Skip to main content
sharethis

ประชาไท - นิเดร์ วาบา เปิดประชาพิจารณ์ร่าง พรบ.อิสลาม แจงเหตุสารพัดปัญหาจาก พ.ร.บ.เดิม ชี้ระบบเลือกตั้งทำมุสลิมแตกแยก ถกหนักอำนาจจุฬาราชมนตรี - ที่มาสภาที่ปรึกษาสูงสุด มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


 



นิเดร์ วาบา (ภาพจาก เวบไซต์ผู้จัดการ)


 


เมื่อเวลา 09.00 . วันที่ 5 มีนาคม 2550 ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายนิเดร์ วาบา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล..สุรยุทธ์ จุลานนท์) เปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ..... โดยมีโต๊ะครู ผู้นำศาสนาอิสลาม นักวิชาการใน 14 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมีพล..วัฒนชัย ฉายเหมือนวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี(พล..สุรยุทธ์) เป็นประธาน


 


นายนิรันดร์ พันธรกิจ คณะทำงานร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า เหตุผลเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา เนื่องจากพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ..2540 ซึงเป็นฉบับที่ใช้ปัจจุบัน มีข้อบกพร่องจำนวนมาก ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย บางมาตราไม่มีผลในทางปฏิบัติ ไม่มีองค์กรชี้ขาดเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กรหรือในองค์กรศาสนาอิสลาม เช่น ความขัดแย้งระหว่างจุฬาราชมนตรีกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


 


นายนิรันดร์ รายงานต่อว่า การไม่นำแนวคิดอิสลามไปใช้ในการสรรหาบุคลากรมาดำรงตำแหน่ง แต่ใช้วิธีการเลือกตั้ง ซึ่งมีแง่ดีในเรื่องการเป็นประชาธิปไตย แต่ส่งผลให้มีการซื้อเสียง มีการต่อรองผลประโยชน์กัน จนเกิดความแตกแยกขึ้นในสังคมมุสลิม ทำให้มีการแสวงหาผลประโยชน์เข้าพวกตัวเอง มีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เช่น กรณีการรับรองตราฮาลาลโดยไม่มีอำนาจ เป็นต้น


 


"ที่ผ่านมาการบริหารงานในองค์กรศาสนาอิสลามไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ มีการทุจริตแต่ไม่สามารถตรวจสอบเพื่อเอาผิดได้ มีความสับสนในบทบาทหน้าที่ระหว่างจุฬาราชมนตรีกับประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งจุฬาราชมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง การบริหารงานที่ไม่เป็นระบบและไม่เคารพกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ ที่กำหนด ผู้นำศาสนาอิสลามขาดความน่าเชื่อถือ"


 


นายนิรันดร์ รายงานด้วยว่า การกำหนดจำนวนตำแหน่งในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ไม่เป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนมัสยิดในแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดที่มีมัสยิด 3 แห่งกับมีจำนวน 300 แห่ง แต่มีตัวแทนได้ 1 คนเท่ากัน ซึ่งพิจารณาแล้วไม่เป็นประชาธิปไตย


 


หลังจากนั้นผู้เข้าได้อภิปรายในประเด็นต่างๆ อย่างขว้างขวาง โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี และตำแหน่งสภาที่ปรึกษาสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่หลักๆ ในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีและกรรมการอิสลามประจำจังหวัด พิจารณา วินิจฉัยข้อขัดแย้งปัญหาบทบัญญัติศาสนาอิสลามและวินิจฉัยชี้ขาดกรณีพิพาทในการบริหารงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด


 


โดยนายพิเชษฐ สถิรชวาล เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ..2540 โดยต้องแยกจุฬาราชมนตรีออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยโดยตำแหน่ง โดยให้จุฬาราชมนตรีดูแลงานด้านศาสนาอิสลามอย่างเต็มที่ ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานบริหาร เพราะจะทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขของศาสนาอิสลามขาดความน่าเชื่อถือได้


 


นายพิเชษฐ กล่าวอีกว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา ที่ตนเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้เห็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างมากมาย จนทำให้ในช่วงหลัง จุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นประธานโดยตำแหน่งไม่เข้าร่วมประชุมด้วย ขณะที่การรับรองตราฮาลาลที่ผู้ประกอบการส่งเรื่องขอมานั้น ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากจุฬาราชมนตรีไม่ลงนามรับรอง


 


นายพิเชษฐ กล่าวอีกว่า เห็นด้วยกับการตั้งสภาที่ปรึกษาสูงสุด เนื่องจากเป็นมิติใหม่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยใช้วิธีการนี้ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขยายวงออกไปด้วย


 


นายพิเชษฐ กล่าวอีกว่า ที่มาของจุฬาราชมนตรีน่าจะคงเดิมไว้ คือ ให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้เลือก เพราะถ้าให้สภาที่ปรึกษาสูงสุดเป็นผู้สรรหา อาจเสี่ยงต่อข้อครหาต่างๆ เนื่องจากที่มาของสภาที่ปรึกษาสูงสุดที่มาจากตัวแทนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะ หรือดาโต๊ะยุติธรรม ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นายอิสมาแอล อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ที่มาของสภาที่ปรึกษาสูงสุดไม่เปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอื่นๆ เข้าไปเป็นสมาชิกของด้วย ทั้งๆ ที่ในสังคมมุสลิมมีผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก


 


นายอาซิซ เบ็นหาวัน อดีตดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดยะลา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้งสภาที่ปรึกษาสูงสุด แต่ไม่เห็นด้วยกับที่มาของสภาที่ปรึกษาสูงสุด เนื่องจากประธานกรรมการอิสลามประจำบางคนเป็นทั้งเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและประธานมูลนิธิ จึงทำให้ผู้เป็นสมาชิกกระจุกอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นายไฟศาล ดะห์ ลัน ตัวแทนสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เสนอว่า นอกจากจะมีสภาที่ปรึกษาสูงสุดแล้ว ควรจะให้มีสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากรากหญ้าด้วย เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจของสภาที่ปรึกษาสูงสุด โดยอาจทำหน้าที่ในการสรรหาผู้นำศาสนาในระดับชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาจากการบริหารงานขององค์กรศาสนาอิสลามได้ส่งผลกกระทบในระดับรากหญ้ามาก เช่น การเลือกตั้งได้ทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชนมุสลิม รวมทั้งอาจะให้เป็นผู้เลือกจุฬาราชมนตรีโดยตรงได้


 


นายนูรดดีน สารีมิง อาจารย์วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ต้องแยกจุฬาราชมนตรีออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เนื่องผู้นำศาสนาอิสลามอิสลามต้องมีคนเดียวเท่านั้น และไม่เห็นด้วยที่จะให้จุฬาราชมนตรีเป็นเพียงสัญลักษณ์ตามที่ระบุในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้


 


นายสุริยา ปันจอร์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล กล่าวว่า เห็นด้วยที่ต้องแยกจุฬาราชมนตรีออกจากประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แต่มิใช้ให้อำนาจเดิมของจุฬราชมนตรีเดิมไปเป็นของสภาที่ปรึกษาสูงสุด


 


นายแอ กิ่งเล็ก ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ เสนอว่า เนื่องจากขณะนี้มีการเสนอร่างพระราบัญญัติการบริหารกิจการองค์กรศาสนาอิสลามขึ้นมา 3 ฉบับ คือ ของนายนิเดร์ ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงขอเสนอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อรวบรวมร่างฯ ทั้ง 3 ฉบับ สรุปให้เป็นหนึ่งเดียวก่อนที่จะเสนอสภานิติบัญญัติพิจารณาต่อไป ถ้าเสนอไปหลายฉบับเช่นนี้ก็คงยากที่จะผ่านไปได้


 


นายนิเดร์ กล่าวว่า หลังจากนี้คณะทำงานจะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดและจะสรุปให้เป็นร่างพระราชบัญญัติที่สมบูรณ์ที่สุด ก่อนที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป สำหรับร่างที่ตนเสนอดังกล่าวนั้น มาจากคนระดับรากหญ้าที่ตนได้พบปะแลกเปลี่ยนมาโดยตลอด เมื่อรู้ความต้องการของคนระดับรากหญ้าแล้ว ถามว่าผู้นำศาสนาอิสลามทำอะไรบ้าง จึงรู้ความต้องการของพวกเขา เมื่อตนมีโอกาสได้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ..2540 ขึ้นมา


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปิดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ไม่มีประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลและนราธิวาส เข้าร่วมแต่อย่างใด


 


นายนิเดร์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า การรวบรวมแล้วสรุปประเด็นทั้งหมด เพื่อนำไปแก้ไขจนได้ร่างที่สมบูรณ์ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเดือนเมษายน 2550 เนื่องจากพล..สุรยุทธ์ ได้เร่งให้รีบดำเนินการ เพื่อให้สามารถนำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ในเดือนเมษายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net