Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 มี.ค.50  เวทีเสวนาเรื่อง นโยบายและแนวทางในการแก้ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด  ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่โดยมีการยกร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการติดตามและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอันเนื่องมาจากเขตนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. .... ขึ้นมาเป็นต้นแบบ (รายละเอียดในเอกสารประกอบ)


 


ไพสิฐ กล่าวถึงรากของปัญหาว่ามาจากโครงสร้างทางความคิดของการมองอุตสาหกรรม ทั้งผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ นักการเมือง นักลงทุน ชนชั้นนำที่ใช้รูปแบบการพัฒนาประเทศโดยเน้นอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่เป็นรูปแบบที่ล้าหลัง ปัญหาที่เกิดจากนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านมาไม่มีระบบที่ให้ความเป็นธรรมและแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน นี่คือสิ่งที่ไม่ได้เอามาจากประเทศพัฒนาแล้วด้วย


 


ไพสิฐ กล่าวต่อว่า จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่าในประเทศอุตสาหกรรมนั้น จะมีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดนิคมฯ เพื่อรองรับการแก้ปัญหา มีการสรุปบทเรียนแล้วปรับกฎหมาย กฎระเบียบเพื่อแก้ปัญหาได้ทันการ จนถึงขั้นคิดไปถึงการป้องกันปัญหา ทั้งนี้ หลายประเทศไม่ใช้ระบบราชการปกติในการแก้ปัญหา แต่ตั้งองค์กรร่วมขึ้นมา มีลักษณะคล้ายองค์กรกึ่งศาล ซึ่งเป็นการแหวกความคิดที่ครอบงำสังคมไทยมานานเกี่ยวกับการถ่วงดุลอำนาจ 3 ส่วนคือบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เพราะประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศเห็นแล้วว่าการแบ่งแยกอำนาจแบบคลาสสิกแก้ปัญหาไม่ได้


 


ข้อเสนอคือ ควรใช้กระบวนการยุติธรรมแนวใหม่แก้ปัญหา โดยองค์กรกึ่งศาลที่ว่านี้ต้องมีมาตรการในการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประชาชนกับโรงงาน เพราะที่ผ่านมาประชาชนไร้อำนาจ ไม่อาจเทียบกันได้ รวมไปถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของประชาชนกับหน่วยงานของรัฐด้วย 


 


เขาระบุด้วยว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินผลภาครัฐขึ้นมาในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ติดตามหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมายให้มีการบังคับใช้กฎหมายจริง รวมทั้งยกดับปัญหาต่างๆ สู่การแก้เชิงนโยบาย ที่สำคัญต้องทำหน้าที่เป็นตัวจัดทำระบบฐานข้อมูล สร้างเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมา เนื่องจากมีสารพิษหลายตัวไม่มีมาตรฐานควบคุมที่ชัดเจน


 


"ประเทศที่เจอปัญหานี้เยอะๆ จะมีคณะกรรมการที่คอยปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ ปรับตลอดเวลา เอากฎหมายมาคุ้มครองคนของเขาจนกระทั่งพัฒนามาสู่การกีดกันทางการค้าไปได้แล้ว" ไพสิฐกล่าว


 


เขากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ต้องมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอันเนื่องมาจากเขตนิคมอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านร้องเรียนแล้วเงียบหาย และจากประสบการณ์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ บางคนลุกขึ้นมาสู้โดยการฟ้องศาลก็มีภาระในการพิสูจน์อย่างมาก จึงต้องมีองค์กรกึ่งศาลเข้าไปชี้ขาดในพื้นที่และนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาด้วย คล้ายกับระบบศาลไต่สวนไม่ใช่ระบบกล่าวหา


 


นอกจากนี้คนที่ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดก็ต้องไม่ใช่นักกฎหมายล้วนๆ แต่ต้องมีองค์ประกอบหลากหลาย ไม่ว่าชาวบ้าน นักสิ่งแวดล้อม นักวิชาชีพต่างๆ องค์ที่ตรวจสอบมาตรฐานต่างๆ ซึ่งถ้าองค์กรนี้เกิดได้จะทำให้ต้นทุนทางสังคมที่ต้องจ่ายนั้นปรากฏออกมา ที่ผ่านมาเราไม่มีข้อมูลประเมินว่าอุตสาหกรรมที่สร้างการพัฒนามีอะไรต้องแบกรับแบบที่มองไม่เห็นบ้าง ส่วนนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบายด้วย เพื่อไม่ให้อยู่ในวงจรของปัญหาไม่สิ้นสุด


 


 


อนึ่ง ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยโครงการข้อเสนอเพื่อการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมยั่งยืนในบริบทของไทย โดยสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net