Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 13 มี.ค. เวลา 17.30oน. ที่ห้องประชุม ชั้น 7 อาคารรัฐสภา 3 มีการประชุมของอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมืองที่มีนายจรัญ ภักดีธนากุลเป็นประธาน โดยวาระการประชุมในครั้งนี้เป็นการพิจารณาเรื่องกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ต่อเนื่องจากการประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งที่ 1 ที่อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 5-10มี.ค. ที่ผ่านมา


 


ที่ประชุมได้อภิปรายในประเด็นที่มาของ ส.ว. กันอย่างกว้างขวาง โดยนายจรัญกล่าวถึงข้อสรุปในห้องประชุมว่า เป็นที่แน่นอนแล้วว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะมีสมาชิกวุฒิสภา 160 คนตามสัดส่วนของส.ส. โดยแบ่งการสรรหาออกเป็น 2 บัญชี โดยบัญชีที่ 1 มี 76 คนคัดเลือกมาจังหวัด ผู้ที่ประสงค์จะทำหน้าที่ส.ว.ต้องเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 ปี และสมัครด้วยตัวเองผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนที่จะส่งขึ้นมาให้คณะกรรมการสรรหาส่วนกลางเลือกจังหวัดละ 1 คน ทั้งนี้ มีข้อสงวนและข้อเสนอไว้ว่าให้คณะกรรมการกลั่นกรองจังหวัดคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 5 คน ก่อนส่งมาให้คณะกรรมการส่วนกลางคัดสรร


 


ประธานอนุกรรมาธิการกล่าวว่า ส่วนบัญชีที่ 2 มีทั้งสิ้น 84 คน ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาอาชีพต่างๆ ที่จำเป็นในการทำหน้าที่วุฒิสภา โดยฝ่ายเลขาฯ จะไปกำหนดสาขาอาชีพรวมทั้งผู้ด้อยโอกาสอีกครั้ง ในบัญชีที่ 2 นี้จะไม่ให้มาสมัครด้วยตัวเองแต่จะเป็นการเสนอชื่อโดยองค์กรที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น มหาวิทยาลัย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคเอกชน ภาคธุรกิจและภาคเศรษฐกิจ โดยเสนอเข้ามาที่คณะกรรมการสรรหาส่วนกลางคัดเลือก 84 คนไม่ต้องผ่านกระบวนการใดเป็นกระบวนการคัดเลือกโดยตรง


 


อย่างไรก็ตาม หากระบบที่อนุกรรมาธิการนำเสนอมาใช้ไม่ได้ก็ต้องกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งส.ว.แบบเดิม หรือไม่ก็ยกเลิกระบบ ส.ว.ไปเลย


 


ทั้งนี้ นายจรัญพยายามเสนอที่จะให้มีการบัญญัติสัดส่วนของผู้หญิงในการคัดเลือก ส.ว.ให้ชัดเจนโดยกำหนดเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ประชุมได้ทักท้วงว่าหากเขียนกำหนดแบบนั้นจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญในการเลือกปฏิบัติ แต่นายจรัญได้แย้งว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเลือกปฏิบัติแต่เป็นเรื่องการเปิดโอกาสให้สตรีและคนด้อยโอกาสหรือคนพิการได้เข้ามาร่วมด้วย


 


ก่อนเสร็จสิ้นการประชุมนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อนุกรรมาธิการได้เสนอแนวคิดถึงที่มารัฐมนตรีว่า นอกจากการสรรหาส.ว. แล้วเรื่องที่มาของรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน เนื่องจากคนที่เป็นรัฐมนตรีโดยการซื้อตัวโดยนายทุน และถูกแต่งตั้งเข้าไปทำหน้าที่โดยไม่มีปี่มีขลุ่ยและไม่ได้มาจาก ส.ส.หรือมาจากประชาชน ขณะที่คนที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ กลับถูกตรวจสอบจากวุฒิสภาและองค์กรอื่นๆ อย่างเคร่งครัด


 


"แต่คนแบบนี้บินข้ามมาโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ จึงอยากให้กรรมาธิการช่วยกันคิดว่าสมควรหรือไม่ที่ก่อนที่บุคคลเหล่านี้จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต้องผ่านการตรวจสอบจากวุฒิสภาและให้ลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบให้เขาเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ จึงอยากฝากให้ที่ประชุมช่วยคิดในการตั้งด่านกันบุคคลเหล่านี้ด้วย" อนุกรรมาธิการกล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net