Skip to main content
sharethis


ประชาไท

- 12 มี.. 50 เมื่อวันที่ 11 มี.. ที่สมาคมศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเสวนาโต๊ะกลมเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีการหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร 'กรณีอุ้มหายกับความสมานฉันท์ระหว่างประเทศ'

..สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า การหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความชมรมนักกฎหมายชาวมุสลิม เกี่ยวข้องกับการวาดฝันถึงอนาคตสังคมไทยเป็นอย่างมาก เวลาเราพูดถึงอนาคตของสังคม เรามักคุยกันเรื่องแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ศักดิ์ศรีของประเทศ ตัวเลขจีดีพี จริงๆ แล้วความภาคภูมิใจในความเป็นประเทศไม่น่าอยู่เพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจ การพูดถึงอนาคตโดยไม่คำนึงถึงความภูมิใจในฐานะที่เป็นแผ่นดินร่มเย็น ปกป้องชีวิตที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมั่นคงคงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นการพูดถึงอนาคตของประเทศ การปฏิรูปประเทศ จึงแยกจากกันไม่ได้กับเรื่องแรงบันดาลใจและความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดูแลสิทธิมนุษยชนและชีวิตคนทุกคน

จาก

"สมชาย" สู่ "คนหาย" อีกมากมาย

..ประทับจิต นีละไพจิตร นิสิตปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุตรสาวของทนายสมชาย กล่าวว่า เป็นเวลา 3ปีแล้ว ความจริงในการหายตัวของทนายสมชาย-บิดาของเธอยังขมุกขมัว แต่ขณะเดียวกัน การหายตัวของเขากลับเผยให้ความจริงอีกหลายประการกระจ่างขึ้น ได้แก่ภาพความสูญเสียในลักษณะคล้ายๆ กันที่เกิดขึ้นจริงกับหลายๆ ครอบครัว โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้



"

การหายไปหรือการสาบสูญของบุคคลไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าอีกต่อไปในสังคมไทย ความจริงอีกแบบที่เกิดขึ้นหลังการหายตัวของคุณสมชาย คือวิธีการที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการซ้อมผู้ต้องหาในหลายๆ กรณี ความจริงแบบนี้เปิดเผยให้เห็นหน้าที่แท้จริงอีกด้านหนึ่งในสังคมไทย มากไปกว่านั้นเรายังรับรู้ว่า ความจริงประเภทเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น ภายหลังการหายตัวของคุณสมชาย เราได้ทราบว่าการหายตัวและการซ้อมทมานเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ดิฉันคิดว่าความจริงเหล่านี้นำมาสู่การตั้งคำถามง่ายๆ แต่สำคัญยิ่งว่า สังคมการเมืองแบบไหนที่ทำให้คนหาย และเราจะสร้างสังคมการเมืองที่ปกป้องคนเล็กคนน้อยได้อย่างไร"

..ประทับจิต กล่าวว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เราพูดกันมากเรื่องหลักนิติธรรมในการดูแลสังคม วัฒนธรรมการรับผิดที่ควรจะสร้างสรรค์ให้เกิดเพื่อปกป้องคนทุกคนในสังคม ในปัจจุบันเราพูดถึงการทบทวนกลไกในระดับต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรม เช่น การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยมีการพูดถึง ไม่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยคนธรรมดา

"

การมองไปให้ไกลไปกว่าการหายตัวของคุณสมชาย นับว่าเป็นการให้เกียรติกับคุณสมชาย และทำให้การหายตัวของคุณสมชายเป็นการเรียกคืนความเป็นธรรมที่เคยหายไปก่อนหน้าการหายตัวของคุณสมชาย ดิฉันคิดว่านี่คือความหมายของคำว่าสมานฉันท์ คือเริ่มจากการยอมรับความจริง แล้วก็อำนวยให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น"

เชื่อ

"อุ้มหายชายแดนใต้" ฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ

วราภรณ์ เจริญพานิช ผู้สื่อข่าวโมเดิร์นนายน์ ในฐานะที่ติดตามทำข่าวคนหายชายแดนใต้มาตลอด กล่าวว่า การอุ้มในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว สังคมไทยเริ่มพูดถึงเรื่องคนหายกันมากขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อต้นปี 2547 ลูกความของทนายสมชายถูกอุ้มไปรีดความลับและถูกบังคับให้รับสารภาพ ทนายสมชายเข้ามาช่วยในการดำเนินคดีและเปิดเผยความจริงต่อสังคมถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเป็นแกนนำในการล่ารายชื่อเพื่อให้ถอนกฎอัยการศึก บทบาทเหล่านี้อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่พอใจ นำไปสู่การอุ้มทนายเพื่อยุติความเคลื่อนไหว


จากประสบการณ์ติดตามทำข่าวพบว่า เหยื่อของการถูกอุ้มในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่

2 ส่วน คือ ส่วนแรกมักเชื่อว่าเป็นสมาชิกของขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ ผู้อุ้มมุ่งหวังที่จะรีดข้อมูลของขบวนการฯ ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่หาข่าวยากมาก และส่วนที่สองคือผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญาและมีการซ้อมบังคับให้รับสารภาพ แต่อาจหนักมือไป จึงต้องมีกระบวนการทำลายศพเพื่อไม่ให้มีความผิดถึงตัวของผู้กระทำ ซึ่งจากปากคำของญาติเหยื่อที่ถูกอุ้มและผู้อยู่ในเหตุการณ์ทำให้พบว่า มีลักษณะร่วมของการก่อเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารกับตำรวจ

"

ส่วนใหญ่บอกว่า ทีมอุ้มคือกลุ่มชายฉกรรจ์ มีอาวุธครบมือ เข้าไปอุ้มตอนดึก สวมหมวกดำ สวมแจคเกตดำ ใช้รถกระบะไม่มีทะเบียน ซึ่งคนที่มีความสามรถที่จะทำแบบนี้คงไม่ใช่ชาวบ้าน คนที่จะทำได้และน่าสงสัยที่สุดคือทหารกับตำรวจ ซึ่งหลังเหตุการณ์ปล้นปืน รัฐบาลทักษิณได้ส่งตำรวจจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่เพื่อทำคดีนี้เยอะมาก" วราภรณ์ กล่าวและว่า

การอุ้มหายเป็นอีกเงื่อนไขของความไม่สงบที่ดำรงอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตราบใดที่รัฐยังไม่สามารถตอบคำถามได้ คนในพื้นที่ก็จะยังไม่สามารถเชื่อมั่นในความยุติธรรมและไม่ให้ความไว้วางใจในรัฐ


"

วัฒนธรรมปลอดความรับผิด" อีกเงื่อนไขดำรงความรุนแรง

นายสุณัย ผาสุก จาก Human Right Watch ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า จากบรรดาคนที่หายไปมากมาย มีเพียง 23-24 คนเท่าที่มีหลักฐานพอยืนยันได้ แต่จำนวนคนที่หายไปจริงๆ มีมากกว่านั้นมาก เพียงแต่ญาติไม่กล้าออกมาแจ้งความหรือไม่รู้ช่องทางในการร้องเรียน และใน 24 กรณี มีกรณีของคุณสมชายเพียงกรณีเดียวที่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในเมืองไทยก็ไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ทำให้คุณสมชายต้องหายไปได้ การสืบสวนสอบสวนก็ดำเนินไปอย่างช้าๆ เงียบๆ สังคมก็เลยตั้งคำถามว่า ในหนึ่งคดีที่รัฐรับมาทำ มันดูเหมือนว่ายังไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้นเลย แล้วคนอื่นๆ ที่เป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ อยู่ในพื้นที่จะหาความเชื่อมั่นในรัฐได้จากที่ไหน


คนในพื้นที่ภาคใต้มีชีวิตที่ยากลำบากมาก ทางหนึ่งก็ถูกขบวนการฯ ข่มขู่ แต่อีกทางหนึ่งรัฐก็เป็นที่พึ่งพาไม่ได้ รัฐเรียกร้องให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับรัฐ แต่รัฐกลับไม่สามารถคุ้มครองชาวบ้านได้ อย่างนี้เป็นการคาดหวังที่มากเกินไปหรือเปล่า เคยถามญาติผู้สูญหายว่าจะแจ้งความไหม พวกเขาตอบว่าไม่ เพราะว่าแจ้งไปแล้วก็ไม่ได้อะไร ส่วนหนึ่งบอกว่าไม่สามารถคาดหวังความยุติธรรมจากรัฐได้ บางคนก็บอกว่าแล้วแต่พระประสงค์ของพระเจ้า บางส่วนบอกว่าอย่างน้อยให้รู้ว่าลูกหลานตนเป็นหรือตายยังไง


"

มีครอบครัวหนึ่งที่ลูกชายหายตัวไป เขาบอกว่า แม้แต่รูปถ่ายสักใบก็ถูกยึดไปหมด ไม่ใช่ทำให้ตัวบุคคลหายไปอย่างเดียว แม้แต่หลักฐานใดๆ ที่จะยืนยันว่าคนคนนี้ปรากฏอยู่บนโลกนี้มันก็ถูกลบออกไปจนหมดสิ้นเลย ทำไมต้องกระทำกันถึงขนาดนี้ด้วย"

นายสุณัย กล่าวต่อไปว่า เราได้เห็นความพยายามรัฐในการเยียวยาด้วยการมอบเงิน แต่เงินซื้อความยุติรรมไม่ได้ ถ้าบอกไม่ได้ว่าใครทำให้พ่อ สามี หรือลูกของพวกเขาหายไป มันไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ต่อให้ขอโทษอีกสิบล้านครั้งก็คงไม่ทำให้ไฟใต้ดับลงได้ นี่เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับรัฐไทยที่มีความรับผิดชอบในสองชั้น ชั้นแรกคือความรับผิดชอบในฐานะเป็นรัฐอธิปไตยที่จะต้องอำนวยไว้ซึ่งการรักษากฎหมายและความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม สอง รัฐยังต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นสถานการณ์เฉพาะกิจในพื้นที่ภาคใต้ เพราะว่ารัฐบาลนี้มีธงในการเข้ามาที่จะลดความแตกแยกและยุติปัญหาใต้


"

ไม่มีใครพูดถึงกรอบการแก้ปัญหาเรื่องคนหาย และไม่มีการพูดถึงความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ที่ทำผิดลอยนวลไปได้ นี่คือวัฒนธรรมปลอดความรับผิด มันจึงเกิดความรู้สึกสองมาตรฐานว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นมนุษย์วิเศษหรืออย่างไร ทำอะไรก็ได้ ขณะที่ประชาชนนั้น แค่สงสัยก็ถูกจับไปซ้อมแล้ว"

นายสุณัย กล่าวต่อว่า นี่คือเชื้อที่ทำให้ไฟใต้ไม่สงบลง มีแต่จะโหมแรงขึ้น คือสิ่งที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนำมาใช้ปลุกระดมให้ทุกครั้งที่มีการจับกุมก็จะมีม็อบออกมา แม้หลายในช่วงหลังเจ้าหน้าที่พยายามหาหลักฐานมากขึ้น ทำงานรัดกุมมากขึ้น แต่ไปจับทีไรก็เจอม็อบทุกที นั่นเพราะไม่แก้ปัญหาก่อนหน้าซึ่งคั่งค้างสะสมมา ถ้าไม่ตอบโจทย์เหล่านี้ ไม่เปิดเผยความจริง ไม่นำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ปัญหาม็อบเรื่อง คลุมหน้าไม่มีทางแก้ได้


การเอาทหารพรานหญิงมารับมือม็อบ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทำไมไม่แก้ที่ต้นเหตุ ให้ในการจับกุมทุกครั้งชาวบ้านเชื่อใจได้ รู้ว่าจะเอาตัวญาติเขาไปไว้ที่ไหน ทนายและญาติเข้าเยี่ยมได้ ไม่ถูกทรมาน ปัญหาม็อบคลุมหน้าจะจบ และเราจะได้ใจชาวบ้านด้วย


"

ความน่าเชื่อถือของรัฐ อำนาจของรัฐ มันร่อยหรอลงทุกวัน แต่นั้นสำคัญน้อยกว่าสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงที่โหมทวีหนักขึ้นทุกวัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารัฐล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการตอบโจทย์เรื่องการทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งคุณสมชายเป็นหนึ่งในนั้น"

คนชั่วยังลอยนวล

-คนผิดยังมีอำนาจ

นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า เรื่องเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ตัวเองก่อขึ้น กลายเป็นคนทำความผิดที่ลอยนวลอยู่เหนือกฎหมายนั้น เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย เป็นมะเร็งร้ายของประเทศ ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้มีอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ และคนที่เป็นเหยื่อของมะเร็งนี้ไม่เพียงเฉพาะคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยทั้งประเทศ เช่น ผู้ใช้แรงงานต่างด้าว คนไร้รัฐไร้สัญชาติเผ่า ล้วนเป็นเหยื่อของผู้มีอิทธิพลเหนือกฎหมาย


"

ในกรณีตากใบ เราเห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่กระทำกับผู้ชุมนุมอย่างไร้มนุษยธรรม แม่ทัพภาค 4 ถูกลงโทษด้วยการย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ผมเคยถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารว่า เห็นว่าการลงโทษนี้เป็นอย่างไร ทุกคนตอบว่าเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงมาก ผมตอบว่า ถ้าคุณพูดแบบนี่กับเหยื่อ เขาจะหัวเราะใส่หน้าหรือเอาปืนยิงคุณ เพราะการลงโทษแบบนี้เป็นการสบประมาทประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากของ "วัฒนธรรมคนชั่วลอยนวล" เราต้องลงโทษ ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาใต้ แต่เพื่อคงหลักการนิติรัฐ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการสร้างสังคมประชาธิปไตย" เขากล่าว

ทั้งนี้ นายสมชาย ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีภาคใต้ จะเห็นว่าหลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนในต้นปี

2547 มีตำรวจจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามคนร้าย โดยมี พล..โกวิท วัฒนะ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการเป็นหัวหน้าทีม ทั้งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นเกิดเหตุอุ้มหลายรายในพื้นที่ รวมทั้งกรณีของทนายสมชาย ตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมคณะกรรมการตำรวจครั้งล่าสุดที่ยังไม่สามารถแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ได้ ต้องรอให้คนเก่าเกษียณก่อน สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลและความสัมพันธ์แนวนอนยังมีอยู่อย่างเหนียวแน่น แม้ว่า พล...โกวิท วัฒนะ จะถูกย้าย แต่ก็ยังมีตำแหน่งใน คมช.อยู่

"

ผมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนกรณีอุ้มฆ่าและทรมานที่เกิดขึ้น ทั้งในกรณีของคุณสมชายและกรณีอื่นๆ เพื่อหาตัวการมาลงโทษในทางวินัยและอาญาให้ได้ กำจัดวัฒนธรรมคนชั่วลอยนวลไปจากสังคมไทย ผมขอเรียกร้องให้ พล..สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ไม่ใช้อำนาจทั้งในการปกป้องคนผิด ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นญาติหรือเพื่อนร่วมรุ่น และขอเรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาระหว่างประเทศ การป้องกันการบังคับให้บุคคลหายไป"

"

อนุสัญญาต้านคนหาย-ทรมาน" หนทางคืนความยุติธรรม

นายสมชาย ยังอธิบายถึงเรื่องที่ว่า ทำไมศาลจึงไม่สามารถลงโทษจำเลย 4-5 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ...เงิน ทองสุข ในคดีบังคับให้ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายไปได้ ประเด็นหนึ่งก็คือ ประเทศไทยไม่มีกฎหมายทางอาญาที่มีความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหายไป จึงเพียงแต่ลงโทษได้เฉพาะในมูลฐานหรือข้อหาความผิดเกี่ยวกับการใช้กำลังบังคับข่มขืนใจ ทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ ซึ่งมีโทษสูงสุดเพียง 3 ปีเท่านั้น แต่อนุสัญญาฉบับนี้ (อนุสัญญาระหว่างประเทศ การป้องกันการบังคับให้บุคคลหายไป) กำหนดว่าประเทศภาคีสมาชิกจะต้องมีตัวบทกฎหมายหรือจะต้องออกตัวบทกฎหมายว่าที่ให้การบังคับให้บุคคลคนหายไปเป็นความผิดในทางอาญา และให้ถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และในบางสถานการณ์ ถ้ามีการบังคับให้บุคคลหายไปอย่างเป็นระบบและอย่างกว้างขวาง ก็ให้ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่มีโทษร้ายแรง


"

ในอนุสัญญาฉบับนี้ยังให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ในการรับผิดชอบด้วย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้ร่วมโดยตรง แต่เป็นผู้ออกคำสั่งหรืออำนวยประโยชน์ ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าถ้าอนุสัญญาฉบับนี้ได้มีผลบังคับตั้งแต่สามสี่ปีก่อน และประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่านายกฯ ทักษิณจะตกเป็นจำเลยในข้อหาบีบบังคับให้บุคคลคนต้องสูญหายไป" เขากล่าว

นายสมชายเชื่อว่าการที่นายกฯ ทักษิณออกมาพูดว่าต้องจับให้ได้ภายใน

7วัน หลังปล้นปืน จะต้องปฏิบัติกับคนเหล่านี้โดยไม่ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต่างๆ เหล่านี้อาจตีความได้ว่าเป็นการให้ท้ายหรือสนับสนุนการก่ออาชญากรรมบีบบังคับให้บุคคลสูญหายไปได้ นอกจากนั้นมีนายตำรวจหลายคนรู้ว่าจะมีการลักพาตัวทนายสมชาย แต่ไม่ห้ามปรามขัดขวาง ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการ คนเหล่านี้ก็จะต้องมีความผิดตามอนุสัญญานี้เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนถ้าคนเหล่านี้หนีไปอยู่ที่อื่น ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยนวล

"

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องรีบให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาฉบับนี้" สมชาย กล่าวย้ำ

กรรมาธิการยกร่างฯ กล้าไหม บรรจุเรื่องคนหายใน รธน

.?

นางอังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และภรรยาทนายสมชาย กล่าวถึงการหายตัวไปของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ว่า ตำรวจภูธรภาค

9 ได้ตอบคำถามคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพที่ทวงถามถึงกรณีคนหาย 28 ราย ว่า มีข้อมูลของดีเอสไอที่ระบุว่ามีคนหายไปจริง 17 ราย โดยมีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วรายละ 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่ามีบุคคลที่ไม่ได้หายไป 3 ราย โดยหนึ่งในนั้นเสียชีวิตไปแล้ว มีใบมรณะบัตร แต่สภาพศพจำหน้าไม่ได้ ญาติจึงยังไม่เชื่อ ยังรอให้มีการขุดศพขึ้นตรวจดีเอ็นเอ แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความพยายามที่จะเก็บดีเอ็นเอพิสูจน์ศพ ในขณะที่อีก 2รายเจ้าหน้าที่ระบุว่าหนีไปเพราะมีหมายจับของทางการ แต่มีข้อสังเกตว่าหมายจับนั้นออกมาหลังการหายไปของทั้งสอง

นงอังคณายังให้ภาพบุคคลสูญหายในชายแดนใต้อีกหลายราย อาทิ มีรายหนึ่งซึ่งเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนศาสนาซึ่งหายไปทั้งคนทั้งรถ เขาเป็นลูกศิษย์ของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบ มีสองรายที่ อ

.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งหายไปพร้อมพร้อมๆ กันในละแวกเดียวกัน นอกจากนี้ยังมี 2รายที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเคยทำงานร่วมกับตำรวจและหายไปขณะเดินทางไปพบตำรวจ แม้จะมีการสืบสวนแต่ก็ไม่สามารถฟ้องได้เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ หรือในกรณีเจ้าของร้านขายโทรศัพท์และลูกจ้างที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกอุ้มหายไปกลางแหล่งชุมชน ท่ามกลางสายตาของชาวบ้านจำนวนมาก เป็นต้น

นางอังคณาเห็นว่า ปัญหาทั้งหมดนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านออกมาประท้วงทุกครั้งที่มีการจับกุม เนื่องจากประชาชนไม่มั่นใจว่า ญาติพี่น้องของเขาถูกจับกุมไปแล้ว จะได้รับการปฏิบัติอย่างน้อยที่สุดตามสิทธิที่ผู้ต้องหาพึงมีหรือไม่ จะถูกซ้อมทรมานไหม จะถูกทำให้หายไปไหม ตนเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ชาวบ้านสามารถมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมได้ มั่นใจว่าญาติพี่น้องของเขาไม่ว่าจะถูกจับด้วยข้อหาอะไรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามสิทธิของผู้ต้องหา ทุกคนน่าจะยอมรับที่จะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมและไม่หันไปหาวิธีการอื่น ไม่หันไปให้ความร่วมมือกับผู้ที่พยายามยุยงปลุกปั่น



นางอังคณากล่าวต่อไปว่า รัฐไทยควรจะหันมาไตร่ตรองถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น รัฐได้แก้ปัญหาไปอย่างไร พล

..สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรับมนตรี พยายามพูดถึงหลักนิติธรรม แต่วันนี้ยังไม่มีใครได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง แม้แต่ความยุติธรรมเรื่องการเปิดเผยความจริง รัฐจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงไปทุกวัน ขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา 2 ประการ คือ


ประการแรก จำเป็นต้องแยกอำนาจสอบสวนออกจากอำนาจสืบสวนโดยเด็ดขาด โดยให้ตำรวจมีหน้าที่เพียงแค่ขั้นตอนการสืบสวนและจับกุม ส่วนกระบวนการสอบสวนควรให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่น อาจจะเป็นอัยการซึ่งต้องเป็นอิสระจากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอัยการไทยสมควรที่จะออกมามีบทบาทในเชิงรุกมากกว่าที่จะตั้งรับ อัยการน่าจะหาพยานหลักฐานด้วยตัวเองด้วย ไม่ใช่เพียงแต่รอรับจากสำนวนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมาให้ ปัญหาการซ้อมทรมานไม่มีวันหมดไป ถ้าตำรวจยังคงคุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งการสืบสวนสอบสวนและจับกุม



ประการที่สอง ควรให้มีการพิจารณาคดีโดยเร็วและในทันที ยกตัวอย่างการใช้ ป

. วิ อาญา มาตรา 90 ในกรณีของการกักขังหน่วงเหนี่ยว ศาลสามารถไต่สวนได้ทันที ควรนำวิธีการเช่นนี้มาใช้กับคนที่ถูกซ้อมทรมานซึ่งสามารถขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนได้ในทันที และใช้ระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหา เพื่อที่จะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หลายครั้งที่ผู้ถูกซ้อมทรมานไม่สามารถหาความเป็นธรรมได้ เพราะกว่าจะถึงวันเปิดศาล บาดแผลที่เกิดจากการทรมานก็หายหมดแล้ว ที่สำคัญคือผู้เสียหาย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ไม่มีใครรู้ว่าคนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการคุกคามในรูปแบบไหนอย่างไรบ้าง

"

กรณีของคุณสมชายในวันนี้ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อการหาตัวคุณสมชาย การหายตัวของคุณสมชายเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการบังคับให้บุคคลหลายๆ คนในประเทศต้องสูญหาย การหายตัวของคุณสมชายทำให้เราคิดถึงคนหายอีกมากมายในสังคมที่ไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาบอกกับใครได้"

ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อังคณายังได้ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือกฎหมายอาญาฉบับใดจะรับรองสิทธิของบุคคลที่สูญหาย เรื่องนี้คงต้องเป็นแรงผลักดันจากภาคประชาชน คงต้องตั้งคำถามว่า แล้วกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญหรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะกล้าหาญพอไหมที่จะบรรจุคำว่า

"บังคับให้บุคคลต้องสูญหาย" เพื่อรับรองสิทธิของผู้สูญหายลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลไทยจะกล้าหาญพอไหมที่จะร่วมลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้บุคคลต้องหายไป ซึ่งเป็นอนุสัญญาฉบับใหม่ของสหประชาชาติ เพื่อให้ความคุ้มครองคนไทยทุกคนที่จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป

"

แม้กระบวนการยุติธรรมจะไม่สามารถคืนชีวิตผู้สูญหายให้กับครอบครัวได้ ก็จะต้องรับผิดชอบในการคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้สูญหายทุกคนอย่างไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net