Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 มี.ค. 2550 นายไพโรจน์ พรหมสาส์น อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ ส.ส.ร. กล่าวถึงแนวคิดที่เขาเสนอให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. เสนอว่า ควรที่ ส.ส.ร. จะพิจารณาอย่างละเอียด เนื่องจากยังมีเวลาเหลือ 6-7เดือน กว่าจะลงประชามติ


 


ทั้งนี้ เห็นว่า ส.ส.ร.ควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญรับผิดชอบดำเนินการ และเพื่อความรวดเร็ว ให้ตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัดและอำเภอ ซึ่งจะเป็นใครนั้นต้องวางเกณฑ์กันอีกที โดยในระดับท้องถิ่นนั้น สามารถประชาสัมพันธ์ได้ทั่วถึง เพราะมีเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่อยู่แล้ว โดยจะใช้หมู่บ้านเป็นหน่วยออกเสียง และให้มีการลงคะแนนอย่างเปิดเผย ในรูปแบบเดียวกับการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ส่วนสถานที่อาจเป็นวัด หรือโรงเรียน โดยแต่ละหน่วย กำหนดจำนวนคนไม่มาก ประมาณ 800-1000 คน


 


สำหรับหน่วยงานที่ดำเนินการ อาจมีทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากมีข้าราชการที่เข้าถึงประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญเผยแพร่ได้ทั่วถึงมากขึ้น


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการรักษาความปลอดภัยให้ประชาชนอย่างไร ไพโรจน์กล่าวว่า อาจให้ประชาชนมาบอกเจ้าหน้าที่เป็นรายคนว่าจะรับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความคิดเห็นเบื้องต้น รายละเอียดคงต้องคุยกันอีกที โดยจะมีการพิจารณาญัตตินี้อีกครั้งในการประชุมวันที่ 12 มีนาคม เวลา 10.00 น. 


 


ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีการล็อบบี้นั้น ยืนยันว่ายังไม่มีการล็อบบี้ ส.ส.ร. เพราะเพิ่งเสนอเมื่อวันที่ 28 ก.พ.  และยังไม่ได้เจอใครเลย มีเพียงผู้รับรองให้ 4-5 คนเท่านั้นเอง เขาไม่ได้ระบุว่า กกต.หรือมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่ขอให้ ส.ส.ร.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะเขาเคยเป็นรองปลัดมหาดไทยแล้วจะเชียร์ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ


 


สดศรี ขู่ลาออกแน่ หาก ส.ส.ร.จัดลงประชามติเอง


ด้านนางสดศรี สัตยธรรม ส.ส.ร.ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า กกต.มีหน้าที่ในการทำประชามติ ถ้าหาก ส.ส.ร.จะดำเนินการเองก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้


 


อย่างไรก็ตาม ถ้า ส.ส.ร.ทำเมื่อใด พระราชบัญญัติในส่วนของการทำประมติก็ต้องออกเป็นกฎหมายหากส.ส.ร.ทำผิดพลาด ก็ต้องบทลงโทษในกรณีมีการทุจริต ซึ่งกกต.เองก็มีบทลงโทษตามมาตรา 24 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง หากมีการทุจริตก็ต้องถูกลงโทษทั้งจำและปรับขั้นต่ำ 1-10 ปี ซึ่งหาก ส.ส.ร.ทำโดยไม่มีกฎหมายบังคับไว้ หรือเป็นกรอบในการทำงานของ ส.ส.ร.อาจก่อให้เกิดวิกฤตในการทำประชามติทันที


               


อย่างไรก็ตาม ในกรณีการเลือกตั้งแบบเปิด หากมองในภาพรวม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเรียกประชุมลูกบ้านจำนวน 1,000 คนต้องใช้ระยะเวลามากเท่าไรในการออกเสียงประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ ที่ประชาชนติดภารกิจไม่สามารถออกเสียงประชามติได้ จะทำให้ผู้ดำเนินการมีปัญหา นอกจากนี้ ยังถามด้วยว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คนกรุงเทพฯไปรวมตัวกันในหน่วยเลือกตั้งในเวลาเดียวกัน


               


ผู้สื่อข่าวถามว่า โดยหลักสากลมีการทำประชามติด้วยวิธีการนี้หรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ไม่มีการทำในส่วนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาในการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีการทำด้วยวิธีการแบบเดียวกัน แต่กลับมีการฆ่ากันตาย เนื่องจากความเห็นไม่ตรงกัน จึงทำให้การเลือกตั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีการใช้วิธีการดังกล่าวอีก แต่ใช้วิธีการโหวตลับ เข้าคูหาแทน


               


เมื่อถามว่า ในหลักการเลือกตั้งหาก ส.ส.ร.เป็นคนร่างแล้วให้ ส.ส.ร.มาเป็นคนทำประชามติจะมีความเหมาะสมหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า ถ้าเป็นคนๆ เดียวไม่น่าต้องตอบคำถามนี้ เพราะเป็นคนๆ เดียวที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและทำประชามติก็ต้องรับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแน่นอน ทั้งนี้ หากมีการคัดค้านเนื่องจากผู้ที่จัดทำร่าง รธน.และทำประชามติเป็นบุคคลหรือหน่วยงานเดียวกัน ก็จะมีปัญหาขึ้นทันทีว่าการกระทำดังกล่าวมีความถูกต้องหรือไม่


 


ขณะนี้มีการพูดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกโดยบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร ดังนั้น หากมีลักษณะนี้อีกจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต  อย่างไรก็ตาม หากมีการแปรญัติดังกล่าว จะขอลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่ใจว่าจะมีปัญหาตามมาในภายหลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net