Skip to main content
sharethis

ประชาไท -15มี.ค.50 เวลา 14.00น. ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน ได้พิจารณากรอบ 3 ว่าด้วยองค์กรอิสระและศาล โดยในประเด็น "การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม" ที่ประชุมเห็นชอบให้มีบทบัญญัติให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย ให้สิทธิแก่ประชาชนตามจำนวนที่กำหนดในการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง การปฏิเสธความยุติธรรมต้องกำหนดช่องทางให้ศาลใดศาลหนึ่งรับพิจารณาคดีของประชาชน ให้รัฐให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ยากไร้ ส่วนศาลเลือกตั้งหรือแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ที่ประชุมเห็นควรให้ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาผสมกับศาลปกครองสูงสุดเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยคดีเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. คดีเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นให้ศาลจังหวัดเป็นผู้พิจารณาพิพากษา ทั้งนี้ โดยมีวิธีพิจารณาและกำหนดเวลาพิจารณาด้วยความรวดเร็ว


 


เรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาและตุลาการ ควรกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้ถึง 70ปีบริบูรณ์ โดยให้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในกฎหมาย ให้ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลใด ทำหน้าที่ได้ไม่เกินศาลนั้นโดยให้บัญญัติไว้ในกฎหมาย ส่วนอำนาจของหน่วยงานอิสระในการเสนอกฎหมายนั้น ให้ศาลและองค์กรอิสระสามารถเสนอกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองเสนอต่อรัฐสภาได้


 


สำหรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น คณะกรรมาธิการเห็นชอบในหลักการให้บัญญัติในเรื่องเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของข้าราชการอัยการไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะนำไปไว้ในส่วนใดนั้น ฝ่ายเลขานุการจะรับไปพิจารณา


 


ความเป็นอิสระของอัยการให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นอิสระในการดำเนินคดีทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของอัยการ โดยให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งอัยการสูงสุด ส่วนองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการอิสระ ฝ่ายเลขานุการจะรับไปพิจารณาหารือร่วมกับอนุกรรมาธิการกรอบที่3


 


หลักพื้นฐานของกระบวนการพิจารณา เห็นชอบให้คู่ความในกระบวนการพิจารณา ควรมีสิทธิตามหลักฟังความสองฝ่าย การพิจารณาโดยเปิดเผย ผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องเป็นกลาง โดยมีกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาโดยเปิดเผยไม่ควรทุกกรณีและความเป็นกลางของผู้พิพากษาหรือตุลาการควรพิจารณาอย่างไร ในเรื่องนี้ฝ่ายเลขานุการรับไปพิจารณาการใช้ภาษา


 


ในส่วนของ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" ที่ประชุมเห็นชอบให้มาจากการสรรหาเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการปปช. โดยคดีวินัยงบประมาณและการคลัง ให้ขึ้นศาลปกครอง โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอาจตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อผิดพลาดในเรื่องนี้ของตนเองได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคานอำนาจซึ่งกันและกัน


 


ในประเด็น "ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา" นั้น ที่ประชุมเห็นชอบเพิ่มจำนวนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจากเดิม 3 คนเป็น5 คน โดยกำหนดให้มีประธานด้วย โดยให้มีการสรรหาเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการปปช. ทั้งนี้ กำหนดอำนาจหน้าที่ให้สามารถหยิบยกปัญหาเดือดร้อนของประชาชนขึ้นมาพิจารณาได้ทันที และเพิ่มอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในการตรวจสอบองค์กรอิสระอื่นๆ และศาล โดยให้จำกัดการตรวจสอบได้บางกรณีเท่านั้น รวมทั้งเห็นชอบให้เผยแพร่รายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต่อสาธารณะด้วย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็น ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาและตุลาการ ที่คณะอนุฯ กรอบ3 เสนอให้ดำรงตำแหน่งจนถึงอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์นั้น ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วย โดยให้กำหนดไว้ในกฎหมายลูก


  


นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กล่าวโดยยกตัวอย่างนายกฯ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ว่า แม้มีอายุค่อนข้างมาก แต่ยังทำงานได้ รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ไม่มีการกำหนดอายุไว้เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติ ข้าราชการสหรัฐจึงไม่มีการเกษียณอายุ เมื่อเขาทำงานไม่ไหวก็จะลาออกเอง ดังนั้น เสนอให้ไปเขียนในกฎหมายเฉพาะมากกว่า เนื่องจากถ้าเขียนในรัฐธรรมนูญอาจมีผลลักลั่นไปถึงข้าราชการกลุ่มอื่นด้วย


 


 


สำหรับประเด็น "ที่มาของประธานศาลฎีกา" ซึ่งคณะอนุฯกรอบ3 เสนอให้คัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดนั้น กรรมาธิการส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง


 


นางสดศรี สัตยธรรม กล่าวว่า ศาลเราสร้างระบบอาวุโสกันมาเป็นร้อยปี มาเสียระบบเมื่อปี40 ที่ให้มีการเลือกตั้งกต. เป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกของวงการตุลาการ มีการบล้อกโหวตและหาเสียง ผู้ที่จะได้คะแนนเสียงต้องใช้เวลาทำงานหาเสียง เกิดระบบเด็กปกครองผู้ใหญ่ ชั้นต้นสามารถเป็นอธิบดีได้ ตอนนี้เรากำลังจะลดอำนาจท่านไม่ให้เป็นอธิบดี เป็นรองอธิบดี จะเกิดวิกฤต คนเราเคยเป็น ตอนนี้เป็นไม่ได้ ต้องไปอยู่ชั้นต้น ยังไม่ได้เป็น อำนาจเป็นของร้อน ผู้ใดได้มาแล้วไม่อยากจะพ้นไปจากมือ ถ้าจะแก้ต้องระวังเพราะกระทบต่อความรู้สึกขององค์กร อาจเกิดความแตกแยก ประธานศาลฎีกาเราใช้ระบบอาวุโสมานานแล้ว คราวนี้จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้มีสองรุ่น คือ รุ่น 16 17 โดยรุ่น 16นั้นเหลือน้อยลง หากมีการเลือกเชื่อว่ารุ่น16จะไม่มีทางได้ ขณะเดียวกันรุ่นน้องจะได้เป็นประธานศาลฎีกา เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเกิดวิกฤตรอบสอง ไม่อยากให้ศาลถูกทำลายด้วยระบบที่ผิดแปลกไปจากเดิม


 


นายธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า อยากปรับองค์ประกอบให้กลับไปสู่ระบบอาวุโส จุดที่อาจไม่สบายใจคือ องค์ประกอบของกต. หากเปลี่ยนเป็นระบบคัดเลือก สุดท้ายแล้ว ก็เลือกกันเองอยู่ดี ดังนั้นจึงต้องรอบคอบ การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นสถาบันการเมือง แต่คนที่ทำหน้าที่กรรมการไม่ควรมีความเป็นการเมืองเท่าสถาบันการเมือง กรรมการไม่ควรเข้าใกล้ชิดการเลือกตั้งการหาสมัครพรรคพวก จึงอยากคงระบบเดิมไว้


 


นายมนตรี ศรีเอี่ยมสอาด กล่าวว่า ปกติแล้วศาลยุติธรรมจะถืออาวุโสเป็นหลัก โดยมีองค์ประกอบอื่นมาร่วมพิจารณาด้วย ถ้าไม่มีเรื่องด่างพร้อยหรือขาดคุณสมบัติ คนๆ นั้นจะเป็นประธานศาลฎีกา ที่ผ่านมา เมื่อปี2528 ก็มีกรณีที่ผู้อาวุโสลำดับที่สามได้รับเลือก เนื่องจากพิจารณาคุณสมบัติต่างๆ แล้วมีความเหมาะสม และยังเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าผู้อาวุโสกว่าจะได้เป็น


 


นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ระบบที่นางสดศรีได้พูดมา เป็นระบบที่สง่างาม เพราะไม่ใช่การบริหารศาลให้สะอาด แต่เป็นการดูแลคดีให้มีคำพิพากษาที่เป็นที่ยอมรับ เวลาไปศาลไม่ว่าศาลไหนพอเห็นโฆษณาแข่งขัน มีการติดรูปผู้พิพากษาหาเสียงในลิฟท์ และได้ยินมาว่า การเลือกตั้งนั้นจะมีแถมพก เช่น ถ้าเลือกตนเองจะสนับสนุนให้มีรถประจำตำแหน่ง ให้คอมพิวเตอร์คนละ 1 ตัว นี่ทำให้ขาดความสง่างาม


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ประธานศาลฎีกามาจากระบบอาวุโสตามเดิม


 


 


ส่วนประเด็น "ความเป็นอิสระของอัยการ" นั้น นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ความเป็นอิสระของอัยการเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาการทำงานของอัยการจะมีสิ่งล่อใจตลอดเวลา เช่น เอาเศษเงินมาล่อบ้าง หลอกล่อพาไปต่างประเทศบ้าง และหากอัยการเสียแค่คนเดียวที่เหลือก็จะเสียด้วย จึงอยากให้พิจารณาในเรื่องความเป็นอิสระของอัยการให้ดี


 


นายประพันธ์ นัยโกวิท กมธ.กล่าวว่า ความเป็นอิสระของอัยการนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยปฏิบัติได้จริง ที่ผ่านมามีการแทรกแซงความเป็นอิสระของพนักงานอัยการอยู่ตลอดเวลา เช่นมีตัวอย่างอยู่คดีหนึ่งที่มีหลักฐานฟ้องร้องบุคคลคนหนึ่งที่เป็นพรรคพวกกับอัยการคนหนึ่ง ซึ่งพอมีการพิจารณาแล้วอัยการก็ไม่สั่งฟ้องทั้งๆ ที่สามารถทำได้ปัญหาสภาพเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง จึงอยากให้พูดถึงการทำงานของพนักงานอัยการให้มาก โดยให้มีการประกันการดำเนินคดีให้มีความเป็นอิสระให้เป็นกลางสุจริตและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยการออกมาเป็นข้อบังคับว่าเวลาฝ่ายการเมืองสั่งการอะไรมาที่ขัดต่อการทำงานของอัยการก็จะให้ถือว่าคำสั่งนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งให้ยึดโยงกับข้าราชการประจำ


 


นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้ประกันการทำงานของอัยการให้มีความเป็นอิสระ เพราะทุกวันนี้การทำงานของอัยการมีความหมายมาก ถือได้ว่าบทบาทอัยการควบคู่กับการทำงานของศาล เพราะหากอัยการไม่อิสระอย่างแท้จริงเราจะเห็นโอกาสการพิจารณาเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ยาก เพราะรัฐบาลเองก็ต้องพึ่งอัยการในการเป็นที่ปรึกษา ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ก็เป็นหน้าที่ของอัยการในการต่อสู้คดีให้ด้วยเพราะถึงแม้อัยการเป็นอิสระจากรัฐบาลก็น่าจะทำหน้าที่ในเรื่องนี้ได้


 


ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กมธ. กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมอัยการถือว่ามีสำคัญมากจึงควรมีการทำงานในเชิงรุกมากกว่ารับเพราะที่ผ่านมาอัยการรับตลอดไม่มีโอกาสไปศึกษาหาข้อมูลหลักฐานด้วยตัวเอง จึงเชื่อว่าหากอัยการทำงานด้วยความเป็นอิสระ ก็จะทำงานได้มากขึ้นเช่นหากพนักงานสอบสวนอ้างว่าไม่มีหลักฐานอัยการก็ไม่สั่งฟ้อง สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนค้างคาใจในบทบาทของอัยการ ความที่อัยการขึ้นตรงต่อการเมืองทำให้นักการเมืองแทรกแซงได้ง่ายทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา แต่จะให้เป็นอิสระหรือขึ้นตรงต่อหน่วยงานไหนก็เป็นอีกเรื่อง


 


นายศรีราชา เจริญพานิช กล่าวว่า องค์กรใดก็ตามโดยเฉพาะองค์กรบริหารบุคคลหากได้มาจากการเลือกตั้งแล้วจะมีปัญหา เช่นกค. ตอนหลังมีการเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนครูบริหารงานบุคคลสามารถทำทุกอย่างได้จากขาวเป็นดำ เช่นมีครูถูกลงโทษมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับเด็กประถมเป็นเรื่องร้ายแรงมากแต่ครูคนที่ถูกกล่าวหาหลุดไปได้โดยไม่ต้องโทษทางวินัยเพราะมีการรับสินบนเป็นแสน เป็นที่มาของการติดสินบน เอาคืน พฤติกรรมคล้ายกับ ส.ส. จึงอยากเรียนว่าองค์กรใดที่เป็นการบริหารงานบุคคลหากหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งได้จะเป็นความปลอดภัยขององค์กรที่จะพิทักษ์รับฟังชื่อเสียงได้ ปัญหาจะตามมาจึงอยากปรับปรุงหลักการนี้กับทุกองค์กรโดยเฉพาะองค์กรบริหารงานบุคคล
 


ภายหลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวางนายสมคิดได้สรุปว่า ให้อัยการมีอิสระในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับตน และรัฐสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งอัยการสูงสุด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net