Skip to main content
sharethis

กระแสเรื่องการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ดูจะคึกคักพอสมควรในสังคมมุสลิมประเทศไทย ด้วยเพราะหลายฝ่ายต่างก็นำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาบ้างแล้ว ในขณะที่ยังมีอีกหลายกลุ่มหรือองค์กรที่คิดจะร่างพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย


 


กลุ่มที่มีการประชุมและนำเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมไปบ้างแล้ว คือ กลุ่มนายนิเดร์ วาบา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานท์) และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของนายนิเดร์ ในการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548


 


เมื่อนำร่างพระราชบัญญัติที่ทั้งสองกลุ่มนำเสนอ มาเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จะพบทั้งความเหมือนและความแตกต่าง ที่จะส่งผลต่อสังคมมุสลิมในประเทศไทยอย่างสำคัญ


 


ขณะนี้ผู้จัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้ง 2 ฉบับ อยู่ในระหว่างเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้นำมุสลิมทั่วประเทศ โดยวันที่ 5 มีนาคม 2550 ทางฝั่งของนายนิเดร์ วาบา เป็นฝ่ายเปิดโรงแรมซี.เอส. ปัตตานี ให้บรรดาผู้นำมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้หยิบยกร่างพระราชบัญญัติฯ ขึ้นมาถกเถียงกันอีกวาระหนึ่ง


 


พรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม 2540


 


เมื่อพลิกพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 จะพบว่าโครงสร้างการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม รวมทั้งที่มาของผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศไทย มีความเชื่อมโยงกัน และมีการควบคุมตรวจสอบกันเป็นทอดๆ ดังนี้


 


ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย มาจากความเห็นชอบของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดยให้นายกรัฐมนตรีนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง


 


คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีจุฬาราชมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการเป็นผู้แทนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และจากการคัดเลือกของจุฬาราชมนตรี จำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนผู้แทนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด


 


ส่วนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มาจากการลงคะแนนคัดเลือกของอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นๆ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ


 


ขณะที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด มีอิหม่ามเป็นประธาน คอเต็บ และบิหลั่น เป็นรองประธาน และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่ประชุมสัปปุรุษประจำมัสยิดนั้น กำหนดไม่น้อยกว่า 6 คน แต่ไม่เกิน 12 คน


 


สำหรับอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี คือ ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม ออกประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา และออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม


 


ส่วนอำนาจหน้าที่หลักๆ ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คือ การกำกับดูแลคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ขณะที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดก็มีหน้าที่กำกับดูแลคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอีกทอดหนึ่ง


 


ร่าง พรบ.อิสลามฉบับ นิเดร์ วาบา : สรรหาผู้นำทุกระดับชั้น


มีโครงสร้างและเนื้อหาหลักๆ ดังนี้


 


จุฬาราชมนตรี


มาจากความเห็นชอบของสภาที่ปรึกษาสูงสุด โดยให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี กำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติม คือ ต้องมีอายุไม่ตำกว่า 40 ปี และไม่เกิน 75 ปี


 


ส่วนอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีที่เพิ่มเติม คือ ทำหน้าที่ในการบริหาร "ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ" มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในสัดส่วนของจุฬาราชมนตรี การพ้นจากตำแหน่ง นอกจากตายหรือลาออกแล้ว สภาที่ปรึกษาสูงสุดมีมติเกินกว่าแปดในเก้าให้พ้นจากตำแหน่ง


 


การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี มีขั้นตอน คือ


 


1. ให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีมายังสำนักงานสภาที่ปรึกษาสูงสุด โดยจะต้องได้รับคำรับรองจากกลุ่มบุคคลที่สมาชิกสภาที่ปรึกษาสูงสุดเป็นตัวแทน จำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน ด้วยความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งนี้ ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องไม่เป็นสภาที่ปรึกษา


 


2. ให้สภาที่ปรึกษาสูงสุดพิจารณาผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้แล้วเสร็จ แล้วเสนอชื่อผู้ได้รับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรี


 


ให้มีสำนักงานบริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เป็นส่วนราชการ มีหน้าที่บริหารกิจการอิสลามในส่วนภาครัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของนายกรัฐมนตรี มีผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบการปฏิบัติงานต่อนายกรัฐมนตรี


 


ให้สภาที่ปรึกษาสูงสุดและสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นที่ปรึกษาของสำนักบริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่สภาที่ปรึกษาสูงสุดและสำนักจุฬาราชมนตรีเสนอแนะ


 


สภาที่ปรึกษาสูงสุด


สมาชิกสภาที่ปรึกษาสูงสุดมีจำนวน 27 คน ประกอบด้วย



  1. ผู้แทนที่มาจากประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้งประเทศ คัดเลือกกันเองให้เหลือ 6 คน

  2. ผู้แทนที่มาจากผู้ถือใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั่วประเทศคัดเลือกกันเองให้เหลือ 6 คน

  3. ผู้แทนที่มาจากโต๊ะครูสถาบันการศึกษาปอเนาะที่ได้จดทะเบียนทั่วประเทศคัดเลือกกันเองให้เหลือ 6 คน

  4. ผู้แทนที่มาจากผู้ดำรงตำแหน่งดาโต๊ะยุติธรรมคัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

  5. ผู้แทนที่มาจากสถาบันอุดมศึกษาที่สอนทางด้านอิสลามศึกษา ให้เลือกกันเองเหลือ 1 คน

  6. ผู้แทนมูลนิธิ สมาคมหรือองค์กรเอกชนของชาวไทยมุสลิมลักษณะอื่นๆ ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย คัดเลือกกันเองให้เหลือ 4 คน

 


ให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาสูงสุดเลือกกันเองเป็นประธาน รองประธาน เลขาธิการและตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญ


 


ให้เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักบริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่ชาติ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภาที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง


 


ให้นายกรัฐมนตรีนำชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง


 


ให้มีเงินอุดหนุนการดำเนินงานขอสภาที่ปรึกษาสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาสูงสุด


 


สภาที่ปรึกษาสูงสุด มีอำนาจหน้าที่สำคัญๆ คือ สรรหาบุคคลที่มีความรู้ทางศาสนาอิสลามเป็นที่ประจักษ์ มีคุณธรรมจริยธรรมและมีความเหมาะสมดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เป็นที่ปรึกษากับสำนักบริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ ให้คำปรึกษาการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามแก่จุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


 


นอกจากนี้ทำหน้าที่ พิจารณา วินิจฉัยข้อขัดแย้งปัญหาบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เพื่อเสนอจุฬาราชมนตรีเห็นชอบ วินิจฉัยชี้ขาดกรณีพิพาทในการบริหารงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด และวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดดังกล่าว และวินิจฉัยการจัดการทรัพย์สินของมัสยิดที่ถูกยกเลิก โดยคำวินิจฉัยของสภาที่ปรึกษาสูงสุดถือเป็นที่สิ้นสุด


 


เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาสูงสุดว่างลง ให้มีการคัดเลือกบุคคลในสัดส่วนของแต่ละกลุ่ม สมาชิกสภาที่ปรึกษาสูงสุดต้องมีอายุไม่เกิน 80 ปี


 


ในการลงมติในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด


 


คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


มีจุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการเช่นเดิม โดยแต่งตั้งจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตามสัดส่วนของมัสยิด เป็นผู้แทนของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการอื่นๆ ที่คัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรีจำนวนหนึ่งในสาม ของจำนวนผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด


 


กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ต้องไม่เป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี และไม่เกิน 80 ปี มีวาระ 6 ปี และอาจได้รับเลือกตั้งอีกก็ได้


 


กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในสัดส่วนของจุฬาราชมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อจุฬาราชมนตรีมีคำสั่ง หรือตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง


 


ให้มี สำนักจุฬาราชมนตรี มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และให้เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของสำนักจุฬาราชมนตรี


 


ในการบริหารสำนักจุฬาราชมนตรี ให้ดำเนินไปตามมติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


 


คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด


จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและมีมัสยิดไม่น้อยกว่า 10 มัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 30 คน


 


การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ดำเนินการโดยให้อิหม่ามเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสม โดยความยินยอมของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ มายังสภาที่ปรึกษาสูงสุดจำนวน 2 เท่า ของจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดตามที่กำหนด เพื่อพิจารณาสรรหาให้แล้วเสร็จ จากนั้นให้สำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นประธาน รองประธาน เลขานุการและกรรมการอิสลามประจังหวัดในราชกิจจานุเบกษา


 


คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีหน้าที่กำกับดูแล และตรวจตราการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในจังหวัดและจังหวัดอื่น ตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย


 


กรรมการอิสลามประจำจังหวัดพ้นจากตำแหน่งเมื่อ ตาย ลาออก สภาที่ปรึกษาสูงสุดมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ โดยข้อเสนอของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 มีมติให้ออก


 


คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด


ประกอบด้วย อิหม่าม เป็นประธานกรรมการ คอเต็บ เป็นรองประธานกรรมการ บิหลั่นเป็นรองประธานกรรมการ กรรมการอื่นๆ ที่ อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นสรรหา จำนวนไม่เกิน 12 คน


 


การสรรหากรรมการอิสลามประจำมัสยิด ให้ที่ประชุมสัปปุรุษประจำมัสยิดที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สรรหาผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ตำแหน่งละ 3 ชื่อ เสนอต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งละ 1 ชื่อ แล้วเสนอให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อให้จุฬาราชมนตรีลงนามแต่งตั้ง


 


จากนั้นให้อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว สรรหาสัปปุรุษประจำมัสยิดที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เสนอให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดลงนามแต่งตั้ง กรรมการอิสลามประจำมัสยิดยกเว้นอิหม่าม คอเต็บและบิหลั่น มีวาระคราวละ 4 ปี


 


ฉบับกรรมการอิสลาม3จังหวัดชายแดนใต้ : แยกจุฬาฯออกจากฝ่ายบริหาร


เป็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ซึ่งประชุมกัน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2549 มีเนื้อหาแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติฉบับเดิมไม่มากนัก โดยมีประเด็นที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้


 


ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เหมือนเดิมทุกประการ แต่กำหนดให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 73 ปี บริบูรณ์


 


คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แต่งตั้งจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คน หรือกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจำนวน 1 ใน 3 จากจังหวัดที่มีมัสยิดเกิน 200 มัสยิดขึ้นไป


 


ให้เลือกกันเองเป็นประธานกรรมการ เลขานุการและตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น ให้เงินอุดหนุนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย


 


ส่วนอำนาจหน้าที่ ให้เพิ่มเติมเรื่องการออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินซะกาต(ทานบังคับ)


 


คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพิ่มเติมเรื่องการให้เงินอุดหนุนฐานะของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด


 


คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เพิ่มเติมเรื่องการให้เงินอุดหนุนฐานะของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ต้องมีอายุครบ 30 ปีขึ้นไป กรรมการทั้งหมด มีวาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปี เพิ่มอำนาจหน้าที่ของบิหลั่น ในเรื่องการประชาสัมพันธ์กิจการของมัสยิด


 


ล่าสุดร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมจังหวัดสงขลาและสตูลไปแล้ว


 


นับจากนี้ไป ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับไหนของใครจะไปถึงฝั่งฝัน เป็นเรื่องที่ชาวมุสลิมทั้งหลาย จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net