Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 มี.ค.50 ที่รัฐสภา น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการสัมมนาในเรื่องรัฐธรรมนูญร่วมกับทหารวานนี้ (14มี.ค.) ว่า ทหารก็คือประชาชนที่เสียภาษี มีสิทธิเสรีภาพ สามารถที่จะออกความเห็นได้ในเรื่องบ้านเมืองการปกครองประเทศ หรือเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้เขาได้ถ่ายทอดการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ให้ทหารฟัง ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ ทำให้ทหารเข้าใจกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ดีขึ้น ทั้งนี้ เขาได้ขอให้ทหารส่งความเห็นกลับมาว่ามีความเห็นอย่างไรจะนำมาประกอบการพิจารณาด้วย


 


ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)จะไม่รับตำแหน่งนายกฯ ว่า ทำไมไปบอกว่าสนธิจะเป็นนายกฯ เรื่องนายกฯนั้นเป็นประเด็นหนึ่งเท่านั้นที่หยิบยกขึ้นมาเพื่อดูให้รอบคอบว่าที่มาที่ไปของนายกฯควรจะเป็นอย่างไร โดยปกติในทางการเมืองระบบประชาธิปไตย เมื่อเลือกตั้งไปแล้ว พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากก็ต้องสนับสนุนคนของเขาอยู่แล้วหรือถ้าเสียงไม่พอเป็นรัฐบาลผสม นักการเมืองก็เลือกคนของเขาอยู่แล้ว


 


ทั้งนี้ ที่พูดกันว่านายกฯมาจากการเลือกตั้งนั้นต้องทำความเข้าใจให้ถูกว่านายกรัฐมนตรีมาจากส.ส.ที่เลือกกันขึ้นมา นายกฯเลือกตั้งในบ้านเราไม่มี และประเด็นนี้หยิบยกขึ้นมาเพื่อดูว่าในยามวิกฤต เมื่อเกิดทางตันจริงๆเราจะทำอย่างไร หรือหาทางออกไม่ได้ก็ปฏิวัติรัฐประหารกันอีก เราพยายามหาทางปิดช่องเหล่านี้เอาไว้


 


อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ประเด็นนี้จะยังไม่มีการตัดสินใจ เพราะการตัดสินครั้งสุดท้ายคือหลังจากได้รับประชาพิจารณ์จากประชาชนว่าเอาอย่างไร กมธ.จะสนองตอบ


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการปรับถ้อยคำในม.7 ตามรัฐธรรมนูญ 40 ให้มีความชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้การเมืองเข้าสู่ทางตัน น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เราดูทุกมาตรา ตอนยกร่างเรียงมาตราเมื่อถึงมาตรานี้เราก็ต้องพูดกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ถึง เราทำตามกรอบที่ได้วางเอาไว้ แต่เราจะไม่กลับไปกลับมาไม่เช่นนั้นก็ไม่เสร็จ


 


"มาตรา 7 ยังไม่ได้พูดถึง เพียงแต่ตั้งเป็นประเด็นว่าถ้ามีวิกฤต เกิดทางตันขึ้นมาจะมีหนทางอื่นอีกหรือไม่ เรายกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเท่านั้น โดยหลักการแล้วนายกฯมาจากส.ส.แต่ถ้าในยามวิกฤตเราจะทำอย่างไร" น.ต.ประสงค์ กล่าว


 


เมื่อถามถึงประเด็นที่ทางทหารถามเกี่ยวกับการรัฐประหารโดยไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เป็นความเห็นของทหารที่ถามเขาเมื่อวานนี้ (14มี.ค.) ซึ่งเขาได้ตอบไปว่าต้องไปถาม ไปคิดกันเอง มาถามเขาไม่ได้เพราะเขาไม่ใช่หัวหน้าคณะปฏิวัติ


 


"คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีเพราะเขาก็ไม่อยากฉีกรัฐธรรมนูญหรอก รัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่ร่างกันง่ายๆ ทำกันมาเหนื่อยนะ แต่ถ้าถามว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกหรือไม่ ผมตอบไม่ได้เพราะกมธ.ยกร่างฯมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น" น.ต.ประสงค์ กล่าว


 


ส่วนที่พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการคมช. ระบุว่ามีขบวนการจ้องล้มรัฐธรรมนูญนั้น น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า มีบางกลุ่มบางพวกแต่ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ เพราะส่วนใหญ่ต้องการรัฐธรรมนูญ และคิดว่าเขาจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่จะมีบางกลุ่ม บางฝ่ายตั้งตัวจะไม่เอารัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ยังไม่ได้ร่าง แต่ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ส่วนจะเป็นกลุ่มการเมืองเก่าหรือใหม่นั้นไม่ทราบ


 


"ยอมรับว่าการมีกลุ่มที่ชี้นำให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นทำให้เกิดปัญหากับส.ส.ร.ในการให้ข้อมูลกับประชาชน ดังนั้นรัฐต้องใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ เผยแพร่เนื้อหาสำคัญที่เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่ให้ประชาชนเข้าใจหรือทราบต่อเนื่องจะช่วยได้มาก ป้องกันการทำให้ประชาชนสับสนไขว้เขว หรือไปเชื่อว่าบางเรื่องเป็นเรื่องจริงทั้งที่ยังไม่มีเรื่องจริงใดๆ ทั้งสิ้น"ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าว


 


"จรัญ" เชื่อร่างรธน.ผ่านประชามติ ถ้าไม่เป็นปชต.ค่อยแก้ทีหลัง


นายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงการเสนอแนวคิดที่จะนำรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 มาใช้กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ไม่ผ่านการประชามติ ว่าเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการประชามติโดยมีเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีผลดีต่อประชาชนมากกว่าการรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้


เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสต่อต้านรัฐธรรมนูญจากหลายฝ่าย นายจรัญ กล่าวว่าใครคือคนที่ต่อต้าน จุดยืนเขาอยู่ที่ไหน คิดว่าคนที่ยืนอยู่ข้างประชาชนยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยจริงไม่ควรต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ


ต้องดูว่าคนที่จ้องจะล้มรัฐธรรมนูญต้องการอะไร


 


"ใครละที่จะไปยืนตรงนั้นถ้าจะบอกว่าไม่พอใจเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะปฏิวัตินั่นแหละเรียกว่าแนวร่วมมุมกลับลองนึกดูว่าปัญหาเวลานี้เราต้องการอะไร ประชาชนต้องการอะไรต้องการรัฐธรรมนูญต้องการอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็วที่สุดใช่ไหมเขาก็กำลังจะทำคืนอำนาจประชาธิปไตยกลับมาคืนประชาชนแล้วทำไม่ไม่เอาเอาไปก่อนแล้วพอมีรัฐบาลแล้วค่อยไปแก้ไขดัดแปลงให้มีส.ส.ร.ใหม่เป็นส.ส.ร.จากประชาชนก็ได้อยากได้อะไรต้องการอะไรก็ไปทำเอา" นายจรัญ กล่าว


 


เมื่อถามต่อว่ามีผู้มองว่ารัฐธรมนูญฉบับนี้มาจากส.ส.ร.ของคณะปฏิวัติ นายจรัญกล่าวว่า สิ่งที่เราต้องการจากคณะปฏิวัติคืออะไร สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการสลายระบบปฏิวัติให้เร็วที่สุดใช่หรือไม่ถ้าใช่วิธีการสลายระบบปฏิวัติคือการเอารัฐธรรมนูญกลับมาให้เร็วที่สุด


 


เมื่อถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติการนำรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540กลับมาปรับปรุงเพื่อใช้ในการเลือกตั้งถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่าคิดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ


ปัญหาจะไม่หยุดที่การนำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ แต่ประชาธิปไตยจะไม่กลับมาและวิกฤตการเมืองจะเกิดขึ้น


 


ด้านนายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวเสริมว่า เมื่อยังไม่ยกร่างรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราจะไปต่อต้านอย่างไรอยากถามว่าจุดยืนของคนที่ต่อต้านอยู่ที่ไหน คนที่อยากล้มรัฐธรรมนูญมี 2


จำพวกคือคนที่ไม่รู้อะไรเลย กับคนที่ถูกชักจูงไปส่วนหากจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยส.ส.ร.ที่มาจากคณะปฏิวัติต้องพิจารณาให้ดีว่าครั้งที่แล้ว(รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540) มีเนื้อหาเป็นเผด็จการเพียงแต่ดูเหมือนภาพจะเป็นการประชาธิปไตยแต่พอส.ส.ร.นักวิชาการโหวตจะแพ้ตลอด รัฐธรรมนูญฉบับนี้หากดูที่เนื้อหาสาระจะทราบว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเพียงแต่เราอยู่ในบริบทที่ไม่เป็นประชาธิปไตย


 


"ผมร่างรัฐธรรมนูญมาสี่ครั้งครั้งปี 40 ที่มามันอิสระแต่มันไม่ใช่เนื้อหามันถูกคลุมโดยนักการเมือง


โหวดที่ไรฝ่ายวิชาการก็แพ้คราวนี้ที่มามันเหมือนไม่ประชาธิปไตยแต่สิ่งที่เราทำมันมีอิสระมาก"


นายเกริกเกียรติ กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net