระทบชุมชนหนักแน่

ด้านนายประสิทธ์ กันทาซาว สมาชิก อบต.ปิงโค้ง และตัวแทนชาวบ้านปางโม่กล่าวว่า บ้านปางโม่เจอปัญหานี้มา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกเมื่อปี 2523 ผืนป่าและลำห้วยที่อุดมสมบูรณ์ได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อการปลูกป่าตามนโยบายรัฐบาลในสมัยนั้น ทำให้ลำห้วยแม่ป๋อย ลำห้วยแม่ป๋าม และลำห้วยแม่มาด ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำปิง ได้ประสบปัญหาแห้งแล้งจนชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในการเกษตร การบริโภคในครัวเรือนได้ จนชาวบ้านบางส่วนต้องออกไปทำงานรับจ้างต่างถิ่นกันเกือบทั้งหมู่บ้าน

 

"ต่อมาป่าเริ่มฟื้นตัวและมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่า เก็บเห็ด ของป่ามาขายเป็นรายได้ แต่พอในปี 2549-2550 ออป.ได้เข้ามาสัมปทานตัดไม้ในเขตหมู่บ้านปางโม่อีก ซึ่งได้สร้างความวิตกแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาความแห้งแล้งเหมือนในอดีตอีก แล้วชาวบ้านปางโม่จะทำอย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้หน้าแล้งน้ำก็คงจะแห้ง หน้าฝนน้ำก็คงจะท่วม และกระทบต่อคนข้างล่าวด้วย งนั้น ทำอย่างไรจึงจะให้ชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลป่าผืนนี้อย่างแท้จริง"

 

ชี้ป่าเสื่อมโทรมรวดเร็วเพราะสัมปทาน เสนอชุมชนเข้าจัดการดูแลป่าแทน อ.อ.ป.                  

นายนิคม พุทธา ผอ.โครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีการยกเลิกการสัมปทานป่าไม้มาเมื่อปี 2532 ซึ่งหลังจากที่มีการปิดป่ามีหน่วยงานเดียวที่ตัดไม้ขายได้ คือ ออป. ซึ่งสาเหตุที่ป่าไม้เมืองไทยเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วก็เพราะการสัมปทานตัดไม้นั่นเอง และกรณีของสวนป่าเชียงดาวที่กรมป่าไม้มอบให้ ออป.นั้น จะเห็นได้ว่ามีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ

"ถ้าออป.มีการจัดการป่าโดยไม่มีการฟังข้อคิดเห็นของท้องถิ่น ก็แสดงว่าประชาธิปไตยไม่มีความหมายเลย ดังนั้น ออป.จะมีการจัดปรับทิศทางอย่างไรให้มีความเป็นกลางและให้ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนร่วม อยากให้ ออป.ใช้พื้นที่บ้านปางโม่ เป็นกรณีศึกษา เพราะออป.ตัดไม้ไปแล้ว ซึ่งเรื่องการตัดไม้ของ ออป. วิเคราะห์ให้เห็นว่าท้องถิ่นถูกกระทำ แต่ไม่มีพื้นที่ไหนให้ท้องถิ่นร้องเรียนได้ในกรณีที่ ออป.มีการตัดไม้ หรือเอาไม้ไปขายรายได้ดังกล่าวจะย้อนกลับมาสู่ท้องถิ่นบ้างไหม และการดูแลทรัพยากรร่วมกันจะทำอย่างไร" นายนิคม กล่าว

 


นายสรรเสริญ พงษ์พิพัฒน์

ปลัดอำเภอเชียงดาว

 

เสนอให้ อ.อ.ป.คายให้กรมป่าไม้ ก่อนโอนให้อบต.ดูแล

นายสรรเสริญ พงษ์พิพัฒน์ ปลัดอำเภอเชียงดาว กล่าวว่า ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ในเขตลุ่มน้ำป๋าม รวมทั้งในพื้นที่อื่นๆใน อ.เชียงดาว ปัจจุบันยอมรับว่ามีการทำลายอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันชุมชนในพื้นที่บางส่วนก็ไม่ได้ตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น และที่สำคัญปัจจุบันทาง อ.อ.ป.ก็ได้เข้ามาตัดไม้ในพื้นที่ก็ยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับ อ.อ.ป.ก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

"กรณีการตัดไม้โดย อ.อ.ป.ในเขตบ้านปางโม่นั้น อยากเสนอให้ทาง อบต.ทำหนังสือไปยังข้างบน ให้ อ.อ.ป.ส่งมอบคืนพื้นที่ป่าให้กรมป่าไม้ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ และให้มอบพื้นที่สวนป่าดังกล่าวให้ท้องถิ่น เช่น อบต.เข้าไปรับผิดชอบดูแลแทน อ.อ.ป. ส่วนพื้นที่ลักษณะเดียวกันนี้ในเขต อ.เชียงดาวก็เช่นเดียวกันกรมป่าไม้ต้องให้ อบต.ดูแลรับผิดชอบแทน เพราะชาวบ้านตัดต้นไม้ในป่า หรือหาอยู่หากินกับป่าก็ไม่เท่ากับที่ อ.อ.ป.ตัดเพียงครั้งเดียวถึง 4,000 ต้น และตอนนี้ ออป.ก็ยังยืนยันว่าหากต้นไม้โตขึ้นพื้นที่ไหนที่ท่านรับผิดชอบหรือได้รับคำสั่งท่านก็ต้องตัดอยู่ดี" ปลัดอำเภอเชียงดาว กล่าว

 

เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.แจงทำถูกระเบียบ พร้อมเดินหน้าต่อ อ้างรายได้หลักคือตัดไม้ขาย 

 

ด้านนายอานนท์ บุญกัณฑ์ หัวหน้าสวนป่าเชียงดาว ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดไม้สักที่บ้านปางโม่ ชี้แจงว่า ในเขต อ.เชียงดาว อ.อ.ป.ไม่ได้เข้ามาดูแลพื้นที่สวนป่าเฉพาะที่บ้านปางโม่เท่านั้น แต่ยังมีที่บ้านบ้านถ้ำ และบ้านปางไม้แดงด้วย โดยมีพื้นที่รับมอบมีทั้งหมด 7,066 ไร่ แต่เหลือพื้นที่ที่คงสภาพป่าจริงๆ เพียง 3,695 ไร่เท่านั้น

 

"พื้นที่ป่าทั้งหมด อ.อ.ป.รับมอบมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นพื้นที่สวนป่าที่ปลูกโดยงบประมาณของกรมป่าไม้และกรมป่าไม้ไม่มีงบประมาณที่จะดูแลสวนป่าที่ตัวเองปลูกไว้ หากสวนป่านั้นอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์กรมป่าไม้ก็จะให้ทางกรมอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์ฯ หรือหน่วยจัดการต้นน้ำเป็นผู้ดูแล และมีงบประมาณการจัดการดูแลทั้งจากกรมป่าไม้และรัฐบาลสนับสนุน ส่วนสวนป่าที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ ครม.ก็มอบหมายให้ ออป.เข้ามารับผิดชอบดูแลโดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้งบประมาณการดูแลของ ออป.เอง ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่ของ ออป.นั้นส่วนใหญ่ก็ได้จากการทำธุรกรรมทางไม้หรือการทำไม้ขายนั่นเอง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ออป.จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นเราต้องหาเงินทุน เพื่อเป็นค่าจัดจ้างลูกจ้าง ค่าบริหารจัดการ ดังนั้นเราจึงต้องมีการทำไม้ และทางออป.ทำไม้แบบไม่ตัดหมดทั้งแปลง เราจะให้มีต้นไม้อยู่ในสวนป่าบ้าง แต่อาจจะดูเป็นสภาพป่าเสื่อมโทรม และในการจัดการป่าตามหลักวิชาการ คือ เราจะไม่มีการเผาในช่วงนี้"

 


นายอานนท์ บุญกัณฑ์ หัวหน้าสวนป่าเชียงดาว

 

นายอานนท์ กล่าวถึงกรณีการจะคืนพื้นที่หรือให้จัดการสวนป่าร่วมกับชาวบ้านนั้น ว่า เป็นเรื่องระดับนโยบาย ซึ่งต้องให้เบื้องบนเป็นผู้พิจารณาตนเป็นเพียงแค่ผู้รับนโยบายมาปฏิบัติเท่านั้น ส่วนหากชุมชนต้องการให้ ออป.ประชุมหารือกับชาวบ้านและส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการนั้นก็สามารถทำได้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงไปในพื้นที่สวนป่าที่ อ.อ.ป.ได้ทำการตัดไม้สักในพื้นที่บริเวณสวนป่าบ้านปางโม่ ซึ่งนายอานนท์ กล่าวว่า การโค่นล้มตามแผนดำเนินการจำนวน 4,381 ต้นนั้น ปัจจุบันทำเสร็จแล้วหรือแค่การชักลากเข้าโรงหมอน ซึ่งหากนำไปขายจะมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท ส่วนข้อเสนอของชาวบ้านที่ผ่านมาเรื่องจะให้ ออป.ยกเลิกหรือยุติการดำเนินงานคงทำไม่ได้ เพราะสิ่งที่ตนทำนั้นทำไปตามระเบียบ และการตัดไม้ดังกล่าวก็ไม่ใช่การทำไม้สัมปทาน แต่เป็นการตัดไม้บำรุงป่าเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านยังไม่เข้าใจ

 

 

 

โครงการลุ่มน้ำปิงชี้ชัด ออป.ทำผิด กม.ท้องถิ่น เตรียมหาผู้เสียหายฟ้องเอาผิด

ด้าน นายนิคม พุทธา ผอ.โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ถึงแม้ทาง ออป.จะอ้างว่าการตัดไม้สักจำนวนกว่า 4,381 ต้น ได้ทำถูกต้องตามระเบียบ แต่เมื่อมีการศึกษาข้อมูลเอกสารแล้ว พบว่า ออป.ได้ทำผิดระเบียบหลายขั้นตอน อย่างกรณี การแบ่งพื้นที่สวนป่าของ ออป.นั้น มีการแบ่งเป็น 5 ประเภท 5 โครงการ ซึ่ง กรณีสวนป่าเชียงดาว เป็นโครงการประเภทที่ 5 คือ เป็นสวนป่าที่ปลูกโดยงบประมาณของกรมป่าไม้ และส่งมอบให้ ออป.ดูแลและใช้ประโยชน์ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินจากภาษีของประชาชนไปดำเนินการปลูกเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่ปัจจุบัน กรมป่าไม้ได้โอนให้ ออป.เข้าไปดูแลและใช้ประโยชน์ ภายใต้สำนักงานอนุรักษ์และพัฒนาสวนป่าภาคเหนือตอนบน

 

"เป็นประเด็นคำถามว่า ออป.มีความชอบธรรมหรือไม่ ตามกฎหมายที่ตัดไม้ออกจากพื้นที่ โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินที่เก็บจากภาษีของประชาชน และตนเห็นว่าหากมีผู้เสียหายฟ้องร้องก็สามารถดำเนินการได้"

 

นายนิคม พุทธา ผอ.โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน

 

นอกจากนั้น นายนิคม ยังชี้ให้เห็นว่า ออป.ได้ดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายท้องถิ่น คือ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ในหมวด 2 เรื่อง การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ มาตรา 16 ที่ระบุว่า ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

"เพราะฉะนั้น เห็นชัดว่า ออป.ได้ทำผิดกฎหมายท้องถิ่น โดยไม่ได้มีการผ่านสภา ก่อนดำเนินการตัดไม้ในพื้นที่ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชุมชน กรณีอาจเกิดความแห้งแล้งในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำป๋ามทั้งหมด และการตัดไม้ของ ออป.อาจขัดต่อกฎหมาย ตามมติปี 2535 ที่ระบุชัดว่า สวนป่าเชียงดาว อยู่ในประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นสวนป่าที่ปลูกโดยงบประมาณของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นการปลูกเพื่อรักษาระบบนิเวศ แต่ ออป.ได้ตัดไม้ไปเพื่อขายเสียเอง"

 

นี่อาจเป็นกรณีศึกษา อีกกรณีหนึ่ง ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) รวมทั้งชาวบ้าน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ จะต้องทำการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันว่า มาถึงตอนนี้แล้ว ออป.จะเดินไปในทิศทางใด และสวนทางกับแนวคิดของการจัดการทรัพยากรฯ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือไม่ และขัดแย้งกับนโยบายหลักของประเทศหรือไม่ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

แน่นอนว่า ในหลายพื้นที่ที่ ออป.ได้เข้าไปดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ สวนป่าทองผาภูมิ,สวนป่าสาละวิน,สวนป่าห้วยน้ำขาว,สวนป่าหนองเยาะ, สวนป่าเมืองตาก หรือสวนป่านาด้วง ต่างกำลังมีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้กันอยู่ว่า ถึงเวลาหรือยังที่ อ...จะทบทวนบทบาทของตัวเอง เนื่องจากการดำเนินงานของ อ...ที่ผ่านมานั้นขัดกับวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง และขัดกับกฎหมาย การไม่สามารถส่งเงินให้กับกระทรวงการคลัง กลายเป็นภาระของรัฐ และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ อ... ไม่มีความจำเป็น ตามภารกิจที่ระบุไว้ตามกฎหมาย

 

เตรียมจัดเวที"ศึกษาทางเลือกและรูปแบบการจัดการพื้นที่ปลูกป่า ตามเงื่อนไขสัมปทาน(สวนป่า) อย่างยั่งยืน"

 

ทั้งนี้ล่าสุด มีรายงานว่า ในเร็วๆ นี้ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ คณะทำงานศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) และคณะนักวิจัยท้องถิ่น จะได้จัดประชุมเสวนาเรื่อง โครงการ " ศึกษาทางเลือกและรูปแบบการจัดการพื้นที่ปลูกป่าตามเงื่อนไขสัมปทาน(สวนป่า) อย่างยั่งยืน" ประมวลกับการศึกษานโยบายและแผนงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และข้อมูลจากการตรวจสอบกรณีร้องเรียนเรื่องสวนป่าองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

โดยหลังจากนั้น จะได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดการสวนป่า และนำเสนอทางเลือกและรูปแบบการจัดการพื้นที่ปลูกป่าตามเงื่อนไขสัมปทานให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาล และสาธารณชนต่อไป

 

 

ข้อมูลประกอบ

สำนักข่าวประชาธรรม

โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

คนเชียงดาวบุกศาลากลางยื่นหนังสือผู้ว่าฯ จี้ อ.อ.ป.หยุดตัดป่าสักต้นน้ำปิง

 

คนเชียงดาวโวย "ออป." โค่นป่าสักบริเวณต้นน้ำสาขาแม่น้ำปิงกว่า 2,000 ต้น  

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท