Skip to main content
sharethis


การเมือง


 


 


โฆษกฯ ยืนยันนายกรัฐมนตรี ไม่ลาออก


กรมประชาสัมพันธ์ - ร้อยเอกนายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยัน กระแสข่าวการลาออกของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขณะนี้ไม่มีมูลความจริงเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น



 


หลัง6มีนาหน้าจอไอทีวีมืดแน่ยังไม่จ่ายค่าสัมปทานแสนล้าน


เว็บไซต์คมชัดลึก - คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าการแก้ปัญหาไอทีวีว่า การพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่จะนำเสนอ ครม.จะมี 2 ส่วน คือ 1.การเตรียมการในการบอกเลิกสัญญา ซึ่งเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไป คือ ประการแรก คลื่น ยูเอชเอฟ ต้องกลับมาเป็นของสปน.ที่จะเป็นผู้หาแนวทางว่าจะบริหารคลื่นนั้นต่อไปอย่างไร เนื่องจากเป็นคลื่นสาธารณะ ซึ่ง สปน.ได้รับการจัดสรรคลื่นมาเพื่อให้บริการสาธารณะด้านการข่าว



ประการที่ 2 จะต้องดูเรื่องการส่งมอบอุปกรณ์ เพราะข้อตกลงร่วมการงาน อุปกรณ์ต่างๆ ของไอทีวีที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุโทรทัศน์ ต้องตกเป็นของ สปน.ซึ่งทุกปีก็มีการตรวจสอบและทำบัญชีไว้แล้ว แต่อยู่ในความครอบครองของไอทีวี ดังนั้นประเด็นนี้จะต้องมีการส่งมอบอุปกรณ์ทั้งหลาย ถือเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ตามกฎหมายลูกหนี้สามารถขอใช้สิทธิครอบครองต่อไปได้อีกไม่น้อยกว่า 60 วัน ดังนั้น ต้องดูว่าไอทีวีจะมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ จะต้องปฏิบัติต่อไปตามกฎหมาย



เรื่องพนักงาน มีข้อกฎหมายอยู่แล้ว ถ้ากรณีเลิกจ้าง บริษัทจะต้องจ่ายเงินชดเชย ดังนั้น ถ้าฝ่ายรัฐจะดูตรงนี้ ก็จะดูในฐานะให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานของไอทีวีให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของกฎหมายสัญญาจ้างหรือไม่



ส่วนการบริหารไอทีวีนั้น คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว สปน.เป็นหน่วยงานด้านนโยบาย แต่มีหน่วยงานในสังกัดคือกรมประชาสัมพันธ์ ดังนั้น ถ้าจะให้กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งได้รับการยกเว้นเป็นสถานีที่จะบริหารคลื่นได้ก็จะให้ลงมาช่วย แต่กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีแนวทางบริหารธุรกิจมุ่งกำไร เพราะไอทีวีมีการบริหารลักษณะที่เป็นธุรกิจด้วย ดังนั้น จึงจะว่าจ้างหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดสปน.คือ อสมท แต่ อสมท ก็จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย



คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า หลังจากวันที่ 7 มีนาคม ถ้าจะต้องแจ้งยกเลิกสัญญา ก็มีกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ดังนั้น จึงคิดว่าในวันอังคารที่ 6 มีนาคม จะเสนอผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการบริหารคลื่นยูเอชเอฟต่อครม. โดยแจ้งว่าในความเห็นของตนและคณะทำงานคิดว่าคงจะต้องมีระยะเวลาหนึ่ง ที่อาจจำเป็นจะต้องปรับตัว อาจจะไม่สามารถที่จะออกอากาศต่อไปได้เช่นเดิม เพราะมีเงื่อนไขในแง่ข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบรับอุปกรณ์ต่างๆ จะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทรัพย์สินของทางราชการทั้งสิ้น จะผิดพลาดอะไรไปไม่ได้ เพราะหากเจ้าหน้าที่รีบร้อนเกรงว่าตัวเจ้าหน้าที่เองจะเป็นผู้ผิด



 


บอร์ด อสมท โดดประชุมถกไอทีวี


เว็บไซต์คมชัดลึก - นายบุญปลูก ชายเกตุ ประธานบอร์ด อสมท แถลงภายหลังการนัดหารือกับบอร์ด อสมท ว่าไม่ถือเป็นการประชุม เนื่องจากคณะกรรมการมาไม่ครบองค์ประชุมคือมีมาเพียง 4 คนขณะที่ต้องมี 5 คนจึงจะครบองค์ประชุม บอร์ดจึงพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องไอทีวี และกรณีสหภาพ อสมท ยื่นหนังสือเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอในการเข้าบริหารไอทีวี โดยจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 6 มีนาคม โดยจะรอฟังผลการประชุม ครม.เกี่ยวกับไอทีวี ที่นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำเสนอที่ประชุม ครม.ก่อน


 


นายบุญปลูก กล่าวถึงกรณีนายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผู้อำนวยการ อสมท และรองประธานบอร์ด อสมท ไม่เข้าร่วมประชุมวันนี้ว่า ได้แจ้งนัดการประชุมล่วงหน้าแล้ว แต่เห็นว่าเป็นวันหยุดติดต่อกัน 3 วัน อาจมีบางคนอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ ได้แจ้งมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไปประชุมสมาคมนักข่าวฯ เพื่อหารือถึงการจัดงานของสมาคมนักข่าว ซึ่งก็บอกไปว่าไม่ต้องมาประชุมก็ได้ เพราะเชื่อว่าจะมีกรรมการบอร์ดมาประชุมครบองค์ประชุม 5 คน แต่สุดท้ายมีมาเพียง 4 คน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ดที่มาประชุม 4 คนได้แก่ นายบุญปลูก ชายเกตุ ประธานบอร์ด นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต นายวิทยาธร ช่อแก้ว และนายสงวน ตียะไพบูลย์ศิลป์


 


 


สหภาพอสมทจี้บอร์ดรับผิดชอบ


เว็บไซต์คมชัดลึก - สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท นำโดย น.ส.อรวรรณ กริ่มวิรัตนกุล นำหนังสือไปยื่นต่อบอร์ด อสมท ผ่านนายบุญปลูก ชายเกตุ โดยมีข้อเรียกร้อง คือ 1.สหภาพไม่มีข้อขัดแย้งกับการรับหน้าที่บริหารไอทีวี และรับพนักงานไอทีวีเข้าทำงาน แต่เป็นห่วงสถานะการเงินของ อสมท ในปัจจุบัน


 


2.ขอความชัดเจนเรื่องหลักประกันเงินยืมทดรองจ่าย เกี่ยวกับเวลาที่ชัดเจนในการส่งเงินคืนให้ อสมท ของไอทีวี เนื่องจากยังไม่มีกำหนดจ่ายคืนที่ชัดเจน รวมทั้งผลตอบแทนที่ อสมท ควรจะได้รับ 3.ความคุ้มครองดูแลผู้ถือหุ้น อสมท โดยสหภาพขอให้บอร์ด อสมท ชุดนี้จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย


 


น.ส.อรวรรณ กล่าวว่า สหภาพไม่ได้ตีรวน เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งพิสูจน์ความเป็นผู้นำของผู้บริหารที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้แก่พนักงาน ประชาชนและรัฐบาล ในฐานะลูกค้ารายใหญ่ ส่วนกรณีที่มีการงดออกอากาศไอทีวีเป็นเวลา 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม หากบอร์ด อสมท ไม่รับไอทีวีเข้ามาบริหารนั้น ตนและเพื่อนร่วมอาชีพรู้สึกเห็นใจมาก ประชาชนคงเสียโอกาสในการรับข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ดีเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องนี้


 


 


"มหาจำลอง"ค้านเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ชี้ปัญหาเรื่องปุ๋ยจะทำเกษตรไทยพัง


ผู้จัดการรายวัน - พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงต่อต้านการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หรือร่างกฎหมายข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นว่า ตนไม่เห็นด้วยกับประเด็นเรื่องจุลินทรีย์ หากไทยและญี่ปุ่นสามารถตกลงรับหลักการกันได้ จะทำให้เกษตรกรไทยรายย่อยทั้งประเทศต้องล่มสลาย เพราะกฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้ญี่ปุ่นมีสิทธิเต็มที่ในการมาจดลิขสิทธิ์การผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ในประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับโดยอัตโนมัติตามข้อตกลงของเขตการค้าเสรี ที่หากใครจดลิขสิทธิ์แล้วสามารถเป็นเจ้าของและครอบครองจุลินทรีย์ได้ ทำให้เกษตรกรของไทย ถ้าต้องการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ต้องไปขออนุญาตญี่ปุ่นก่อน


 


"ในข้อตกลงดังกล่าว มาตรา 130(3)ระบุว่า ภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าคำขอรับสิทธิบัตรใดๆ จะต้องไม่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวว่า สาระที่ขอถือสิทธิในคำขอนั้นเกี่ยวข้องกับจุลชีพที่เกิดตามธรรมชาติ นั่นเป็นการเปิดช่องให้มีการจดสิทธิบัตรจุลชีพจากธรรมชาติได้ ขัดต่อกฎหมายไทย เพราะ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2542 ประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต โดยบัญญัติว่าจุลชีพและส่วนประกอบใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หากฝ่ายไทยลงนามตามร่างดังกล่าว เกษตรกรรายย่อยของไทยกว่า 2 ล้านครอบครัวที่ใช้จุลินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชจะเดือดร้อนมาก ถ้าญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติ จะทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถเพาะเลี้ยง ขยายเชื้อจุลินทรีย์และนำไปใช้ได้อย่างเสรี" พล.ต.จำลอง กล่าว


 


พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ตัด มาตรา 130 (3) ออกจากข้อตกลงไทย-ญี่ปุ่น เพราะเป็นการให้สิทธิญี่ปุ่นมากเกินไป และเป็นการทำร้ายเกษตรกรที่ยากจนซ้ำซากอยู่แล้วให้ยากจนซ้ำซากยิ่งขึ้นไปอีก หากรัฐบาลปล่อยให้มีการลงนามโดยไม่ตัดมาตราดังกล่าว คงมีเกษตรกรมาชุมนุมคัดค้านกันทั่วประเทศ กระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างรุนแรง และถ้าปล่อยให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของรัฐมนตรีหรืออธิบดี หลังจากที่ข้อตกลงดังกล่าวได้ออกเป็นรูปธรรมแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายหนักขึ้น เพราะบริษัทข้ามชาติสามารถวิ่งเต้นเพื่อการค้า ทำให้เกิดการผูกขาด เกษตรกรไทยต้องซื้ออย่างเดียว เพราะไม่สามารถผลิตเองได้ ตนได้ทำหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ไปถึงนายกรัฐมนตรี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และปลัดกระทรวงทุกกระทรวง เพราะหากข้อตกลงดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน


 


 


ครป.เสนอนายกฯโละ"6รัฐมนตรีเกียร์ว่าง"


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ตนเห็นว่าคณะรัฐมนตรีที่ยังอยู่ในตำแหน่ง ตกอยู่ในสภาพเหมือนข้าราชการกำลังจะเกษียณอายุ นั่งนับถอยหลัง หรือ ล็อกเกียร์ว่าง งานเก่าไม่ขยับงานใหม่ไม่ริเริ่ม ดังนั้น ครป.ขอเสนอในเรื่องการปรับครม. ดังนี้ 1.ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครป.ยังเห็นว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์สังคมการเมืองในขณะนี้ แต่นายกรัฐมนตรีจะต้องปรับปรุงการทำงานโดยทำงานเป็นทีม ไม่ควรบริหารงานเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยึดรูปแบบมีสไตล์การบริหารงานแบบ ซีอีโอ จะเห็นได้จากการที่แต่งตั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้มาร่วมงานกับรัฐบาลโดยไม่ปรึกษารัฐมนตรีคนใดเลย ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องใช้ทีมงานที่ปรึกษาที่มีเป็น 10 เพื่องานบริหารประเทศจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และเพื่อรองรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามารับไม้ต่อ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีควรปรับรัฐมนตรีบางกระทรวงออกคือ 1.นายอารีย์ วงศ์อารายะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2.นายวิจิตร ศรีสะอ้าน รัฐมนตรีว่าการการะทรวงศึกษาธิการ 3.นายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4.นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม 5.นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ 6.นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งรื้อทีมเศรษฐกิจ และทีมโฆษกรัฐบาล และเน้นทำงานเชิงรุก ส่วนตำแหน่งที่ควรจะน่าจะแต่งตั้งเพิ่ม คือ ควรจะเพิ่มตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่จะมาดูแลด้านความมั่นคง ดูเลปัญหาความยากจน และดูแลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


 


นักวิชาการหนุน "โฆสิต-ฉลองภพ" คุมกระทรวงการคลัง


ผู้จัดการออนไลน์ - นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานหอการค้าไทย ระบุว่า ผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นั้น ภาคธุรกิจเห็นว่า ควรจะเป็นคนรู้การทำงานในกระทรวงการคลังเป็นอย่างดี เพราะจะได้ไม่เสียเวลา เพราะรัฐบาลชุดนี้เหลือเวลาทำงานอีกไม่กี่เดือน จึงต้องประคับประคองเศรษฐกิจให้ดีเพราะไม่มีเวลาวางนโยบายหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ


 


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า หากให้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่าจะสานต่อนโยบายของรัฐบาลได้ต่อเนื่อง และไม่มีปัญหาการทำงาน ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า จะทาบทามนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ มารับตำแหน่งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่า นายฉลองภพสามารถรับตำแหน่งได้ เพราะทีดีอาร์ไอ เป็นที่ปรึกษารัฐบาลด้านการเงิน การคลังมาตลอด และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ขณะเดียวกัน เห็นว่า ควรปรับคณะรัฐมนตรีขนาดกลางในหลายกระทรวง และไม่ควรควบตำแหน่งเพราะขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวมาก ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามารุมเร้ามาก แม้รัฐบาลทำงานหนักอยู่แล้วแต่ผลงานไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง จึงต้องทำงานให้หนักขึ้น


 


ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า นายฉลองภพเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบเศรษฐกิจมหภาคมาก และไม่มีผลประโยชน์เรื่องธุรกิจ ซึ่งหากเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น


 


มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ทาบทามนายฉลองภพให้รับตำแหน่งนี้แต่นายฉลองภพปฏิเสธ เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่อาจปฏิเสธอีกครั้ง


 


 


 



สิทธิมนุษยชน


 


 


ย้าย"ม้งอพยพ"ห้วยน้ำขาวสิ้นเมษาฯ ยันอเมริกา-ออสเตรเลียไม่รับเข้าปท.


ผู้จัดการรายวัน - พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)และคณะ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและรับทราบสถานการณ์ เรื่องการแก้ปัญหาม้งลาวที่โรงเรียนบ้านห้วยน้ำขาว ต.เข็กน้อย


 


เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เปิดเผยว่า ปัญหาม้งลาวอพยพที่บ้านห้วยน้ำขาว อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ สั่งสมมานานหลายปี โดยเป็นกลุ่มที่อพยพมาอยู่บ้านห้วยน้ำขาวด้วยเป้าประสงค์ต้องการขออพยพไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจนถึงขณะนี้มีม้งลาวมาอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยน้ำขาวแล้ว 7,760 คน เขาย้ำว่า นโยบายของประเทศไทยคงเหมือนเดิม ถือว่าพวกม้งลาวเหล่านี้เป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง ต้องผลักดันกลับไปสู่ประเทศเดิม ซึ่งต้องบอกชาวม้งห้วยน้ำขาวว่า อย่าหลงผิดกระบวนการขนคนเข้าเมืองไทย เพราะรัฐสภาประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการรับชาวม้งลาวเหล่านี้ไปปักหลักที่สหรัฐอเมริกา


 


เขากล่าวว่า ไทยได้เจรจากับประเทศลาวถึงแนวทางต่อไป ซึ่งรัฐบาลลาวเริ่มยอมรับกลับประเทศ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นชาวลาว และองค์กรอิสระที่เข้ามาช่วยเหลือชาวม้งลาวอพยพก็เข้าใจดี ฉะนั้น จึงเริ่มมีการสำรวจพื้นที่ ที่จะอพยพกลับประเทศอย่างปลอดภัย โดยได้ประสานกับองค์กรอิสระเหล่านี้ให้ไปสำรวจพื้นที่ในลาว แนวทางต่อไปคือต้องควบคุมพื้นที่อพยพให้ชัดเจน ล่าสุดเตรียมพื้นที่อพยพม้งลาวออกไปจากหมู่บ้านห้วยน้ำขาวแล้วอยู่ห่างจากตัวหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร จะมีการสร้างบ้านพักชั่วคราวให้และจะควบคุมผู้อยู่อาศัยโดยการทำบัตร - ประวัติ กันไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไป เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด การชักนำ หลอกหลวงให้ชาวม้งลาวอพยพมาอยู่ที่บ้านห้วยน้ำขาวเพิ่มอีก


 


พล.อ.มนตรี ย้ำกับกลุ่มม้งลาวอพยพ ว่า ขอยืนยันว่าประเทศที่ 3 คือ สหรัฐฯ ไม่รับม้งลาวเข้าประเทศ ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือก็เพราะมนุษยธรรม จัดหาที่อยู่ หาอาหาร ยา และกำลังเจรจากับประเทศลาว เพื่อให้ทุกคนกลับไปประเทศบ้านเกิด สถานะทุกวันนี้คือ ผู้หลบหนีเข้าเมือง ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยสงคราม ที่ผ่านมารัฐบาลลาวไม่เคยคุย


 


 


 



เศรษฐกิจ


 


 


"แบงก์ชาติ"ระดมทุนออกพันธบัตร 9 หมื่นล้าน เข้าตลาดฯ


เว็บไซต์แนวหน้า - นายสันติ กีระนันทน์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. อนุมัติรับพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มูลค่า 9 หมื่นล้านบาท เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ในวันที่ 6 และ 20 มี.ค.นี้ โดยพันธบัตร ธปท. งวดที่ S21/7/50 ชื่อย่อ "CB07313B" รุ่นพิเศษระยะสั้น อายุ 7 วัน มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 13 มี.ค. 2550 เข้าซื้อขายวันที่ 6 มี.ค.


 


นายสันติ กล่าวต่อว่า พันธบัตร ธปท. งวดที่ S22/14/50 ชื่อย่อ "CB07320A" รุ่นพิเศษระยะสั้น อายุ 14 วัน มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 20 มี.ค. เข้าซื้อขายวันที่ 6 มี.ค. และพันธบัตร ธปท. งวดที่ 3/364/50 ชื่อย่อ "CB08306A" อายุ 364 วัน มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 6 มี.ค. 2551โดยทยอยเข้าจดทะเบียน 2 งวด งวดแรก จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อขายวันที่ 6 มี.ค. และงวดที่ 2 จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อขายวันที่ 20 มี.ค.



ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนของตราสารหนี้ภาครัฐครั้งนี้ ทำให้มูลค่าตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 2.963 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 90.14 ของตราสารหนี้จดทะเบียนในตลาดตราสารหนี้ และส่งผลให้มูลค่าคงค้างรวม ในตลาดตราสารหนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 3.287 ล้านล้านบาท


 


 


ธปท.ยันคงมาตรการ30% ระบุจะใช้นโยบายดอกเบี้ยขึ้นกับเงินเฟ้อ-น้ำมัน


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย ถึงการใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท ว่า ที่ผ่านมา ถือว่ามาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะแม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่า ก็ไม่ได้แข็งค่าผิดปกติเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ล่าสุด ธปท. ได้ผ่อนคลายมาตรการกันสำรอง โดยเพิ่มทางเลือกแก่นักลงทุน โดยอาจใช้การกันสำรองร้อยละ 30 ตามเดิม หรือใช้วิธีการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนก็ได้ และคงไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงมาตรการอะไรอีกแล้วในช่วงนี้ ซึ่ง ธปท. จะรอประเมินผลการใช้มาตรการดังกล่าวไปอีกระยะหนึ่งก่อน


 


นางธาริษา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพราะไม่ต้องการค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าที่ควรจะเป็นจนกระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเปรียบเทียบระดับค่าเงินบาทกับภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินในภูมิภาค โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าในระดับเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินต่าง ๆ ในภูมิภาคก็ไม่เป็นไร ซึ่งหลังจาก ธปท. มีมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าระดับเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ทำให้การส่งออกยังสามารถแข่งขันได้ เพราะต้องยอมรับในสภาพการณ์ปัจจุบัน คงไม่มีประเทศใดที่จะทัดทานความเคลื่อนไหวของค่าเงินตัวเองไปได้ตลอด แม้แต่จีน ซึ่งมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ก่อนหน้านี้ได้พยายามแทรกแซงไม่ให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าเกินไป แต่ก็ต้องปล่อยให้แข็งค่าในระยะหลัง


 


ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการใช้นโยบายดอกเบี้ยดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ว่า ธปท. จะใช้นโยบายดอกเบี้ยในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อไม่น่าเป็นห่วง และราคาน้ำมันไม่ได้ปรับตัวสูงเกินไป ก็สามารถใช้นโยบายดอกเบี้ยในการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น.


 


 


คลังเตรียมเสนอแผน ปรับโครงสร้างภาษีใหม่


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นายสมชัย สัจจพงษ์ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศระยะ 10 ปี ว่า นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีกลับมาพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ก่อนนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เห็นชอบต่อไป โดยประเด็นสำคัญที่มอบหมายให้เร่งพิจารณาคือความเป็นไปได้ของหน่วยงานปฏิบัติว่าจะดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังได้มากน้อยเพียงใด


 


สำหรับโครงสร้างภาษีใหม่จะปรับเปลี่ยนภาษีสรรพากรทั้งระบบ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงภาษีสรรพสามิต ซึ่งเพิ่มเติมในส่วนภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม


 


ส่วนภาษีศุลกากรจะปรับเปลี่ยนไปตามหลักการค้าเสรี แม้ว่าแนวโน้มภาษีศุลกากรจะปรับลดลง แต่ไม่ได้ปรับลดลงมากตามที่หวาดวิตกกัน เพราะตามกรอบและระยะเวลาและสินค้าแต่ละประเภทแล้ว แม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ไม่ได้ลดลงเหลือ 0% พร้อมกันทันทีทั้งหมด


 


นายสมชัย กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างภาษีในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลให้จูงใจภาคเอกชนกว่าปัจจุบัน


 


อย่างไรก็ตาม แผนการปรับโครงสร้างภาษีทั้งหมดต้องนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่พิจารณา ซึ่งรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 7% ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 10 แต่รัฐบาลก็ผ่อนปรนเรื่อยมาทุก 2 ปี โดยในเดือนมิถุนายนนี้จะถึงกำหนดเวลาสิ้นสุดการจัดเก็บในระดับ 7% ก็ต้องเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่


 


ด้านนางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า สศค.จะเดินหน้านำกฎหมายที่กระทรวงการคลังเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เงินตรา พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป


 


 


 



ต่างประเทศ


 


 


อิหร่านปฏิเสธที่จะจัดการเจรจาระดับทวิภาคีกับสหรัฐในการประชุมเรื่องอิรัก


กรมประชาสัมพันธ์ - อิหร่านกำลังพิจารณาว่าจะเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับความมั่นคงในอิรักในเดือนหน้าหรือไม่ แต่ปฏิเสธที่จะจัดการเจรจาระดับทวิภาคีกับสหรัฐในการประชุมดังกล่าว



นายโมฮัมหมัด ฮอสเซนี โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่านยืนยันว่า ไม่มีแผนการเจรจาโดยตรงกับสหรัฐในระหว่างการประชุมว่าด้วยเรื่องอิรัก ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบในอิรัก โดยมีสหรัฐและประเทศเพื่อนบ้านอิรัก เช่น อิหร่านและซีเรียเข้าร่วม


 


เขากล่าวว่า สหรัฐได้ยื่นข้อเสนอหลายครั้งเพื่อจัดการเจรจากับอิหร่าน แต่ไม่ได้ระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการประชุมเรื่องอิรักหรือไม่ ด้านนายอาลี ลาริจานี เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของอิหร่านกล่าวก่อนหน้านี้ว่า อิหร่านจะเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยเรื่องอิรักแต่มีเงื่อนไขว่า การประชุมจะต้องเกิดประโยชน์ต่ออิรักเท่านั้น ทั้งนี้ สหรัฐ ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านเมื่อปี 2523 หลังจากกลุ่มนักศึกษาอิหร่านบุกยึดสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน


 


 


บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในอิรักถูกยิงเสียชีวิต


กรมประชาสัมพันธ์ - กลุ่มติดอาวุธยิงนายโมฮัน อัล-ดาเออร์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อัล-มาช-ริก เสียชีวิตที่หน้าบ้านของเขาทางตะวันตกของกรุงแบกแดดในวันนี้ โดยคนร้ายเข้าไปเคาะประตูบ้านและกระหน่ำยิงนายดาเออร์ทันทีที่เขาเปิดประตูออกมา การเสียชีวิตของนายดาเออร์ทำให้จำนวนนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกฆ่าตายในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่สหรัฐรุกรานอิรักเพิ่มเป็น 190 คนแล้ว อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มใดกล่าวอ้างความรับผิดชอบในการสังหาร ส่วนนายดาเออร์เป็นชาวชีอะห์มาจากภาคใต้อิรัก จัดตั้งหนังสือพิมพ์อิสระอัล-มาชริก มาตั้งแต่ปี 2546.



 


 


กลุ่มสิทธิมนุษยชนอังกฤษเรียกร้องกระทรวงกิจการภายใน ทบทวนการแก้ไขกฎระเบียบรับแรงงานผู้อพยพ


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - นสพ.อิน ดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ รายงานว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนของอังกฤษได้เรียกร้องให้กระทรวงกิจการภายในของอังกฤษ ทบทวนการแก้ไขกฎระเบียบการรับแรงงานอพยพที่เดินทางเข้ามาทำงานเป็นแรงงานไม่มีฝีมือ เช่น ทำครัว พนักงานทำความสะอาด หรือรับจ้างเลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวต่างๆ ในอังกฤษ โดยระบุว่า กฎระเบียบใหม่จำกัดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรง และอาจทำให้แรงงานอพยพซึ่งเป็นชาวต่างชาตินอกกลุ่มสหภาพยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากเอเชียและแอฟริกา ตกเป็นทาสของนายจ้างที่แท้จริง


 


นอกจากนี้ การแก้ไขกฎระเบียบจะเปิดช่องทางให้แรงงานอพยพไม่ได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เนื่องจากระเบียบใหม่กำหนดให้แรงงานอพยพได้รับวีซ่าประเภทธุรกิจ และไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ แม้จะไม่ได้รับการปฏิบัติอันดีจากนายจ้าง อย่างไรก็ตาม กระทรวงกิจการภายในอ้างว่า กฎระเบียบใหม่ว่าด้วยแรงงานผู้อพยพมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผู้อพยพผิดกฎหมาย ขณะที่อดีต รมว.กระทรวงดูแลปัญหาผู้อพยพเห็นว่าเป็นนโยบายถอยหลังของรัฐบาลอังกฤษ เพราะไม่เพียงแต่นโยบายดังกล่าวจะทำให้แรงงานผู้อพยพรู้สึกโดดเดี่ยว ยังขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลที่สัญญาจะให้ความคุ้มครองผู้เคราะห์ร้ายจากขบวนการลักลอบค้ามนุษย์


 


 


 



คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม


 


 


กปภ.เตรียมเสนอ ครม.ขึ้นค่าน้ำ เมษานี้


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นายชวลิต สารันต์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การประปา ไม่ได้ขึ้นราคาค่าน้ำประปามาเป็นเวลาประมาณ 8 ปี ทำให้ต้องรับรับภาระส่วนต่างค่าน้ำประปา ลูกบาศก์เมตรละ 15 บาท 63 สตางค์ จนต้องกู้เงินรัฐบาลขายเป็นพันธบัตร กว่า 20,000 ล้านบาท ดังนั้นในเดือนเมษายนนี้ การประปาส่วนภูมิภาค จะเสนอคณะรัฐมนตรี ขอขึ้นค่าน้ำประปา ลิตรละ 1 สตางค์ จากลูกบาศก์เมตรละ 11 บาท 75 สตางค์ เป็น 15 บาท 28 สตางค์ ซึ่งยังต่ำกว่า-ต้นทุน ทั้งนี้เชื่อว่า จะไม่กระทบผู้ใช้น้ำทั่วไป เนื่องจากจะเรียกเก็บอัตราใหม่กับผู้ใช้น้ำเกินเดือนละ 30 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป แต่จะกระทบต่อภาคธุรกิจ ประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์


 


 


กรมสุขภาพจิตเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิตคุ้มครองผู้ป่วย


เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น - นพ.ม.ล.สมชาย จักพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าในการรักษาอาการป่วยทางจิต ของ นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ ว่า คณะแพทย์ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ได้ทำการตรวจร่างกาย ตรวจสภาพจิตของผู้ป่วย พร้อมทำแบบทดสอบทางจิตวิทยากับ นพ.ประกิตเผ่า แล้ว โดยตลอด 2 วัน ที่ผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ที่อาคารประกายสุข ทางสถาบันได้จัดแพทย์และนักจิตวิทยาดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมั่นใจว่าจะประชุมวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยได้ ก่อนวันที่ 9 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดไต่สวนคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมคนไข้ ที่ศาลอาญารัชดา


 


อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังกล่าวอีกว่า กรณีพิพาทของ นพ.ประกิตเผ่า ที่เกิดขึ้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการร้องเรียนเรื่องการรักษา ซึ่งกรมสุขภาพจิต เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิต คุ้มครองผู้ป่วย และผู้ให้การรักษา ไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ตกไป หลังการยุบสภาเมื่อปี 2549 เพื่อป้องกันการเกิดคดีพิพาทเช่นเดียวกับคดีของ นพ.ประกิตเผ่า ขึ้นอีก


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net