คำแถลงเปิดคดี กรณีอัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ผู้ถูกร้องที่ 1

ตามรายงานการพิจารณาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ ๒๐ ๒๑ และ๒๒/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้กำหนดแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้รวมการพิจารณาคดีอัยการสูงสุด ผู้ร้อง พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ผู้ถูกร้อง เข้าด้วยกันเป็นคดีกลุ่มที่ ๑ โดยให้เรียกพรรคไทยรักไทยว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ และให้รวมการพิจารณาคดีอัยการสูงสุด ผู้ร้อง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ผู้ถูกร้อง เข้าด้วยกันเป็นคดีกลุ่มที่ ๒ นั้น

ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้มีคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และได้มีคำร้องขอเพิ่มเติมคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้รับไว้แล้ว ผู้ถูกร้องที่ ๑ จึงขอแถลงเปิดคดีกลุ่มที่ ๑ ดังนี้

คดีนี้เดิมอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ประกอบมาตรา ๖๖ (๑) และ (๓) และมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ เนื่องจากได้มีการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินและมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ต่อมาได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๕ และ ๒๗ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งถูกยกเลิกเพราะเหตุการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ยังคงใช้บังคับต่อไป และได้เพิ่มบทลงโทษให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด ๕ ปี หากศาลรัฐธรรมนูญหรือ        องค์กรที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ หลังจากนั้นมีการโอนบรรดาอรรถคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มาเป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๓๕ วรรค ๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙

 

๑. ประเด็นข้อกฎหมาย ไม่สามารถยุบพรรคไทยรักไทยได้

 

            ๑) ศาลเท่านั้นที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย

การถ่ายโอนอรรถคดีและอำนาจจากศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาเป็นของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๓๕ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๔๙ อันเป็นผลมาจากได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงนั้น ไม่มีความถูกต้องชอบธรรม ลิดรอนสิทธิของผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและมีลักษณะเลือกปฏิบัติ เป็นการตั้งองค์กรซึ่งมิใช่ศาลขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งหรือมีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การจัดตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือมีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ แทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นจะกระทำมิได้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความชอบธรรมและไม่มีอำนาจพิจารณาคดีของผู้ถูกร้องที่ ๑ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๗ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งถูกยกเลิกเพราะเหตุ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ยังคงใช้บังคับต่อไป และได้เพิ่มบทลงโทษให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด ๕ ปี หากศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ และให้โอนบรรดาอรรถคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มาเป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๓๕ วรรค ๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ จึงขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรา ๓ ประกอบมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นการลิดรอนสิทธิที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นองค์กรศาลตามรัฐธรรมนูญ และตุลาการรัฐธรรมนูญได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการซึ่งกระทำการในพระปรมาภิไธย เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การถ่ายโอนอำนาจจากศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอันเป็นคณะบุคคลที่มิใช่ศาล มีตุลาการเป็นผู้กระทำการวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกเหนือจากนั้น หากจะได้พิจารณาโดยความชอบธรรมแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 ถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่คณะบุคคลหรือองค์กรที่ก่อกำเนิด ที่ต้องการจะชี้ความผิดกับผู้ถูกร้องที่ 1 กลับได้กระทำการชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆว่าได้กระทำการซึ่งให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นความผิด จึงได้บัญญัตินิรโทษกรรมการกระทำของคณะบุคคลหรือองค์กรเหล่านั้นไว้ในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่ามีอำนาจที่จะพิจารณาและวินิจฉัยคดีนี้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา ๓๕ และ มาตรา ๓๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อรับโอนบรรดาอรรถคดีที่อยู่ในระหว่างดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มา และให้บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่ว่าประกาศหรือคำสั่งนั้นให้มีผลบังคับทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่งและการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นๆชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกร้องที่ ๑ ขอประทานกราบเรียนโต้แย้งคัดค้านว่า บทบัญญัติเช่นที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ไม่ถูกต้องชอบธรรมและขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงประมุข หากนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับก่อนๆมาเปรียบเทียบ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มีการยึดอำนาจการปกครองโดยการปฏิวัติรัฐประหาร เช่น มาตรา ๑๗ ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๐๒ มาตรา ๑๗ ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๕ มาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ มาตรา ๓๒ ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๐ มาตรา ๓๒ ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ทุกฉบับล้วนมิได้มีบทบัญญัติรองรับให้ประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของคณะผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจปกครองว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายในลักษณะเช่นนี้เสมือนเป็นการรับรองให้ประกาศและคำสั่งทั้งหลายของผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหารมีผลหรือศักดิ์เทียบเท่ารัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการปิดปากมิให้องค์กรอื่นๆโดยเฉพาะองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการซึ่งโดยหลักสากลและระบบนิติรัฐแล้ว สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้ตลอดเวลา คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงสมควรวินิจฉัยว่าจะยอมรับอำนาจจากบทบัญญัติที่ปราศจากความถูกต้องชอบธรรมตามหลักกฎหมาย ขัดต่อระบบนิติรัฐ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้หรือไม่ จึงเห็นได้โดยชัดเจนว่าประกาศของของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๗ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ และมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ล้วนแต่ได้ประกาศและตราขึ้นโดยขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรา ๓ ประกอบมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ทั้งสิ้น

 

๒) การลงโทษบุคคลจะต้องไม่มีผลย้อนหลัง

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๗ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยผลแห่งการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มีผลใช้บังคับต่อไป และเพิ่มเติมบทกำหนดโทษเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากที่มาตรา ๖๙ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ กำหนดไว้แต่เดิม โดยการให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด ๕ ปี เป็นการตราและยกเลิกกฎหมายโดยปราศจากความชอบธรรม และเป็นการตรากฎหมายเพิ่มเติมย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลที่เป็นกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ซึ่งขัดต่อหลักนิติรัฐ มีเจตนาไม่สุจริตและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายที่อารยประเทศทั่วโลกที่เจริญแล้วยึดถือปฏิบัติ ขัดต่อหลักสากลทางอาญา ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แสดงให้เห็นโดยประจักษ์ชัดว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯซึ่งได้ใช้กำลังประทุษร้ายยึดอำนาจการปกครองประเทศไปจากรัฐบาลที่มาจากประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ใช้เทคนิคการตรากฎหมายที่มิได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบ แต่เป็นประกาศของคณะบุคคลเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แม้ในอดีตจะเคยมีการยอมรับอำนาจเช่นนี้ในฐานะที่คณะบุคคลเหล่านั้นได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นผลสำเร็จว่าเป็นผู้ใช้อำนาจในฐานะรัฐาธิปัตย์ แต่การยอมรับเช่นนั้นก็ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปฏิวัติ รัฐประหารและล้มล้างรัฐธรรมนูญมากที่สุด ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์เรื่อยมา อย่างไรก็ตามมีอยู่หลายครั้งหลายหนที่องค์กรซึ่งใช้อำนาจตุลาการได้ยึดถือหลักนิติธรรมและความถูกต้องแห่งหลักกฎหมายเป็นประการสำคัญ ปฏิเสธไม่ยอมรับประกาศ คำสั่ง หรือกฎหมายใดๆ ที่ขัดต่อหลักกฎหมายสากลทั่วไป ไม่มีความชอบธรรม เลือกปฏิบัติและขัดต่อหลักการพื้นฐานในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย บทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่มีผลบังคับ และไม่อาจนำมาใช้แก่ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้

 

            ๓) กฎหมายยกเลิกไปแล้วย่อมไม่มีผลใช้บังคับต่อไป

เมื่อได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ส่งผลให้บรรดากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๔๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ฯลฯ เป็นอันสิ้นสุดลงไปด้วย การกระทำที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ ถูกกล่าวหานำมาเป็นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นการกระทำที่อาศัยเหตุอันเกิดจากการกระทำตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ จึงต้องยุติและสิ้นสุดลงด้วย ดังจะเห็นได้ว่าศาลยุติธรรมได้พิพากษายกฟ้องคดีที่เกิดจากการกระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวไปแล้วหลายคดี คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้จำหน่ายคดีตามคำร้องต่างๆซึ่งค้างการพิจารณาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วหลายคดี เพราะเหตุที่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ การที่มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๕ และ ๒๗ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ รื้อฟื้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับขึ้นมาใช้บังคับใหม่ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบและเป็นการใช้บังคับภายหลัง หาอาจนำมาใช้บังคับกับมูลคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นได้

 

๔)       กฎหมายที่อ้างเป็นเหตุยุบพรรคขัดต่อรัฐธรรมนูญ

บทบัญญัติมาตรา ๖๖ (๑) และ (๓) และมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งผู้ร้องกล่าวอ้าง ขัดหรือแย้งต่อและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๓ มาตรา ๔๗ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๖ ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญสามารถยกขึ้นพิจารณาวินิจฉัยได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓ ประกอบมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ทำให้ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างเพื่อยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้

ผู้ถูกร้องที่ ๑ เห็นว่าบทบัญญัติในมาตรา ๖๖ และ มาตรา ๖๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ขัดหรือแย้งต่อและไม่ชอบรัฐธรรมนูญนั้น ก็ด้วยเหตุที่ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองไว้เพียงกรณีเดียว คือ การกระทำตามมาตรา ๖๓ ได้แก่การที่บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กลับปรากฏว่า มาตรา ๖๖ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งลอกเลียนมาจากพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๒๔ โดยมิได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้กำหนดเหตุยุบพรรคการเมืองเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดไว้ อาทิ การเพิ่มเหตุตามมาตรา ๖๖ (๒) กรณีกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือตาม มาตรา ๖๖(๓) กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งผู้ร้องได้อาศัยเหตุตามมาตรา ๖๖(๑) และ ๖๖(๓) นี้มาร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ด้วย กรณีจึงเป็นการบัญญัติเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดไว้ เป็นการบัญญัติไว้เกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง

            ส่วนกรณีบทบัญญัติในมาตรา ๖๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งกำหนดว่า หากพรรคการเมืองซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้รู้เห็นย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการดังกล่าว และศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้ แต่มาตรา ๖๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ กลับบัญญัติให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองได้เลย จึงเป็นการบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ทั้งๆ ที่เหตุในการร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองเป็นเหตุอันเดียวกัน บทบัญญัติในมาตรา ๖๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ จึงขัดหรือแย้งต่อและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และไม่ชอบด้วยมาตรา ๓ ประกอบมาตรา ๓๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เช่นกัน      

 

๕)       การกระทำตามที่กล่าวหา ไม่เป็นความผิดที่จะยุบพรรค

การกระทำที่กล่าวตามคำร้องมิใช่การกระทำที่จะเป็นความผิดตามหลักเกณฑ์ดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ (๑) และ (๓) กล่าวคือ ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

            เพราะความร้ายแรงของกระทำเช่นที่กล่าวมาถึงขนาดที่สมควรจะยุบพรรคการเมืองนั้นเสียก็คือการกระทำการปฏิวัติรัฐประหารหรือยึดอำนาจปกครองประเทศโดยใช้กำลัง ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันการกระทำการใดๆอันเป็นเพียงการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง แม้อาจจะถือว่าเป็นความผิดทางอาญา เช่น การซื้อเสียง การใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีสิทธิ การฉีกบัตรเลือกตั้ง การย้ายบุคคลผู้ไม่มีสิทธิเข้ามาในเขตเลือกตั้ง การโจมตีใส่ร้ายผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ก็ไม่เคยปรากฏหรือเคยมีคำวินิจฉัยใดๆไว้เป็นบรรทัดฐานว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือกระทำการอันเป็นการขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด

            โดยเหตุนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๒๗ จึงได้บัญญัติไว้ว่า "เมื่อปรากฏว่าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดให้พรรคการเมือง กระทำการใดๆ ฝ่าฝืนนโยบายพรรคการเมืองหรือข้อบังคับพรรคการเมืองอันอาจ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ แต่ลักษณะการกระทำยังไม่รุนแรงจนเป็นสาเหตุให้ต้องยุบพรรคการเมืองตามมาตร๖๗ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเตือนเป็นหนังสือให้หัวหน้า พรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ในกรณีที่นายทะเบียนเตือนเป็นหนังสือแก่บุคคลที่ไม่ใช่หัวหน้าพรรคการเมืองต้องส่งสำเนาหนังสือเตือนนั้นให้หัวหน้าพรรคการเมืองทราบโดยเร็ว

ถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามคำเตือนของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่งได้ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่ง ผู้นั้นไม่มีสิทธิเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง"

            แสดงให้เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ได้กำหนดความร้ายแรงของการกระทำของพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมืองไว้เป็นลำดับขั้น เพื่อป้องกันมิให้ยกเหตุการกระทำผิดเล็กๆน้อยๆขึ้นอ้างเพื่อขอให้ยุบพรรคการเมือง ทั้งๆที่เหตุดังกล่าวอาจไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำตามมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เพราะหากพรรคการเมืองถูกยุบได้โดยง่ายเพราะการกระทำของผู้บริหารพรรคบางคน ย่อมมีผลกระทบอย่างมากต่อสมาชิกของพรรคการเมืองผู้ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการกระทำของกรรมการบริหารพรรคนั้นเลย

 

            ๖) การสืบสวนสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ เพราะนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ให้โอกาสผู้ถูกร้องที่ ๑ มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐาน รวมทั้งให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๙ อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งมิได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆแก่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ตามมาตรา ๒๐ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช ๒๕๔๑ ทั้ง ๆ ที่ประธานอนุกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ได้เสนอความไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องให้โอกาสผู้ถูกร้องที่ ๑ มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐาน จึงเป็นการดำเนินการสืบสวนสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วนทุกขั้นตอน ย่อมไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๖๗

 

            ๗) คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ทำคำวินิจฉัยให้ถูกต้อง

นายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๔๑ มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๑๐(๖) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๔๑ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๔๕(๓) กล่าวคือ อำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และวินิจฉัยขี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กล่าวมา เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำคำวินิจฉัยเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของกรรมการการเลือกตั้งที่พิจารณาวินิจฉัยทุกคน แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกร้องที่ ๑ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙ วรรคสาม ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๔๑ เลย การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองและในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการร้องขอให้อัยการสูงสุดยุบพรรคของผู้ถูกร้องที่ ๑ โดยปราศจากมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเป็นการดำเนินการไปโดยพลการของนายทะเบียนพรรคการเมือง ทั้งๆที่ได้อ้างผลจากมติของอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๔๑ กรณีนี้จึงถือได้ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองมิได้ปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๔๑ ให้ถูกต้องครบถ้วน ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้

๘)       คณะกรรมการบริหารพรรคไม่ได้กระทำความผิด

การกระทำตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ไม่ถือว่าเป็นการกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ เพราะไม่ได้เป็นการกระทำของหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคที่หัวหน้าพรรคมอบหมายเป็นหนังสือ และมิได้มีมติใดๆของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ให้ผู้ถูกกล่าวหากระทำการตามคำร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ อีกทั้งพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยาและ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ซึ่งถูกกล่าวหา แม้เป็นกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ก็ไม่ได้รับผิดชอบจัดการด้านการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของผู้ถูกร้องที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๓๗

            การยุบพรรคการเมืองเป็นการทำให้สภาพการเป็นบุคคลตามกฎหมายสิ้นสุดลง ทำให้สมาชิกภาพของมวลสมาชิกสิ้นสุดลงจึงเทียบได้กับเป็นการลงโทษประหารชีวิตในทางอาญา การวินิจฉัยและตีความกรณีดังกล่าวจึงต้องตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ควรตีความในลักษณะที่เป็นการขยายความเพื่อลงโทษพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ดังเช่นที่อัยการสูงสุดผู้ร้องได้กล่าวอ้างไว้ในคำร้องว่า การกระทำของพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นการกระทำในฐานะเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทยอันมีผลผูกพันเสมือนเป็นการกระทำของพรรคไทยรักไทยเอง ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว พลเอกธรรมรักษ์ ฯ มีฐานะและหน้าที่เป็นเพียงหนึ่งในยี่สิบเอ็ดคนของรองหัวหน้าพรรคที่มีอยู่ในขณะนั้น นายพงษ์ศักดิ์ฯก็มีฐานะและหน้าที่เป็นเพียงหนึ่งในห้าคนของรองเลขาธิการพรรคที่มีอยู่ในขณะนั้น และเป็นสองคนในจำนวนคณะกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ซึ่งมีทั้งสิ้นถึงหนึ่งร้อยสิบเก้าคน

กรณีที่จะถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองได้จะต้องเป็นกรณีที่หัวหน้าพรรคนั้นได้กระทำ หรือว่าให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจด้วย ดังเช่นที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๐๑/๑ ได้บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครนั้น ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงสองแสนบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดยี่สิบปี

ถ้าการกระทำตามวรรคสองหรือวรรคสามเป็นการกระทำ หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าพรรคการเมือง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง"

            กรณีตามคำร้องการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ คือ การกระทำที่ผู้ร้องอ้างให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ แต่ไม่ปรากฏเหตุหรือข้อเท็จจริงใด ๆ เลยว่า พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคของผู้ถูกร้องที่ ๑ ในขณะที่มีการยื่นคำร้องนี้ได้เป็นตัวการสนับสนุนหรือส่งเสริมรู้เห็นเป็นใจใดๆให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาไปกระทำการตามคำร้องแต่อย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น

            ๙) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ควรสั่งยุบพรรคไทยรักไทย

มาตรา ๖๓ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคทันทีในทุกกรณี เพียงแต่บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้" และมาตรา ๖๖ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้บัญญัติไว้ทำนองเดียวกันว่า "เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง" ประกอบกับเมื่อได้พิจารณาบทบัญญัติในมาตรา ๒๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช ๒๕๔๑ ซึ่งได้กำหนดความรุนแรงตามลักษณะของการกระทำไว้ในหลายระดับ หากไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นสาเหตุให้ต้องยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๖๗ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช ๒๕๔๑ ก็อาจจะใช้มาตรการเพียงการเตือนโดยนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำตามที่กล่าวหา หรือให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคนออกจากตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจว่าควรจะสั่งยุบพรรคการเมืองหรือไม่ยุบก็ได้

 

๒. ประเด็นข้อเท็จจริงในคดีไม่เกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทย

 

ในประเด็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ผู้ถูกร้องที่ ๑ จะนำสืบพยานในเรื่องต่อไปนี้

๑) ความสำคัญของพรรคการเมืองที่มีต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งในการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนเพื่อกำหนดเป็นนโยบายที่ใช้บริหารประเทศ การจัดตั้งรัฐบาล การตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาล และในเรื่องอื่นๆ ถ้าปราศจากเสียซึ่งพรรคการเมือง การบริหารประเทศที่ประชาชนเลือกผู้แทนฯ เข้าไปทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งฝ่ายบริหารก็ยากที่จะเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสมดังเจตนาของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นพรรคการเมืองซึ่งได้ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ประเทศไทยฟื้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ และได้ทำประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย

            ๒) มูลเหตุของการที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการรับเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ พรรคประชาธิปัตย์จะเสียหายมากหากการเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ดำเนินไปได้และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นฝ่ายค้านนอกสภา ผู้เคยเป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีบทบาทในพื้นที่ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยมีส.ส. จะมีส.ส.ของพรรคอื่นเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตเลือกตั้งดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่ามีการดำเนินการเพื่อจะล้มและขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ อันเป็นที่มาของขบวนการปรักปรำใส่ร้ายผู้ถูกร้องที่ ๑ กรณีการจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขันกับผู้สมัครของผู้ถูกร้องที่ ๑ รวมทั้งการกล่าวหาผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นผู้สนับสนุนเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย

            ๓) ในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและสนับสนุนพรรคพัฒนาชาติไทย จะนำสืบให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยเป็นการกระทำที่ได้มีการเตรียมการก่อนการยุบสภาฯ ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และก่อนที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะประกาศว่าไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว หากมีจริง ก็เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพรรคพัฒนาชาติไทย ไม่เกี่ยวกับผู้ถูกร้องที่ ๑

พยาน ๒ ปาก ซึ่งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนเห็นว่าเป็นพยานปากสำคัญ ล้วนแต่เป็นพยานที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด หรือเป็นคนของพรรคการเมืองหนึ่ง และได้รับประโยชน์จากพรรคการเมืองนั้นเพื่อให้ปรักปรำกรรมการบริหารพรรคและผู้ถูกร้องที่ ๑

นายทวี สุวรรณพัฒน์ นายยุทธพงศ์ ศิวาโมกข์ และนายธีระชัย จุลพัฒน์ไม่ได้เป็นคนสนิทของ พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๙ บุคคลทั้งสามกับหนึ่งในสองของพยานปากสำคัญของอัยการสูงสุดไม่ได้ขึ้นไปพบ พลเอกธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ณ ที่ทำการพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ และเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๙ นายทวีฯ ไม่ได้พบ พลเอกธรรมรักษ์ฯ และไม่ได้รับเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท จากพลเอกธรรมรักษ์ฯ อีกทั้งพลเอกธรรมรักษ์ฯไม่ได้ให้นายทวีฯนำเงินไปให้พยานดังกล่าวที่โรงแรมกานต์มณี ทั้งพยานปากสำคัญ ๒ ปากของอัยการได้ร่วมกับ เลขาธิการพรรคการเมืองหนึ่งและคณะ พยายามชักจูงและว่าจ้างให้นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ใส่ร้ายกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑

            ๔) เรื่องการจ่ายเงินสนับสนุนแก่พรรคแผ่นดินไทย จะนำสืบให้เห็นว่า พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ไม่เคยกล่าวว่าจะช่วยสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองใดๆ ในการประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองที่อาคารวุฒิสภาเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และนำสืบให้เห็นว่าคำให้การของพยานผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๙ เป็นคำให้การที่ไม่เป็นความจริง แต่เพื่อปรักปรำหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ตามที่บุคคลสำคัญของพรรคการเมืองหนึ่งได้ว่าจาง และพลเอกธรรมรักษ์ฯ ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดนำเงินไปให้พยานผู้หญิงดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งแก่พรรคแผ่นดินไทย แต่อย่างใด

            ๕) ผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากการที่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นรัฐบาลรักษาการในขณะนั้นจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่อยู่แล้ว หากมีปัญหาใดเนื่องจากยังมี ส.ส.ไม่ครบ ๕๐๐ คน ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะดำเนินการ และหากมีปัญหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

๖) กระบวนการบริหารจัดการต่างๆ ของผู้ถูกร้องที่ ๑ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน และแสดงให้เห็นว่าพลเอกธรรมรักษ์ฯ และนายพงษ์ศักดิ์ฯ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านการเงินการจัดทำบัญชี การบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้ถูกร้องที่ ๑ ผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่เคยทราบมาก่อน ไม่เคยใช้และไม่เคยสนับสนุนให้ พลเอกธรรมรักษ์ฯ และนายพงษ์ศักดิ์ฯ กระทำการตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ทั้งพลเอกธรรมรักษ์ฯ และนายพงษ์ศักดิ์ฯ ก็ไม่ได้กระทำการดังกล่าวด้วย

๗) ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ และ ๒๕๔๘ มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่ส่งผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ หรือผู้สมัครของพรรคนั้นถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ใบเหลืองใบแดงแล้วสั่งให้เลือกตั้งใหม่ ซึ่งการที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งขาดคุณสมบัติหรือการหาเสียงของผู้สมัครฝ่าฝืนกฎหมายย่อมเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองนั้นอย่างชัดแจ้ง แต่ก็ไม่เคยมีการขอให้ยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุดังกล่าวเลย

๘) มีหลักฐานชัดเจนว่าพรรคการเมืองหนึ่งที่บอยคอตการเลือกตั้งหรือคนของพรรคการเมืองนั้นได้พยายามใส่ร้ายพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ โดยคนของพรรคดังกล่าวนำผู้ขาดคุณสมบัติไปสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่จังหวัดตรัง แล้วเลขาธิการของพรรคการเมืองนั้นแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙ พยายามปรักปรำว่าผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติดังกล่าวไปสมัครเพราะพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ สนับสนุนให้ไปสมัคร

๙) กระบวนการสืบสวนสอบสวนขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๙ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบ สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๓ เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้องที่ ๑ และไม่ได้ให้โอกาสผู้ถูกร้องที่ ๑ ชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐาน

            ด้วยเหตุดังได้ประทานกราบเรียนมาดังกล่าวข้างต้น ผู้ถูกร้องที่ ๑ จึงขอคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดยกคำร้องของผู้ร้องลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เสียทั้งสิ้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท