Skip to main content
sharethis


ประชาไท

- โครงการตลาดวิชาชาวบ้าน จัดเวทีเสวนา 'เมืองไทย:หลังขิงแก่ 1' ณ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ศ. 2549 เป็นวิกฤติการณ์การเมืองไทยและเกิดปรากฏการณ์สนธิ สนธิ ได้จัดการเสวนา 'Post Taksin' 5 ครั้ง เราถูกเรียกร้องให้ทำหน้าที่คล้ายโหราจารย์ ทำนายทายทักถูกหรือผิดบ้าง เมื่อเราถูกถามเราควรใช้วิชาของเรามอง ส่วนตัวใช้การมองประวัติศาสตร์แบบสำนักฝรั่งเศสคือมองยาวๆไปร้อยปี


ทั้งนี้ ในการเสวนา 'Post Taksin' ครั้งที่ 4 พูดว่า การมองการเมืองไทยให้มองว่ามีกี่พลัง ตอนนั้นบอกว่าพลังแรกได้แก่พลังของสถาบันพระมหากษัตริย์และเครือข่ายซึ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนการเมืองไทย พลังที่ 2 คือ พลังข้าราชการที่มีทหารเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก พลังที่ 3 คือ พลังนอกระบบราชการ เป็นกลุ่มสำคัญก่อตัวชัดในปัจจุบัน เช่น พวกภาคประชาชน นี่คือภาพของ พ.ศ. 2549


อย่างไรก็ตาม ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ครั้งนี้จะมองเป็นภาพรวมเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกี้ยเซี๊ยะ ไปถามเจ๊ข้างบ้านเขาบอกว่า เกี๊ยะเซี๊ยะ ความหมายมันยิ่งกว่าคำว่าฮั้ว ซึ่ง ดร.เบเนดิก แอนเดอร์สัน (นักวิชาการมหาวิทยาลัยคอแนล) เคยใช้คำว่าสังคมไทยเป็น

Oligarchy ซึ่งน่าจะมีความหมายเดียวกันอีกทั้งมองว่าในอุษาคเนย์ไม่มีประเทศไหนเลยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ

ขณะเดียวกันเมื่อประมาณ

70 ปีมาแล้ว ในช่วงปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยรัชกาลที่ 7 มีปาฐกถาสำคัญครั้งหนึ่งโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ว่า สังคมไทยมีคุณลักษณะพิเศษ 3 ประการ ประการที่ 3 ที่กล่าวในครั้งนั้นคือ ลักษณะการประสานประโยชน์หรือประนีประนอมกันดีมาก

เมื่อโยงประเด็นกับหนังสือสู่ดุลยภาพที่ใช้ทฤษฎีของปาเรโต(

Vilfredo pareto) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอิตาลี(1848 -1923) พูดถึงทฤษฎว่าด้วยอภิชน เป็นผู้ตั้งทฤษฎี 80 20 คือประชากร 20 % เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 80 % เขาบอกว่าประวัติศาสตร์คือสุสานของอภิชน สรุปว่าเอาเข้าจริงแล้วการเมืองไม่ว่าเป็นระบอบอะไรก็ตามไม่ว่าจะมนุษยนิยม เสรีนิยม ฟาสซิส คอมมิวนิสต์ ก็มีลักษณะเหมือนกัน คือผู้นำต้องการอภิสิทธิ์ เอกสิทธิ์และรักษาอำนาจที่อยู่ในมือตัวเองตลอดเวลา ดังนั้นข้างล่างไม่ว่าจะสู้กันอย่างไรก็ตาม ข้างบนจะประสานประโยชน์และประนีประนอมกันตลอดเวลา

สรุปว่าที่ผ่านมาสังคมไทยประสานประโยชน์แล้วก็เป็นกลุ่มเดียวกัน ถ้าใช้ทฤษฎีเก่ามามอง สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้จะต้องประสานกันได้แล้วจบ เนื่องจากมันมีสัญญาณเกี้ยเซียะ เช่น การมีสตรีสูงศักดิ์ใส่เสื้อเหลืองเดินเข้าบ้านองคมนตรี การแต่งตั้งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือการปิดและเปิดสถานีโทรทัศน์ไอทีวี


ทว่า ดร.ชาญวิทย์ ยังกลับมองสวนกลับไปในอีกทางด้วยว่า บางทีอาจจะไม่เป็นไปตามนั้นเพราะสังคมมีความซับซ้อน และปัญหามากมายสะสมมานานมากนับตั้งแต่ปี

2475 เกิดรัฐประหารหลายครั้ง เกิดวัฏจักรรัฐธรรมนูญ เกิดความยุ่งเหยิงมาก จนมีกลุ่มพลังใหม่ๆที่เชื่อว่ากิดขึ้นมากกว่ากลุ่มพลังต่างๆในอดีตจึงทำให้เกี้ยเซี๊ยะกันไม่ได้

เมื่อมีการถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่

18 ที่กำลังร่างจะผ่านการลงประชามติและปีนี้จะมีเลือกตั้งหรือไม่ ดร.ชาญวิทย์ ยิ้มแล้วตอบว่า เชื่อว่ามีรัฐธรรมนุญฉบับที่19 และ 20 ลูกศิษย์เคยมาถามว่าจะออกจากวัฎจักรนี้ได้เมื่อไหร่ เลยบอกเขาว่าอาจารย์คงมีชีวิตอยู่ไม่ทันได้เห็น

ส่วนคำตอบเรื่องประชามตินั้น ดร.ชาญวิทย์ ตอบว่า คิดว่ารัฐธรรมนุญจะไม่ผ่านประชามติ เพราะทุกคนต่างมีวาระซ่อนเร้น นอกจากนี้เชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่มีและน่าจะมีปฏิวัติซ้ำหรือซ้อน ถ้าใช้ประวัติศาสตร์ยาวๆมามองทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหารจะมีรัฐประหารซ้ำหรือซ้อนเสมอ


การยึดอำนาจ

2475 ก็เป็นรัฐประหารในรูปหนึ่ง ตามมาด้วยการยึดอำนาจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา วันที่ 1 เม.ย. 2476 เป็นรัฐประหารโดยรัฐสภา ตามมาด้วย 20 มิ.ย. 2476 มีการรัฐประหารซ้ำของพระยาพหลพลพยุหเสนากับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

พ.ศ.

2490 การรัฐประหารของจอมพลผิณ ชุณหะวัณ ตามมาด้วยการรัฐประหารซ้อน พ.ศ.2491 แต่ไม่สำเร็จเลยเรียกว่าเป็นกบฎเสนาธิการ ตามมาด้วยรัฐประหารซ้อนซึ่งไม่สำเร็จอีกก็กลายเป็นกบฎวังหลวง พ.ศ.2492 ตามมาด้วยกบฎแมนฮัตตัน พ.ศ.2494

พ.ศ.

2500 ก็ตามมาด้วยการรัฐประหารซ้ำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เรียกว่าการปฏิวัติ 2501 ในพ.ศ.2514 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจรก็เกิด 14 ตุลา พ.ศ.2516 ต่อมา 6 ตุลา พ.ศ.2519 ก็ตามมาด้วย การรัฐประหารโดยเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ พ.ศ.2520 หรือ พ.ศ.2534 - 35 โดยประวัติศาสตร์การยึดอำนาจ การรัฐประหาร19 ก.ย.ไม่น่าจะหนีตรงนี้

ดร.ชาญวิทย์ สรุปจบว่า การยึดอำนาจ

19 ก.ย. 49 เหมือนกับการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลา 2519 มากที่สุด ทั้งนี้สถิติการรัฐประหารย้อนกลับไปดู 100 ปี จะมีเฉลี่ยทุก 4 ปี คือตั้งแต่ความพยายามของนายทหารหนุ่มที่พยายามยึดอำนาจรัชกาลที่ 6 ใน รศ.130 หรือ พ.ศ. 2454 กลุ่มนี้อายุประมาณ 18-20 แต่กลุ่มที่ทำสำเร็จคือ 2475 อายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี กลุ่มปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีอายุมากที่คือประมาณ 60 ปี ถ้าดูอายุเฉลี่ยของคนที่มาคุมอำนาจทางการเมืองจะมีเคิร์ฟที่ค่อยไต่ไปจนแก่มากๆ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ชุดของรัชกาลที่ 7 แก่ที่สุด ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สมัยหลังจากนั้นเคิร์ฟที่ขึ้นสูงสุดจะโค้งลงวูบ เอาเข้าจริงแล้ว

19 ก.ย.จะเหมือนกับการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลา 2519 คนยึดอำนาจยึดด้วยความกลัวคอมมิวนิสต์หรืออะไรอีกมากมาย แต่พอยึดแล้วไม่รู้จะทำอะไร ในที่สุดก็ถูกรัฐประหารซ้ำหรือซ้อน การรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ยึดมาด้วยความกลัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตรแต่ไม่รู้จะทำอะไรต่อจนปัจจุบันเปรียบเทียบแล้ว 30 ปี พอดี

นอกจากนี้เมื่อมองจากวิจัยเล็กๆของตัวเองจากกราฟสถิติอายุ จะเห็นว่าเสนาบดีในสมัยรัชกาลที่

5 ถึงจุดหนึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้จนอายุสูงมากก็ไปเป็นเสนาบดีที่มีอำนาจในสมัยรัชกาลที่ 7 ปัญหาความขัดแย้งกันเยอะมาก ปัจจุบันเคิร์ฟอายุกำลังสูงสุด ขิงแก่อายุสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย ดังนั้นคิดว่าเราจะกำลังเผชิญกับสึนามิทางการเมืองที่ใหญ่มากๆ หลังจากนั้นจึงจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

ด้าน ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการอิสระและอดีตหัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวว่า คนชนบทยังรักพ.ต.ท. ทักษิณ แต่ด้วยความเป็นคนไทยจึงรอดูสถานการณ์ จะให้ออกมาเดินขบวนตอนนี้คงยังไม่มี เพราะความเป็นคนไทยมีไหวพริบ


อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนจากชนบทว่า รัฐบาลขิงแก่ดูจะไม่สนใจความเป็นอยู่ชนบท เช่น ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา คนชนบทมองว่ารัฐบาลขิงแก่ดูแลไม่จริงจัง ไม่ทุ่มเทสุดใจเหมือนรัฐบาลทักษิณ กรณีอื่นๆก็เช่น การประกันราคาข้าวที่ให้ราคาน้อยลงทำให้ราคาข้าวตก คนในต่างจังหวัดรู้สึกว่ารัฐบาลขิงแก่เป็นรัฐบาลของคนในเมืองใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่คนชนบทรู้สึกว่ารัฐบาลขิงแก่ทำได้ดีคือการจะแต่งตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพราะรู้สึกว่าคล้ายพ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นความหวังได้


ส่วนคนในเมืองพอมีการรัฐประหาร

19 ก.ย.49 แล้วก็ยุติทุกอย่างหมด ก็เป็นลักษณะคนไทยที่จะรู้จักประสานประโยชน์ คนในเมืองก็คล้ายคนชนบท จะให้ต่อต้านรัฐบาลรัฐประหารทันทีก็ไม่เอา หรือคิดแบบแผ่วๆ

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้คนมีมาตรฐานสูงขึ้น ต้องการรัฐที่มีนโยบาย รู้กฎหมาย เชื่อมต่อความรู้สึกกับประชาชนได้ แต่ไม่ใช่ขอโทษได้ทุกวัน เมื่อเอาเกณฑ์คนทั่วไปที่สูงขึ้นไปวัดก็จะบอกว่าเป็นอมาตยาธิปไตย มาตราฐานที่สูงขึ้นทำให้รัฐขิงแก่ปกครองยากและคนจะจำไปนานว่ารัฐบาลจากแต่งตั้งไม่น่าประทับใจ แต่มีแง่ให้กำลังใจที่อาจทำให้อยู่ได้คือรัฐบาลนี้จะอยู่ไม่นาน เพราะหากอยากอยู่นานจะล่มทันที อาจยักแย่ยักยันไปจนรอดได้ แต่คิดดูแล้วอีก

7-8 เดือน ซึ่ง 4 เดือนผ่านมาก็ทำท่าจะไปยาก

ดร.เอนก บอกอีกว่าว่า หากรัฐบาลยังยักแย่ยักยันแบบนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)จะทนไม่ไหว เพราะจะหาทางลงลำบาก และทางลงจะยิ่งพิเศษ ยิ่งคิดแนวทางก็อาจจะไปใกล้ๆทางลงที่ผ่านมาคือลงไม่ดี แม้ คมช. อยากจะเกี้ยเซี๊ยะ แต่หากรัฐบาลยักแย่ยักยันก็ไม่สร้างความมั่นคงให้คมช. ได้ ตอนนี้คงกำลังคิดไปหลายแบบว่าจะทำอย่างไร


"

ผมเป็นคนไม่เห็นอะไรมืดดำง่ายๆ แต่มาเที่ยวนี้เริ่มเห็นความมืด ได้แต่หวังว่ารัฐบาลยักแย่ยักยันจนอยู่ครบแล้วปรับดีขึ้น มีรัฐธรรมนูญที่พอรับกันได้ มีนักการเมืองที่พอรับได้ หวังแค่นี้เอง ไม่หวังมาก แต่แค่นี้ก็ยากแล้ว" ดร.เอนกกล่าว

รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีการเริ่มขยายกลุ่มแวดวงเทคโนครต เดิมเรานึกถึงไม่กี่ชื่อ เช่น สหพัฒน์หรือนิด้า แต่คราวนี้นักวิชาการที่ไปช่วยรัฐขยายออกกว้างขึ้น สาขาที่ถูกให้ความสำคัญเพิ่ม คือ แพทย์และวิศวะซึ่งมีร่องรอยโผล่มาตั้งแต่ในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มเหล่านี้สังคมมองว่าฉลาดที่สุดจะมานับวงทางวิชาการที่เป็นภาพใหม่


ส่วนสื่อซึ่งควรอยู่กลุ่มพวกพลังนอกระบบที่มีวิญญาณอุดมการณ์สามัญชนค้านอภิชน แต่ปัจจุบันคงต้องบันทึกว่าในช่วงนี้ถูกรวมไปอย่างแรง สื่ออาสาไปอยู่ในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) การประสานประโยชน์มันกว้างขวางยิ่งขึ้น แต่จะเป็นผลดีหรือเสีย ในอนาคตหลังขิงแก่ต้องคิดต่อว่าเป็นสัญญาณอะไร จะขยายกลุ่มอภิชนหรือไม่


"

นักวิชาการเวลาถูกดึงสู่อภิชนจะกลายเป็นชาติตระกูล สร้างอภิชนใหม่ๆ แต่ไม่ได้สร้างสามัญชนใหม่ๆที่แข็งแกร่ง การเข้าไปมีส่วนร่วมของอภิชน" รศ.อุบลรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังกล่าวเสริมว่า การที่รัฐดึงคลื่นสถานีโทรทัศน์ไอทีวีกลับจะส่งผลในการสร้างความเป็นปึกแผ่นสำหรับรัฐบาลมากขึ้น แต่ความรู้สึกในเชิงโครงสร้างจะวนกลับมาต่อสู้หมือนเดือนพฤษภาคม

2535 เพราะทุกสื่ออยู่ในวงรัฐหมด การพูดจาเหมือนถูกกดในกาต้มน้ำ ซึ่ง 6 เดือนที่เหลืออาจจะเดือดเร็วกว่าปกติ พื้นที่เล็กๆอาจมีบ้างตามสื่อทางเลือกต่างๆ เช่น ทางเว็บไซต์แต่ก็พบว่านับหมื่นเว็บถูกปิด การปิดนี้นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง ในที่สุดก็ไม่ต้องใช้อัยการศึกหรือคำสั่งอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจรัฐมีเพิ่มขึ้นเพราะยักแย่ยักยันเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ กรณีไอทีวียิ่งสะท้อนการไม่มีแผนงานหรือการคิดให้ครบองค์รอบด้าน จากนี้ไปจะสะท้อนไปเรื่อยๆว่าอายุความหลังขิงแก่จะเกิดเร็วขึ้นหรือไม่


ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องคุณธรรมได้กลับมาเป็นหัวใจทางการเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากทศวรรษ

2530 ที่นักเลือกตั้งขยายอำนาจจากระบบเลือกตั้งมากขึ้น ทหารถูกกันไปมากขึ้น แต่การขยายตัวนั้นของนักเลือกตั้งกลับไม่สามารถสร้างความชอบธรรมได้ เห็นภาพแล้วจะยี้ทันที ดังที่มีการแซวกันเล่นๆว่า หากถามลูกว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แล้วถ้าลูกตอบว่าอยากเป็นนักการเมืองพ่อจะตบกะโหลกทันทีแล้วบอกว่า "ไฝ่ตำ" เรื่องเล่าแบบนี้บอกสถานะนักการเมืองของไทย คือนักการเมืองไม่สามารถสร้างความชอบธรรมได้ในขณะที่อำนาจขยายตัว

ทั้งนี้ ยุคทักษิณเป็นตัวเร่งด้วยการกระทำหลายๆอย่าง รวมทั้งเปลี่ยนกลับวิธีคิดสังคมไทย คือ ทำอะไรก็ได้ที่รวย รวยคือความดีชนิหนึ่ง ซึ่งก่อนนี้สังคมไทยเคยคิดว่าถึงรวยก็ต้องสงบเสงี่ยม พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ความรวยเป็นคุณธรรมแบบหนึ่งในสังคม แต่ตอนนี้รู้สึกกลับมาว่ารวยอย่างดียวก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่กลับมาคือเรื่องการเมืองเรื่องคุณธรรมเชิงปัจเจก เช่น การอดออม ซื่อสัตย์ ไม่โป๊ สังคมไทยกำลังโหยหา ทั้งที่โลกสมัยใหม่คุณธรรรมกับกฎหมายมีเส้นแบ่งชัดมากว่า

200 ปี แล้ว แต่เรากำลังหวนกลับไปหรือไม่

นอกจากนี้ ผศ.สมชาย กล่าวว่า ในขณะที่กล่าวถึงเรื่องการเมืองคุณธรรม คุณธรรมในเชิงระบบกลับมีปัญหา เช่น เรื่องหลักความเป็นกลางทางกฎหมาย


หลักการทางกฎหมายนั้นเวลาจะลงโทษใครต้องมีองค์กรที่เป็นกลางมาวินิจฉัยลงโทษ ตรงนี้เป็นหลักการพื้นฐาน แต่ยกตัวอย่างสิ่งที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)กำลังทำคือการพยายามจัดการสิ่งที่เกี่ยวกับระบอบทักษิณโดยทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวนชั้นต้น ซึ่งก็ต้องมีความเป็นกลางเป็นพื้นฐานเช่นกัน แต่ลองไปดูรายชื่อใน คตส. จะเห็นว่าเป็นการรวมพลคนเกลียดทักษิณ ทั้งหมดแสดงตนชัดเจนว่าไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณ ในทางกฎหมาย ถือว่าสั่นคลอนหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งใน คตส. หลายคนก็เป็นนักกฎหมายที่ต้องรู้จักหลักการนั้นดี


เรื่องเงินเดือนก็เป็นปัญหา เพราะราชการรับเงินเดือนได้ตำแหน่งเดียว แต่เราจะเห็นข้าราชการเป็นทั้ง สนช. ศาลเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ และอื่นๆเต็มไปหมด สมัยทักษิณเราบอกว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่คราวนี้เป็นผลประโยชน์ซ้ำซ้อน เงินเดือนแต่ละตำแหน่งแสนกว่าบาท ยังไม่พูดถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่บรรดา คมช.เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดเต็มไปหมด


ผศ.สมชายกล่าวต่อไปถึงสิ่งที่สังคมไทยกำลังเจอ ว่า พรรคการเมืองกำลังถูกทำให้อ่อนแรงลง เพราะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะกลัวและไม่ต้องการให้เกิดพรรคใหญ่ๆแบบพรรคไทยรักไทย รวมถึงการมี

Strong Prime Minister ทั้งที่เป็นหลักการที่สนับสนุนกันมากในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งก่อน แต่คราวนี้ไม่เอาแล้วเป็นพรรคการเมืองโฟเบีย

นอกจากนี้ ในส่วนสถาบันค้ำยันจะไม่ใช่ทหาร เพราะสังคมไทยมีบทเรียนที่เจ็บปวดจึงถูกจำมาก ทำให้ไวต่อการที่ทหารจะทำอะไรไม่ได้เรื่อง ทหารจะมีบทบาทนำไม่มาก แต่องคมนตรีจะมีบทบาททางการเมืองที่ชัดเจนแทน โดยทำหน้าที่เป็นสภาพัฒน์นอกระบบ เช่น คอยพูดว่าคือ อ่า...รัฐบาลชุดนี้ดี หรือ คอยให้กำลังใจอย่าลาออกเลย แต่ในทางรัฐธรรมนูญจะไม่ปรากฏบทบาทองคมนตรีชัด ส่วนอีกประการหนึ่งที่ ผศ.สมชาย พูดถึงคือ สถาบันตุลาการจะมีบทบาทมากขึ้น


ผศ.สมชาย ยังวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างว่า จะมีอัปลักษณะ

3 ประะการ ประการแรกคือไม่เขียนภายใต้บรรยากาศที่เปิดให้คนในสังคมรวมตัวผลักดันความเห็นได้เสรีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ บรรยากาศนี้จะนำมาสู่เนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่ลงประชามติอย่างเดียว เรื่องรัฐธรรมนูญต้องทำให้แต่ละกลุ่มสะท้อนความต้องการออกมาได้ อย่างกรณีของนายจาตุรนต์ ฉายแสง นั้นที่ออกมาประชาสัมพันธ์นโยบายถือว่าทำหน้าที่นักการเมืองแล้ว อยากสนับสนุนและอยากให้ทำต่อไป

ประการที่สอง เป้าหมายในร่างรัฐธรรมนูญแคบ มุ่งจัดการระบอบทักษิณโดยคิดว่าเป็นปัญหาทุกอย่าง แต่หลายเรื่องเป็นปัญหาสืบเองมา แต่ พ.ต.ท.ทักษิณเร่งให้เร็วขึ้น ปัญหาคือคนตัวเล็กๆยังไม่มีสิทธิมีเสียงของตัวเอง อย่างกรณีปัญหาที่ปากมูล ก็เริ่มมาตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐบาล และเป็นปัญหาต่อมาทุกรัฐบาล การคิดเพียงทำอย่างไรที่ทำให้พรรคไม่เข้มแข็งเป็นเป้าที่แคบเกินไป


ประการสุดท้าย เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ คือที่มาของรัฐธรรมนูญมาจากการฉีกรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถอ้างอิงความชอบธรรมและถ้าบบรยากาศทางสังคมเปิดแต่ละกลุ่มจะผลักให้แก้หรือยกเลิก ในทัศนคาดเดาว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกฉบับหนึ่งของสังคมไทย


นอกจากนี้ ไม่แน่ใจว่าจะมีประชามติหรือไม่ เพราะถ้าเขียนแย่อาจไม่ผ่านประชามติ จึงอาจมีกระบวนการทำให้ไม่ผ่านก่อนลงประชามติ เดาว่าหลังมีร่างรัฐธรรมนูญความขัดแย้งจะพิ่มขึ้น ตึงเครียดขึ้น เพราะร่างนี้ไม่เปิดโอกาสให้หายใจ ทางหนึ่งที่นึกออกคือ เขียนรัฐธรรมนูญ.ให้เกิดเลือกตั้งครั้งหน้า เมื่อมีตัวแทนในบรรยากาศเสรีจึงให้รัฐชุดนั้นไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net