Skip to main content
sharethis

อดีตส.ว.เสนอ ให้ "ศาล" คัดเลือก "นายกฯรักษาการ"


 


โปรย


อดีต ส.ว. ในนามสโมสรธรรมาภิบาล ยื่นข้อเสนอต่อน.ต.ประสงค์ ไม่เอานายกฯ คนนอกแต่หนุนรัฐบาลรักษาการในสภาวะพิเศษ ติดดาบศาลเป็นองค์กรคัดเลือก ด้านมาลินี-มาลีรัตน์-สมบูรณ์ อดีต ส.ว.ดาหน้าต้าน "สรรหาส.ว." จวกลดทอนอำนาจประชาชน แก้ปัญหาสภาผัว-เมีย-เด็กฝากไม่ได้


 


 


ประชาไท - 16 มี.ค.50 ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.10 น. วันนี้ (15 มี.ค. 49) กลุ่มสโมสรธรรมาภิบาล นำโดยพญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ อดีตส.ว.นครสวรรค์ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตส.ว.สกลนคร นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตส.ว.ยโสธร และนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตส.ว.เชียงรายและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เข้ายื่นข้อเสนอเพื่อใช้เป็นสาระสำคัญในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยพญ.มาลินี กล่าวว่า กลุ่มสโมสรฯเป็นการรวมตัวกันของอดีตส.ว.และบุคคลที่ทำงานทางด้านสังคม ซึ่งข้อคิดเห็นที่นำเสนอในวันนี้เป็นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาและเป็นมติของสโมสรฯ


 


โดยมีสาระสำคัญคือ 1.ให้คงหมวด 3-5 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 2.นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง 3. รัฐมนตรีที่มาจากส.ส.ไม่ต้องลาออกจากส.ส. 4. รัฐบาลรักษาการต้องเป็นคนกลาง ไม่มาจากพรรคการเมือง 5. เพิ่มการกระจายอำนาจ 6.เพิ่มอำนาจในการตรวจสอบ โดยลดจำนวนส.ส.ที่เข้าชื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีรายบุคคลลง รวมทั้งลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอถอดถอนที่จากเดิมกำหนดให้มี 5 หมื่นรายชื่อให้ลดลงเหลือ2 หมื่นรายชื่อ และควรลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจากเดิม 5 หมื่นรายชื่อให้ลดลงเหลือ2 หมื่นรายชื่อ และให้ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายมีที่นั่งในกรรมาธิการ 7. ให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของศาลแผนกคดีอาญา ดูเรื่องนโยบาย และวิธีพิจารณาความฝ่ายต่าง ๆ 8. ให้มีคณะกรรมการไต่สวนพิเศษหรืออัยการพิเศษ


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในสาระสำคัญที่น่าสนใจที่กลุ่มสโมสรฯนำมายื่นแก่นต.ประสงค์คือองค์ประกอบของรัฐบาลรักษาการที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง โดยกลุ่มสโมสรฯเห็นว่ารัฐบาลรักษาการที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองควรประกอบด้วยประธานที่ปรึกษาและที่ปรึกษาอีกไม่เกิน 10 คน โดยต้องเข้ามาทำหน้าที่ภายใน 15 วัน หลังจากยุบสภา หรือเหตุอื่นที่ไม่มีสภา โดยให้ประธานศาลฏีกาสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่คัดสรรประธานที่ปรึกษา จากประธานศาลฏีกาที่เกษียณอายุหลังสุด หรืออดีตประธานศาลปกครองสูงสุดที่เกษียณอายุหลังสุดและอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญที่เกษียณอายุหลังสุด ซึ่งประธานที่ปรึกษาจะมีสถานภาพได้รับเงินค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับนายกฯ ส่วนหน้าที่หลักของรัฐบาลรักษาการณ์ที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองคือ จะต้องทำหน้าที่งานประจำของรัฐบาล กับการบริการและความช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่องนโยบาย ทั้งนี้จะต้องให้ความช่วยเหลือกกต.เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นด้วยความสงบเรียบร้อย เป็นธรรม และยุติธรรม ซึ่งรักษาการจะสิ้นสุดลงในวันที่นายกฯเข้ารับตำแหน่ง


 


อนึ่ง กลุ่มสโมสรธรรมาภิบาลมีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 23 คน ประกอบด้วย นายทองใบ ทองเปาด์ อดีตส.ว.มหาสารคาม นายอุดร ตันติสุนทร อดีตส.ว.ตาก นายปรีดี หิรัญพฤกษ์ อดีตส.ว.ปทุมธานี พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ อดีตส.ว.นครสวรรค์ นายสัก กอแสงเรือง คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายจอน อึ้งภากรณ์  นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตส.ว.กทม. นางนิพัทธา อมรัตนเมธา อดีตส.ว.ปทุมธานี นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัน อดีตส.ว.นครราชสีมา นายวงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง อดีตส.ว.พังงา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตส.ว.อุบลราชธานี นายการุณ ใสงาม อดีตส.ว.บุรีรัมย์ นายจรูญ ยังประภากรณ์ อดีตส.ว.สมุทรปราการ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม อดีตส.ว.อุดรธานี นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตส.ว.สกลนคร นายพิเชฐ  พัฒนโชติ อดีตส.ว.นครราชสีมา นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตส.ว.ยโสธร นายวิญญู อุฬารกูล อดีตส.ว.สกลนคร นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ อดีตสว.นราธิวาส นางเตือนใจ ดีเทศน์  อดีตส.ว.เชียงราย นางรสนา โตสิตระกูล นางสาวกิตติรัตน์ เซียงฉิน


 


มาลินี-มาลีรัตน์-สมบูรณ์ อดีต ส.ว.ดาหน้าต้าน "สรรหาส.ว."


 พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ อดีต ส.ว.นครสวรรค์ กล่าวถึงการกำหนดรูปแบบในการคัดสรรส.ว.ของอนุกรรมาธิการกรอบ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมือง ว่า ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยที่จะมีการคัดสรรส.ว.เพราะการคัดสรรเป็นการตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่ได้แก้ปัญหาของการเป็นตัวแทนของฝ่ายการเมืองได้อย่างแท้จริง เพราะระบบคัดสรรก็ยังสามารถเปิดช่องให้มีเด็กฝาก หรือผัวเมียจากฝ่ายการเมืองได้อยู่ดี โดยรูปแบบที่อนุกรรมาธิการกำหนดให้มี 2 บัญชี และให้มีคณะกรรมการกลางขึ้นมาคัดเลือกซึ่งจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการนี้มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะกำหนดให้เป็นสาขาอาชีพหรือเป็นตัวแทนจังหวัด ก็ต้องผ่านเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง


 


ด้านนางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว.สกลนคร กล่าวว่า ถึงส.ว.ชุดที่แล้วจะดีจะชั่วอย่างไร ก็ยังมีอยู่จำนวนหนึ่งที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าทำงานเพื่อประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้นเราจะต้องศรัทธาในกระบวนการการเลือกตั้ง ถึงแม้จะใช้ระยะเวลานานในการพิสูจน์ตัวเอง แต่ก็จะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และประจักษ์ในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งหากกกรรมาธิการยังยืนยันว่าจะคัดเลือกส.ว.โดยการสรรหา ตนก็มีความเห็นว่า สถาบันนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ต่อไปอีกแล้ว ยุบไปเสียเลยจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มาของส.ว.จะมีการกลับไปพูดคุยในสโมสรฯ เพื่อทำเป็นข้อเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณาต่อไป


 


ขณะที่นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว.ยโสธร กล่าวว่า หากกรรมาธิการมีความกังวลว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทำให้ได้สภาผัวสภาเมียและมีการซื้อเสียงรวมถึงระบบเด็กฝากจากฝ่ายการเมือง ตนก็อยากถามว่ารูปแบบที่กรรมาธิการกำหนดออกมาจะสามารถป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้จริงหรือเปล่า เพราะตนเชื่อว่าไม่ว่าระบบจะกำหนดมาดีอย่างไร แต่หากผู้ปฏิบัตินำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาก็จะต้องเกิดขึ้น ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยก็ควรให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง โดยตนขอเสนอรูปแบบให้ยุบรวมจังหวัด เช่น เอายโสธรยุบรวมกับร้อยเอ็ดและกำหนดจำนวนให้ประชาชนเลือก เพราะเมื่อเขตใหญ่ขึ้นก็จะทำให้ฝ่ายการเมืองซื้อเสียงได้ยากขึ้น น่าจะเป็นวิธีที่สามารถแก้ปัญหาได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net