Skip to main content
sharethis


ถึงวันนี้ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทยไปแล้ว ด้วยเพราะนอกจากจะสร้างความตระหนกให้กับผู้คนที่อยู่หากินบริเวณชายฝั่งแล้ว ยังขยายวงความตระหนกไปยังผู้คนภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วหน้า โดยเฉพาะในแวดวงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

 


บทความนี้ เป็นงานวิชาการอีกชิ้นหนึ่งของ "ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์" อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ติดตามสภาพความเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งทะเลภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงจังหวัดสงขลามาต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี


 


บทสรุปของนักวิชาการผู้นี้เป็นอย่างไร ปรากฏอยู่ในบทความชิ้นนี้แล้ว


 


000


 


 


การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งและผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างชายฝั่ง


(Coastal Zone Processes & Impact of Coastal Structures)


 


 


โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์


คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


 


 


เสถียรภาพของชายฝั่งคืออะไร


ชายฝั่งเป็นบริเวณเขตน้ำตื้นที่คลื่นมีผลกระทบต่อท้องทะเล ทำให้ตะกอนฟุ้งกระจายและเคลื่อนย้าย กระแสน้ำที่เกิดจากคลื่นลมที่กระทำต่อชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชายฝั่งอยู่ใน "สภาวะสมดุลพลวัต (dynamic equilibrium)" ซึ่งหมายถึงสมดุลบนความเคลื่อนไหว ดังนั้นการพิจารณาเสถียรภาพของชายฝั่งจึงต้องมองภาพรวมเป็นฤดูกาล ปี หรือรอบของการคืนสภาพเดิม


 


การเปลี่ยนแปลงสภาพของชายฝั่งด้วยสิ่งก่อสร้าง เช่น เขื่อนกันคลื่น เขื่อนกันทราย รอ กำแพงตลิ่ง ฯ จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปร่างชายฝั่งที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้การสร้างเขื่อนและฝายในแม่น้ำจะกีดขวางการไหลของตะกอนลงสู่ทะเล ทำให้ชายหาดขาดแคลนทรายที่มาหล่อเลี้ยง ผลลัพธ์ก็คือ ชายหาดจะหดสั้นลงและในที่สุดคลื่นก็สามารถเข้าถึงฝั่งและกัดเซาะซึ่งจะยากต่อการแก้ไข


 


 


อะไรคือการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งตามธรรมชาติ (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)


ชายฝั่งประกอบด้วยสันทราย ชายหาดและสันดอนใต้น้ำซึ่งเป็นบริเวณที่คลื่นเริ่มแตก ในช่วงมรสุมที่คลื่นลมแรงสันทรายจะถูกกัดเซาะเป็นแนวตรงดิ่งและทรายถูกพัดพาออกสู่ทะเลกลายเป็นสันดอนใต้น้ำ(เส้นทึบ) แต่เมื่อคลื่นลมสงบคลื่นเดิ่งจะนำทรายนั้นถมกลับสู่ฝั่งก่อตัวเป็นชายหาดดังเดิม(เส้นปะ) ดังนั้นจะเห็นว่ารูปร่างชายหาดจะสมดุลด้วยตัวเองตามฤดูกาล


 


 


 


 


 


 รูปที่ 1 สัณฐานของชายหาดตามฤดูกาล


 


 


กระแสน้ำทำให้ชายหาดเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร (ดูรูปที่ 2 ประกอบ)


เมื่อคลื่นเคลื่อนที่เป็นมุมเอียงเข้าหาฝั่งจะก่อให้เกิดกระแสน้ำที่ไหลลัดเลาะไปตามแนวชายฝั่ง และจะพัดพาทรายให้เคลื่อนที่ไปด้วย ถ้ากระแสน้ำนี้ถูกขัดขวางโดยสิ่งก่อสร้างทรายก็จะตกทับถมที่โครงสร้างนั้น ขณะที่อีกด้านหนึ่งจะไม่มีทรายไปหล่อเลี้ยงก็จะเกิดการเสียสมดุลอย่างถาวร


 


เนื่องจากคลื่นแปรเปลี่ยนทิศทางไปตามฤดูกาล จึงทำให้การเคลื่อนของตะกอนเปลี่ยนไปมาด้วย ซึ่งเมื่อหักลบกันแล้วจะได้ค่าสุทธิไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนของทิศทางพายุทำให้ไม่สามารถประมาณการเคลื่อนที่ของตะกอนได้ถูกต้อง จงอยสันทรายที่แหลมตะลุมพุกและอ่าวปัตตานีเป็นสิ่งบ่งบอกทิศทางการเคลื่อนที่สุทธิของตะกอนได้เป็นอย่างดี


 


 


 




 


   


รูปที่ 2 () กระแสน้ำเลียบฝั่งเกิดจากคลื่นที่กระทำเป็นมุมเอียงกับแนวชายฝั่ง () การกัดเซาะชายฝั่งจากเขื่อนกันคลื่น () การกัดเซาะชายฝั่งจากรอ และ () การกัดเซาะชายฝั่งจากรอหลายตัว


 


 


จริงหรือที่..สิ่งก่อสร้างทำให้ชายฝั่งพังทลายได้รุนแรงและลุกลาม (ดูรูปที่ 2 -4 ประกอบ)


สิ่งก่อสร้างชายฝั่งอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ที่สร้างยื่นออกจากชายฝั่ง เช่น รอหรือคันดักทราย และเขื่อนกันทรายและคลื่น 2) ที่สร้างไว้ในทะเล เช่น เขื่อนกันคลื่น ฯ และ 3) ที่สร้างไว้บนชายหาด เช่น กำแพงตลิ่งแบบต่างๆ


 


กรณีของรอและเขื่อนกันทรายฯ กระแสน้ำจะพาทรายมาทับถมด้านต้นน้ำ ขณะที่อีกด้านหนึ่งจะเกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง จากนั้นจะลุกลามไปไม่สิ้นสุดเพราะชายฝั่งจะพยายามจะปรับตัวให้เข้ากับทิศทางใหม่ของคลื่น ชายฝั่งที่เสียสมดุลแล้วจะมีลักษณะลาดชันทำให้ง่ายต่อการพังทลาย แม้แต่ถนนที่มีการบดอัดอย่างดีก็พังทลายลงในพริบตา ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ทั่วไปตลอดแนวชายฝั่งภาคใต้ตั้งแต่ จ.นราธิวาส ถึง จ.นครศรีธรรมราช ดังตัวอย่างการพังทลายของชายฝั่งที่บ้านบ่อคณฑี อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ขณะนี้ลุกลามไปจนถึงแหลมตะลุมพุก


 


ถ้ามีการสร้างรอหลายๆ ตัว จะมีการทับถมที่รอตัวแรกและกัดเซาะอย่างรุนแรงถัดจากรอตัวสุดท้าย


 


  


 


 


  


รูปที่ 3 () การพังทลายของชายฝั่งเนื่องจากรอหรือคันดักทรายที่บ้านบ่อคณที อำเภอปากพนัง และ


() การสะท้อนของคลื่นที่กำแพงตลิ่งบ้านหน้าศาล อำเภอหัวไทร


 


 


ในกรณีการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่วางขนานแนวชายฝั่ง ด้านหลังของเขื่อนจะมีทรายงอก ขณะที่ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะเว้าเป็นอ่าวรูปโค้ง และถัดจากเขื่อนตัวสุดท้ายจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างฉับพลัน ดังเช่น การสร้างเขื่อนกันคลื่นที่บ้านนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทำให้ถนนที่แข็งแรงซึ่งห่างจากทะเลกว่า 80 เมตรพังทลาย และลุกลามทำลายบ้านเรือนที่บ้านบ่ออิฐที่อยู่ห่างออกไปกว่า 3 . 


 


 


 


 


 รูปที่ 4 การพังทลายของชายฝั่งและถนนเนื่องจากเขื่อนกันคลื่นที่บ้านนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา


 


กำแพงตลิ่งก่อให้เกิดการสะท้อนของคลื่นที่ชายฝั่ง คลื่นจะเพิ่มขนาดขึ้นทวีคูณที่กำแพงซึ่งนอกจากจะทำให้สิ่งก่อสร้างเสียหายแล้ว ยังทำให้หาดทรายหายไปอย่างรวดเร็วเพราะคลื่นสะท้อนนั้นจะหอบทรายออกสู่ทะเลอย่างถาวร ละอองน้ำที่เกิดจากคลื่นกระแทกกำแพงจะปลิวไปในอากาศ เกิดเป็นไอกรดที่กัดเซาะทุกอย่างผุกร่อนเสียหาย นอกจากนี้กำแพงที่สร้างล้ำลงไปบนชายหาดยังจะทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะเดียวกับรอ


 


 


มีมาตรการใดบ้างที่ช่วยฟื้นฟูชายหาดให้กลับคืนมา


จากการศึกษาและทำวิจัยการพังทลายของชายฝั่งภาคใต้ของไทยอย่างต่อเนื่อง พบว่าสัณฐานชายฝั่งตั้งแต่ จังหวัดสงขลา - จังหวัดนครศรีธรรมราช มีหาดทรายที่เป็นแนวยาวเรียบและตรง ซึ่งอ่อนไหวต่อการรุกล้ำของมนุษย์ การกระตุ้นด้วยสิ่งก่อสร้างที่ล่วงล้ำชายหาด ทำให้ชายฝั่งต้องปรับตัวใหม่กับสิ่งแปลกปลอมนั้นและลุกลาม ชายฝั่งที่พังทลายไปแล้วไม่สามารถเยียวยาได้


 


ทางออกที่ดีคือการหามาตรการบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูในบางแห่ง นั่นคือ สิ่งก่อสร้างชายฝั่งจำนวนมากที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วควรเร่งรื้อถอนออกไป เพื่อให้ชายฝั่งปรับตัวตามธรรมชาติโดยเร็ว เพราะการเติมทรายให้กับชายฝั่งตามธรรมชาติจะให้ผลดีที่สุด


 


การถ่ายเททรายจากที่ถูกดักเก็บไว้ในบริเวณเขื่อนกันทรายไปสู่ด้านที่ถูกกัดเซาะ จะลดปัญหาได้อย่างรวดเร็วและยังช่วยเสริมความมั่นคงให้กับชายหาดส่วนอื่นๆ


 


การเพิ่มเสถียรภาพให้ชายฝั่ง โดยไม่สร้างกำแพงล่วงล้ำชายหาดและไม่เป็นกำแพงแนวดิ่ง การปลูกต้นไม้แนวชายฝั่งจะช่วยยึดทรายและลดการแพร่ของไอกรดลงได้เป็นอย่างดี


 


ต้องเร่งประเมินโครงการฯต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อเป็นบทเรียนและชดใช้ความเสียหายแก่บ้านเรือนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐฯโดยเร็ว เพราะการจัดการทรัพยากรชายฝั่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุด สำหรับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net